Skip Navigation

 

โลกของคนหูหนวก


English Version หน้าแรก Thai Version

ที่จอดรถคนพิการของประเทศไทย

โดย ประภาษ รัตนพันธุ์

ณ ช่วงเวลานี้ ถ้าเราไปทำธุระ ไปเที่ยวหรือซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าดังๆ หรือตามศูนย์การค้าต่างๆ ในกรุงเทพฯ และสถานที่ราชการบางแห่ง จะพบว่ามีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งของลานจอดรถเป็นที่จอดรถสำหรับคนพิการ บางแห่งก็จะกันที่ไว้สามารถจอดได้หลายคัน แม้นจำเป็นจริงๆ ในเรื่องของของพื้นที่ อย่างน้อยจอดได้ 1 คัน จะมีป้ายสัญญาณติดไว้เห็นชัดเจน เป็นรูปวีลแชร์ที่เราเห็นก็ทราบทันทีว่านี่เป็นสัญลักษณ์ของคนพิการ ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และจะจัดไว้ในที่ที่ซึ่งคนพิการสามารถเข้าไปใช้บริการที่นั้นๆ ได้สะดวกที่สุด นับว่าภาครัฐที่เป็นผู้ใช้กฎหมายและภาคเอกชนผู้สนองการใช้กฎหมายได้ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี นับว่าเป็นการให้ความสำคัญแก่คนพิการขึ้นมาระดับหนึ่ง

ในต่างประเทศ ที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมากที่สุด เพราะผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศญี่ปุ่นโดนระเบิดปรมาณู ทำให้คนล้มตายหลายแสนคน และที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นคนพิการเสียค่อนข้างมาก ประกอบกับการทำสงครามก็ทำให้มีคนพิการในปริมาณที่ไม่น้อย โชคดีที่รัฐบาลและคนที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในเรื่องนี้ และปลูกฝังคนในชาติให้มีความเห็นอกเห็นใจคนพิการ ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในเรื่องการใช้สถานที่ เป็นต้นว่า ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถเฉพาะคนพิการ ถือเป็นนโยบายสำคัญในเรื่องนี้

จนตราบเท่าทุกวันนี้ เรายังพบเห็นการให้ความอนุเคราะห์แก่คนพิการอย่างมาก เราจะเห็นอาสาสมัครที่เป็นวัยรุ่น รับหน้าที่ดูแลคนพิการ ช่วยเข็นรถ ช่วยพาไปพักผ่อนตามสวนสาธารณะ ไปเที่ยวศูนย์การค้า ไปทานอาหาร บางครั้งจะเห็นไปกันเป็นกลุ่มๆ โดยที่เขาเหล่านั้นมิใช่ญาติของคนพิการเหล่านั้นด้วยซ้ำ แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกในความเอื้ออาทรต่อคนพิการ สร้างทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ อย่างน้อยเยาวชนที่นั่นได้รับรู้ว่าคนพิการเหล่านั้นคือผู้ที่เคยได้สละตนเองเพื่อป้องกันประเทศให้พวกเขาได้อยู่กันอย่างสุขสบายในปัจจุบัน หรือต้องพิการเพราะการทำงานก็เพื่อสร้างชาติให้มั่นคง เพราะฉะนั้น เขาๆ ทั้งหลายจึงไม่ทอดทิ้ง แม้ครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ประเทศเนปาล ก็พบเห็นสาวสวยวัยรุ่นเข็นรถคนพิการที่เป็นชาวญี่ปุ่นด้วยกันที่นั้น ไปเที่ยวไหนต่อไหน เมื่อไปทักทายจึงทราบว่าแท้จริงแล้วหาใช่เป็นบิดาของสาวคนนั้นตามที่เข้าใจเอาเองไม่ เธอบอกว่าเป็นเพื่อนของเขา ทั้งๆ ที่อายุต่างกันราวจะเป็นพ่อลูกกัน นี่คือน้ำใจที่งดงามของคนญี่ปุ่นที่ยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ให้ความสำคัญต่อคนพิการไม่น้อยหน้ากัน ด้วยเหตุผลคล้ายกันและทำเหมือนๆ กันกับประเทศญี่ปุ่น เคยไปเที่ยวกับคนไทยที่นั่น ที่มีสามีเป็นทหารอเมริกันจากสงครามเวียดนามและเป็นคนพิการ ทราบว่าเขาได้รับความสะดวกในเรื่องเหล่านี้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจอดรถในที่ที่จัดไว้สำหรับคนพิการ ไม่ว่าจะไปที่ไหน มิหนำซ้ำรถยนต์ที่ใช้สำหรับคนพิการก็จะมีป้ายทะเบียนที่บอกเอกลักษณ์ด้วยสัญลักษณ์รูปวีลแชร์เป็นป้ายทะเบียน หากไม่มีก็จะมีสติ๊กเกอร์ติดที่กระจกรถยนต์แทน หรือป้ายสำหรับแขวนไว้ที่ภายในด้านหน้าของรถ เพื่อบอกให้ทราบว่ารถที่จอดไว้ในที่จอดรถสำหรับคนพิการนี้ คือรถของคนพิการจริงๆ เพราะจะเห็นสัญลักษณ์ที่ว่านั้นห้อยไว้ที่นั่น การฝ่าฝืนของบุคคลธรรมดาไปใช้สิทธิที่จอดรถสำหรับคนพิการเพื่อจอดรถตัวเอง เพื่อตัวเองจะได้รับความสะดวก จะมีโทษปรับที่สูงมาก หรือหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านี่คือรถสำหรับคนพิการที่มาทำธุระที่นี่ ผู้คนทั่วไปจึงไม่กล้าไปสวมสิทธิ

หันกลับมามองที่ประเทศไทย ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น แม้จะมีคนพิการที่จะใช้รถ หรือมีผู้ที่จะขับรถพาคนพิการไปเที่ยว ไปเดินเล่น ไปทานอาหาร ตามห้าง ตามศูนย์การค้า กลับไม่ได้รับความสะดวกตามที่จัดไว้ เพราะคนไทยโดยทั่วไปมักจะเสียดายที่ที่ว่างเว้นไว้เป็นที่จอดรถนั้น และคงคิดเอาเองว่า คงไม่มีใครพาคนพิการมาเที่ยว หรือคนพิการที่ไหนจะขับรถมาจอดตรงนั้น เลยเข้าไปจอดแทน ทั้งๆ ที่ตัวเอง ญาติตัวเอง ก็ไม่มีใครเป็นคนพิการ ลองไปสังเกตดูจะพบว่าที่จอดรถสำหรับคนพิการนี่แหละจะเป็นทำเลทองของผู้ฉวยโอกาสแล่นรถเข้ามาจอด แทนที่จะไปวนหาที่จอดรถที่อื่น เพราะคิดว่านอกจากจะมีที่ว่างให้ตนเองจอดได้แน่ๆ แล้ว ยังใกล้ทางเข้าอาคาร ที่ไม่ต้องเดินไกลอีกด้วย นอกจากกฎหมายจะเอื้อมไปเล่นงานผู้ที่ฉวยโอกาสอย่างนี้ไม่ถึงแล้ว การจัดที่จอดรถนั้นไว้ ก็แค่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของการสร้างอาคารเท่านั้นเอง เราไม่ได้ปลูกจิตสำนึกให้เห็นใจต่อคนพิการเหล่านี้ไว้ ให้กับประชาชนคนไทยด้วยกัน แต่ก็คงหวังอะไรตรงนี้ไม่ได้มากนัก เพราะครั้งหนึ่งเราเคยเจอเหตุการณ์คนพิการมาร้องเรียกสิทธิเพื่อคนพิการ แต่หน่วยงานและหัวหน้าหน่วยงานคนที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงกลับปฏิเสธที่จะไปพบ แถมบอกให้คนพิการมาพบเขาที่ทำงานด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ที่จอดรถสำหรับคนพิการของประเทศไทยจึงเป็นกลายเป็นเพียงที่จอดรถของคนปกติที่แค่พิการทางใจเท่านั้นเอง

 

 

นสพ.มติชนวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10270หน้า 17

กลับไปหน้าแรก