ลักษณะการตั้งสมมติฐานทางวิจัยที่ดีควรมีดังนี้
1.สมมติฐานที่ตั้งขึ้นควรมีความชัดเจนและเฉพาะเจาะจง ควรหลีกเลี่ยงคำที่มีความหมายกว้างเกินไปซึ่งเป็นการยากต่อการที่จะทดสอบ เช่น ยรรยากาศในโรงเรียนเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา คำว่า เหมาะสมเป็นคำที่มีความหมายกว้างเกินไป
2.สมมติฐานที่ตั้งขึ้นต้องเป็นสิ่งที่ทดสอบได้
3.สมมติฐานที่ตั้งขึ้นไม่ควรเป็นสิ่งที่มีขอบเขตกว้างเกินไป ซึ่งเป็นการยากต่อการทดสอบ และไม่สามารถที่จะสรุปข้อค้นพบให้ตรงกับเป้าหมายของสิ่งที่ต้องการจะศึกษาได้
4.สมมติฐานควรตั้งให้สอดคล้องกับความจริงที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันในเรื่องที่จะศึกษา
5.ภาษาที่ใช้ในการตั้งสมมติฐานควรเป็นคำพูดที่ง่ายๆทั้งนี้เพื่อให้ความหมายเป็นสิ่งที่แจ่มชัดสำหรับคนทั่วไป
หลังจากมีการกำหนดสมมติฐานขึ้นมาแล้ว ก่อนที่ผู้วิจัยจะเริ่มเก็บข้อมูลจำเป็นต้องมีการประเมินสมมติฐาน
เสียก่อน โดยเกณฑ์ต่างๆที่ใช้ในการประเมินคุณลักษณะที่ดีของสมมติฐานที่ดีของสมมติฐาน มีดังต่อไปนี้
1. สมมติฐานต้องอธิบายปรากฎการณ์ได้
สมมติฐานต้องมีลักษณะอธิบายปรากฎการณ์ที่ผู้วิจัยมีปัญหาได้ เช่น นักเรียนเรียนคณิตศาสตร์ได้ช้ากว่าปกติ ผู้วิจัยอาจสงสัยว่า อาจเกิดจากการเลือกใช้ตำราที่ไม่เหมาะสมกับระดับความสามารถของของผู้เรียน ผู้วิจัยจึงตั้งสมมติฐาน ถ้านักเรียนกลุ่มที่มีปัญหาได้เปลี่ยนไปใช้ตำราซึ่งสอดคล้องกับความถนัดของตนเองแล้ว จะทำให้เรียนได้ดีขึ้น
2. สมมติฐานต้องระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้วิจัยกล่าวแต่เพียงว่า นักเรียนไม่สามารถเรียนได้ดีเพราะมีปัญหาบางอย่าง ไม่นับว่าเป็นสมมติฐาน เพราะไม่มีการกล่วถึงตัวแปร แต่ถ้าจะกล่าวว่า นักเรียนซึ่งมีความถนัดทางคณิตศาสตร์สูงจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สูงด้วย หรือความถนัดทางคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ลักษณะดังกล่าวนี้จึงจะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ผู้วิจัยมีความสนใจ
3. สมมติฐานจะต้องสามารถทดสอบได้
คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของสมมติฐาน สมมติฐานจะต้องทดสอบได้ ผู้วิจัยอาจใช้วิธีอนุมานหรือสรุปความจากสมมติฐานเพื่อโยงไปยังข้อมูลที่สังเกตได้ซึ่งสามารถใช้ยืนยันหรือขัดแย้งกับสมมติฐานนั้นๆได้ ถ้าสมมติฐานมีความถูกต้องปรากฎการณ์ที่ผู้วิจัยทำนายไว้ก็จะเกิดขึ้นจริง ดังนั้นจึงย่อมเป็นไปได้ว่า ข้อมูลที่เก็บอาจขัดแย้งหรือสนับสนุนสมมติฐานนั้นๆก็ได้
สมมติฐานจะทำการทดสอบได้ก็ต่อเมื่อตัวแปรที่กล่าวถึงในสมมติฐานเป็นตัวแปรซึ่งสามารถวัดได้ ถ้าตัวแปรดังกล่าววัดไม่ได้ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะทดสอบสมมติฐานนั้น ดังนี้คำจำกัดความเชิงปฎิบัติการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการสร้างสมมติฐาน ดังนั้น ข้อระมัดระวังในการสร้างสมมติฐานก็คือ ผู้วิจัยจะต้องมีความมั่นใจเสมอว่าจะสามารถให้คำจำกัดความเชิงปฎิบัติการแก่ตัวแปรในสมมติฐานได้ นอกจากนั้น ตัวแปรที่
แสดงถึงค่านิยมทางสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เช่น "การเข้าโปรแกรมแนะแนวช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการศึกษาต่อในวิชา
ชีพสาขาต่างๆ" เป็นสมมติฐานซึ่งไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ (เพราะไม่ทราบว่าความสำเร็จคืออะไร หรือวัดด้วยอะไร) อย่างไรก็ตาม ถ้าเปลี่ยนเป็น
"นักเรียนซึ่งผ่านโปรแกรมแนะแนว จะมีความพอใจในสาขาวิชาชีพที่ตนเองกำลังเรียนอยู่มากกว่านักเรียนซึ่งไม่เคยผ่านโปรแกรมแนะแนวมาก่อน"
ก็จะสามารถเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น
4. สมมติฐานควรสอดคล้องกับองค์แห่งความรู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว
สมมติฐานไม่ควรขัดแย้งกับทฤษฎี หรือเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เช่น สมมติฐานที่กล่าวว่า " นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจะมีความตั้งใจเรียนสูงและสอบได้คะแนนสูงกว่านักเรียนกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูง" เป็นสมมติฐานที่ขัดแย้งกับข้อค้นพบทั่วๆไป ที่กล่าวว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมจะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนสมมติฐานดังกล่าวเสียใหม่ให้สอดคล้องกับทฤษฎีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอยู่
5. สมมติฐานควรอยู่ในลักษณะที่สั้นแต่มีความหมายชัดเจนในตัวเอง
การกำหนดสมมติฐานควรจะอยู่ในลักษณะที่ง่ายๆและชัดเจนซึ่งนอกจากจะช่วยให้การทดสอบสมมติฐานเป็นไปอย่างสะดวกแล้วยังช่วยสรุปให้ผลงานของการวิจัยได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ผู้วิจัยควรทำการเปลี่ยนรูปแบบของสมมติฐานทั่วไปให้กลายเป็นสมมติฐานย่อยๆหรือสมมติฐานเฉพาะเสียก่อน
โดยทั่วไปแล้ว ผู้วิจัยควรกำหนดสมมติฐานให้ครอบคลุมแง่มุมต่างๆ หลายๆด้านของตัวปัญหา เช่น การเรียนมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์โดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรมจะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้เร็วและมีความคงทน (retentionh) ของการเรียนรู้ได้นานกว่าการเรียนแบบธรรมดาซึ่งอาจแยกเป็นสมมติฐานย่อยได้แก่
-นักเรียนซึ่งเรียนมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์โดยบทเรียนแบบโปรแกรมจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ซึ่งเรียนโดยวิธีธรรมดา
-นักเรียนซึ่งเรียนมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์โดยบทเรียนแบบโปรแกรมจะมีความคงทนของการเรียนรู้ได้นานกว่านักเรียนซึ่งเรียนแบบ
ธรรมดา
โดยวิธีดังกล่าว สามารถแสดงให้เห็นถึงวิธีในการเก็บข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐานแต่ละข้อได้ ดังนั้น ข้อมูลอาจจะสนับสนุนสมมติฐานข้อหนึ่งแต่อาจขัดแย้งกับอีกข้อได้ เช่น ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าการเรียนมโนทัศน์ทางคณิศาสตร์โดยใช้บทเรียนแบบโปรแกรมช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วกว่าบทเรียนธรรมดาก็จริง แต่ไม่ช่วยในการคงทนของการเรียนรู้ให้นานกว่าแต่อย่างใด ผู้วิจัยไม่ควรกังวลในการใช้ประโยคซ้ำๆในการกำหนดสมมติฐานหลายๆข้อจนเกินไป ควรระลึกเสมอว่ายิ่งสมมติฐานมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเพียงไรความชัดเจนในการทดสอบสมมติฐานก็จะยิ่งมากขึ้นเพียงนั้น
อาจกล่าวสรุปได้ว่า ก่อนจะมีการทดสอบสมมติฐานควรมีการประเมินสมมติฐานเสียก่อนว่า สมมติฐานดังกล่าวมีลักษณะง่ายต่อการเข้าใจ
และแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอย่างชัดเจนหรือไม่ รวมทั้งมีลักษณะที่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำมาทดสอบ สมมติฐานควรแสดงถึงการคาด
คะเนของผู้วิจัยซึ่งยึดทฤษฎีหรือผลการวิจัยที่มีมาก่อนเป็นหลักนั่นเอง
back