|| back

 

การขยายพันธุ์โดยการเพาะสปอร์ (ตอนสุดท้าย)

ทิ้งท้ายเอาไว้หน้าที่แล้วว่าจะกลับมาเล่าต่อขออภัยที่ปล่อยให้รอกันนานมาก ที่บอกว่า ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ที่หลายๆ คนมักทำพลาด เพราะอะไร มาดูกันต่อเลยครับ

ความเดิมจากตอนก่อน ที่เราแยกต้นเฟินเล็กๆ ที่มีใบจริงแล้ว แยกออกมาเป็นต้นเดี่ยว หรือกลุ่มเล็ก มาเลี้ยงในกล่องใหม่ เมื่อต้นเฟินโตคับกล่อง หรือขนาดประมาณ 1"-2" แล้ว เราควรแยกไปปลูกใหม่ จะปลูกลงกระถางเดี่ยวสำหรับแต่ละต้น หรือในกระถางรวมอีกทีก่อนก็ได้ สำหรับปลูกลงกระถางรวมปลูกให้ห่างกันมากขึ้น


เปิดฝากล่องทิ้งไว้ วางที่ร่ม สัก 7-14 วัน

สาเหตุที่บอกว่า หลายคนทำพลาดกัน ก็เนื่องจาก เราเลี้ยงเอาไว้ในสภาพปิด ที่เราสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่จะเข้ามารบกวนได้น้อย รวมทั้งความชื้นในกล่องนั้นมีมากกว่าภายนอก ดังนั้น การจะแยกไปปลูกลงกระถางเดี่ยวเลย ่จำเป็นต้องให้เฟินได้ปรับตัวกับสภาพภายนอกก่อน หากแยกไปลงกระถางเลย ส่วนมากมักไม่ค่อยรอด ดังนั้น วิธีง่ายๆ สำหรับการแก้ปัญหานี้ก็คือ นำไปวางไว้ที่ร่ม เปิดฝากล่องทิ้งเอาไว้ สัก 7 - 14 วัน ก่อน แล้วจึงค่อยแยกไปปลูก ในระหว่างนี้ คอยเพิ่มความชื้นให้ด้วยการพ่นฝอยละอองน้ำให้บ้าง พอมีความชื้นในเครื่องปลูก

เมื่อเฟินเล็กๆ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกได้ดีแล้ว เราจึงแยกนำไปปลูกลงในกระถางใหม่ ไม่ว่าจะลงกระถางเดี่ยว หรือกระถางรวมก่อน ก็ย่อมได้ และให้เลือกเครื่องปลูกที่เหมาะสมกับประเภทของเฟิน คือ เฟินดิน หรือเฟินเกาะอาศัย

หลังจากย้ายลงกระถางใหม่แล้ว ให้นำไปเลี้ยงร่มๆ ก่อนสัก 1-2 สัปดหา์ แล้วจึงค่อยเริ่มให้ปุ๋ยกับเฟินได้ รวมถึงการย้ายไปเลี้ยงในที่ที่ได้รับแสงในปริมาณตามที่ชนิดเฟินนั้นต้องการ

แต่หากเราเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ชุ่มชื้นดีมากอยู่แล้ว ก็สามารถย้ายไปปลูกในกระถางเดี่ยว ได้เลย หากความชื้นภายนอกสูง ซึ่งต้องทดลองทำกันดู สักบางส่วนก่อน หากเป็นการย้ายลงกระถางครั้งแรก ลองทำแต่น้อย แล้วสังเกตุสักเดือน หากเฟินเล็กๆ ไม่เหี่ยวฟุ๊บลง ค่อยมั่นใจและทำที่เหลือต่อ แต่หากเฟินเล็กๆ อยู่ไม่ไม่ได้ ต้องลองกลับไปทำตามที่บอกข้างต้น


Pteris ensifomis ต้นขนาด 1/2" ย้ายปลูกในตะกร้า


Platycerium hillii ขนาดด 1/2" -1"

เป็นอันจบหลักการ สำหรับการนำเฟินแยกเฟินออกมาเลี้ยงในกระถาง แต่ที่จะเล่าต่อไปนั้น เป็นวิธีการที่ผมทำเพิ่มเติมอีก คือ เนื่องจากพื้นที่ที่บ้าน น้อยนิด จำเป็นต้องใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรให้ได้หลายๆ เท่าตัว ทำอย่างไร ลองอ่านกันต่อนะครับ

เมื่อเฟินโตอยู่ในกล่องได้ขนาดสัก 1/2' - 1" ผมจะย้ายมาปลูกใหม่ในตะกร้าพลสาติคใบโต โดยใช้พีทมอสเป็นเครื่องปลูกเหมือนเดิม ซึ่งก็ยังต้องทำการฆ่าเชื้อเครื่องปลูกด้วยความร้อนก่อนเช่นเดิม แล้วจัดการ ย้ายต้นขนาด 1/2" - 1" มาปลูกใหม่ในตะกร้า โดยปลูกห่างกันประมาณ 1" หรือจะมากกว่านี้ก็ได้ ตามใจที่ต้องการ จากนั้นนำไปใส่ถุงพลาสติคใสใบโตกว่าตะกร้าพลาสติคอีกครั้ง รัดปากถุงให้สนิท

ขั้นตอนนี้ จำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมที่นี่ เพราะ บริเวณบ้านเป็นนาข้าวไปสุดลูกหูลูกตา ลมพัดแรง ทำให้เฟินเล็กๆ แห้งเร็วมาก ประกอบกับบางช่วงหลังเกี่ยวข้าว เจ้าของนาเขาจะเผาตอซังข้าว ยิ่งทำให้อากาศร้อนมาก เคยเผลอเปิดฝากล่องพลาสติคเอาไว้ กลับมาบ้านอีกที ทั้งเขม่าไหม้จากฟางปลิวลงใส่ลูกเฟินเต็มไปหมด แต่นั่นไม่ร้ายกาจเท่าความร้อนที่เผาเฟินเล็กๆ เฉาฟุบลงไป ประกอบกับน้ำประปาที่บ้าน นอกจากจะเป็นน้ำบาดาลที่มีเกลือแร่เจือปนสูงอยู่แล้ว ปริมาณการไหลเนี่ย แบบรินๆ หยดๆ ไม่มากพอที่จะทำให้บริเวณพื้นที่รอบบ้านมีความชุ่มชื้นได้
(บ่นอีกแล้ว!!! ก็ทำไมยังไม่ได้ติดปั๊มน้ำดูดแข่งกับบ้านอื่นเลยสักที)

 



นี่ไงครับ ชั้นวางตะกร้า ปลูกเฟิน

เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ผมเอาเหล็กฉากมาทำเป็นชั้นวางตะกร้า เพื่อประหยัดพื้นที่ที่มีแสนน้อยนิดอย่างที่บอก โดยทำแต่ละชั้นให้เอียงสับฟันปลา 2 ด้าน เมื่อวางตะกร้าแล้ว แสงจะได้เข้าได้ทุกชั้น

เมื่อย้ายมาปลูกในตะกร้าและปิดปากถุงให้สนิท เก็บเอาไว้อีกประมาณ 2-4 เดือน ตอนนี้ต้นเฟินบางต้นเริ่มโต บางต้น โตได้ขนาดประมาณ 2"-4" แต่บางต้น ดูเหมือนจะเป็นเฟินจิ๋ว แทบไม่โตเลย อย่างที่คนสวนเพาะไม้เขาเรียก หัวไม้ กับ หางไม้ คือ พวกหัวไม้ จะโตเร็วกว่าเขาเพื่อน แต่พวกหางไม้เนี่ย โตช้ามาก หรือแทบไม่โตเลย บางทีอาจจะต้องกำจัดทิ้งไปบางแล้วล่ะ หากคิดว่ามันสิ้นเปลืองพื้นที่และค่าใช้จ่ายในการดูแล แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังเก้บเอาไว้ ติดตามดูต่อไปว่า มันจะโตมั๊ย หรือมันจะกลายเป็นเฟินแคระเล็กจิ๋วๆ



เปิดปากถุงให้เฟินข้างในปรับสภาพให้ชินกับภายนอก

หลังจากที่มันอยู่นตะกร้ามานาน ตอนนี้ก้กลับมาสู่ขั้นตอนของการปรับสภาพ ให้เฟินของเราชินกับสภาพแวดล้อมภายนอกกันได้แล้ว โดยการเปิดปากถุงพลาสติค ให้อากาศภายนอกเข้าไปได้ ทิ้งไว้ประมาณสัก 1 เดือน เป็นอย่างน้อย

หลังจากที่เปิดปากถุงไว้นานพอแล้ว ก็สามารถแยกแต่ละต้นไปปลูกลงกระถางจิ๋วต่อไปได้

แต่สำหรับผม จะไม่ได้เอาออกมาปลูกทีเดียวทั้งหมด จะทยอยเอาออกมาทีละไม่กี่ต้น เท่าที่ต้องการ เอาออกมาใส่กระถางเลี้ยงให้โตต่อไป หากขืนเอาออกลงกระถางทุกต้นหมดตะกร้า ไม่รู้จะเอาพื้นที่ที่ไหน วางได้หมด จนปัญญา และหากเป็นช่วงหน้าแล้ง ที่สภาพอากาศแห้งแล้งและร้อนรุนแรง รวมถึงอุปสรรคานานับประการแล้ว ผมยอมปล่อยทิ้งมันไว้ในถุงอย่างนั้นไปก่อนดีกว่า แค่คอยดูแล หากแห้ง ก็หยอดน้ำใส่เข้าไปให้ แต่ก็ไม่บ่อย เพราะอยู่ในถุงแบบนี้ ช่วยเก็บความชื้นเอาไว้ได้นาน



Platycerium hillii sporeling ในตะกร้า 2"
เริ่มหว่านสปอร์ 24-06-45 ย้ายลงกระถาง 13-07-46
ต้นนี้ถ่ายเมื่อ 05-08-46

สำหรับการแยกปลูกลงกระถาง ในระยะแรก ไม่จำเป็นต้องปลูกในกระถางใบโต ใช้กระถางใบจิ๋วขนาด 1" - 2" ก็พอ ส่วนเครื่องปลูก ก็เลือกให้ถูกต้องตามชนิดของเฟิน เช่น เฟินดิน หรือเฟินเกาะอาศัย

สำหรับการเพาะสปอร์เฟินของผม ค่อนข้างจะช้านานมาก เนื่องจากแทบไม่ได้ให้ปุ๋ยกันเลย บางที 3 เดือน 4 เดือน ให้สักที ซึ่งน้อยเกินไป ปกติอย่างน้อย ควรให้เดือนละครั้ง ด้วยปุ๋ยจางๆ พ่นเป็นฝอนละอองให้
สำหรับมืออาชีพแล้ว เขารู้ดีว่า ต้องใช้สารใดบ้าง ที่จะทำให้เฟินพวกนี้เติบโตได้เร็ว แต่สำหรับพวกเรา การเพาะสปอร์เป็นงานอดิเรก หรือไม่ได้เร่งร้อนอะไร ปล่อยให้มันโตไปตามธรรมชาติเรื่อยๆ ดีกว่า แล้วเราจะได้ต้นที่แข็งแรง ไม่ขี้โรค ดูแลง่ายด้วย เรื่องนี้ แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน

การเพาะสปอร์เฟินของผม อาจกินระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของเฟิน และช่วงเวลาว่างจากงานประจำ แต่ที่แน่ๆ ต้องใช้ความอดทน หมั่นดูแล ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด เพื่อให้ได้จำนวนต้นกล้าเฟินออกมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความภาคภูมิใจ และความสนุกเพลิดเพลิน ที่ได้ลุ้นว่า เราจะได้ต้นเฟินออกมาหรือไม่ จะเลี้ยงให้โตจนเป็นเฟินต้นใหญ่ต่อไปได้หรือไม่ นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสได้ต้นลูกผสม หรือต้นที่กลายพันธุ์หน้าตาแปลกๆ ออกมาอีกด้วย ความสนุกมันอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ

ดังนั้น จึงขอเชิญชวน คนรักเฟิน นักสะสมชนิดเฟิน รวมไปถึงคนที่อยากเพาะเฟินเอาไว้จำหน่าย โดยเฉพาะเฟินจากป่าไทย หรือจาก ตปท. ก็ตาม หันมาเพาะสปอร์กัน อย่างน้อย ประหยัดค่าใช้ในการสะสมเฟินให้ได้จำนวนมากชนิด ประหยัดทรัพยากรในป่าธรรมชาติ แทนที่เราจะต้องไปเก็บเป็นต้นๆ ออกจากมาป่า เอามาปลูกเลี้ยงกัน ให้หันมาเก็บแต่เฉพาะสปอร์ออกมา โดยที่ไม่ต้องทำลายทั้งต้น เอาใบที่มีสปอร์แก่มาเพียงเล็กน้อย สักนิ้วเดียว ก็สามารถเพาะได้จำนวนมากแล้ว และเผื่อท่านเพาะได้ต้นกลายพันธุ์ หรือลูกผสมใหม่ ท่านสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงมากๆ กว่าเฟินปกติหลายเท่าตัวเลย

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจการเพาะสปอร์ หากศึกษาจากวิธีการของผมแล้ว มีปัญหาสงสัยประการใด ยินดีตอบข้อสงสัย หรือจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันก็ยินดียิ่งนัก ในอนาคต หากมีเวลา ผมจะรวบรวมคำถาม หรือข้อคิดเสนอแนะจากเพื่อนๆ หลายคนที่เพาะสปอร์กัน เอามาบอกเล่ากันต่อไป

|| back