สเต็มเซลล์รักษาโรคหูหนวก
ความหวังใหม่ทางการแพทย์
นพ.โอบจุฬ ตราชู อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคหูหนวกเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามารถรับสัญญาณเสียงต่างๆ ได้ ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปัจจุบันยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกเพศทุกวัย
จากข้อมูลล่าสุดพบว่า เด็กไทย 1-2 คน จาก 1,000 คนมีอาการหูหนวก
เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรมกว่าร้อยละ 50 นอกนั้นอาจมาจากความเสื่อมตามอายุขัย
ปัญหาการติดเชื้อ การอยู่ภายในสภาวะแวดล้อมที่เสียงดังมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน
อาทิ การทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ
ทำการศึกษาและวิจัยเรื่อง "การพัฒนาสเต็มเซลล์รักษาโรคหูหนวก"
นพ.โอบจุฬกล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทำการกระตุ้นสเต็มเซลล์จากหูให้สามารถเจริญเติบโต
และเปลี่ยนเป็นเซลล์ประสาทหูทดแทนเซลล์ประสาทที่เสื่อมสภาพ
เพื่อรักษาอาการหูหนวก โดยนำยาในกลุ่มสลายลิ่มเลือดหัวใจ
ซึ่งเคยมีการทดลองในประเทศอิตาลี พบว่าผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจที่รับประทานยาดังกล่าวกลับมีความสามารถในการได้ยินเพิ่มขึ้น
ทีมวิจัยจึงนำยาชนิดนี้มากระตุ้นสเต็มเซลล์ในหูของสัตว์ทดลอง
พบว่าผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเซลล์ตอบสนองต่อการกระตุ้นดังกล่าว
และมีแนวโน้มพัฒนาเป็นเซลล์ประสาทหูได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาต่อไป
คาดว่าภายใน 4-5 ปีจะสามารถนำมาทดลองในระดับคลีนิคได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและกระทรวงการต่างประเทศ
จัดการประชุมวิชาการทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ และให้บริการตรวจสุขภาพฟรีสำหรับประชาชน
ระหว่างวันที่ 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา
อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้การวิจัยและรักษาโรคโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดได้ผลและเป็นที่ยอมรับเฉพาะการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
เช่น มะเร็งเม็ดเลือดเท่านั้น ส่วนโรคอื่นๆ เช่น ด้านสมอง
ที่สถานพยาบาลต่างๆ โฆษณาประชาสัมพันธ์ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย
ส่วนการเก็บสายสะดือทารกแรกเกิดที่คิดราคาประมาณ 1-3 แสนบาท
และมีค่าบำรุงอีกหลายหมื่นบาท เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์กับเจ้าของสายสะดือในอนาคตนั้นสายสะดือดังกล่าวจัดเก็บได้นานเพียง
7-8 ปี หากเกินกว่านั้นจะไม่ได้ผล
|