ggirl04.gif (11370 bytes)หลักการสร้างบทเรียนโปรแกรมggirl04.gif (11370 bytes)

การสร้างบทเรียนโปรแกรมมีลักษณะคล้าย ๆ กับการวางแผนการปกตินั่นเอง คือ แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอนใหญ่ ๆ ดังนี้

1. การนำเข้าสู่บทเรียน

2. การดำเนินเรื่องหรือการสอน เป็นกระบวนการให้ความรู้แก่ผู้เรียนซึ่งในเวลาที่เราสอนตามปกติ เราอาจจะใช้สื่อต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ในบทเรียนโปรแกรมนี้ก็เช่นกัน ผู้สร้างจะต้องวางแผนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสร่วมในการเรียนหรือตอบสนองต่อกิจกรรม สื่อการเรียนอะไรบ้าง เช่น อาจจะให้วาดภาพ ระบายสี ตอบคำถาม รวมทั้งการใช้เครื่องมืออื่น ๆ ประกอบ ในขณะที่เขาเรียนจากบทเรียนของเรา

3. การสรุปและประเมินผล เป็นการสรุปเนื้อหาที่สอนมาในบทเรียนตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการสอนตามปกติ และประเมินผลการเรียนโดยหาวิธีที่ให้ผู้เรียนสามารถประเมินผลการเรียนได้ด้วยตนเอง

        การสร้างบทเรียนโปรแกรม ก็เหมือนกับที่ครูเป็นผู้สอนเอง แต่ผิดกันที่ครูสอนเองนั้น ครูเป็นฝ่ายพูด ผู้เรียนเป็นฝ่ายฟัง ส่วนบทเรียนโปรแกรมนั้นผู้เรียนจะเรียน โดยการอ่านหรือฟังจากเทปบันทึกเสียงภาษาที่ใช้เรียนในบทเรียนเกิดความคุ้นเคยไม่เบื่อง่าย เหมือนกับการอ่านหนังสือทั่วไป

วิธีการสร้างบทเรียนโปรแกรม มีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นวางแผน

2. ขั้นดำเนินการ

3. ขั้นการนำไปใช้

1. ขั้นวางแผน

        ในขั้นวางแผนนี้ เป็นขั้นที่สำคัญมาก ผู้สร้างจะต้องตัดสินใจให้ดีก่อนว่า จะเลือกเรื่องใด วิชาใดมาสร้างจึงจะเหมาะสม ซึ่งควรจะคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

        1.1 เนื้อหาวิชานั้นควรจะเป็นเรื่องที่คงตัวหรือเป็นหลักในการสอนตลอดไป

        1.2 เนื้อหานั้นเคยมีใครนำมาทำเป็นบทเรียนโปรแกรมหรือยัง ถ้าเคยมีคนเคยทำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาทำซ้ำ

        1.3 สามารถสร้างเสร็จ่ได้ภายในเวลาที่กำหนด

        1.4 ผลที่ได้จะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ อาจพิจรณาถึงผลการเรียนที่จะได้รับและจำนวนนักเรียนที่จะใช้ด้วย

        1.5 สามารถช่วยลดภาระของครูในการสอน และลดเวลาในการฝึกการเรียนของนักเรียนหรือไม่

        1.6 เมื่อสร้างแล้วสามารถจะวัดผลได้ตามความต้องการหรือไม่

        เมื่อตัดสินใจเลือกเนื้อหาที่จะนำมาสร้างบทเรียนโปรแกรมได้แล้ว จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า จะสร้างแบบใด เช่น สิ่งพิมพ์ การ์ตูน    สไลด์ ฟิล์มสตริป ภาพยนต์ หรือโทรทัศน์ เป็นต้น

2. ขั้นดำเนินการ

        2.1 ศึกษาหลักสูตรรวมทั้งประมวลการสอน เพื่อจะได้สร้างบทเรียนได้ตรงกับเนื้อหา ระดับและจุดประสงค์ที่หลักสูตรกำหนดไว้

        2.2 กำหนดจุดมุ่งหมายในการสร้าง โดยอาศัยข้อมูลจากหลักสูตรและความต้องการของผู้เรียนเป็นหลักจุดมุ่งหมายนี้ควรจะมี ทั้งจุดมุ่งหมายทั่วไป ที่กล่าวเอาไว้กว้าง ๆ และจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม ที่กระจ่างชัดสามารถจะวัดในสิ่งที่ต้องการจะวัดได้

          2.3 วิเคราะห์เนื้อหา โดยการนำเอาเนื้อหาทั้งหมดที่จะสร้างมาแตกเป็นหัวข้อย่อย ๆ อย่างละเอียด แล้วนำมาเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก โดยการใช้วิธีวิเคราะห์ (Task Analysis) หรือการพิจารณาว่า การที่จะให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ควรจะต้องเรียนผ่านขั้นตอน หรือหัวข้อย่อย ๆ ใดบ้าง ตามลำดับขั้นสุดท้ายที่ต้องการนั่นเอง เช่น เรื่องการคูณเลขสองหลักด้วยเลขสองหลัก ผู้เรียนจะสามารถทำได้ จะต้องมีความสามารถในสิ่งต่อไปนี้เสียก่อน คือ

          - ต้องนับเลข 1-10,000 ได้

          - ต้องเขียนเลข1-10,000 ได้

          - ต้องคูณเลขหลักเดียวเป็น

          - ต้องบวกเลขทั้วงที่มีตัวเลขทดและไม่มีตัวทดได้

        2.4 สร้างแบบทดสอบ จะต้องให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้ แบบทดสอบนี้ อาจจะนำไปใช้ทั้งการสอบก่อนเรียน ( Pre-Test) และทดสอบหลังเรียน( Post- Test) ด้วยก็ได้ ถ้าแบบทดสอบนั้นสามารถสร้างได้อย่างมีความเชื่อมั่นสูง ถ้าไม่ใช้ฉบับเดียวกันแบบทดสอบ หลังเรียน ก็จะต้องมีเนื้อหาเดียวกับแบบทดสอบก่อนเรียน แต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องวิธีการหรือข้อความเท่านั้น

        2.5 ลงมือเขียน การเขียนบทเรียนโปรแกรมควรจะคำนึงถึงหลักการต่อไปนี้

            2..5.1 เนื้อหาย่อย ๆ ในแต่ละหน่วย ย่อมจะนำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหน่วยถัดไป

            2.5.2 เนื้อหาหรือคำอธิบายจะต้องเป้นที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้อย่างดี

            2.5.3 ช่วยให้ผู้เรียนสัมฤทธิ์ผลในการเรียนมากที่สุด

            2.5.4 เนื้อหาในแต่ละหน่วยควรจะพาดพิงถึงหน่วยเดิมด้วย เพื่อเป็นการทบทวนสิ่งที่เรียนไปแล้ว

            2.5.5 มีการชี้แนวทางหรือแนะให้ผู้เรียนตอบคำถามได้อย่างถูกต้องตามความเหมาะสมโดยอาจจะให้กฎเกณฑ์และตัวอย่างมากพอ ที่ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้อย่างดี

            2.5.6 มีคำตอบที่ถูกต้องให้ผู้เรียนได้ทราบทันทีด้วย เพื่อเป็นการเสริมแรงให้ผู้เรียนต้องการเรียนต่อไปแต่บางกรอบอาจจะไม่จำเป็น ต้องมีคำตอบ เช่น ในกรอบแนะนำหรือกรอบพื้นฐาน

            2.5.7 ภาษาและคำศัพท์ที่ใช้ ควรจะให้ชัดเจนเหมาะสมกับพื้นความรู้เดิมของผู้เรียนด้วย

            2.5.8 ความยาวของแต่ละกรอบจะต้องเหมาะสมไม่ยาวหรือสั้นเกินไปและต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันโดยตลอด นอกจากนั้นควรจะมีช่องว่างให้ผู้เรียนเติมคำหรือเลือกคำตอบเอาไว้ในกรอบที่ต้องการให้ผู้เรียนตอบสนองด้วย

        2.6 นำออกทดลองใช้และปรับปรุงแก้ไข ควรจะทำ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

            2.6.1 ทดลองเป็นรายบุคคลและปรุงแก้ไข (Individual Try Out and Revised)

            2.6.2 ทดลองเป็นกลุ่มเล็กและปรับปรุงแก้ไข ( Small Group Try Out and Revised) ผู้เรียนอาจมีกลุ่มละ 5-10 คน

            2.6.3 ทดลองกับห้องเรียนจริงและปรับปรุงแก้ไข ( Field Try Out and Revised)

3. ขั้นการนำไปใช

        หลังจากที่ได้ทดลองและปรับปรุงแก้ไขตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถนำบทเรียนนั้นออกใช้กับผู้เรียนทั่วไป แต่จะต้องคอยฟังผลจากผู้เรียนอยู่เสมอ เพื่อนำข้อบกพร่องมาแก้ไขต่อไป ให้บทเรียนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น