ในอดีตชาชาติลาวครั่งจะทอผ้าซิ่นไหมหรือผ้าซิ่นฝ้ายไว้นุ่งเอง โดยจะใช้ผ้าซิ่นฝ้ายไว้นุ่งทำงานและผ้าจะทอขึ้นเพื่อใช้ในเวลามีงานบุญ
งานแต่ง โดยเฉพาะเจ้าสาวจะต้องทอผ้าหน้ามุ้ง ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าสไบ ผ้าเช็ดเท้า หมอนและผู้ที่เป็นเจ้าบ่าว
จะต้องมาช่วยเจ้าสาวปั่นด้ายในเวลากลางคืน และชาชาติลาวครั่งจะต้องมีผ้าสีแดงอยู่ ๑ ผืนซึ่งมีลวดลายสวยงามที่สุดเพราะผ้าผืนนี้จะ
เก็บไว้ใช้ห่มก่อนเสียชีวิต ซึ่งเชื่อว่าจะมีชีวิตสุขสบายในภพหน้านอกจากนี้แล้วจะทอผ้าไว้เพื่ออุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
     
ผ้าซิ่นของชนชาติลาวครั่งยังมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนผ้าซิ่นของชนชาติอื่น คือผ้าซิ่นจะมี ๓ ส่วน ซึ่งเปรียบได้กับอวัยวะ
ของมนุษย์ คือ มีหัว ตัว ตีนส่วนตัวและหัวจะมีสีอะไรก็ได้ แต่ส่วนตีนจะต้องเป็นสีแดง ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลง คือ ไม่มีส่วนหัว
และส่วนเชิงจะต้องเป็นสีเดียวกับตัวผ้าซิ่น สำหรับผ้าซิ่นของชนชาติลาวครั่งที่ทอจากผ้าไหมจะนิยมสีแดง นอกจากนี้ยังนำวัตถุดิบจากรอบตัว
คือ ดอกไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ มาทำให้เกิดสีต่างๆ เช่นสีเขียว สีม่วง สีชมพู สีเทา สีน้ำตาล อีกทั้งยังได้กำหนดความหมายของสีแต่ละสีด้วย
เช่น สีขาว หมายถึง ความสว่าง ท้องฟ้าสีดำ หมายถึง ความมืด สีเขียว หมายถึง ใบไม้ป่าไม้ เป็นต้น ส่วนลายผ้าก็จะจินตนาการจากสิ่งแวดล้อม
รอบๆตัวเช่นกัน คือ ดอกไม้ ดาวบนท้องฟ้าสิ่งปลูกสร้าง สัตว์ต่าง ๆ อันเป็นการแสดงถึงความเป็นธรรมชาติที่อ่อนช้อยและงดงามอย่างมาก
     
ผ้าทอลายโบราณของจังหวัดอุทัยธานี จึงเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชนชาติลาวครั่ง ที่อพยพมาอาศัยอยู่ในตำบลโคกหม้อ
อำเภอทัพทัน ตำบลทัพหลวง ตำบลบ้านบึง ตำบลห้วยแห้ง ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ และยังคงผลิตผ้าทอตามรูปแบบวิธีการผลิตผ้าทอแบบโบราณซึ่ง
ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด ทำให้ผ้าทอลายโบราณของจังหวัดอุทัยธานี เป็นผ้าทอที่ทรงคุณค่าและเป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป