มรดกความคิด

ยามว่างเว้นจากภาระหน้าที่การงาน นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูติ-นรีแพทย์ชื่อดังประจำรพ.บำรุงราษฎร์ และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชูรักชูรส เลือกเดินทางท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ พร้อมเก็บภาพแห่งความประทับใจ เติมพลังในการทำงาน
นพ.พันธ์ศักดิ์ เล่าว่า เคยอ่านพบว่าชีวิตคนเรามีสามหมื่นวัน หนึ่งหมื่นวันแรก เป็นช่วงเรียนรู้วิทยาการต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต หนึ่งหมื่นวันช่วงที่ 2 นำความรู้จากวิทยาการต่าง ๆ ที่ร่ำเรียนประกอบวิชาชีพ และหนึ่งหมื่นวันสุดท้าย เป็นช่วงสงบสุข หาความสุขให้ตัวเอง ซึ่งชีวิตของตนที่เหลือจัดว่าอยู่ในช่วงหนึ่งหมื่นวันสุดท้าย จึงแบ่งเวลาช่วงนี้ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกทำงาน ตรวจคนไข้ หากไม่มีคนไข้ก็คงไม่มีเราในวันนี้ ไม่มีเงินไปท่องเที่ยวในที่ที่อยากไป จึงตอบแทนคนไข้โดยไม่เลิกอาชีพแพทย์ ส่วนที่ 2 มอบเวลาให้สังคมและประเทศชาติ รับเชิญบรรยาย เพื่อเป็นความรู้และวิทยาทานแก่คนในสังคม
ส่วนที่ 3 ให้เวลาแก่ตัวเอง หลีกหนีความจอแจในสังคม ออกไปกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ พบสิ่งต่าง ๆ มากมาย เห็นภาพของคนที่ไม่ยึดติด และภาพของการคืนสู่ธรรมชาติ ทำให้เกิดความประทับใจในธรรมชาติ และคนในธรรมชาติที่มีน้ำจิตน้ำใจที่ดีต่อกัน
เมื่อนำภาพสมัยเริ่มตัดสินใจแบ่งเวลาให้การท่องเที่ยว นพ.พันธ์ศักดิ์ พบว่ารูปลักษณ์ภายนอกเกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจน รูปร่างหน้าตาอ่อนเยาว์ขึ้น ผมมากขึ้นจากเดิมบางลงเรื่อยๆ ซึ่งเจ้าตัวสรุปเหตุผลว่า เป็นเพราะในแต่ละสถานที่ที่ไปพบแต่สิ่งดีๆ ได้รับน้ำใจจากชาวบ้านต่างถิ่น เช่น ให้ความช่วยเหลือเมื่อรถเสียระหว่างทาง รวมทั้งเกิดมุมมองและความคิดใหม่ๆ คิดได้ว่าชีวิตนี้ยังมีความหมาย จึงทำให้มีความสุขมากขึ้น เมื่อจิตใจดีขึ้น คิดและพูดอะไรก็เป็นเรื่องดีๆ ความเป็นหนุ่มสาวกลับคืนมา และยังทำให้มีกำลังใจกลับมาทำงานต่อไปอย่างมีความสุข เพราะธรรมชาตินำมาซึ่งความสุข สนุกสนาน เป็นโลกที่ไม่เร่งรีบ ร้อนรน เคร่งเครียด
นพ.พันธ์ศักดิ์เล่าว่าเคยมีคนไข้ถาม ทำไมคุณหมออายุมากขึ้น ยิ่งอารมณ์ดีขึ้น คิดดี และพูดดีซึ่งบอกไปว่าเพราะได้ไปเที่ยวพบแต่สิ่งดี ๆ เจอสถานที่ ดีๆ คนดีๆ พบความสงบ ความสนุก และความสุข ไม่ได้ไปเที่ยวประเทศที่มีความศิวิไลซ์ แต่ไปประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ ไม่มีวัตถุนิยม ทำให้เห็นความน่ารักในมนุษย์และสัตว์ ก่อนไปเที่ยวเป็นช่วงเตรียมตัวความสุขจึงเกิดขึ้น ขณะไปเที่ยวก็มีความสุข กลับมาแล้วยังมีความสุขต่ออีกสิบวัน ถ้าไปเที่ยวปีละ 2 ครั้ง เท่ากับปีนั้นมีความสุข 2 เดือน แต่ปีหนึ่งไปเที่ยว 6-7 ครั้ง เท่ากับมีความสุข 6-7 เดือน ชีวิตเกินสุขแล้ว
นพ.พันธ์ศักดิ์ เล่าว่าจากการเดินทางจึงนำมาสู่มรดกความคิด บอกลูกๆ ว่าไม่มีใครบังคับใจให้ไปเที่ยว หากพ่อไปเที่ยวที่ไหนและเสียชีวิต ไม่ต้องนำศพกลับบ้าน เพราะพ่อได้ไปในที่ที่ชอบแล้ว ซึ่งสถานที่นั้นประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างไร ไม่ว่านำร่างไปเผา ฝัง หรือสับให้ปลากิน (ที่ทิเบต) ก็ทำตามพิธีกรรมนั้น หากคิดถึงก็ขอให้เดินทางไปเยี่ยมยังสถานที่พ่อเสียชีวิตบ้าง ซึ่งลูกจะได้เห็นสิ่งสวยงามในที่ที่พ่อเคยเห็น เป็นอีกทางหนึ่งที่ลูกได้เก็บเกี่ยวความสุขจากธรรมชาติ
เยี่ยมรุ้ง
