แม่ฮ่องสอน

01/09/05

โฮม
แม่ฮ่องสอน
สินค้าพื้นเมือง
สถานที่ท่องเที่ยว
รูปสินค้า
ติดต่อเรา

 

ยินดีต้อนรับสู่ดินแดน สามหมอก

วิสัยทัศน์ของจังหวัด ::  

 
"จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อมและ
ทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มบทบาทการค้าชายแดน
ดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต"

 
สัญลักษณ์ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ::  




         รูปช้างในท้องน้ำ



 


 
หมายถึง  การฝึกช้างป่าให้รู้จักการบังคับบัญชาในการรบและงานด้านต่าง ๆ

 
สาเหตุที่ใช้รูปช้างในท้องน้ำเป็นตราประจำจังหวัดนั้นก็เพราะเป็นที่มาของการตั้งเมืองแม่ฮ่องสอน โดยเริ่มจากการที่เจ้าแก้วเมืองมาออกจับช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2368 - 2389) และได้รวบรวมชายไทยใหญ่ให้มาตั้งบ้านเมืองเป็นหลักแหล่งขึ้น 2 แห่ง มีหัวหน้าเป็นผู้ปกครอง คือ ที่บ้านปางหมู และบ้านแม่ฮ่องสอน สาเหตุที่เรียกว่าแม่ฮ่องสอนก็เพราะว่าได้มาตั้งคอกฝึกช้าง ณ. บริเวณลำห้วยแห่งนี้นั่นเอง

 
คำขวัญ  หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง

 

-------------------------------------



 

:: ดอกไม้และต้นไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ::  



รูปกระพี้จั่น



 


 
ชื่อ       จั่น
 
ชื่ออื่น  ปี้จั่น หรือ กระพี้จั่น

 

เป็นต้นไม้พระราชทาน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537


 

ชื่อวิทยาศาสตร์ "Millettia brandisiana Kurz  วงศ์  LEGUMMINOSAE"

 
ลักษณะ  ไม้ต้นผลัดใบ สูง 8-20 เมตร เปลือกสีเทา ใบประกอบรูปขนนก ออกเวียนสลับ มีใบย่อย 13-21 ใบ แผ่นใบย่อยมีรูปสีแกมขอบขนาน กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 3-4.5 เซนติเมตร ปลายทู่ โคนมนหรือสอบ เบี้ยว ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวปนม่วง ออกตามง่ามใบ ผลเป็นฝักแบน โคนแคบกว่าปลาย กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 9-12 เซนติเมตร เปลือกเกลี้ยงหนา คล้ายแผ่นหนัง ขอบเป็นสัน เม็ดสีน้ำตาล 1-4 เม็ด
 
นิเวศวิทยา  ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อน
 
ขยายพันธุ์  เมล็ด และปักชำราก
 
ประโยชน์  ทำเยื่อกระดาษ ด้ามเครื่องมือ ของเล่นเด็ก ดอกไม้ประดิษฐ์

 

-------------------------------------


 



   รูปดอกบัวตอง



 

ชื่อ       ดอกบัวตอง
 
ชื่ออื่น  พอหมื่อนี่ (ภาษาถิ่น)
วงศ์;     Composita หรือ Asteraceae และ Tribe-Heliantheae

 
ลักษณะ  เป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งเลื้อย สูง 3 เมตร หรือมากกว่า เปลือก ลำต้น กิ่ง สีน้ำตาล ใบเป็นรูปไข่ หรือมีแฉกตามขอบใบ 0-5 แฉก แต่ในเมืองไทยใบส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น 4 แฉก ดอกเป็นแบบ headง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 5-10 เซนติเมตร (ในไทยกว้าง 10-15 เซนติเมตร) โดยทั่วไปจะมีกลีบสีเหลือง 12-14 กลีบ (ในไทยพบ 12-21 กลีบ) เกสรตัวผู้ ตัวเมีย อยู่ในดอกย่อยเดียวกัน
 
นิเวศวิทยา  ถิ่นกำเนิด อเมริกากลาง ฮาวาย เม็กซิโก ซีออน อินเดีย สุมาตรา และไทย
 
ออกดอก  ระหว่างเดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม
 
ขยายพันธุ์  โดยเมล็ด และต้นเลื้อยไป
 
ประโยชน์  ลำต้นทำกระดาษ ใช้ในงานพิมพ์และหัตถกรรม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ใช้ประดับตกแต่งสถานที่แหล่งท่องเที่ยว เป็นพืชบำรุงดิน ใช้ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ด้านเซลล์ โดยใช้น้ำสกัดของดอกบัวตองทดสอบเบื้องต้นต่อการตายของเซลล์

 

-------------------------------------



 

ประวัติเมืองแม่ฮ่องสอน ::  
สันนิษฐานว่า เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่เจ้าแก้วเมืองมาจะเข้ามาตั้งบ้านเรือนขึ้นมาใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาอยู่เมื่อใดสมัยใด และอพยพไปอยู่ที่ไหน ผู้คนที่อยู่อาศัยก่อนนั้นมีหลักฐานและเชื่อกันว่าเป็นชนเผ่าลั๊วะ หรือละว้า หลักฐานที่ปรากฏอยู่คือหลุมฝังศพ ซากบ้านร้างซึ่งพบกันแถวบริเวณที่เป็นหอประชุมเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันคือตลาดโต้รุ่ง และที่โรงเรียนปริยัติธรรม ข้างวัดจองกลางและวัดจองคำ กลุ่มคนที่อยู่อาศัยก่อนนั้นน่าจะถูกไข้ป่าหรือเกิดการรบกัน มีการตายและพวกที่เหลืออพยพไปอยู่ที่ปลอดภัยกว่า
สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองแม่ฮ่องสอนเดิมเป็นชุมชนบ้านป่า ไม่มีผู้ใดปกครอง มีชาวไทยใหญ่บางส่วนจากชายแดนประเทศสหภาพพม่าที่อพยพเข้ามาทำมาหากิน ทำไร่ทำสวนเป็นบางฤดูกาล ความสำคัญสมัยนั้นเป็นเพียงทางผ่านของกองทัพพม่า ที่เดินทัพไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย
ตำนานเมืองแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2374 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางแคว้นล้านนาไทย เมืองพิงค์นคร หรือเมืองเชียงใหม่ มีพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าเป็น พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี ได้ทราบว่าทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือดินแดนที่เป็นหัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ป่าทึบและเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะช้างป่าที่ชุกชุมมาก จึงมีบัญชาให้เจ้าแก้วเมืองมา ผู้เป็นญาติเป็นแม่กองนำไพร่พล นำช้างต่อหมอควาญ ออกไปสำรวจความเป็นไปของเหตุการณ์ชายแดนด้านตะวันตก พร้อมให้จับช้างป่านำมาฝึกสอนใช้งานต่อไป
เจ้าแก้วเมืองมา ก็ได้รวบรวมไพร่พลช้างต่อและหมอควาญช้างออกเดินทางจากเมืองเชียงใหม่ มุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือลัดเลาะตามลำห้วย มุ่งสู่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน ใช้เวลาเดินทางไม่นานนักก็เข้าสู่หมู่บ้านเวียงปายหรืออำเภอปายในปัจจุบัน ที่นี่เจ้าแก้วเมืองมาและคณะพักอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก็เดินทางต่อ คราวนี้มุ่งสู่ทิศใต้ลัดเลาะตามลำน้ำปายขึ้นสู่ภูเขาสูงอีกครั้งหนึ่ง
การเดินทางช่วงนี้ใช้เวลามากกว่าเดิมก็ลงสู่แม่น้ำปายอีกครั้ง เมื่อถึงแม่น้ำปายก็พบมีชุมชนเล็ก ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก เป็นคนไตหรือไทยใหญ่ บริเวณหมู่บ้านติดแม่น้ำปาย มีป่าที่ราบว่างเปล่ามากมาย เห็นว่าทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านนี้ดีมาก สามารถขยายให้เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่โตได้ในภายหน้าและที่อยู่ใกล้บ้านยังมีดินโป่งเป็นแห่ง ๆ มีหมูป่าลงมากินดินโป่งชุกชุมมาก เหมาะสำหรับตั้งเป็นหมู่บ้านเป็นอย่างดี
เจ้าแก้วเมืองมาจึงได้รวบรวมผู้คนที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน ให้มีการคัดเลือกนายบ้านเรียกว่า "เหง" ก็ได้ "นายพะก่าหม่อง" คนไทยใหญ่เป็นเหง (กำนันปกครองหมู่บ้านและให้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านโป่งหมู" ) ต่อมากลายเป็นบ้านปางหมู ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าแก้วเมืองมาพร้อมกับพะก่าหม่องได้เดินทางต่อขึ้นไปทางทิศใต้ นำช้างที่คล้องไปจำนวนหนึ่ง เดินทางมาถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบัน เป็นที่เหมาะสมดี ลำน้ำไหลผ่านจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำปาย และยังมีลำธารไหลขนานทางทิศเหนืออีก เห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะที่จะตั้งเป็นที่ฝึกสอนช้างและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน จึงได้ตั้งคอกฝึกสอนช้างริมลำน้ำนั้น และกลายเป็นหมู่บ้านไทยใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แต่มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยกว่าบ้านโป่งหมู หลังจากที่เจ้าแก้วเมืองมาคล้องช้างได้มากพอควร ฝึกสอนอยู่จนเห็นว่าควรเดินทางกลับได้ จึงได้ตั้งให้ "แสนโกม" บุตรเขยของพะก่าหม่อง เป็น "ก้าง" (ผู้ใหญ่บ้าน) ปกครองดูแลและตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแม่ร่องสอน" ต่อมาคำว่า "แม่ร่องสอน" ได้เพี้ยนมาเป็น "แม่ฮ่องสอน" ส่วนลำธารอีกแห่งหนึ่งทางทิศเหนือเรียกว่า "ลำน้ำปุ๊" เนื่องจากพบว่ามีน้ำผุดขึ้นมาจากดิน
บ้านแม่ร่องสอนเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา มีชนชาวไทยใหญ่อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น เนื่องจากระยะนั้นประมาณปี พ.ศ. 2399 ได้เกิดจลาจลทางหัวเมืองไตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทำให้ชาวไทยใหญ่ที่รักสงบอพยพมากขึ้น ถึงปี พ.ศ. 2409 เกิดการรบกันในหัวเมืองไทยใหญ่ ระหว่าง เจ้าฟ้าเมืองนาย กับเจ้าฟ้าโกหล่านแห่งเมืองหมอกใหม่ เจ้าฟ้าโกหล่านสู้ไม่ได้ จึงได้อพยพครอบครัวมาอยู่กับแสนโกมที่บ้านแม่ร่องสอน พร้อมกับภรรยาชื่อ "นางเขียว" บุตรชื่อ "ขุนโหลง" หลานชื่อ "ขุนแอ" และหลานสาว "เจ้านางนุ" และเจ้านางเมี๊ยะ" มาอยู่ด้วย
ถึงปี พ.ศ. 2417 บ้านแม่ร่องสอนกลายเป็นชุมชนใหญ่ มีผู้คนเข้ามาอาศัยจนเห็นว่าจะจัดตั้งเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว "เจ้าอินทวิชายานนท์" เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ตั้งให้ "ชานกะเล" ชาวไทยใหญ่เป็นเจ้าเมืองคนแรกมีบรรดาศักดิ์เป็น "พญาสิงหนาทราชา" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนใน พ.ศ. 2417 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5
ต่อมาปี พ.ศ. 2427 หลังจากทำนุบำรุงบ้านเมืองมาได้ 10 ปี พญาสิงหนาทก็ถึงแก่กรรม ผู้ที่ครองเมืองแม่ฮ่องสอนต่อมาคือ "เจ้านางเมี๊ยะ" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนอยู่ 7 ปี ได้นำความเจริญมาสู่เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นอันมาก และถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2434
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนต่อมาคือ "ปู่ขุนโท้ะ" ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาพิทักษ์สยามเขต" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนระหว่างปี พ.ศ. 2434-2448 ก็ถึงแก่กรรม
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนต่อมาคือ "ขุนหลู่" บุตรของปู่ขุนโท้ะ ได้ปกครองแทนและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนระหว่างปี พ.ศ. 2448-2484 ต่อมาเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จึงไม่ได้มีการแต่งตั้งอีก
ใน พ.ศ. 2433 สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทยขึ้นมาตรวจราชการ ในหัวเมืองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ได้ปรึกษากับพระยาริศราชกิจ ข้าหลวงใหญ่เจ้าผู้ครองนครเมืองในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ จัดระเบียบการปกครองใหม่ คือรวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวม (แม่สะเรียง) และเมืองปาย เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกันเรียกว่า "บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก" ตั้งที่ว่าการแขวง (เทียบเท่าเมือง) ที่เมืองขุนยวม โดยตั้งให้นายโหมดเป็นนายแขวง (แจ้งความเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ร.ศ. 119)
ใน พ.ศ. 2446 ย้ายที่ว่าการจากเมืองขุนยวมไปตั้งที่เมืองยวม (แม่สะเรียง) และเปลี่ยนชื่อจากบริเวณเชียงใหม่ตะวันตกเป็นบริเวณพายัพเหนือ ในปี พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองยวม และเมืองปาย ตั้งเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ และย้ายที่ว่าการเมืองมาตั้งที่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรสุรราช (เปลื้อง) เป็นเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เป็นคนแรก พ.ศ. 2476 เลิกการปกครองที่เป็นมณฑลและตั้งเป็น "จังหวัดแม่ฮ่องสอน" บริหารราชการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณ
ที่ตั้งและอาณาเขต ::  
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ทางภาคเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้ง (ละติดจูด) ที่ 17 องศา 38 ลิปดา - 19 องศา 48 ลิปดาเหนือ และเส้นแวง (ลองติจูด) ที่ 97 องศา 20 ลิปดา - 98 องศา 39 ลิปดาตะวันออก ซึ่งห่างจากกรุงเทพมหานครมากที่สุดในภาคเหนือ มีระยะทางประมาณ 924 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 12,681.259 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,925,812.5 ไร่ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 7 ของประเทศ มีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 250 กิโลเมตร และกว้างประมาณ 95 กิโลเมตร

 
ทิศเหนือและทิศตะวันตก  ติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า รวม 3 รัฐ คือ รัฐฉานตอนใต้ รัฐคะยา และรัฐคอทูเล โดยมีเทือกเขาถนนธงชัยตะวันตก แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำเมย เป็นแนวพรมแดนกั้นระหว่างประเทศ
ทิศใต้  ติดต่อกับอำเภอท่าสองยาง จ.ตาก โดยมีแม่น้ำยวม และแม่น้ำเงา เป้นแนวเขตจังหวัด
ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ อ.เวียงแหง อ.เชียงดาว อ.แม่แตง อ.แม่แจ่ม อ.ฮอด และอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยมีเทือกเขาถนนธงชัยกลาง และเทือกเขาถนนธงชัยตะวันออกเป็นแนวเขตจังหวัด
โดยทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีแนวพรมแดนติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า รวมความยาวประมาณ 483 กิโลเมตร โดยเป็นพรมแดนที่เป็นพื้นดินประมาณ 326 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำประมาณ 157 กิโลเมตร (แยกเป็นแม่น้ำสาละวิน 127 กิโลเมตร และแม่น้ำเมย 30 กิโลเมตร)

 

-------------------------------------



 

:: ภูมิประเทศ ::  
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน และยังคงเป็นป่าไม้ตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่ป่าไม้ที่เป้นป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 6,976,650 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 88.02 ที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีทิวเขาเรียงตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ขนานกัน ซึ่งมีทิวเขาที่สำคัญ คือ ทิวเขาแดนลาว อยู่ทางตอนเหนือสุดของจังหวัด เป็นแนวแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับประเทศพม่าสหภาพพม่า และทิวเขาถนนธงชัย ซึ่งประกอบด้วยทิวเขาเรียงขนานกัน 3 แนว คือ ทิวเขาถนนธงชัยตะวันตก เป็นแนวเขตแดนไทย - สหภาพพม่า ทิวเขาทิศตะวันออกของจังหวัด เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่ ยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาแม่ยะ อยู่บริเวณทิวเขาถนนธงชัยตะวันออก ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดในเขตอำเภอปาย ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2005 เมตร

 

-------------------------------------



 

เขตการปกครอง ::  
 

 
จังหวัดแม่ฮ่องสอน แบ่งเขตการการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอแม่สะเรียง อำเภอปาย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอสบเมยและอำเภอปางมะผ้า มี 44 ตำบล (ไม่รวมตำบลจองคำ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน) มี 408 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 48 แห่ง ประกอบด้วย
 
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
 
- เทศบาลเมือง 1 แห่ง
 
- เทศบาลตำบล 4 แห่ง
 
- องค์การบริหารส่วนตำบล 42 แห่ง

 
นอกจากนี้ว่ามีสภาตำบลที่ยังไม่ได้ยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง คือ
 
- สภาตำบลขุนยวม
 
- สภาตำบลแม่กิ๊ ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอขุนยวมทั้งหมด

 
สรุปเขตการปกครองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
 
1. อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มี 6 ตำบล , 68 หมู่บ้าน , อบจ.1 แห่ง , เทศบาลเมือง 1 แห่ง, อบต. 6 แห่ง
 
2. อำเภอแม่สะเรียง มี 7 ตำบล , 75 หมู่บ้าน , เทศบาลตำบล 1 แห่ง , อบต. 7 แห่ง
 
3. อำเภอปาย มี 7 ตำบล , 62 หมู่บ้าน , เทศบาลตำบล 1 แห่ง , อบต. 7 แห่ง
 
4. อำเภอขุนยวม มี 6 ตำบล , 43 หมู่บ้าน , เทศบาลตำบล 1 แห่ง , อบต. 4 แห่ง , สภาตำบล 2 แห่ง
 
5. อำเภอแม่ลาน้อย มี 8 ตำบล , 69 หมู่บ้าน , เทศบาลตำบล 1 แห่ง , อบต. 8 แห่ง
 
6. อำเภอสบเมย มี 6 ตำบล , 53 หมู่บ้าน , อบต. 6 แห่ง
 
7. อำเภอปางมะผ้า มี 4 ตำบล, 38 หมู่บ้าน, อบต. 4 แห่ง

 

-------------------------------------

ลักษณะภูมิอากาศ ::

 
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัดในฤดูหนาว และฝนจะตกชุกในฤดูฝน นอกจากนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี ทั้งนี้ มีสาเหตุเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสูง มีพื้นที่อยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้มีอุณหภูมิสูงในตอนกลางวันเนื่องจากถูกแสงแดด ส่วนในตอนกลางคืนจะได้รับอิทธิพลจากลมภูเขา ทำใหอากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อความร้อนในตอนกลางวันลอยตัวขึ้นปะทะกับความชื้นของอากาศ จึงทำให้เกิดหมอกปกคลุม โดยทั่วไปในตอนกลางคืนสภาพภูมิอากาศจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้ง 3 ฤดูกาล
ฤดุร้อน  เริ่มตั้งแต่ช่วงระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าว
ฤดูฝน  เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้อากาศชุ่มชื้นฝนจะตกชุกมาก ซึ่งจะมีปริมาณมากที่สุดในเดือนสิงหาคม
ฤดูหนาว  เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม - กลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและความกดอากาศสูงจากประเทศจีน อากาศจะหนาวเย็นมาก

 

-------------------------------------

ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ::  
จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ
1. งานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วเป็นประเพณีบวชสามเณรเพื่อให้บุตรหลานได้มี.โอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้างานนี้จัดให้มีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน
2. งานประเพณีจองพาราประเพณีส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษาเทศกาลนี้จัดให้มีขึ้นระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 (ปอยเหลินสิบเอ็ด)
3. ประเพณีลอยกระทงจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง
4. ปอยจ่าติ (งานบั้งไฟและก่อเจดีย์ทราย) เทศกาลเดือนหก


 
  สืบค้นข้อมูลประเพณีจากระบบ

 

-------------------------------------



 

:: การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ::  
1. ก้า
2. รำไต
3. ก้าแลว หรือการฟ้อนดาบ
4. กิ่งกะหล่า หรือรำกินรี
5. จ๊าดไต (ลิเกไทยใหญ่)
6. เฮ็ดกวาม
7. ก้าลาย หรือลายก้า

 

-------------------------------------


 

:: การละเล่นพื้นบ้าน ::  
1. หมากข่วง
2. หมากนิม
3. หมากนิมโท
4. ม้าก๊อบแก๊บ (ม้ากะลา)
5. ม้าโต้งต้าง

 


 

 

โฮม | แม่ฮ่องสอน | สินค้าพื้นเมือง | สถานที่ท่องเที่ยว | รูปสินค้า | ติดต่อเรา

ไซท์นี้ได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุด01/09/05