ศิลปะชีวิต
หนังสือเล่มเล็ก
ศิลปะชวนชม
ศิลปะคอมพิวเตอร์
บันทึกการเดินทาง

ใช้วิกฤตเป็นโอกาส

กลุ่มมนุษย์เงินเดือน และเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ช่วงฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 และล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมาจนปัจจุบัน หลายคนบอกว่านับวันงานยิ่งหายาก การทำมาหากินยิ่งฝืดเคือง เพราะต้องผจญกับสภาวะน้ำมันแพง ค่าแรงไม่พอกับค่าครองชีพ บางคนพาลหมดกำลังใจกับปัญหาที่รุมเร้า ….แต่หลายคนยังมีแรงผลักดันให้ฮึดสู้

ทำให้คิดถึงอาจารย์ยักษ์ที่กล่าวในรายการยุทธการพอเพียงเมื่อปี 2550 ว่า เมื่อต้องแก้ปัญหา ถ้ามีความเชื่อมั่น ใจนั้นสำคัญที่สุด ให้บอกตัวเองเสมอว่า “ เราทำได้” และให้ลงมือทำทันที ทั้งบอกว่าคนมักจะหาเงินมาแก้ปัญหา ให้เราคิดตรงกับข้าม “ หาอยู่ หากิน หาใช้” ด้วยความรู้ที่มีอยู่ แล้วเงินจะตามมา ….

คนเราเมื่อล้มแล้ว ต้องลุกขึ้นต่อ ไม่ควรติดอยู่กับความคิดเก่าๆ ถือโอกาสพัก …. รับรู้ข่าวสารรอบด้าน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ …. ทำจิตใจให้สงบ ยิ้มรับปัญหา ย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง …. กล้าไหม ถ้าจะคืนสู่สามัญอย่างคนอื่นๆ เขา

ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2551 คอลัมน์พอแล้วรวย อาจารย์เขียนเรื่องวิกฤติคือโอกาสไว้ตอนหนึ่งว่า

“ ท่ามกลางความหดหู่ของวิกฤติรอบด้าน ข้าวยากหมากแพง ภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม แต่ “ กำลังใจ” และ “ การตื่นรู้” ของผู้คนก็เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ เห็นพิษภัยการทำลายล้างของ “ ลัทธิบริโภคนิยม” เข้าร่วมกับขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่น่ายินดีคือ สถาบันการศึกษาที่ถูกครอบงำแบบเบ็ดเสร็จจากกรอบวิชา การตะวันตก ก็เริ่มหันขบวนยกธงรบร่วมกับขบวนการเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยนเรศวร ชาวบ้านเกษตรที่ถูกตีตราว่า “ ยากจน” “ เป็นหนี้” วนเวียนกับวักจักรแห่งชีวิตที่โหดร้ายภายใต้ระบบทุนสามานย์ ก็เริ่ม “ ตาสว่าง” ว่าวิถีพอเพียงของบรรพบุรษที่พึ่งพาตนเอง ไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง มีวิถีผลิตที่ดูแลรักษาธรรมชาติ จะเป็นหนทางแห่งการดำรง ชีวิตที่ “ ถูกต้อง” และจะปลดปล่อยให้ตนเองออกจากวักจักรแห่งความยากจน ไม่พอเพียงในที่สุด ”

มนุษย์เงินเดือนอย่างเราเริ่มต้นเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพอเพียง “ พออยู่พอกิน” ด้วยการเกษตรแบบง่ายๆ ที่บ้านเช่นการปลูกผักสวนครัวที่แปลงหญ้าหน้าบ้าน หรือการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกในห้องน้ำ หรือใต้ถุนบ้าน เป็นกิจกรรมให้ผ่อนคลาย ทั้งได้ออกกำลังกาย รดน้ำ พลวนดิน เมื่อเกิดผลผลิตก็นำมาทำอาหารกินเอง แทนการขับรถออกไปห้างอย่างแต่ก่อน ประหยัดทั้งค่าอาหารและค่าน้ำมัน ร่างกายก็แข็งแรงเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันสถาบันของรัฐและเอกชนหลายแห่ง เปิดอบรมเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบพอเพียงด้านการปลูกผักสวนครัว การเพาะเห็ด และการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเสริมรายได้ หรือทำเป็นอาชีพอิสระ อย่างเช่นที่ ม. เกษตรศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต หรือที่โครงการลูกพระดาบสเกษตร จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีหลายสาขาอาชีพ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าศึกษาเรียนรู้ตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน เพื่อให้คนไทยใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างมั่นใจ


คนรักเห็ด & เกษตร@home

20 สิงหาคม 2551

 

 
Geocities.com / Idea4thai 2005