เกาะหมาก
เป็นเกาะที่ค่อนข้างใหญ่มีหมู่บ้านตั้งอยู่ มีถนนลูกรังรอบเกาะ ช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวคือกันยายน
ถึง พฤษภาคม นอกนั้นเป็นฤดูมรสุม เกาะหมาก ตั้งอยู่ในทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ตรงกับละติจูด
ที่ 11 องศา 49 ลิบดาเหนือ ลองติจูดที่ 102 องศา 29 ลิบดาตะวันออก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สาม
รองจากเกาะช้างและเกาะกูด ในจำนวนหมู่เกาะทั้งหมดของทะเลจังหวัดตราด เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ
16 ตารางกิโลเมตร ระยะทางรอบเกาะยาว 27 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายทะเลด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงด้านใต้
เป็นหาดทรายขาวสะอาด เกาะหมากอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ เป็นระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร
เกาะหมากมีฐานะเป็นตำบล ขึ้นอยู่กับกิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด อาชีพดั้งเดิมของชาวเกาะหมากคือการทำเกษตรกรรม
พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นสวนมะพร้าวและยางพารา เล่ากันว่าผู้ที่มาเริ่มจับจองพื้นที่บนเกาะหมาก
เพื่อสร้างเป็นสวนมะพร้าวเป็นคนแรกนั้น ชื่อว่า เจ้าสัวเส็ง มีตำแหน่งเป็นปลัดฝ่ายจีนในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
รัชกาลที่ 5 ต่อมาเจ้าสัวเส็งได้ขายสวนมะพร้าวบนเกาะหมากให้กับ หลวงพรหมภักดี ( เปลี่ยน
ตะเวทีกุล ) ปลัดจีนอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านเกาะปอ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์
( เกาะกงของกัมพูชาในปัจจุบัน ) ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย
ต่อไปนี้จะได้เล่าถึงประวัติของหลวงพรหมภักดีและครอบครัวของท่าน
ซึ่งนับเป็นต้นตระกูลตะเวทีกุล และปัจจุบันลูกหลานของท่าน ก็ยังคงเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนใหญ่บนเกาะหมากอยู่
หลวงพรหมภักดี ท่านรับพระราชทานหน้าที่เป็นปลัดฝ่ายจีนประจำอยู่ ณ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์
ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังเป็นราชอาณาจักรไทย
ชาวบ้านเรียกท่านว่า ท่านปลัดจีน ท่านแต่งงานดำเนินชีวิตร่วมกันกับ คุณแม่มูลี่ มีบุตร
ธิดา รวมกันสิบเอ็ดคน คือ 1. นายเมือง ตะเวทีกุล 2. นายพร้อม ตะเวทีกุล 3. นางเต๋
วงษ์ศิริ ( แต่งงานกับขุนวงษ์ศิริรักษ์ ) 4. นายกันนา ตะเวทีกุล 5. นายอู๋ ตะเวทีกุล
6. นายดำ ตะเวทีกุล ( จมน้ำ เสียชีวิตในวัยเด็ก ) 7. นางกิมหุน วัฒนา ( แต่งงานกับนายพนมพวง
วัฒนา ) 8. นายเอิบ ตะเวทีกุล ( หลวงอุทัยสัจจเวที ) 10. นางพยอม อังสุวร ( แต่งงานกับขุนบริบาลสราธิกิจ
) 11. นายอาบ ตะเวทีกุล 12. นางสำลี บุญศิริ สันนิษฐานว่า หลวงพรหมภักดีมีเชื้อสายเป็นคนจีน
ได้อพยพจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทย ในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ในประเทศจีน
มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเกาะปอ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์และในภายหลังได้ส่งลูกชายคนที่
5 คือนายอู๋ ตะเวทีกุล ไปศึกษาในประเทศจีนและให้ นายกันนา ตะเวทีกุล ลูกชายคนที่
4 ที่ทราบแน่ชัดว่า การทำรงค์ทองเป็นอาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ดีกว่าอาชีพอื่นๆ ในยุคนั้น
ดังนั้นหมู่บ้านเกาะปอจึงกลายเป็นศูนย์รวมของบรรดาสินค้าทั้งหลายของจังหวัดประจันตคีรีเขตร์
เกาะกง และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในช่วงปีพ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2435 ในรัชกาลของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4 นายกองส่วยรงค์ ของจังหวัดประจันต์คีรีเขตร์ เกาะกง ได้รับพระราชทินนาม
หลวงโยธภิรมย์ เป็นข้าราชการที่ขึ้นตรงต่อวังหน้า มีหน้าที่ทำการควบคุมจัดเก็บส่วย
( ภาษี ) ให้แก่ทางราชการสมัยนั้น และครอบครัวของหลวงโยธาภิรมย์ ได้ตั้งรกรากบ้านเรือนอยู่ที่
หมู่บ้านเกาะปอนั้นเอง บ้านเกาะปอเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งแม่น้ำเกาะปอหมู่บ้าน
เกาะปอเป็นหมู่บ้านที่มีมาแต่โบราณกาล ประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่ติดชายฝั่งแม่น้ำ
ติดต่อเรียงรายกันไปตามชายฝั่ง ที่หมู่บ้านเกาะปอแห่งนี้ สมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของการปกครอง
การค้าขาย มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น เป็นที่ตั้งที่ว่าราชการเมืองประจันตคีรีเขตร์
ในสมัยพระพิไชยชลธี (สร้าง) ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองประจันตคีรีขันธ์
สถานที่ว่าราชการ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ในสมัยนั้นความเจริญทุกด้าน รวมอยู่ในหมู่บ้านเกาะปอ
ในหมู่บ้านมีพ่อค้า ข้าราชการ คฤหบดี ตั้งบ้านเรือนอยู่มากมาย มีพ่อค้าที่ทำการค้าขายใหญ่โต
มีเรือสำเภาใช้ใบใหญ่ๆ ของพ่อค้า แล่นนำสินค้าส่งเข้าขายกรุงเทพมหานคร เป็นประจำ
ท่านหลวงพรหมภักดีและคุณนายมูลี่ ท่านเป็นคฤหบดีที่ร่ำรวยคนหนึ่งของเมืองประจันตคีรีเขตร์
ชื่อเสียงของท่านเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป ท่านเป็นผู้มีกิจการค้าขายกว้างขวางท่านหนึ่งในสมัยนั้น
สถานที่ทำการค้าและที่อยู่อาศัยของครอบครัวของท่าน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตอนกลางของหมู่บ้าน
มีสะพานท่าเทียบเรือทอดลงสู่แม่น้ำริมสะพานเทียบเรือด้านเหนือสร้างเป็นเรือนแถว สำหรับลูกจ้างและบริวารได้เป็นที่อยู่อาศัย
ริมสะพานด้านใต้เป็นเรือนแบบโบราณ จั่วสูงสองหลังซ้อน แบบเรือนคู่ ฝายก ตั้งอยู่ชายฝั่งแม่น้ำ
มีชานหน้าบ้านยื่นลงชายน้ำ เรือนแฝดหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยของท่านและครอบครัว ใต้จากบ้านเรือนของท่านหลวงพรหมภักดีลงไปตามชายฝั่งแม่น้ำ
มีบ้านเรือนร้านค้าของพ่อค้า ข้าราชการและประชาชน ตั้งบ้านเรือนติดต่อกันลงไป จนถึงจวนผู้ว่าราชการ
เมืองประจันตคีรีเขตร์ท่านพระยาพิไชยชลธี และเรือนของพ่อค้า ข้าราชการในสมัยนั้นตั้งอยู่ติดต่อลงไปจนถึงท้ายบ้านหมู่เกาะปอมีทางเดินสร้างขึ้นมาแต่โบราณ
เป็นทางเรียบชายฝั่งแม่น้ำ แบ่งแนวบ้านชายฝั่งออกเป็นสองข้างถนนสายนั้นมีบ้านเรือนตั้งอยู่เป็นแถวติดต่อกัน
ห่างกันบ้าง ใกล้กันบ้าง ตามเขตของพื้นที่ของแต่ละเจ้าของเกาะปอในสมัยนั้นมีนายอากร
ตั้งโรงต้มกลั่นสุราส่งออกจำหน่ายทั่วไป มีพ่อค้านายอากรที่มีชื่อเสียง ผูกอากร หลายอย่างหลายท่าน
ต่อมาทางราชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนแบบการปกครองอย่างเก่าก่อนสมัยโบราณกาล
เปลี่ยนมาใช้การปกครองโดยแบ่งเป็นกระทรวง รับผิดชอบราชการเป็นแต่ละกระทรวงๆ ที่ใช้ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
เมืองประจันตคีรีเขตร์ได้ย้ายสถานที่ราชการไปตั้ง ณ ที่แห่งใหม่และยุบเลิกระเบียบการเก่าๆ
โดยย้ายไปตั้งที่ตำบลแหลมด่าน ปากแม่น้ำตะปังรุง ด้านในของช่องกง และได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองประจันตคีรีเขตร์ขึ้นใหม่
โดยเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองที่ส่งออกมาจากกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ท่านผู้ว่าราชการเมืองประจันตคีรีเขตร์คนหลังที่ได้รับการแต่งตั้งออกมาจากกระทรวงมหาดไทย
กรุงเทพมหานคร ท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ชื่อพระยาพิไชยชลธี ชื่อเดิม ท่านชื่อ
จร ฉัตรภูติ ชาวบ้านเรียกท่านว่า เจ้าเมืองจร ท่านหลวงพรหมภักดีและคุณแม่มู่ลี่
ต่อมาท่านได้ขยายกิจการค้าขายของท่านให้กว้างขวางขึ้น โดยได้จัดตั้งโรงงานรับซื้อฟืนไม้โกงกาง
โดยลงมาตั้งโรงรับซื้อไม้ขึ้นที่ชายฝั่งของแม่น้ำบางกระสอบด้านใต้ ที่เรียกกันว่าโรงฟืนมาจนถึงปัจจุบันนี้
ป่าไม้โกงกางของเมืองประจันตคีรีเขตร์มีบริเวณใหญ่โตกว้างขวางมาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชาย
เลนที่น้ำท่วมถึง บริเวณของป่าไม้มีไม้โกงกางงอกอยู่มีน้ำท่วมถึงทุกแห่ง โดยเริ่มจาคลองลัดเกาะหนูที่มีลำคลองจากเกาะหนู
มีสายน้ำไหลผ่านเข้ามาถึงลำแม่น้ำเกาะปอฝั่งทิศตะวันตก และในบริเวณป่าแห่งนี้มีลำคลองแยกอยู่หลายแห่ง
เป็นป่าไม้โกงกางกางที่งอกอยู่อย่างสวยงาม เป็นจำนวนมากมาย ในสมัยนั้นการเผาถ่านยังไม่มีการรู้จักทำการเผา
โรงรับซื้อฟืนของท่านหลวงพรหมภักดีและ คุณแม่มูลี่เป็นพ่อค้ารายแรกที่ทำการค้าฟืนไม้โกงกาง
โดยมีเรือสำเภาลำใหญ่ ใช้เสาใบแล่นบรรทุกฟืนไม้โกงกางส่งเข้ามาขายในกรุงเทพมหานครเป็นประจำ
ด้วยความเป็นผู้กว้างขวางคุ้นเคยในหมู่ของพ่อค้า ข้าราชการในสมัยนั้น ท่านจึงทราบข่าวและเรื่องราวของต่างๆ
ได้ดี ท่านทราบว่าสวนมะพร้าวของท่านเจ้าสัวเส็งซึ่งมีศักดิ์เป็นปลัดจีนท่านหนึ่งที่สร้างไว้
ณ เกาะหมากซึ่งเจ้าของจะขาย ท่านจึงได้ตกลงซื้อราคาซื้อขายกันในสมัยนั้น เป็นเงินตราสามร้อยชั่ง
สวนมะพร้าวเกาะหมากจึงได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทในตระกูลของท่านตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
กาลเวลาได้ล่วงไป อันความไม่แน่นอนนั้นย่อมมีประจำอยู่ทุกรูปนาม แม้แต่เหตุการณ์ของ
บ้านเมืองก็มีการผันแปรเปลี่ยนไป ในยุคสมัยนั้นเป็นยุคของการล่าเมืองขึ้น ฝรั่งชาติต่างๆในทวีปยุโรป
ได้แข่งขันกันเข้ายื้อแย่งข่มเหงชาติต่างๆในทวีปเอเชีย และที่อื่นๆยึดเอาบ้านเมืองของชาติที่ด้อยความเจริญกว่า
เอาทำเป็นเมืองขึ้น ประเทศสยาม (ไทย) เราได้ถูกฝรั่งชาติฝรั่งเศสและชาติอังกฤษยื้อแย่งเอาแผ่นดินที่อยู่ในความปกครอง
ไปทำเมืองขึ้นหลายแห่งและหลายครั้งหลายหน ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป จังหวัดประจันตคีรีเขตร์
อดีตเคยเป็นเมืองๆหนึ่ง ของราชอาณาจักรไทยในสมัยโบราณ มีประชาชนเป็นเลือดเนื้อเชื้อสายเดียวกันกับไทย
ได้รวมอยู่กับพระราชอาณาจักรของประเทศไทย ครั้นต่อมาในปีพ.ศ.2447 ฝรั่เศส นักล่าเมืองขึ้น
ได้ฉวยโอกาสผนวกผืนแผ่นดินของประเทศไทย คือเขตเกาะกง หรือจังหวัดประจันตคีรีเขตร์
เข้าไปอยู่ในครอบครองของเมืองขึ้นที่ตนยึดครอง คือประเทศกัมพูชา ตรงกับรัชสมัยแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 จังหวัดประจันตคีรีเขตร์ อดีตเคยเป็นเมืองๆหนึ่ง ของราชอาณาจักรไทยในสมัยโบราณ
มีประชาชนเป็นเลือดเนื้อเชื้อสายเดียวกันกับไทย ได้รวมเข้าอยู่ในพระราชอาณาจักรของประเทศไทย
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.2447 ฝรั่งเศส นักล่าเมืองขึ้น ได้ฉวยโอกาสผนวกผืนแผ่นดินของประเทศไทยคือ
เขตเกาะกง หรือจังหวัดประจันตคีรีเขตร์ เข้าไปอยู่ในครอบครองของเมืองขึ้นที่ตนยึดครอง
คือประเทศกัมพูชา ตรงกับรัชสมัยแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 การสูญเสียแผ่นดินเกาะกงในสมัยนั้น ประวัติศาสตร์ของชาติไทยมิได้บันทึกการเสียดินแดน
เมืองเกาะกงครั้งนั้น เอาไว้ไห้แก่ลูกหลานเยาวชนไทย ได้รับทราบความเป็นไปอย่างใดเลย
แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าประเทศไทย ได้สูญเสียดินแดน จังหวัดประจันตคีรีเขตร์
เกาะกง ให้แก่ฝรั่งเศส นักล่าเมืองขึ้นจริง อาณาเขตที่ตั้งของจังหวัดประจันตคีรีเขตร์
เกาะกง มีพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่ของจังหวัดตราดประเทศไทยปัจจุบัน เมืองประจันตคีรีเขตร์
เกาะกง มีความยาวติดต่อกัน ลงไปจนถึงอ่าวกัมปังโสม พื้นที่ตอนในของฝั่งทะเลขึ้นไปเป็นป่าเขา
ที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลมาก ในสมัยแผ่นดินของพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จลงไปตรวจพระราชอาณาจักร เขตของประเทศตั้งแต่จังหวัดจันทบุรี
ตลอดลงไปตามแนวชายฝั่งทะเล ด้านทิศตะวันออกของอ่าวไทย กรุงเทพฯ ตามประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2325 พระราชวงศ์จักรี ได้มีการสืบทอด พระราชสมบัติ ติดต่อกันมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4 ครั้นพอย่างเข้าปี พ.ศ.2400 เหตุการณ์ต่างๆในบริเวณรอบๆอาณาเขต ที่ได้บังเกิดขึ้นในสมัยนั้น
เป็นยุคที่เลวร้ายที่เกิดจาก ประดานักล่าเมืองขึ้น จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส คือฝรั่งเศสได้ยกกำลังทหารที่เหนือกว่าทั้งอาวุธและกำลังคน
เข้าโจมตีแผ่นดินเวียตนาม (ญวน) ในปี พ.ศ.2401 ได้เข้ายึดเมืองสำคัญไว้ได้หลายแห่ง
อาทิเช่น ไซ่ง่อน เบียนหัว ต่อมาก็ได้ยึดและครอบครองประเทศเวียตนามไว้ได้ทั้งหมด
ส่วนประเทศกัมพุชาในสมัยนั้น นักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส มิได้ใช้กำลังทหารเข้าบุกโจมตีเหมือนกับที่ได้ทำกับประชาชาติเวียดนาม
ชนชั้นปกครองนักล่าพื้นเมืองขึ้น ฝรั่งเศสได้ใช้กุศโลบายแบบไม้นวมโดยส่งตัวแทนเข้าไปทำการเกลี้ยกล่อมเจ้านโรดมสีหนุ
กษัตริย์ประเทศกัมพูชาในสมัยนั้น ให้ยอมยกแผ่นดินกัมพูชาทั้งหมด เข้าอยู่ในการอารักขาของนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส
และในที่สุดกษัตริย์กัมพูชายุคนั้นก็ยอมรับอย่างสิโรราบในปี พ.ศ. 2406 โดยมิได้มีข้อแม้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
เมื่อนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส ได้ใช้กำลังที่เหนือกว่าข่มเหงรังแกชาติเพื่อนบ้านของไทยที่อ่อนแอ
และไม่มีทางสู้ได้อย่างสบายๆเช่นนั้นจึงได้วางอำนาจความยิ่งใหญ่ในภูมิภาคส่วนนี้
ด้วยความกำแหงหาญกวาดสายตามองมายังอาณาเขตประเทศไทยที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลครอบคุมไปถึงจังหวัดพระตะบอง
เสียมราฐ ศรีโสภณและจังหวัดประจันคีรีเขตร์ เกาะกง ซึ่งในพื้นที่ของจังหวัดเหล่านี้เป็นพื้นที่ของราชอาณาจักรไทยตลอดมาแต่โบราณกาล
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกตอนสำคัญที่ไทยต้องสูญเสียดินแดนให้แก่นักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสไว้ว่า
ภายหลังที่นักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส ได้พยายามบีบบังคับให้รัฐบาลสยามสมัยนั้นให้ยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งประกอบด้วยแคว้นลาวเหนือและลาวใต้ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนลาว
อันเป็นเลือดเนื้อสายเดียวกันกับคนไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษหลายชั่วคนมาแต่โบราณกาลว่าเป็นของฝรั่งเศส
และในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้ใช้กำลังรุกรานเข้ายึดไป แต่ก็ได้ถูกกองกำลังของฝ่ายไทย
จับอาวุธลุกขึ้นตอบโต้อย่างรุนแรง เมื่อฝรั่งเศสมองเห็นว่า ทางฝ่ายไทยขัดขืนและไม่ยอมตามความต้องการของตนจึงในวันที่
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 หรือ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสได้ส่งกองกำลังของไทยเสียเปรียบมาก เพราะฝ่ายไทยมีกองเรือรบที่ล้าสมัยกว่าเรือรบของฝรั่งเศสผู้รุกราน
จึงถูกเรือปืนของฝ่ายศัตรูยิงเข้าใส่เรือรบไทยชำรุดเสียหายหนัก แต่ถึงกระนั้นเรือรบของฝ่ายศัตรูก็ถูกกองเรือรบไทยยิงเอาเรือทะลุไปหนึ่งลำ
เมื่อกองกำลังของฝ่ายไทยตกอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบกว่า ทั้งทางด้านอาวุธและเรือรบ
ฝ่ายไทยจึงยอมเปิดการเจรจาขอสงบศึกในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้ชาติมหาอำนาจฝรั่งเศสยุคนั้นได้เรียกร้องเอาแก่คนไทยหลายประการ
ล้วนแต่เป็นเชิงบีบบังคับให้ยอมรับในฐานะผู้แพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
ดังปรากฏข้อสนธิสัญญาที่ฝ่ายผู้ชนะสงคราม เป็นผู้กำหนดขึ้นดังนี้ :- 1.ฝรั่งเศสบังคับให้ฝ่ายไทยยอมรับว่า
อาณาจักรเวียดนามและกัมพูชาที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและบรรดาเกาะแก่งลำน้ำโขงทั้งหมด
ต้องตกอยู่ในครอบครองของฝรั่งเศส 2. ให้ฝ่ายไทยถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดให้ดำเนินการถอนทหารให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน
3. ให้ฝ่ายไทยเสียค่าปรับไหม ที่เกิดจากผลการรบทั้งที่ภาคอิสานและที่ปากน้ำเจ้าพระยา
4. ให้ลงโทษทหารไทยที่มีความผิดและเสียค่าทำขวัญให้แก่บุตร ภรรยาทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในการรบครั้งนี้
5. จะต้องเสียค่าทำขวัญทั้งสิ้น สามล้านฟรังก์ 6.เพื่อเป็นหลักประกัน รัฐบาลสยามจะต้องชดใช้ค่าปฏิมากรรมโดยให้รัฐบาลสยามนำเงินจำนวนสามล้านฟรังก์
โดยคิดเป็นเงินสกุลต่างประเทศ นำมาวางไว้ หรือมิฉะนั้นก็ต้องยินยอมให้ฝ่ายฝรั่งเศสมีอำนาจเก็บเงินภาษีอากร
และสมพัดสร ( หมายถึงอากรส่วนใหญ่เก็บจากผลไม้ยืนต้นหรือผลิตผลด้านการเกษตรทั่วไปเป็นรายปี
) และเงินส่วนต่างๆ ในเมืองพระตะบองและเสียมราฐ สนธิสัญญาทั้งหกข้อที่ฝ่ายล่าเมืองขึ้น
ยื่นเสนอต่อฝ่ายไทยครั้งนั้น ทางฝ่ายรัฐบาลไทยต้องยอมรับด้วย ความขมขื่นเพียงห้าข้อ
และยอมวางเงินจำนวนสามล้านฟรังก์ให้แก่ชนชั้นปกครองฝรั่งเศสสมัยนั้นทันที แต่ฝ่ายไทยขอยกเว้นข้อที่หนึ่ง
เกี่ยวกับเรื่องดินแดนฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งฝ่ายไทยยอมรับไม่ได้เพราะเป็นดินแดนของคนไทยที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของคนไทยที่อาศัยอยู่มาหลายชั่วบรรพบุรุษ
ดินแดนเหล่านี้เป็นของบรรพบุรุษไทยมาแต่โบราณกาล มิใช่ของชาติอื่นตามที่นักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสตู่เอาตามใจชอบ
เมื่อนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส เห็นว่าทางฝ่ายรัฐบาลไทยยังรีรอไม่ยอมให้สัตยาบันในสนธิสัญยาที่ยื่นต่อรัฐบาลไทยเอาไว้
ต่อมานาย ม.ปาวี ได้ยกกองเรือรบออกจากปากน้ำเจ้าพระยา โดยแล่นไปตั้งมั่นเอยู่ที่เกาะสีชัง
ทันทีก็ประกาศปิดอ่าวไทยอย่างอหังการ์ มิให้ฝ่ายไทยติดต่อกับโลกภายนอกได้ มุ่งหวังจะให้ไทยขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคและได้ใช้วิธีรังแกไทยอยู่ชั่วขณะหนึ่ง
จึงได้เลิกปิดอ่าวไทยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2436 ต่อมาได้นำกองเรือรบแล่นเข้ายึดเมืองจันทบุรี
และได้ยื่นข้อเสนอเอากับรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นอีกสองข้อ คือ 1. ให้ฝ่ายไทยถอนทหารออกจากเมืองพระตะบองและเสียมราฐ
2. ภายในเขต 29 กิโลเมตรจากเขตพรมแดน โดยยึดถือเอาลำแม่น้ำโขงเป็นศูนย์ปลอดทหาร ฝ่ายไทยจะมีทหารมิได้
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏว่าชัดแจ้งว่า ฝรั่งเศสได้เข้าเมืองจันทบุรี ตั้งแต่
ปี พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2447 รวมเป็นเวลาประมาณ 11 ปี (ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารของตน
ออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ปีมะโรง โดยได้มีการเจรจากันขึ้นกับรัฐบาลไทยสมัยนั้น)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เปิดการเจรจาทางการฑูตกันขึ้นในทางสันติ ขอร้องให้ฝรั่งเศสยอมผ่อนผัน
เรื่องเอกสิทธิ์ของศาลกงศุลและเรื่องบูรณภาพดินแดน โดยมีข้อตกลงกันทั้งสองฝ่ายว่า
ฝรั่งเศสยอมถอนทหารจากจันทบุรี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน โดยที่ทางฝ่ายไทยยินยอมให้ฝรั่งเศสยึดถือเอาดินแดนของจังหวัดตราดส่วนหนึ่งตอนใต้แหลมสิงห์ลงไป
พร้อมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในทะเล และรวมทั้งแผ่นดินของจังหวัดประจันตคีรีเขตร์
เกาะกง ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ทางใต้จากพื้นที่จังหวัดตราดลงไป ตกอยู่ในความครอบครองของฝรั่งเศสอีกด้วย
ความเป็นอยู่ของชาวเมืองประจันตคีรีเขตร์ หลังจากที่บ้านเมืองได้ตกเป็นของฝรั่งเศส
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เปลี่ยนไปทุกด้านฝรั่งเศสได้ส่งคนชาติเขมรเจ้ามาทำการปกครอง
แต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทั้งทางทหารและพลเรือน คนเขมรซึ่งเป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา
นำเอาวิธีการกดขี่ข่มเหงรังแก มาใช้แก่ชาวบ้านชาวเมือง การถูกเกณฑ์ใช้งาน หาเรื่องเอาความผิด
ด่าว่าทุบตี ตามวิสัยของผู้เข้ามาเป็นเจ้าเป็นนายที่คนเขมรนิยมทำกับชาวบ้านอย่างหนึ่ง
กับการเกิดโจรผู้ร้ายขึ้นในบ้านเมือง ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านมีแต่ความสะดุ้งหวาดกลัว
ไม่มีความปลอดภัยในทรัพย์สินและร่างกายของตน ครอบครัวของท่านหลวงพรหมภักดีถึงแม้ว่าทานได้จัดการซื้อสวนที่เกาะหมากได้เป็นกรรมสิทธิ์
มีสวนมะพร้าวเป็นหลักฐานมั่นคง อยู่ในพระราชอาณาจักรของไทย พ้นจากภาวะของการกดขี่ข่มเหงจากคนชาติอื่นแล้ว
แต่การรักถิ่นที่อยู่ อันเป็นนิสัยของปุถุชนที่ผูกพันกันอยู่ ความรักญาติห่วงมิตรผู้คุ้นเคย
ที่เคยอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาย่อมเป็นเครื่องผูกพันส่วนหนึ่ง และถิ่นฐานที่อยู่ที่เคยสะดวกสบาย
มีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ทุกอย่างทุกประการ ประกอบด้วยคามสวยงามของป่าเขา แม่น้ำและโขดเขิน
ที่มีอยู่อย่างพร้อมมูลของบ้านเกาะบ่อ อย่างที่จะหาที่แห่งอื่นมาเปรียบเทียบกันมิได้
ทำให้ผู้ที่เคยอยู่หลงไหลและใฝ่ฝัน แม้จะจากไปอยู่ที่แห่งอื่น นานแสนนาน ก็ไม่ลืมบ้านเก่าของตน
ท่านหลวงพรหมภักดียังคงอยู่ที่บ้านเกาะปอตลอดมา โดยมอบกิจการทางด้านสวนเกาะหมากให้แก่บุตรของท่านดูงาน
ต่างหูต่างตา ในสมัยนั้น พ่อค้าคฤหบดีที่มั่งมี ยังรวมกันอยู่ในบ้านเกาะปอเป็นส่วนมาก
เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมการค้าขาย
มีผู้คนหนาแน่นมาแต่สมัยก่อนที่บ้านเมืองยังเป็นของไทย
สมัยนั้นมีท่านคฤหบดีผู้มั่งคั่งท่านหนึ่ง ท่านเป็นพ่อค้าอยู่ในบ้านเกาะปอ ท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพนม
ชื่อเดิมของท่านชื่อเต๊า ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพนมเต๊า หรือเจ้าสัวเต๊า เพราะความร่ำรวยของท่าน
กิตติศัพท์ชื่อเสียงของท่านจึงเลื่องลือไปไกล ในหมู่คนทั่วไป ท่านทำการค้าขายของป่าเป็นส่วนใหญ่
ค้ารงค์ ค้าไม้หอม กะวานและเครื่องสมุนไพร บ้านของท่านทั้งหลังสร้างด้วยไม้สัก บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ย่านกลางของหมู่บ้านเกาะปอ
หลวงพรหมภักดีเป็นเพื่อนสนิทของหลวงพนมเต๊าต่อมาลูกชายของคุณหลวงพนมเต๊า ได้ทำการสมรสกับบุตรสาวของหลวงพรหมภักดี
ลูกชายคนนั้นคือท่าน ขุนวงษ์ศิริรักษ์ นามเดิมว่านายเต๊ก ส่วนบุตรสาวชื่อว่า นางสาวเตo
แต่งงานอยู่กินกันมาจนเกิดบุตรและธิดาหลายคน ในคืนวันหนึ่งของปี พ.ศ. 2453 ตรงกับปีจอหลังจากที่นักล่าเมืองขึ้น
ฝรั่งเศส เข้ามาครอบครองเมืองเกาะกงผ่านมาได้หกปีปรากฎว่า ได้มีพวกโจรบุกเข้าปล้นบ้านท่านหลวงพนมเต๊า
พวกโจรได้ยกกำลังเข้าบุกปล้นในเวลากลางคืน ขณะที่ทุกคนกำลังนอนหลับสนิททำการเก็บทรัพย์สินเงินทองของท่านไปเป็นจำนวนมาก
ในสมัยนั้น เป็นสมัยการใช้เงินเหรียญที่ทำด้วยแร่เงิน เงินของท่านจึงมีทั้งเงินของประเทศสยามและเงินของประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศส
และที่เป็นเงินกลมชนิดพดด้วงก็ยังมีอยู่ ปรากฎว่าพวกโจรที่พากันยกกำลังเข้าปล้นบ้านของท่านหลวงพนมเต๊าในครั้งนั้น
เอาเงินของท่านไปได้ไม่หมด และระหว่างทางที่เดินกลับ พวกโจรได้ทำเงินตกไว้เรี่ยราดไปตามทางเดินเป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านบางคนได้พบเห็นต่างพากันเก็บ มีผู้เก็บเงินที่พวกโจรทำตกไว้แล้วถือเอาประโยชน์ส่วนตน
ทำให้ฐานะดีขึ้นไปก็มี จากการที่ท่านหลวงพนมเต๊าถูกพวกโจรยกกำลังเข้าปล้นบ้านในครั้งนั้น
ทำให้เกิดความหวาดกลัวกันมาก และต่อมาในปีนั้น ท่านหลวงพรหมภักดีจึงได้อพยพพาครอบครัวเข้ามาอยู่ที่สวนมะพร้าวเกาะหมาก
บริเวณที่ดินในเกาะหมากมีบริเวณกว้างใหญ่และพื้นที่ๆ เป็นสวนดั้งเดิมมีอยู่แล้ว แต่ที่ดินว่างยังมีเหลืออยู่
ต่อมาทายาทของท่านหลวงพรหมภักดีได้พากันบุกเบิกสร้างเป็นสวนของแต่ละคน หลวงพรหมภักดี
สมัยที่คุณแม่มูลี่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านทั้งสองเป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ได้บำเพ็ญกุศลอยู่มิได้ขาด ระหว่างนั้นท่านได้สร้างวัดไว้ที่เกาะหมากหนึ่งวัด แต่อยู่ได้ประมาณสองปี
วัดนี้ก็ปล่อยให้ร้างไป แต่ท่านก็ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ถวายวัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด
สมัยเมื่อท่านเจ้าคุณบุรเขตร์คณาจารย์เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างจริงจังและเคร่งครัดมาก
เป็นคนใจบุญสุนทาน มีใจเมตตากรุณาอย่างสูง ท่านคงทำสวนอยู่บนเกาะหมากกับบุตรธิดา
จนตราบสิ้นชีวิตและเสียชีวิตด้วยโรคชราบนเกาะหมากที่บ้านสวนใหญ่ การมรณะภาพของท่านเป็นที่เศร้าโศกอาลัยของบุตรธิดาเป็นอย่างยิ่ง
พิธีงานฌาปนกิจศพของท่าน บุตรธิดาของท่านได้ร่วมกันจัดทำอย่างดี มีการแสดงพระธรรมเทศนาปฐมสังคยานา
จัดทำขึ้น ณ วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า เกาะหมากเป็นเกาะสวนมะพร้าว
สวนยาง ของบุคคลจากเชื้อสายเดียวกันทั้งเกาะ สำหรับลูกหลานของคุณหลวงภักดี เมื่อได้รับมรดกสวนมะพร้าวจากท่านแล้ว
ก็แบ่งเนื้อที่ที่ยังไม่มีผู้ใดจับจอง ให้แก่บุตรหลานต่อๆ กันไป จนบัดนี้กลายเป็นสวนยางและสวนมะพร้าวจนหมดสิ้น
ไม่มีเนื้อที่ว่างที่จะเป็นของคนนอกตระกูลได้อีกแล้ว นอกเสียจากว่าคนในตระกูลเดิมจะตกลงซื้อขายให้แก่บุคคลอื่นเท่านั้น
ปัจจุบันเกาะหมากยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสวนมะพร้าวและยางพารา ชาวเกาะหมากยังคงยึดอาชีพทางการเกษตรกรรมเป็นหลัก
มีผู้ประกอบอาชีพประมงอยู่บ้างประปราย มีการทำอวนหลังหิน ลอบหมึกและลอบปลาเป็น ประมาณ
ปี พ.ศ.2517 ได้มีผู้ริเริ่มสร้างบังกาโล ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นแห่งแรก ที่อ่าวบ้านนิด
อยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางด้านการท่องเที่ยวในระยะนั้นยังซบเซาอยู่ประกอบกับการเดินทางและการโทรคมนาคม
ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ธุรกิจการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก จึงหยุดชะงักไประยะหนึ่ง ต่อมาประมาณ
ปี พ.ศ. 2530 พื้นที่ชายทะเลเกาะหมากบางส่วนได้ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีการสร้างบังกาโลและรีสอร์ท
เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างจริงจัง เกาะหมากจึงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปมากขึ้น
สถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของตำบลเกาะหมาก มีหลายแห่ง เช่น 1. เกาะหมากรีสอร์ท
ตั้งอยู่อ่าวสวนใหญ่ ชายทะเลเป็นหาดทราย ยาวตลอดอ่าว มีเกาะขามตั้งอยู่หน้าอ่าว อ่าวสวนใหญ่อยู่ด้านตะวันตกของเกาะหมาก
2. เกาะหมากแฟนตาเซีย อยู่อ่าวเดียวกับเกาะหมากรีสอร์ท 3. สามมารีนรีสอร์ท ตั้งอยู่บนเกาะระยั้งนอก
อยู่ทางด้านตะวักตกเฉียงใต้ของเกาะหมาก ตรงข้ามอ่าวหน้านอก 4. ที.เค.ฮัท ตั้งอยู่บนเกาะหมาก
ที่สวนบ้านใหญ่ บริเวณอ่าวหน้านอก ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ 5. อ่าวขาวรีสอร์ท
อยู่ทางด้านใต้ของเกาะ บริเวณอ่าวขาว 6. เลซี่ย์เดส์รีสอร์ท อยู่ในบริเวณอ่าวขาวติดต่อกับอ่าวแดง
ด้านใต้ของเกาะหมาก 7. บ้านแหลมจันทร์ อยู่ทางด้านใต้ ถัดจากเลซี่ย์เดส์รีสอร์ท 8.
เกาะหมากไอส์แอนด์ฮิลล์ ตั้งอยู่ที่อ่าวโปง ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ 9. ซันไซน์รีสอร์ท
บ้านพักเชิงเขา อยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ 10. เกาะหมากเกสท์เฮาส์ บ้านพักในทะเลด้านตะวันออก
11. เกาะกระดาดรีสอร์ท ตั้งอยู่บนเกาะกระดาด ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะหมาก ตรงข้ามกับแหลมสน
12. เกาะขามรีสอร์ท อยู่ตรงข้ามกับอ่าวสวนใหญ่เกาะหมาก มีโขดทรายขาวสะอาดและหมู่หินดำที่ไม่เหมือนเกาะอื่นๆ
ในแถบนี้ ผู้เขียนใคร่ขอกราบเรียนถึงเรื่องของหลวงพรหมภักดีและคุณหลวงพนมเต๊าว่า
ตามประวัติท่านได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดเกาะกง (ประจันตคีรีเขตร์) มาแต่เดิมพร้อมด้วยคนไทยคนอื่นๆ
ก่อนที่จังหวัดนี้ยังไม่ตกเป็นของเขมร ยังเป็นจังหวัดประจันตคีรีเขตร์ อยู่ในราชอาณาจักรไทยมาแต่โบราณกาล
บ้านอยู่ตำบลเกาะปอ ในฐานะที่ท่านเป็นคหบดี มีผู้คนนับถือมาก ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดจีน
มีหน้าที่เก็บภาษีอากรจากคนจีน หลวงพนมเต๊า ขุนวงษ์ศิริรักษ์ หลวงอุทัยสัจจเวที ก็ได้รับพระราชทินนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ต่อมาหลังจากจังหวัดประจันตคีรีเขตร์ เกาะกง ได้ถูกฝรั่งเศสยึดไปเป็นของเขมร
เมื่อ พ.ศ. 2536 ซึ่งตรงกับ ร.ศ.112 หลายปี จึงได้อพยพมาอยู่เกาะหมาก ดังได้กล่าวข้างต้นนั้นแล้ว
เพื่อเป็นการเทอดทูนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ที่ทรงดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาด สามารถทำให้จังหวัดจันทบุรีและตราด รอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกา
นักล่าเมืองขึ้น ฝรั่งเศสไว้ได้และสามารถทำให้ประเทศไทยดำรงความเป็นเอกราชมาได้ ตราบเท่าทุกวันนี้
และเพื่อเป็นการเทอดทูนบรรพบุรุษของเกาะหมาก คือหลวงพรหมภักดี (เปลี่ยน ตะเวทีกุล)
, หลวงพนมเต๊า, ขุนวงษ์ศิริรักษ์ ต้นตระกูลวงษ์ศิริ
ขอขอบคุณ คุณสมศักดิ์ สุทธิธนกูล ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
กลับหน้าแรก