ระบบทำความเย็นและปรับอากาศ

 การใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยสามารถแยกเป็นพวกใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ ในภาคพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย การใช้ไฟฟ้าในภาคพาณิชยกรรม ได้แก่ การใช้ในอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการใช้ส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนี่องในระยะที่ผ่านมา จากการสำรวจการใช้อาคารของงานวิจัยต่าง ๆ ดังนั้นระบบปรับอากาศเหล่านี้จะใช้ไฟฟ้าในระบบปรับอากาศ ประมาณครึ่งหนึ่งของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด ดังนั้นระบบปรับอากาศในอาคารพาณิชย์จึงเป็นจุดที่ใช้พลังงานมาก และมีศักยภาพที่จะทำการประหยัดพลังงานได้มากเช่นกัน

การปรับอากาศในอาคารมีจุดประสงค์ที่สำคัญ ดังนี้

    1. เพื่อควบคุมอุณหภูมิของอากาศให้มีค่าคงที่ตามที่ต้องการตลอดเวลา
    2. เพื่อควบคุมความชื้นของอากาศไม่ให้ชื้นหรือแห้งเกินไป
    3. เพื่อควบคุมการไหลเวียนของอากาศให้มีความเร็วลมตามต้องการ
    4. เพื่อควบคุมคุณภาพและความสะอาดของอากาศ
    5. เพื่อควบคุมระดับเสียงในพื้นที่ปรับอากาศ

อาคารต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถจำแนกแหล่งความร้อนออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

    1. ความร้อนจากภายนอกอาคาร ความร้อนประเภทนี้ส่วนใหญ่เกิดจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และการรั่วไหลของอากาศจากภายนอกที่มีอุณหภูมิสูงเข้าไปในอาคาร
    2. ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในอาคารเอง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในอาคาร และผู้คนที่ใช้อาคารอยู่

ความร้อนทั้ง 2 ประเภทนี้จะทำให้ระบบปรับอากาศต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อดึงความร้อนเหล่านี้ออกมาทิ้งภายนอกอาคาร

  • หลักการทำความเย็น

            วัฏจักรการทำความเย็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในระบบปรับอากาศ คือ วัฏจักรการทำความเย็นโดยการกดดันไออุปกรณ์พื้นฐานในการทำความเย็น ประกอบด้วย

    1. เครื่องอัด ( Compressor )
    2. เครื่องควบแน่น ( Condenser )
    3. วาล์วขยายตัว ( Expansion Valve )
    4. เครื่องระเหย ( Evaporator )

            เมื่อสารทำความเย็นออกจากเครื่องระเหย สารทำความเย็นจะมีสภาวะเป็นไออิ่มตัว ( Saturated Vapor ) มีความดันต่ำและอุณหภูมิต่ำ สารทำความเย็นที่สภาวะไออิ่มตัว จะถูกอัดด้วยเครื่องอัด จนมีสภาวะเป็นไอร้อนยิ่งยวด ( Superheated Vapor ) มีความดันสูงและอุณหภูมิสูง สารทำความเย็นจะผ่านเข้าไปในเครื่องควบแน่นเพื่อถ่ายเทความร้อนออกโดยที่สารทำความเย็นจะเริ่มเปลี่ยนสภาพกลายเป็นของเหลวที่มีความดันคงที่ สารทำความเย็นที่ออกจากเครื่องควบแน่น จะมีสภาวะเป็นของเหลวที่มีความดันสูง เมื่อสารทำความเย็นผ่านวาล์วขยายตัวแล้ว   สารทำความเย็นจะมีความดันต่ำ อุณหภูมิต่ำ และเริ่มกลายสภาพเป็นไอและจะผ่านเข้าไปในเครื่องระเหย ที่เครื่องระเหยสารทำความเย็นจะรับความร้อน และกลายสภาพเป็นไออิ่มตัว วัฏจักรการทำความร้อนจะดำเนินเช่นนี้ซ้ำต่อ ๆ ไป

  • ชนิดของระบบปรับอากาศ

            ระบบปรับอากาศแบบพื้นฐานที่ใช้กันมากในอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นระบบปรับอากาศส่วนกลาง เพื่อการควบคุมภาวะอากาศให้ดีขึ้น และเนื่องจากผลของการปรับปรุงเทคนิคในการปรับอากาศ จึงได้มีการพัฒนาระบบปรับอากาศแบบต่าง ๆ ขึ้นมามากมายโดยเฉพาะเกี่ยวกับด้านอุปกรณ์การทำความเย็น

ในปัจจุบันระบบปรับอากาศที่ใช้กันอยู่ทั่วไป สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

    1. ระบบอากาศทั้งหมด ( All – Air System )
    2. ระบบน้ำและอากาศ ( Water - Air System )
    3. ระบบน้ำทั้งหมด ( All Water System )
    4. ระบบปรับอากาศแบบหน่วยเดียว ( Unitary Air Conditioner System )

สำหรับในประเทศไทย การปรับอากาศจะใช้เฉพาะการทำความเย็นเท่านั้น ยกเว้นพื้นที่มีการใช้งานเป็นพิเศษ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการทำความเย็นเท่านั้น

1.    ระบบอากาศทั้งหมด    ระบบอากาศทั้งหมด ยังแบ่งออกเป็น

1.1   ระบบท่อลมเดี่ยว ( Single Duct System )

            ระบบท่อลมเดี่ยว เป็นระบบปรับอากาศที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ดังแสดงในรูป อากาศภายนอกและลมกลับผสมกันแล้ว จะถูกปรับให้มีอุณหภูมิและความชื้นตามต้องการ ที่เครื่องปรับอากาศส่วนกลาง จึงส่งผ่านไปยังพื้นที่ปรับอากาศทางท่อลม การใช้ระบบปรับอากาศแบบนี้กับอาคารที่ประกอบด้วยห้องหลาย ๆ ห้องที่มีภาระความร้อนแตกต่างกัน จะทำให้ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายห้องให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ทั้งหมด จะควบคุมได้เฉพาะในบริเวณที่สำคัญเท่านั้น การแก้ไขอาจทำได้โดยการใช้เครื่องปรับอากาศส่วนกลางเครื่องเดียว ปรับอากาศบริเวณ หรือห้องที่มีภาระความร้อน คล้าย ๆ กัน

EUa_1.jpg (28741 bytes)

            การแบ่งเขตเป็นระบบ โดยการใช้เครื่องแต่ละชั้นของอาคาร เมื่อแต่ละชั้นมีภาระความร้อนแตกต่างกัน และให้มีเครื่องปรับอากาศสำหรับแต่ละชั้นเอง ดูรูป อากาศภายนอกจะถูกนำเข้ามาให้กับทุก ๆ ชั้นพร้อมกัน และลมกลับจากทุก ๆ ชั้นจะถูกปรับภาวะพร้อมกัน แล้วจ่ายไปยังเครื่องปรับอากาศในแต่ละชั้น

EUa_2.jpg (30688 bytes)

            ระบบท่อลมเดี่ยวอีกระบบหนึ่ง คือ ระบบการให้ความร้อนซ้ำ ( Reheat System ) ดูรูป   ในระบบนี้ลมจ่ายชั้นแรกจะมีอุณหภูมิต่ำที่สุด ลมจ่ายนี้จะถูกให้ความร้อนซ้ำให้มีอุณหภูมิสอดคล้องกับอุณหภูมิของห้องที่จะจ่ายลมไป โดยใช้เครื่องให้ความร้อนซ้ำในท่อลมแยก เพื่อให้สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องปรับอากาศได้แม่นยำ

EUa_3.jpg (26140 bytes)

            ระบบปรับอากาศทั้งหมดเป็นระบบที่ให้การควบคุมและการบำรุงรักษาได้ง่าย เนื่องจากอุปกรณ์หลักรวมอยู่ที่จุดเดียวกันหมด รวมถึงการควบคุมเรื่องเสียงจากเครื่องปรับอากาศ แต่จะใช้เนื้อที่สำหรับท่อลมมาก และไม่สามารถปรับอากาศเฉพาะบางส่วนของพื้นที่ในอาคารได้ตามต้องการ

1.2   ระบบท่อลมคู่ ( Dual Duct System )

            ระบบท่อลมคู่ได้นำมาใช้ในบางกรณีในอาคารใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาขัดข้องของระบบท่อลมเดี่ยว ดูรูป ในระบบนี้อากาศร้อนและอากาศเย็น จะถูกเตรียมแยกจากกันโดยเครื่องปรับอากาศ อากาศจะถูกส่งไปตามท่อแยกจากกัน แล้วผสมตามสัดส่วนที่เหมาะสมตามภาระความร้อนของแต่ละห้องก่อนที่จะจ่ายเข้าไปในห้องปรับอากาศ และใช้เครื่องผสม ( Mixing Box ) ผสมอากาศเย็น และอากาศร้อนพร้อมทั้งควบคุมการจ่ายปริมาณลมจ่ายเข้าไปในพื้นที่ปรับอากาศ ระบบท่อลมคู่จะช่วยให้สามารถควบคุมภาวะของแต่ละตำแหน่งได้ดี แต่เป็นแบบที่ใช้พลังงานมากกว่าแบบท่อลมเดี่ยวและมีการลงทุนสูงกว่า

EUa_4.jpg (40936 bytes)

2.   ระบบน้ำและอากาศ

            ในระบบปรับอากาศแบบอากาศทั้งหมดตามที่ได้กล่าวแล้ว ภาวะของห้องจะถูกปรับโดยอากาศล้วน ๆ ในระบบปรับอากาศแบบน้ำและอากาศ ดังแสดงในรูป   ขดท่อทำความเย็นและพัดลมจะติดตั้งอยู่ในพื้นที่ปรับอากาศ น้ำเย็นจะถูกจ่ายเข้าไปในขดท่อทำความเย็น เพื่อทำให้อากาศที่ผ่านเข้ามาในเครื่องปรับอากาศเย็นลง แล้วจึงจ่ายอากาศเย็นเข้าไปในห้องปรับอากาศ สำหรับการถ่ายเทอากาศ อากาศภายนอกจะถูกทำให้เย็นลงและแห้งลง ก่อนที่จะจ่ายจากเครื่องปรับอากาศส่วนกลาง ( เครื่องปรับอากาศปฐมภูมิ ) เข้าไปในพื้นที่ปรับอากาศ

            เนื่องจากน้ำมีค่าความร้อนจำเพาะและน้ำหนักจำเพาะสูงกว่าอากาศมาก จึงต้องการขนาดที่เล็กกว่า และกำลังที่น้อยกว่าในการส่งถ่ายปริมาณความร้อนที่เท่ากัน ฉะนั้นในการปรับภาระความร้อน ต้องการปริมาตรอากาศจากเครื่องปรับอากาศส่วนกลางน้อยลง ทำให้ขนาดเครื่องปรับอากาศส่วนกลางเล็กลง รวมถึงใช้ที่สำหรับท่อลมน้อยลง

EUa_5.jpg (42091 bytes)

ระบบน้ำและอากาศ

3.   ระบบน้ำทั้งหมด

            ระบบน้ำทั้งหมดเป็นระบบที่ให้น้ำเย็นจากเครื่องทำน้ำเย็นจ่ายไปยังเครื่องส่งลมเย็นในแต่ละพื้นที่ปรับอากาศ อากาศสำหรับการถ่ายเทถูกนำเข้ามาโดยตรงผ่านช่องผนังหรือท่ออากาศบริสุทธิ์และผสมกับลมกลับผ่านเครื่องส่งลมเย็น เพื่อปรับสภาวะและจ่ายไปในพื้นที่ปรับอากาศ ระบบนี้สามารถที่จะควบคุมอุณหภูมิและความชื้น รวมถึงการใช้งานของแต่ละพื้นที่แยกอิสระต่อกัน และใช้พื้นที่น้อยกว่าระบบอื่น ๆ แต่จะต้องการบำรุงรักษามากกว่าระบบอื่น รวมถึงการควบคุมเสียงของเครื่องส่งลมเย็น ดังรูป

EUa_6.jpg (25836 bytes)

4.   ระบบปรับอากาศแบบหน่วยเดียว

            ระบบปรับอากาศแบบนี้ ใช้เครื่องแบบ Direct Expansion ประกอบด้วย เครื่องทำความเย็น พัดลม และขดท่อทำความเย็น อยู่ในเปลือกหุ้มเดียวกัน ระบบเครื่องปรับอากาศแบบนี้แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ

    1. เครื่องปรับอากาศแบบชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ
    2. เครื่องปรับอากาศและชุดระบายความร้อนด้วยอากาศ
    3. เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน
    4. เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่าง

EUA_8.jpg (24335 bytes)

เครื่องทำความเย็นที่ประกอบในเครื่อง อาจเป็นแบบเครื่องควบแน่นระบายความร้อนด้วยน้ำ หรือเครื่องควบแน่นระบายความร้อนด้วยอากาศ ในระบบแยกส่วน ( Split Type System ) เครื่องควบแน่นระบายความร้อนด้วยอากาศจะอยู่แยกจากเครื่องปรับอากาศ โดยมีท่อต่อระหว่างกันในเครื่องปรับอากาศแบบชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ จำเป็นต้องมีเครื่องสูบน้ำหล่อเย็นและหอผึ่งน้ำ เพื่อระบาย ความร้อนจากเครื่องควบแน่น และหมุนเวียนน้ำหล่อเย็นกลับไปใช้ได้อีก อาคารที่ใช้เครื่องปรับอากาศแบบชุดจำนวนมากมักจะมีระบบน้ำหล่อเย็นส่วนกลาง เพื่อระบายความร้อนจากเครื่องควบแน่นร่วมกัน

  • ชนิดของเครื่องปรับอากาศ

            เครื่องปรับอากาศที่ใช้แพร่หลายในประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

    1. เครื่องปรับอากาศแบบใช้น้ำเย็น ( Chilled Water System )
    2. เครื่องปรับอากาศหน่วยเดียว ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อที่ผ่านมา

            เครื่องปรับอากาศแบบใช้น้ำเย็น ( Chilled Water System ) เป็นเครื่องปรับอากาศใช้น้ำเย็นเป็นตัวกลาง   ในการถ่ายเทความร้อนอีกทอดหนึ่ง ในระบบจะต้องมีเครื่องทำน้ำเย็น ( Chiller ) เพื่อทำน้ำให้เย็นก่อน แล้วจึงใช้เครื่องสูบน้ำจ่ายน้ำเย็นหมุนเวียนในระบบ เพื่อทำความเย็นให้แก่ส่วนต่าง ๆ ภายในอาคาร เครื่องปรับอากาศแบบใช้น้ำเย็นแบ่งออกได้เป็น

1.1   เครื่องปรับอากาศส่วนกลาง ( Central Air Condtitioner )

            เครื่องปรับอากาศส่วนกลางประกอบด้วย พัดลม มอเตอร์ ขดท่อทำความเย็น และแผ่นกรองอากาศอยู่ในเปลือกเดียวกัน และอาจจะมีเครื่องทำให้อากาศชื้น เครื่องทำความเย็นล่วงหน้า ( Precooler ) เครื่องทำความร้อนล่วงหน้า ( Preheater ) เครื่องให้ความร้อนซ้ำและกระบังลมเป็นส่วนประกอบด้วยแล้วแต่ลักษณะการใช้งาน

            เครื่องปรับอากาศส่วนกลางที่ประกอบสำเร็จจากโรงงาน เรียกว่า เครื่องส่งลมเย็น ( Air Hanhling Unit ) ส่วนประกอบต่าง ๆ จะประกอบเข้าด้วยกันในเปลือกหุ้ม รวมทั้งการหุ้มฉนวนและทาสีให้เรียบร้อนในโรงงาน

            เครื่องส่งลมเย็น มีขนาดที่สามารถจ่ายลมเย็นได้ตั้งแต่ 550 ถึง 27,800 ลิตร / วินาที และแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ แบบตั้งและแบบนอน แบบของพัดลมที่ใช้ขึ้นกับปริมาตรของอากาศและความดันสถิตย์ที่ต้องการ พัดลมที่นิยมใช้กันมากเป็นแบบหลายใบพัด ( Multi Blade Type ) ขดท่อทำความเย็นจะติดแผ่นครีบ แผ่นครีบโดยทั่วไปแล้วทำด้วยอะลูมิเนียมและท่อพักทำด้วยท่อทองแดง เครื่องกรองอากาศ ( Filter ) อาจเป็นใยไนลอนฟองน้ำ พลาสติกหรือใยอะลูมิเนียม

EUa_7.jpg (41845 bytes)

เครื่องส่งลมเย็น(Air Handing Unit)แบบหลายโซน

1.2   เครื่องขดท่อและพัดลม ( Fan Coil Unit )

         เครื่องขดท่อและพัดลมเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก เครื่องประกอบด้วยพัดลมมอเตอร์ ขดท่อทำความเย็น และแผ่นกรองอากาศ เครื่องมีทั้งแบบตั้งพื้นและแขวนเพดาน ขนาดของการจ่ายลมมักไม่เกิน 550 ลิตร/วินาที พัดลมอาจเป็นแบบหลายใบพัด ( Multi Blade ) หรือแบบ Cross Flow และสามารถควบคุมการไหลของลมได้เป็น 3 ขั้นตอน การจ่ายลมเย็นอาจใช้ท่อลมหรือจ่ายผ่านหน้ากากของเครื่องได้โดยตรง (Free Blow)

  • เครื่องทำน้ำเย็น ( Water Chiller )

1.    เครื่องทำน้ำเย็นแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ ( Air Cooled Water Chiller )

            เครื่องทำน้ำเย็นชนิดนี้จะใช้อากาศเป็นตัวกลาง เพื่อการถ่ายเทความร้อนทิ้งจากเครื่องควบแน่น ในระบบปรับอากาศที่ใช้เครื่องทำน้ำเย็น แบบระบายความร้อนด้วยอากาศ จะประกอบด้วยอุปกรณ์ ดังนี้

    1. เครื่องทำความเย็นประกอบด้วยเครื่องอัด ซึ่งมักจะเป็นเครื่องอัดแบบลูกผสม ( Reciprocating Compressor ) เครื่องควบแน่นแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ พัดลมระบายความร้อนจากเครื่องควบแน่นพร้อมมอเตอร์ อุปกรณ์ลดความดันและอุปกรณ์ทำความเย็น ( Water Cooler ) ซึ่งมักจะเป็นแบบถังและท่อ ( Shell and Tube )
    2. เครื่องส่งลมเย็นแบบใช้น้ำเย็น ( Chilled Water Air Handling Unit or Fan Coil Unit ) เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งในพื้นที่ปรับอากาศ เพื่อปรับสภาวะอากาศให้ได้ตามต้องการในการปรับอากาศมักจะต้องใช้เทอร์โมสแตท ทำงานควบคุมกับอุปกรณ์ควบคุมปริมาณน้ำที่จ่ายเข้าในขดท่อทำความเย็น เพื่อให้ได้สภาวะอากาศในพื้นที่ปรับอากาศตามต้องการ
    3. เครื่องสูบน้ำเย็น ( Chilled Water Pump ) ใช้ในการหมุนเวียนน้ำเย็นภายในระบบ โดยการจ่ายน้ำเย็นไปยังเครื่องส่งลมเย็นในพื้นที่ปรับอากาศ เพื่อรับการถ่ายเทความร้อนจากอากาศที่ต้องปรับสภาวะในแต่ละพื้นที่ น้ำเย็นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจะถูกส่งกลับเข้าไปในเครื่องทำน้ำเย็นใหม่ และหมุนเวียนเช่นนี้ต่อไป

เครื่องทำน้ำเย็นแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ มักจะมีขนาดตั้งแต่ 50 KWR ถึง 350 KWR และใช้   พลังงานไฟฟ้าในระบบประมาณ 0.34-0.40 KW/KWR โดยมีอัตราส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์แต่ละตัว ดังนี้

  • เครื่องอัดใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 80-85 % ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งระบบ
  • เครื่องสูบน้ำเย็นใช้ประมาณ 3-6 %
  • พัดลมระบายความร้อนจากเครื่องควบแน่นประมาณ 4-8 %
  • เครื่องส่งลมเย็นประมาณ 5-10 %

เครื่องทำน้ำเย็นแบบนี้เหมาะที่จะใช้กับบริเวณที่สามารถหาน้ำที่มีคุณภาพดีได้ยาก หรืออาคารที่ไม่มีที่สำหรับหอผึ่งน้ำ

2.    เครื่องทำน้ำเย็นแบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ( Water Cooled Water Chiller )

            เครื่องทำน้ำเย็นชนิดนี้จะใช้น้ำเป็นตัวกลาง เพื่อการถ่ายเทความร้อนทิ้งจากเครื่องควบแน่น ในระบบปรับอากาศที่ใช้ในเครื่องทำน้ำเย็น แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ จะประกอบด้วยอุปกรณ์ ดังนี้

  1. เครื่องทำความเย็นประกอบด้วยเครื่องอัด มักจะเป็นเครื่องอัดแบบลูกสูบ หรือแบบหอยโข่ง ( Centrifugal Compressor ) เครื่องควบแน่นแบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ( Shell and The Condensor ) อุปกรณ์ลดความดันและอุปกรณ์ทำน้ำเย็น ( Shell and Tupe Water Cooler )
  2. เครื่องส่งลมเย็นแบบใช้น้ำเย็นเช่นเดียวกับที่ได้กล่าแล้วในเครื่องทำน้ำเย็นแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ
  3. เครื่องสูบน้ำเย็น
  4. เครื่องสูบน้ำหล่อเย็น ( Condensor Water Pump ) ใช้ในการหมุนเวียนน้ำหล่อเย็นในระบบ โดยการส่งน้ำหล่อเย็นที่รับความร้อนจากเครื่องควบแน่น เพื่อไประบายความร้อนทิ้งที่หอผึ่งน้ำ น้ำหล่อเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำลงพอเหมาะที่จะนำกลับมาใช้งานได้อีก จะถูกส่งผ่านเข้าไปในเครื่องควบแน่นใหม่ และหมุนเวียนเช่นนี้ต่อไป น้ำในระบบหล่อเย็น ควรจะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากน้ำหล่อเย็นเป็น แบบระบบเปิด
  5. หอผึ่งน้ำ ( Cooling Tower ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ระบายความร้อนจากน้ำหล่อเย็นทิ้งไปในบรรยากาศ เนื่องจากน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็นต้องใช้เป็นปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องใช้ระบบน้ำหมุนเวียน และใช้หอผึ่งน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำให้ต่ำลง เพื่อสามารถนำกลับไปใช้ได้อีก ปริมาณจะสูญเสียไปประมาณ 4-6 % ของปริมาณน้ำหมุนเวียน ซึ่งแบ่งเป็นน้ำ 2-3 % กระเด็นสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์น้ำอีก 2-3 % จะระเหยหายไป การระเหยของน้ำจะมากน้อยเพียงใดขึ้นกับอุณหภูมิกระเปาะเปียกของอากาศี่ใช้ในการถ่ายเทความร้อน อุณหภูมิกระเปาะเปียกของอากาศยิ่งต่ำเท่าใดเราจะยิ่งได้น้ำหล่อเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำยิ่งขึ้น หอผึ่งน้ำประกอบด้วย หัวกระจายน้ำ ส่วนแลกเปลี่ยนความร้อน ( Filling ) ถาดน้ำและพัดลม

            เครื่องทำน้ำเย็นแบบระบายความร้อนด้วยน้ำ มักจะมีขนาดตั้งแต่ 100 – 5,200 KWR โดยใช้เครื่องอัดแบบลูกสูบสำหรับเครื่องทำน้ำเย็นขนาดเล็ก และใช้เครื่องอัดแบบหอยโข่งสำหรับเครื่องทำน้ำเย็นขนาดใหญ่ พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในระบบปรับอากาศที่ใช้เครื่องทำน้ำเย็นแบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ประมาณ 0.26-0.34 KW / KWR โดยมีอัตราส่วนในการใช้พลังงานของอุปกรณ์แต่ละตัว ดังนี้

  • เครื่องอัดใช้พลังงานไฟฟ้า ประมาณ 75-80 % ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งระบบ
  • เครื่องสูบน้ำเย็นใช้ประมาณ 3-6 %
  • เครื่องสูบน้ำเย็นใช้ประมาณ 3-6 %
  • เครื่องส่งลมเย็นประมาณ 6-10 %
  • พัดลมของหอผึ่งน้ำประมาณ 2-3 %

ระบบปรับอากาศแบบนี้ จะใช้พลังงานโดยรวมต่ำกว่า แบบที่ใช้เครื่องระบายความร้อนด้วยอากาศ แต่มักจะมีค่าลงทุนที่สูงกว่าเล็กน้อย

  • ประสิทธิภาพของการทำความเย็น

            การแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเครื่องทำความเย็น สามารถแสดงให้เห็นได้โดย

1. สัมประสิทธิ์ในการทำงาน ( Coefficient of Performance ) สัมประสิทธิ์ในการทำงาน ( COP ) เป็นค่าที่แสดงประสิทธิภาพของวัฏจักรการทำความเย็น คือ อัตราส่วนระหว่างพลังงานที่เครื่องสามารถทำความเย็นได้ต่อพลังงานที่ต้องใช้ ( พลังงานไฟฟ้า ) โดยทั่วไปประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ความร้อนจะมีค่าน้อยกว่า 1 แต่สำหรับวัฏจักรการทำงานความเย็นต่างจากเครื่องยนต์ความร้อน เพราะเครื่องทำความเย็นนั้นทำหน้าที่เป็นปั๊มสำหรับถ่ายเทความร้อน ฉะนั้นเปรียบเทียบงานที่ทำในเครื่องอัดกับความสามารถในการทำความเย็นแล้ว ความสามารถในการทำความเย็นมีมากกว่า

2. อัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงาน ( Energy Efficient Ratio ) เช่นเดียวกับสัมประสิทธิ์ในการทำงาน เพียงแต่พลังงานความเย็นใช้มีหน่วยเป็น บีทียู / ชม. แต่พลังงานไฟฟ้าที่ใช้มีหน่วยเป็นวัตต์ เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพอีอีอาร์มีหน่วยเป็น บีทียู / ชม. /วัตต์