ประวัติโรงเรียนการบินกองบัญชาการยุทธทางอากาศ

การบินในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อชาวเบลเยี่ยมผู้หนึ่งชื่อ นายแวน เดนบอร์นได้นำเครื่องบินแบบ ออวิลไร มาแสดงการบินที่กรุงเทพ ฯ พ.ศ.๒๔๕๔ หลังจากนั้นกระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นความสำคัญด้านการบิน จึงส่งนายทหาร ๓ นาย คือ

นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ

นายร้อยเอก หลวงอาวุธลิขิกร

นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต

 

เข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินในโรงเรียนการบิน ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยนายพันตรี หลวงศักดิ์ ศัลยาวุธ ฝึกบินกับ เครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีกสองชั้น นายร้อยเอก หลางอาวุธลิขิกร และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ฝึกบินกับเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว หลังจากจบหลักสูตรการบินแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ จึงกลับมาปฏิบัติหน้าที่นักบิน สังกัดแผนกการบินทหารบก โดยอยู่ในบังคับบัญชาของจเรทหารช่าง มีสนามบินอยู่ที่บริเวณสนามราชกรีฑาสโมสรปัจจุบัน

พ.ศ.๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้จัดตั้งโรงเรียนการบิน กองบินทหารบกขึ้น ย้ายสนามบินมาอยู่ที่ตั้งดอนเมือง จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๖๑ เปลี่ยนเป็น กองโรงเรียนการบินทหารบก กรมอากาศยาน ต่อมา พ.ศ.๒๔๖๔ ยกฐานะโรงเรียนการบินซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรง เป็นกองโรงเรียนการบินเบื้องต้น มี การรับศิษย์การบินของโรงเรียนการบิน ที่เป็นทหารสัญญาบัตรครั้งแรกในปีนั้น

๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ในระหว่างเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กองโรงเรียนการบิน ได้ย้ายที่ตั้งจากดอนเมืองไปอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนการบิน ขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ ใน พ.ศ.๒๕๐๔ โรงเรียนการบินจึงถือเอาวันที่ ๑๒ ธันวาคม เป็นวันสถาปนาโรงเรียนการบิน

ใน พ.ศ.๒๕๑๒ เกิดสงครามเวียดนาม กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินนครราชสีมา เป็นที่ตั้งกองบินยุทธวิธี การจราจรทางอากาศที่โรงเรียนการบิน มีความหนาแน่นมาก จนบางครั้งเกิด อุบัติเหตุ ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลอเมริกาจึงได้อนุมัติงบประมาณสำหรับสร้างโรงเรียนการบิน ให้กับ กองทัพอากาศไทย ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จนถึงปัจจุบันนี้

 เครื่องบินที่เคยเข้าประจำการในโรงเรียนการบิน

๑. เครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว

๒. เครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีกสองชั้น

๓. เครื่องบินฝึกแบบ ๑ นิเออปอร์ต ๒๓ ตารางเมตร

๔. เครื่องบินฝึกแบบ ๒ นิเออปอร์ต ๑๘ ตารางเมตร

๕. เครื่องบินขับไล่แบบ ๑ นิเออปอร์ต ๑๓ ตารางเมตร

๖. เครื่องบินขับไล่แบบ ๒ นิเออปอร์ต ๑๕ ตารางเมตร

๗. เครื่องบินฝึกแบบ ๔ (Avro - 504 N)

๘. เครื่องบินขับไล่แบบ ๔ นิเออปอร์ตเดอลาจ

๙. เครื่องบินขับไล่แบบ ๙ เคอร์ติสฮอว์ค ๒

๑๐. เครื่องบินขับไล่แบบ ๑๐ เคอร์ติสฮอว์ค ๓

๑๑. เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดแบบ คอร์แซร์

๑๒. เครื่องบินฝึกแบบ ๕ คอร์แซร์

๑๓. เครื่องบินฝึกแบบ ๖ ตาซิกาวา หรือแอ๊ดวานซ์

๑๔. เครื่องบินฝึกแบบ ๗ (Mile Magister)

๑๕. เครื่องบินฝึกแบบ ๘ (T - 6 )

๑๖. เครื่องบินฝึกแบบ ๙ ดีฮาวิลแลนด์ ชิบมั้งค์

๑๗. เครื่องบินลำเลียงแบบ ๒ (C. - 47) ดาโกต้า

๑๘. เครื่องบินฝึกแบบ ๑๑ (T - 33 A)

๑๙. เครื่องบินฝึกแบบ ๑๒ (T - 37 B)

๒๐. เครื่องบินฝึกแบบ ๑๔ (T - 41)

๒๑. เครื่องบินฝึกแบบ ๑๕

๒๒. เครื่องบินฝึกแบบ ๑๘

เครื่องบินที่ใช้ฝึกประจำการในโรงเรียนการบินในปัจจุบัน

๑. เครื่องบินฝึกแบบ ๑๖ ( CT - 4A/B/E)

๒. เครื่องบินฝึกแบบ ๑๙ ( PC - 9 )

๓. เฮลิคอปเตอร์แบบ ๘ ( Bell 206 )