return to
dhamma tips

4Z
r's Dhamma Tips
  สมาธิร้อยสาย
 

Back to previous page   Go to next page

 

Last updated
11-06-1999


สมาธิร้อยสาย

บันทึกการฝึกสมาธิของ ฟ.ส.ก.
สำหรับแจกเป็นธรรมทาน ให้จัดทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต สำหรับกรณีอื่น ขอสงวนลิขสิทธิ์


วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2541

สมาธิร้อยสาย

บันทึกการฝึกสมาธินี้ รวบรวมวิธีฝึกสมาธิและลูกเล่นต่างๆที่ใช้ เพื่อมุ่งเตือนตนเองให้หาทางกำหนดจิตให้รวมตัวและรับมือกับปัญหารอบด้านซึ่งคอยขัดขวางอารมณ์สมาธิ เนื้อหาเป็นความรู้ที่ได้จากการฝึก เป็นการนำประสบการณ์จริงๆมาบันทึกไว้ พร้อมทั้งนำความเข้าใจที่ได้จากการอ่านมาตีความและดัดแปลงสู่การฝึกสมาธิ ที่ตั้งชื่อว่า ร้อยสาย เพราะไม่ยึดติดกับวิธีใดวิธีหนึ่ง หากแต่ต้องรู้จักดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ในแต่ละขณะจิต จากร้อยสายกลายเป็นสายเดียว


วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2541

ฝึกสมาธิแบบง่ายๆสบายๆ

สมาธิมีหลายแบบหลายวิธี มีทั้งวิธีบริกรรมภาวนา บริกรรมนิมิต หรือจับอารมณ์ความรู้สึก บางขณะอาจสามารถนำหลายๆวิธีมาใช้พร้อมกันได้ แต่บางขณะยิ่งฝืนฝึกผสมหลายๆวิธี ยิ่งทำให้เกิดความสับสน อารมณ์ไม่สงบมากขึ้น ผู้ฝึกต้องฉลาดใช้วิธีที่ตนฝึกได้ง่ายและไม่มีความรู้สึกว่าตนต้องทรมาณ ยิ่งคนที่เพิ่งหัดใหม่แล้วยิ่งต้องหาจังหวะเวลาและสถานที่ที่เหมาะกับการฝึกเป็นพิเศษ เพื่อให้กายสบายก่อนแล้วจิตจึงจะสงบเป็นสมาธิได้ง่าย แต่นี่ไม่ได้หมายถึงว่าสบายแบบปล่อยตัวปล่อยใจจนเกินไป

สมาธิที่แนะนำเผยแพร่ที่วัดสะแก จังหวัดอยุธยานั้นง่ายมาก แค่เริ่มต้นจากสวดระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วกำพระเครื่องไว้ในมือ หลับตาลงแล้วนึกบริกรรมภาวนาไว้ในใจว่า พุทธังสรณัง คัจฉามิ ธัมมังสรณัง คัจฉามิ สังฆังสรณัง คัจฉามิ ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเพ่งอะไรอีก ไม่ต้องสนใจกับลมหายใจหรืออย่างอื่นอีกเลย ภาวนาเช่นนี้ต่อไปแล้วเมื่อจิตสงบจะรู้เองว่าขั้นต่อไปนั้นเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปฝึกที่วัดด้วย ขอให้กลับมาฝึกต่อไปที่บ้าน แล้วหลวงปู่ท่านจะมาสอนให้ถึงบ้านเอง

หลวงปู่ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะหลวงปู่ดู่ แต่เป็นหลวงปู่ทุกๆองค์ ขอให้พยายามฝึกสมาธิเป็นประจำ เริ่มต้นอย่างง่ายๆสบายๆ


ฝึกหรือไม่ฝึกสมาธิ ใครเสียเวลามากกว่ากัน

ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆว่า ยังไม่มีเวลามาฝึกสมาธิหรอก ตอนนี้ต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัวก่อน วันๆยังวุ่นวายยุ่งมาก ขอไว้ฝึกกันทีหลังเถอะ

จุดประสงค์อย่างหนึ่งของสมาธิ คือการฝึกให้มีสติ สามารถรู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ แต่สติของเรานั้นมักจะมีเป็นวูบๆ เดี๋ยวมีสติ เดี๋ยวกลับคิดเพลิน คิดถึงอดีต ฝันถึงอนาคต ฝันกลางวันกันอยู่เสมอ เวลาที่เสียไปกับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์นั้นมีมากเหลือเกิน ส่วนเวลาที่มีสติกลับเป็นเพียงส่วนน้อยนิด ถ้าคนเราหันมาฝึกสมาธิเพื่อให้มีสติกันมากขึ้นคงจะดีไม่ใช่น้อย สติช่วยให้เราใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากขึ้นและเกิดประโยชน์มากขึ้น และวิธีฝึกสมาธิยังง่ายกว่าที่คิดเยอะเลย

ส่วนคนที่มีสติดีอยู่แล้วนั้นต้องหาทางฝึกสติของตนให้ดีขึ้นอีก พยายามให้ตนสามารถดำรงสติได้ทุกขณะในทุกสถานการณ์ แม้ในยามคับขันหรือมีปัญหาเฉพาะหน้าก็ตาม ยิ่งกว่านั้นสติต้องละเอียดมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ว่ามีสติแค่รู้ตัวอยู่ว่ากำลังอ่านหนังสือดูหนังอยู่เท่านั้น แต่ต้องรู้สภาพจิตใจอารมณ์ของตนทุกจังหวะ อาจมีสติละเอียดถึงขั้นรู้ตัวทุกขณะที่กำลังอ่านหนังสือแต่ละตัว อาการเคลิ้มตามบทหนังหรือบทความที่ดูอยู่นั้นเป็นไม่มีหรือเกิดขึ้นได้ยาก

สติเป็นเป้าหมายหนึ่งของการฝึกสมาธิ แต่สมาธิยังมีประโยชน์มากกว่าแค่ให้เกิดสติ ผู้ที่มีสติต้องรู้ตัวว่าสติของตนเด่นด้านไหนเป็นพิเศษ เช่น สติด้านการมอง หรือสติจากการสัมผัส แล้วพยายามฝึกฝนสติด้านนั้นๆให้เด่นขึ้น พร้อมกับสติด้านอื่นๆตามไป อย่าปล่อยให้สติเกิดขึ้นเองอย่างไม่รู้ที่มา


ปราณอภิญญา

วิธีฝึกสมาธิแบบนี้ดัดแปลงมาจาก ลมหายใจอภิญญา และรวมวิชชาธรรมกายเข้ากับวิชชาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ลำดับขั้นการฝึกมีดังนี้

  1. กำหนดสติตามรู้ลมหายใจเข้าออก ณ จุดกระทบ 3 ฐาน ได้แก่ จมูกอันเป็นต้นทางลมหายใจเข้าและปลายทางลมหายใจออก หลอดลมทางเดินลมหายใจ และศูนย์กลางกายอันเป็นสุดทางลมหายใจเข้าและต้นทางลมหายใจออก
  2. เมื่อรู้ว่าหายใจเข้า ให้ภาวนาในใจว่า สัมมา เมื่อรู้ว่าหายใจออก ให้ภาวนาว่า อะระหัง ให้รู้ละเอียดตลอดว่า ลมหายใจกำลังผ่านที่ฐานใด
  3. กำหนดนิมิตเป็น ลูกแก้วกลมใส ตั้งอยู่ที่กลางกายสุดทางลมหายใจเข้า เมื่อหายใจเข้าให้กำหนดภาพนิมิตให้สว่างขึ้นออกมาจากใจกลางดวง เป็นดวงสว่างกว่าดวงเล็กๆซ้อนอยู่ที่กลางดวงเดิม เมื่อหายใจออกให้เพ่งเข้ากลางดวงเล็กๆที่สว่างกว่านั้นแล้วทำให้ดวงขยายขึ้นเท่าดวงเก่า ทำให้ดวงเก่าสว่างสดใสขึ้น
  4. กำหนดนิมิตข้างต้นต่อไปเรื่อยๆตามจังหวะลมหายใจเข้าออก
  5. เมื่อจิตสงบได้ที่จนสามารถนึกเห็นภาพนิมิตชัดเจนดีแล้ว ให้เลิกบริกรรมภาวนา คงเหลือแต่บริกรรมนิมิตตามอาการรู้ตามลมหายใจ
  6. เมื่ออาการรู้ตามลมหายใจเบาบางลงจนหายไป ให้กำหนดจิตบริกรรมนิมิตต่อไป โดยเพ่งเข้ากลางดวง เดินเครื่องปั่นเข้ากลางเป็นดวงใหม่แทนดวงเก่า และใสสว่างมากขึ้น แผ่พลังออกมารอบด้านจนปกคลุมกายและสถานที่
  7. เดินลมปราณทุกทิศทางทุกอณูรอบด้านของร่างกาย เข้ากลางกายสู่กลางดวงเกิดเป็นดวงเล็กใหม่สว่างไสว แล้วเดินลมปราณออกหมุนเวียนทั่วร่างกาย ผลักพลังเข้ากลางดวง แผ่ออกจากกลางดวง
  8. อวตารให้เกิดกับทุกอณูทั่วร่าง ทั้งธาตุน้ำดินไฟลม ให้ละเอียดสุดละเอียด โดยมีดวงสว่างกลางกายเป็นประธานไว้ตลอดเสมอ

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2541

ค่อยๆฝึก อย่าใจร้อนอยากได้

กรรมฐานสี่สิบวิธี เป็นพื้นฐานของวิธีฝึกสมาธิ แต่ละวิธีเหมาะกับนิสัย อัชฌาศัย และจริตต่างกันไป ปราณอภิญญาเป็นกรรมฐานแบบผสม แม้จะแปลกกว่าสมาธิที่ทราบกันทั่วไป แต่ที่จริงแล้วก็ประกอบไปด้วยกรรมฐานพื้นฐานนั่นเอง เราต้องรู้จักประมาณกำลังความสามารถของตน ว่าสามารถฝึกขั้นใด พอฝึกขั้นนั้นจนชำนาญแล้วจึงเริ่มขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าฝืนฝึกเกินกำลังของตน ย่อมยากจะเกิดผล

ยิ่งกว่านั้นเมื่อฝึกสมาธิจนเกิดความก้าวหน้า เราต้องรู้จักฉวยโอกาสนำสมาธิไปสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นหรือนำกำลังสมาธิไปใช้ฝึกในขั้นที่สูงขึ้น เช่น เมื่อบริกรรมภาวนาจนสามารถตามรู้อาการกระทบของลมหายใจได้ตลอดแล้ว การภาวนาก็ไม่จำเป็นอีก ให้เลิกภาวนาแล้วกำหนดจิตตามรู้ด้วยจิตต่อไป ในขั้นนี้จะรักษาอารมณ์สมาธิไว้ได้แม้ว่ามีเสียงดังภายนอก เรียกว่าฝึกได้โดยไม่รำคาญต่อเสียง

Back to previous page   Go to next page