ฐานข้อมูลและความรู้ทั่วไปสำหรับประชาชน
ความรู้ทั่วไปสำหรับประชาชน
  1. ภัยพิบัติจากดินพังในหน้าแล้ง อันตรายที่จะเกิดขึ้นและการป้องกัน
ฐานข้อมูลทางวิศวกรรมปฐพี
  1. ฐานข้อมูลการพิบัติของลาดดิน (under construction)
  2. ฐานข้อมูลเขื่อนในสำนักชลประทานที่ 9 (under construction)

ภัยพิบัติจากดินพังในหน้าแล้ง อันตรายที่จะเกิดขึ้นและการป้องกัน
  • สาเหตุหลักในการพิบัติ
  • พฤติกรรมที่อาจตรวจพบก่อนพิบัติ
  • พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
  • มาตรการแก้ไข
  • หลายคนคงจะแปลกใจว่าในฤดูแล้งเมื่อดินแห้งแตกระแหง และน้ำในแม่น้ำลำคลองเริ่มลดระดับลงอย่างรวดเร็วแล้ว จะมีการพังทะลายของดินคันคลอง คันถนนเลียบคลองหรือริมตลิ่งแม่น้ำตามมาได้อย่างไร ในเมื่อดินแห้งน่าจะแข็งแรงกว่าดินที่มีความชื้นสูงในฤดูฝน

    แผนที่บริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

    พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในบริเวณที่ราบภาคกลางตอนล่าง ตั้งแต่อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ล้วนมีอิทธิพลจากดินอ่อนซึ่งเป็นตะกอนดินเหนียวซึ่งพัดพามาตกตะกอนบริเวณปากอ่าวไทย ซึ่งเมื่อครั้ง 3,000 - 6,000 ปีมาแล้ว น้ำทะเลท่วมลึกเข้าไปจนถึงบริเวณดังกล่าว ดินเหล่านี้จะอมน้ำไว้ในปริมาณสูง ความชื้นในดินอ่อนส่วนบนอาจสูงถึง 80 - 120% ซึ่งหมายถึงมีน้ำอยู่เป็นปริมาตรแล้ว 2 - 3 เท่าของเนื้อดิน จึงมีลักษณะคล้ายวุ้น หรือขนมสังขยาที่เราชอบทานกันประจำนี้เอง

    การสูญเสียความแข็งแรงของดินตะกอนไวตัว นอกจากนั้นแล้วดินอ่อนยังมีความไวตัวต่อการถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย คือ จะสูญเสียความแข็งแรงไปถึง 4 - 8 เท่าตัว เมื่อดินถูกกระทบกระเทือน อีกทั้งเนื่องจากดินตะกอนเหล่านี้มีขนาดเม็ดดินละเอียดมาก จึงมีศักย์ภาพในการอุ้มน้ำไว้ให้ยึดติดกับเม็ดดินโดยไม่ให้ไหลผ่านช่องว่างระหว่างเม็ดดินได้ง่าย จึงเรียกได้ว่าเป็นดินเหนียวทึบน้ำ

    เมื่อถึงช่วงปลายฤดูน้ำหลากต่อถึงหน้าแล้ง ลำคลองซึ่งเคยเต็มไปด้วยน้ำก็จะค่อยๆ พร่องลงไป ยิ่งกว่านั้นในปีใดมีข่าวว่าจะมีฤดูแล้งที่ยาวนาน และมีโอกาสขาดน้ำมาก เกษตรกรที่ลงทุนปลูกพืชผลไปแล้ว ทั้งนาปรัง หรือพืชไร่ และผลไม้ต่างๆ ก็จะรีบช่วยตัวเองโดยการสูบน้ำกักตุนในบ่อ สระ ของตัว ทำให้เกิดการลดระดับน้ำในลำคลองอย่างรวดเร็ว หากไม่มีปริมาณน้ำส่งเข้ามาทดแทนหรือรักษาระดับน้ำไว้ น้ำก็จะแห้งคอดคลอง

    ในช่วงเวลานี้ก็จะก่อให้เกิดภัยพิบัติจากการพังทะลายของดินริมคลอง ซึ่งรวมไปถึงถนนหรือบ้านเรือนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นซ้ำซากกันเกือบทุกปีมากบ้างน้อยบ้าง ตามระดับน้ำที่ลดลง และความรวดเร็วในการสูบน้ำ

    ภาพการพิบัติของลาดคันถนนริมคลองดังจะเห็นได้จาก ในหน้าแล้งปีที่แล้ว (มกราคม - มิถุนายน 2542)ถนนบนคันคลอง 9 (สาย 3261) กม. ที่ 32 - 41 สายรังสิต - นครนายก ด้านริมคลองรังสิต และคลองระพีพัฒน์ คันคลองในเขตหนองจอกได้เกิดการพิบัติมากกว่า 20 จุดด้วยกัน

    สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการพิบัติ ได้ คือ การที่น้ำในคลองลดระดับอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการลดแรงดันต้านที่ผิวลาดคลองและก้นคลองน้ำที่ชุ่มอยู่บริเวณดินคันคลองยังไหลออกไม่ทันจึงทำให้เกิดแรงผลักลงสู่ท้องคลอง

    พฤติกรรมที่อาจตรวจพบ หรือสังเกตได้ครั้งแรก คือ เกิดรอยแตกบนคันคลองเป็นแนวเกือบขนานกับตลิ่ง แล้วโค้งเข้าหาตลิ่งเมื่อสิ้นสุดการพิบัติ โดยรอยแตกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 1 - 3 วันแรก แล้วจึงเกิดการยุบตัวของดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงที่อันตรายมากหากมีถนนหรือสิ่งก่อสร้างอยู่บนคันคลอง โดยเฉพาะยวดยานที่ผ่านไปมาในยามค่ำคืนซึ่งไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งเคยมีอุบัติเหตุถึงเสียชีวิตมาแล้วที่เขตหนองจอก

    ภาพลำดับการพิบัติ

    พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการพังทะลายของลาดดินในฤดูแล้งนี้ เท่าที่ตรวจพบจากข้อมูลในการวิจัยได้แก่ทางด้านตะวันออกของ กทม. ตั้งแต่พื้นที่คลองรังสิตเหนือ ตั้งแต่คลองระพีพัฒน์ โดยเฉพาะคลอง 7 ถึง คลอง 12 ถนนรังสิต - นครนายก ตั้งแต่ กม. 30 ถึง 42 พื้นที่คลองรังสิตใต้ จากอำเภอลำลูกกาไปทางทิศตะวันออก บริเวณเขตหนองจอก เขตลาดกระบัง ลงมาถึงอำเภอบางบ่อ บางพลี เป็นต้น

    พื้นที่เสี่ยงต่อการพังของคันดินริมคลอง

    พื้นที่ส่วนนี้นอกจากจะเป็นดินเหนียวอ่อนที่มีกำลังต่ำกว่าที่อื่นๆ แล้ว ยังมีการทำสวนผลไม้ และเกษตรกรรมหลายประเภทที่ต้องการน้ำ หากเมื่อใดมีความแห้งแล้ง เกษตรกรก็จำเป็นต้องช่วยตัวเองโดยการสูบน้ำจากลำคลองเข้าพื้นที่ตัวเอง ทำให้เร่งการพังทะลายของคันคลองให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

    เราจะมี มาตรการแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบได้อย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ผู้เกี่ยวข้องต้องการหาคำตอบ และจากผลของการศึกษาวิจัยพบว่า การดำเนินการแก้ไขอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

    1. การแก้ไขโดยการจัดการ คือ การคงระดับน้ำในคลองไว้อย่าให้ถึงระดับวิกฤต ทั้งนี้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องทราบว่าระดับดังกล่าวอยู่ที่ใด และต้องพยายามส่งน้ำลงมาเลี้ยงในลำคลองนั้นให้สูงกว่าระดับดังกล่าวตลอดเวลา
    2. การแก้ไขทางด้านวิศวกรรม คือ การสำรวจ วิเคราะห์ลาดคลอง และปรับปรุงลาดคลองให้มั่นคง เพื่อรองรับสภาวะการลดระดับน้ำในคลองอย่างรวดเร็วให้ได้ ถ้าเราปล่อยให้การพังทะลายเกิดขึ้นก่อนแล้ว การแก้ไขภายหลังย่อมจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการป้องกันอย่างแน่นอน เนื่องจาก ดินต้องสูญเสียความแข็งแรงไประหว่างการพิบัติ 4 - 8 เท่าตัว ต้องขุดลอกคลองเพื่อคงประสิทธิภาพการส่งน้ำ ต้องซ่อมแซมคันคลอง และคันถนนให้เข้าสู่สภาพเดิม อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้สัญจร ที่ใช้เส้นทางดังกล่าวได้ ดังนั้นหากพื้นที่ใดที่เคยเกิดดินพังในหน้าแล้งขึ้นบ่อยๆ น่าจะได้มีการหากทางป้องกันเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

    Updated: June 2000gerd_ku@yahoo.com