เป็นดำริของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะให้พิธีเปิดปีท่องเที่ยวไทย
2541 AMAZING THAILAND ในวันที่ 27 ธันวาคม 2540 เวลา 16.00 น. เป็นความยิ่งใหญ่แบบประหยัด
จึงให้ขบวนนำพิธีเปิดเป็นขบวน ECOTOURISM ที่แสดงออกด้วยขบวนจักรยานท่องเที่ยว
ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนการคิดค้นทั้งหลายเรียบร้อยแล้วก็แปรรูปออกมาเป็น
ขบวนจักรยานขนาดใหญ่ที่จะมีจักรยานประเภทต่าง ๆ เข้าร่วมขบวนมากกว่า
๕๐๐ คัน จะเป็นการรวมพลังชาวจักรยานเป็นขบวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
และไม่เพียงจะมาขี่จักรยานเฉลิมฉลองกันเฉยๆ เท่านั้น หากจักรยานทุกคันจะมาช่วยกันทำหน้าที่รณรงค์
" กินอยู่ประหยัด รัดเข็มขัดประเทศไทย " ด้วย และเมื่อจบพิธีเปิดดังกล่าวแล้วในช่วงกลางคืน
ขบวนจักรยานขบวนนี้จะพากันออกเดินทางไปรอบกาะรัตนโกสินทร์เพื่อ "
ชมเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรี " โดยเฉพาะความสวยงามอลังการของโบราณสถานต่างๆในเกาะรัตนโกสินทร์
ที่ ททท.ทุ่มทุนมหาศาลจัดสร้างไฟฟ้าส่องสว่างไว้ในปีก่อนๆ เป็นการลองเชิงก่อนที่จะมีการเปิดรายการทัวร์นำร่อง
" ทัวร์จักรยานชมเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรี " ทุกคืนตั้งแต่วันที่
๒๙ ธันวาคม - ๔ มกราคม เสนอขายแก่สาธารณชน เป็นการจัดทัวร์จักรยานภาคกลางคืนอย่างเป็นกิจลักษณะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ปฐมบทแห่งขบวนจักรยาน
AMAZING THAILAND
และนั่นคือการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในเมืองไทย
รายการขี่จักรยานท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรี ที่ทีมจักรยาน อสท.
จึงต้องเดินทางไปทำการสำรวจเส้นทางเกาะรัตนโกสินทร์กันเสียก่อนเพื่อที่เมื่อมีการเดินทางกันของขบวนใหญ่จริง
ๆแล้วขบวนจะได้มีทิศทางไปที่แน่นอนไม่วุ่นวายสับสน และจะได้ชมสิ่งดี
ๆ ของเกาะรัตนโกสินทร์กันให้ถ้วนทั่ว เราตั้งใจกันถึงขนาดที่ว่า หากเราได้เส้นทางท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ในยามราตรีที่เหมาะสมแล้ว
เราจะจัดรายการทำทัวร์นำร่องขายแก่สาธารณชนที่สนใจในวันดังกล่าว หากประสบความสำเร็จบริษัททัวร์จักรยานอื่น
ๆ ก็อาจจะจัดตามกันต่อไปก็ได้ หากไม่ประสบความสำเร็จเราก็เจ็บตัวไปก่อนคนเดียว
ด้วยเหตุนี้ ทีมสำรวจจึงถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยมี
อสท.เป็นแกนหลัก และทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มต้นขึ้นจากแผนที่เกาะรัตนโกสินทร์แผ่นเล็ก
ๆ ในมือของเราในเย็นวันหนึ่ง ด้วยการขี่จักรยานสำรวจขั้นแรกของทีมงานที่คุ้นเคยกัน
แผนการเดินทางขั้นแรกถูกค้นคิดและวาดลงในกระดาษและแปรรูปออกเป็นการเดินทางของขบวนจักรยาน
๔ - ๕ คัน ที่ดันออกมาเริ่มขี่กันในตอนกลางคืนวันพุธ ตอนแรกนึกว่าการจราจรในวันนี้จะเบาบาง
แต่ที่สะพานผ่านฟ้าจุดเริ่มต้นในการเดินทาง พอเริ่มออกก็เจออุปสรรคเสียแล้ว
สมาชิกในการเดินทางของเราคราวนี้ได้แก่ผมกับเจ้าชาเลนเจอร์สีฟ้าคันเก่ง
พี่ตุ๋ย วิวัฒน์ สงสะเสน ตัวแทนจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
คุณติ๊ด สิทธิพร ขุทรานนท์ จากบริษัทโตชิบา คุณพิพัฒน์ เจ้าของบริษัทปุ๋ยที่กำลังจะเป็นปุ๋ยเพราะเงินบาทขาดสภาพคล่อง
น้องต้นสาวน้อยเพิ่งจบมหาวิทยาลัย ทั้งนี้โดยมีคุณนพดล กันบัว และคุณเกรียงไกร
ไวยกิจ สองใน ๕๐ ช่างภาพยอดเยี่ยมในหนังสือราชอาณาจักรไทยเป็นช่างภาพติดสอยห้อยตามไปด้วย
บนถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่หน้ากระทรวงคมนาคมรถราติดกันแน่นขนัด แต่คณะของเราผ่านไปได้สบาย
ๆ ด้วยช่องว่างแคบๆระหว่างรถติดที่เหลืออยู่ ที่ตรงแยกมุมถนนนครสวรรค์รถมอเตอร์ไซด์จำนวนมากมายหลายสิบคันเข้าไปเรียงปึกกันแน่นขนัด
หลายคันที่มองซ้ายขวาพอเห็นไม่มีตำรวจและไม่มีรถขวางทางก็แล่นฝ่าไฟแดงออกไปเฉย
ๆ เล่นเอามอเตอร์ไซด์อีกหลายคันฝ่าไฟแดงตามติดกันออกไปเป็นพรวน นี่แหละนะ
นิสัยคนไทย
สักพักเดียวพอไฟเขียวขึ้น รถมอเตอร์ไซด์ทั้งปึกเร่งเครื่องกันดังกระหึ่ม
ควันขาวตลบจนเราต้องจอดจักรยานรอให้ควันจาง แล้วค่อยออกจักรยานไปท่ามกลางกลิ่นเหม็นแปลก
ๆ นี่แหละครับ กรุงเทพเมืองฟ้าอมร ใน พ.ศ.นี้ของเรา ที่ ณ วันนี้ได้ขึ้นอันดับหนึ่งเมืองที่มีควันพิษผสมอยู่ในอากาศมากที่สุดในโลกไปแล้ว
ถ้าขืน กทม.ของเรายังเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ว่า ททท.จะเร่งรณรงค์กันอย่างเข้มแข็งปานใด
ก็อย่าหวังหรือฝันหวานว่าจะได้ผลลัพธ์ผลที่น่าพอใจ ยิ่งชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยกันมากเท่าไหร่
ก็จะยิ่งมีพยานมายืนยันว่าบ้านเรานั้นมีควันพิษหนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น
จากสะพานผ่านฟ้าฯ จักรยานของเราผ่านเข้าไปที่ถนนราชดำเนินกลาง ตรงลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ที่ตรงนั้นประดับไฟฟ้าไว้อย่างสวยงาม
มีผู้คนมานั่งพักผ่อนกันมากหน้าหลายตา ฟากตรงข้ามด้านหนึ่งคือภูเขาทองและป้อมมหากาฬประดับไฟสวยงาม
อีกฟากหนึ่งคือโลหะปราสาทสัญญลักษณ์อันสวยงามของประเทศไทยอีกอย่างหนึ่ง
เราตกลงกันว่าที่ตรงนี้จะเป็นจุดพักแรกของขบวนจักรยานอันยิ่งใหญ่ของเรา
ทุกสิ่งทุกอย่างดูงดงามยิ่งจริงๆ
โดยเฉพาะเมื่อแหงนมองขึ้นไปให้คอตั้งบ่า ทั้งภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ โลหะปราสาท
และโดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่ไฟประดับจากวันเฉลิมพระชนมพรรษายังไม่รื้อถอนไปเช่นนี้
แต่ถ้ามองตรงออกไปในระดับสายตาภาพที่เห็นก็จะให้ความรู้สึกที่เป็นตรงกันข้าม
เพราะภาพนั้นก็คือภาพรถติดแน่นขนัด ภาพคนที่ยืนเบื่อหน่ายบนรถเมล์ และภาพคนที่นั่งเซ็งอยู่ในรถติด
ไม่เพียงแค่นั้นอากาศที่ตรงนี้ยังย่ำแย่มากด้วย จมูกของเราสูดได้กลิ่นเปรี้ยวที่อึดอัดของควันรถ
ฝุ่นละอองในอากาศ จมูกเริ่มคันเต็มทีจนต้องหาที่หลบ
คณะของเราหลบรถยนต์ขึ้นไปขี่ดูรถติดบนบาทวิถี บนนี้รถไม่ติดแล้ว แต่ผู้คนมากมายที่รอรถเมล์อยู่ที่ป้ายก็ดูหน้าตาเหนื่อยหน่าย
นี่ดีนะที่ กรุงเทพมหานคร มีบริการเรือในคลองแสนแสบช่วยแบ่งเบาปัญหาการขนส่งผู้คนไปได้บ้าง
เราเคยใช้บริการเรือนี้หลายครั้งรวดเร็วดีมากแถมยังเจริญหูเจริญตา เพราะคนที่มาลงเรือจำนวนมากเป็นสาวออฟฟิศที่นุ่งกระโปรงสั้น
เวลาก้าวขึ้นเรือหรือลงเรือ กระโปรงสั้นๆเหล่านั้นก็ยิ่งสั้นเข้าไปอีก
ทำให้คนแก่อย่างผมกระชุ่มกระชวยขึ้นอีกเป็นกอง
คณะของเราหลายคนเพิ่งกลับจากไปขี่จักรยานที่ประเทศเยอรมันมาครับ ที่โน่น
ผู้คนนอกจากใช้รถใต้ดินแล้วเขาก็ใช้รถจักรยานในชีวิตประจำวันกันมาก เมืองใหญ่ๆกว่า
กทม.อย่างเมือง
แฟรงค์เฟิร์ต ในเมืองไม่มีรถติดเลย ไปไหนก็มีรถจักรยานแล่นกันขวักไขว่
จักรยานสมัยนี้ก็ไม่ได้วิ่งช้า ยิ่งถ้ารถติดแบบกรุงเทพฯจักรยานไปได้เร็วกว่ารถยนต์เสียอีก
ผมเคยขี่จักรยานแข่งกับรถยนต์มาแล้วจาก ททท.ราชดำเนินไปบางกะปิ จักรยานไปถึงก่อนนานตั้งชั่วโมงทีเดียว
( ห้ามรถขึ้นทางด่วน )
เดี๋ยวนี้ในโลกที่เจริญแล้ว เขาพยายามลดการใช้รถยนต์กันทุกรูปแบบ วิศวกรญี่ปุ่นคนหนึ่ง
ได้คำณวนว่า ในสงครามนิวเคลียร์คราวต่อไป สงครามจะผลิตก๊าซไนโตรเจนออกไซด์
หรือ NOX ออกมาถึง ๓๒ ล้านตัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็คำณวนว่ารถยนต์ที่วิ่งไปมาบนพื้นโลกทุกวันนี้ได้ผลิต
NOX ออกมาถึงปีละ๗.๔ ล้านตัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้ารถยนต์เหล่านี้ปล่อยควันพิษรวมกันได้สัก
๔ ปี รถยนต์ก็จะปล่อยก๊าซออกมาเท่ากับสงครามนิวเคลีย์ล้างโลกเลยทีเดียว
แม้แต่ธนาคารโลกซึ่งในอดีตเป็นตัวตั้งตัวตีในการให้กู้เงินไปสร้างถนนหนทาง
สร้างทางด่วนลอยฟ้า ทางใต้ดิน ปัจจุบันก็มีนโยบายหันมาส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า
NMT หรือ NON MOTORIZE TRANSPORTATION อันหมายถึงการเดิน การใช้จักรยาน
หรือล้อเลื่อนลากด้วยสัตว์ ไม่ใช้เครื่องยนต์ บางคนอาจจะนึกว่าทำไมโลกจึงถอยหลังเข้าคลองไปอีก
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารโลกได้วิเคราะห์อย่างครบวัฏจักรชีวิต
( LIFE CYCLE ANALYSIS ) แล้วพบว่าการคมนาคมขนส่ง เมื่อมีการนำเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาคิดเป็นต้นทุนด้วยแล้ว
ผลก็คือการขนส่งแบบ NMT นี้คุ้มทุนกว่าแบบใช้เครื่องยนต์เยอะ และปัจจุบันธนาคารโลกก็ปล่อยกู้ในเรื่อง
NMT นี้ไปแล้วหลายโครงการ
อย่างนี้แล้วท่านผู้ว่า กทม. ก็น่าจะไปลองใช้บริการนี้จากธนาคารโลกดูบ้าง
สร้างทางจักรยานสู้เขาสักหน่อย รับรองครับว่าประชาชนไทยจะเป็นหนี้เขาอีกไม่กี่สตางค์หรอก
ถ้าผู้คนในกรุงเทพ ฯ เปลี่ยนมาใช้จักรยานกันให้มากๆปัญหารถติดก็จะน้อยลง
และปัญหาเรื่องควันพิษก็จะน้อยลงตามไปด้วย ยิ่งตอนนี้น้ำมันราคาแพงเงินไทยออกนอกประเทศก็จะได้น้อยลง
และการท่องเที่ยวเมืองไทยก็คงจะดีขึ้นกว่านี้เป็นแน่ ปัญหาสองสามอย่างของการใช้จักรยานใน
กรุงเทพมหานคร ฯ ก็คือ กทม.เราเป็นเมืองร้อนชื้น เมื่อมีการออกกำลังเหงื่อจะออกมาก
ทำให้ขึ้นไปทำงานไม่ค่อยสะดวก ปัญหานี้คนที่ขี่จักรยานไปกลับที่ทำงานหลายคนแก้ด้วยการไปอาบน้ำที่ที่ทำงานอีกครั้งก่อนทำงาน
และเข้าทำงานด้วยความสดชื่นดีกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ความจริงเดี๋ยวนี้คนออฟฟิศก็ต้องออกแต่เช้ามืดมาเสียเวลานอนหลับกันในที่จอดรถใต้ที่ทำงานกันอยู่แล้ว
จะเสียเวลาอาบน้ำให้สดชื่นสักหน่อยคงไม่เสียหายละมัง และถ้าบริษัทห้างร้านจะลงทุนสร้างที่อาบน้ำให้พนักงานเสียหน่อยก็คงไม่มีปัญหาอะไร
ที่ทำงานหลายๆที่ก็มีที่อาบน้ำอยู่แล้วเสียด้วยซ้ำ
ปัญหาอีกสองอย่างก็คือปัญหาเรื่องอันตรายจากรถยนต์ แต่ตามสถิติก็มีคนที่ขี่จักรยานแล้วประสบอุบัติเหตุน้อยมาก
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะจักรยานไม่ได้ไปหาเรื่องใคร คนที่ขับรถมาพอเห็นจักรยานก็ประเมินไว้ก่อนแล้วว่ารถช้าก็เบาเครื่องมาแต่ไกล
เคยมีคนถามผมว่า ขี่จักรยานอยู่กลางถนนไม่กลัวหรือ ผมตอบว่า รถยนต์ใน
กทม.ก็วิ่งไม่เร็วนัก เมื่อความเร็วขึ้นมาพอๆกันก็กลัวน้อยกว่า เพราะไม่ต้องกังวลคอยหลบ
อย่างคนขี่มอเตอร์ไซด์ก็ไม่เห็นมีใครกลัวรถยนต์ ส่วนปัญหาอีกอย่างหนึ่งเป็นปัญหาโลกแตกคือปัญหาเรื่องควันพิษ
ที่ใครบางคนบอกว่า อย่าว่าแต่ไปขี่จักรยานบนถนนเลย แม้แต่เดินอยู่ที่ทางเท้าก็ต้องเดินเอาผ้าปิดจมูกกันอยู่แล้ว
เพราะฉนั้นจะอยู่ในถนน หรืออยู่ที่ฟุตบาทก็ต้องเจอควันพิษเท่าๆกันนั่นแหละ
ด้วยเหตุดังกล่าวเหล่านี้เอง ผมจึงเห็นหลายๆประเทศในโลกรณรงค์กันอย่างจริงจังในการหันมาใช้ระบบ
NMT การแข่งขันจักรยานเป็นกีฬาระดับชาติที่ผู้คนในโลกให้ความสนใจกันมาก
การร่วมกันขี่จักรยานรณรงค์เป็นคณะใหญ่ๆถูกจัดขึ้นเรื่อยๆบ่อยครั้งมากขึ้น
และกรุงเทพฯ เมืองที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติเรื่องจราจร ถึงขนาดรถเสียที่สี่แยกคันเดียว
อำมพาตกินกันทั้งเมือง หรือมีปัญหาควันพิษติดอันดับหนึ่งของโลกในวันนี้
จึงสมควรจะมา
รณรงค์ครั้งใหญ่ๆกันได้แล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้ที่ภาวะเงินบาทอ่อนตัว ขาดสภาพคล่อง
สินค้าทุกอย่างราคาแพงขึ้น รายได้ลดลง น้ำมันขึ้นราคาเพราะเป็นสินค้านำเข้าแท้ๆ
และเป็นตัวนำเงินไทยออกนอกประเทศเดือนละละหลายร้อยล้านบาท ชัดเจนแจ่มแจ้งกว่าสินค้าอื่นๆเสียอีก
เรายังจะเฉยกันอยุ่ได้อย่างไร
บนเส้นทางสำรวจ
จากราชดำเนินถึงถนนข้าวสาร
จากบนบาทวิถีถนนราชดำเนิน
คณะสำรวจพากันขี่จักรยานดูรถติดไปเรื่อยๆ เราอยากจะรุ้จังว่าคนที่รถติดอยู่บนถนน
เมื่อเห็นจักรยานของเราขี่ไปสบายๆเขาจะคิดอย่างไรกัน จากราชดำเนินเมื่อมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบ้านดินสอ ซึ่งทางเป็นวันเวย์รถวิ่งได้ทางเดียว
ที่ตรงนี้จักรยานของเราจึงลงไปวิ่งสวนวันเวย์ได้สะดวก นับว่าเลี่ยงพ้นการจราจรที่พลุกพล่านไปได้หน่อยหนึ่ง
เราขี่จักรยานต่อไปสักประเดี๋ยวผ่านเทวสถานโบสถ์พราหมณ์แล้วก็ถึงเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม
ที่ตรงนี้เป็นที่ที่มีการประดับไฟไว้อย่างสวยงาม ยามเย็นที่โพล้เพล้อย่างนี้
ฉากหลังของเสาชิงช้าจึงเป็นสีส้มแดงที่สวยงามมาก เราคุยกันอีกครั้งตกลงให้ที่นี่เป็นจุดพักขบวนจักรยานเป็นจุดที่สอง
วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นวัดใหญ่กลางกรุงที่สวยงามมากที่สุดวัดหนึ่ง
สร้างขึ้นในสมัย ร. ๑ และได้รับการบูรณะโดยพระมหากษัตริย์มาทุกสมัย สิ่งสำคัญในวัดมีมากมายหลายสิ่ง
เช่น พระศรีศากยมุนี พระประธานที่ ร.๑ ทรงโปรดให้อัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัย
จิตรกรรมฝาผนังในวัด และบานประตูวัดสุทัศน์ฝีมือจำหลักโดยรัชกาลที่ ๒
ที่ได้ชื่อว่าเป็นบานประตูที่สวยงามที่สุดในประเทศไทยบานหนึ่งทีเดียว
แต่สิ่งที่โดดเด่นเป็นสง่าที่สุดจนดุเหมือนเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศไทยอีกอย่างหนึ่งตรงนี้ก็คือ
เสาชิงช้า สีแดงสดตั้งตระหง่านจนแหงนคอตั้งบ่า เสาชิงช้า หน้าตาคล้ายๆประตูโอโดริของญี่ปุ่น
ฝรั่งที่ไม่เข้าใจหลายรายจึงนึกว่าเป็นสัญญลักษณ์ของชาวเอเซีย อันที่จริงเสาชิงช้าก็เป็นเสาชิงช้าจริงๆนั่นแหละ
แต่ไม่ได้มีไว้ให้โหนกันเล่นๆ เพราะเป็นเสาชิงช้าในพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้าของหลวงซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์จัดขึ้นเพื่อบูชาและขอพรเทพเจ้าในลัทธิพราหมณ์หรือฮินดู
ซึ่งได้แก่เทพสูงสุดทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม พิธีตรียัมปวายนี้
เป็นพระราชพิธีสำคัญของหลวงในเดือนยี่หรือเดือนมกราคม แสดงให้เห็นถึงการเข้ามามีอิทธิพลในราชวงศ์ไทยของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูอย่างชัดเจน
จากเสาชิงช้า เราเลี้ยวขวาไปผ่านโรงเรียนเบญจมราชาลัย ผ่านสวนรมณีย์เห็นคนมาออกกำลังกายเต้นแอโรบิคกันเป็นกลุ่มๆมากมายทีเดียว
จากตรงนี้เราเลี้ยวกลับแล้ววกเข้าซอยเล็กๆไปออกถนนตีทองที่มาจากเสาชิงช้า
แล้วตัดซ้ายเข้าถนนราชบพิธ ย่านเก่าของกรุงเทพฯเหล่านี้ รถยนต์มีวิ่งกันไม่มากนักสามารถขี่จักรยานผ่านไปได้สบายๆ
อากาศเริ่มมืดครึ้ม เราผ่านข้างวัดราชบพิธ ไปออกริมคลองหลอด ขี่ผ่านหน้ากระทรวงมหาดไทย
สะพานมอญ ที่แต่ก่อนมีเรือชาวมอญมาค้าขายมากจนกลายเป็นชื่อสะพาน
คลองหลอด หรือคลองคูเมืองเดิม ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เป็นแนวเขตของกรุงธนบุรีที่กินพื้นที่ฝั่งพระนครเข้ามาส่วนหนึ่ง
เพิ่งมีการขุดค้นพบแนวกำแพงเมืองธนบุรีเมื่อเร็วๆนี้ พอถึงสมัยรัตนโกสินทร์
คลองนี้ก็เลยกลายเป็นแนวคลองป้องกันเมืองชั้นแรกที่เริ่มตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
( เดี๋ยวนี้มองไม่เห็นปากคลองแล้ว เพราะสะพานปิดทับ ) ไปออกอีกด้านหนึ่งที่ปากคลองตลาด
ภาพเก่าในอดีตบอกให้เราทราบว่าในสมัยก่อนคลองนี้เป็นคลองที่มากมายด้วยเรือค้าขาย
ที่เข้ามาค้าขายในพระนคร ด้วยเหตุนี้ในงานเปิดปีท่องเที่ยวไทย ททท.จึงจะจัดให้มีตลาดน้ำขึ้นในคลองหลอดอีกครั้ง
ใครที่มาขี่จักรยานกับทัวร์ของเราก็คงจะได้ไปชื่นชมกันอย่างแน่นอน
คณะเราถีบเจ้าเสือภูเขาไปเกือบสุดคลองหลอด ตรงหัวมุมวัดบูรณศิริก็ข้ามสะพานไปที่หัวมุม
อุทกทาน หรือแม่พระธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่
๕ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี โดยมีพระประสงค์ให้น้ำเป็นทานแด่ประชาชน
ลักษณะศิลปกรรมการก่อสร้างของพระธรณีบีบมวยผมแห่งนี้สวยงามมาก แต่มักไม่ค่อยมีใครสนใจ
สมัยหนึ่งในอดีตที่ตรงนี้เคยกลายเป็นแหล่งสกปรก พ่อค้าแม่ค้ามักง่ายใช้เป็นที่ล้างถ้วยล้างชาม
แต่ในวันนี้ กทม.เอาจริงจัดแจงตกแต่งสถานที่เสียสวยงาม ถ้าใครเคยไปเที่ยวต่างประเทศอย่างกรุงโรม
หรือออสเตรีย ก็จะเห็นว่าสิ่งที่ชาติผู้เจริญเหล่านั้นนิยมสร้างกันตามมุมตามแยกก็คือน้ำพุอันสวยงามลักษณะคล้ายกันนี้แต่เป็นศิลปฝรั่งแบบของเขา
ถ้าเศรษฐีมีเงินทั้งหลายในเมืองไทยจะมาช่วยกันสร้างอะไรๆลักษณะนี้ด้วยศิลปไทยตามแยกตามมุมถนนก็จะเป็นสิ่งที่ดีไม่น้อย
เพราะในวันนี้กรุงเทพฯของเราไม่ได้มีอะไรสวยๆใหม่ๆแบบไทยๆเกิดขึ้นเป็นสาธารณะอีกเลยตั้งนานมาแล้ว
ขบวนจักรยานเลี้ยวซ้ายผ่านเข้าถนนหน้าพระลาน น่าแปลกที่รถยนต์ตั้งมากมายไม่ค่อยผ่านมาที่นี่
รถส่วนใหญ่ที่มาจากราชดำเนินก็ขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้าไปหมด มิน่าล่ะ ในหลวงเราจึงทรงเร่งรัดโครงการพระราชดำริถนนลอยฟ้าสายบรมราชชนนีให้เสร็จโดยเร็ว
เพราะถ้าเสร็จแล้วรถก็คงจะคล่องขึ้นไม่มาออกันในถนนราชดำเนินให้เสียภาพลักษณ์ถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทยอย่างทุกวันนี้
นี่เป็นข้อเสียมากๆของสะพานพระปิ่นเกล้าฯ ที่คนสร้างมองการณ์ไม่ไกล ดันเอาสะพานข้ามแม่น้ำมาสร้างไว้ตรงเมืองเก่า
พอมีสะพานอยู่ตรงนี้ขบวนรถยนต์ก็เลยต้องเข้ามาเกือบจะชนเมืองเก่า อันเป็นทั้งสัญญลักษณ์อันยิ่งใหญ่
และเป็นความสวยงามของประเทศไทย เมืองเก่าของไทยเราจึงแทบไม่มีวันสุขสงบ
ไม่เหมือนกับเมืองเก่าอื่นๆทั้งหลายในโลก ทุกๆชาติเขาคิดได้ถึงข้อนี้เขาจึงจำกัดการจราจรออกไปเสียจากเมืองเก่า
แต่ของประเทศไทยเราดันเอาสะพานมาติดเมืองเก่าเลย หลายคนบอกผมว่า เพราะข้าราชการไทยพากันเป็นเสียอย่างนี้
ในหลวงของเราจึงต้องทรงเหน็ดเหนื่อยปฎิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย ด่วนบรมราชชนนีนี้ก็เป็นโครงการในพระราชดำริโครงการหนึ่ง
น่าจับคนออกแบบสร้างสะพานพระปิ่นเกล้าฯ กับคนอนุมัติให้สร้างมาเขกหัวเสียจริงๆ
เรานั่งเสือภูเขาไปสบายๆผ่านหน้ากระทรวงยุติธรรมไปจอดชมความงามของวัดพระแก้ว
ตรงพื้นที่ว่างหน้าศาลหลักเมือง ชมความงามของการประดับไฟวัดพระแก้วอย่างไม่ค่อยจุใจนักเพราะอยู่ในพื้นที่ต่ำกำแพงวัดบังการประดับไฟอันสวยงามไปหมด
กระซิบไว้ค่อยๆตรงนี้เลยนะครับว่า มุมชมวัดพระแก้วที่สวยที่สุดถ้าคุณมากลางวันและส่วนราชการเปิดก็คือมุมบนร้านอาหารชั้น
๔ เนติบัณฑิตสภา เพราะเป็นมุมสูงมองไปก็เห็นวัดพระแก้วพอดี แต่มุมนี้ขึ้นไปก็ชมได้เฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้นเพราะที่นั่นเป็นสถานที่ราชการปิดตอนกลางคืน
ถ้าไปกลางคืนก็จะได้มองเห็นจากถนนแบบมีกำแพงบังอย่างที่เราเห็นอยู่ตอนนี้นั่นแหละ
จากที่ตรงนี้ เราขี่จักรยานคันเก่งขึ้นบาทวิถีด้วยทางลาดสำหรับจักรยานที่
กทม.มาทำไว้ให้คนขี่จักรยานอย่างดี เราผ่านหน้ากระทรวงกลาโหม แวะดูปืนใหญ่โบราณกระบอกที่ได้รูปสวยงามที่สุดคือปืน
นางพระยาตานี ที่ ร. ๑ ทรงยึดมาจากเมืองปัตตานี ขึ้นมาบนบาทวิถีแล้วพอถึงทางแยกก็ต้องลงไปที่ถนน
แล้วขึ้นบาทวิถีใหม่ด้วยทางขึ้นพิเศษของ กทม.นั่นเอง
ทำไมบ้านเราจึงไม่มีทางลาดสำหรับจักรยานเช่นนี้ในทั่วทุกถนน จักรยานจะได้ไม่ต้องลงไปเสี่ยงกับรถยนต์
โดยเฉพาะนักจักรยานมือใหม่ที่ยังเอวอ่อนขี่คดไปคดมาอยู่ การลงไปบนถนนนั้น
แม้เราจะบอกแล้วว่าไม่เชิงอันตรายสักเท่าไหร แต่นั่นหมายถึงคนที่เก่งแล้วขี่ได้ตรงทาง
ไม่เลี้ยวไปเลี้ยวมา สำหรับมือใหม่หากลงไปบนถนน โอกาศที่จะถูกเบียดถูกปาดโดยนักขับรถไร้มารยาทก็มีเหมือนกัน
มือใหม่บางคนไม่ต้องถูกเบียดถุกปาดหรอก บางทีเห็นเสาไฟฟ้าตั้งอยู่ข้าง
ๆ ยังแถเข้าไปเบียดเสาไฟฟ้าซะเองก็มี
แล้วเราก็ขี่จักรยานไปจนถึงวัดโพธิ์ ที่ประตูหมอนวดแผนโบราณ หรือประตูตรงข้ามกรม
รด. เราเห็นรถยนต์วิ่งเข้าไปในนั้นเฉย เราเลยขี่จักรยานตามเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็ต้องตะลึงเลยทีเดียว
ภาพภายในวัดโพธิ์ที่ประดับไฟตอนกลางคืนนั้นสวยงามมาก เจดีย์รายองค์เล็ก
ๆ ที่ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเบญจรงค์นั้นยามเมื่อต้องแสงสปอร์ตไลท์สีส้มก็เปล่งประกายแสงสวยเสียจนเราต้องตกตะลึง
ยิ่งบางที่บางตอนที่มียักษ์จีนยืนเฝ้าประตูอยู่ก็ยิ่งเพิ่มความสวยงามแบบลึกลับเพิ่มขึ้นอีก
โดยเฉพาะในความเงียบสงัดยามราตรีเช่นนี้
ภายในลานวัดโพธิ์ เราเห็นรถมอเตอร์ไซด์วิ่งเข้าออก คงเป็นรถของคนงานหรือเด็กวัด
แต่เราไม่กล้าทำเช่นนั้น เราเอาจักรยานไปจอดคุยกัน แอ็คท่าให้ ๕๐ ช่างภาพถ่ายภาพสวยๆ
แล้วก็เดินชมความงามไปเรื่อย ๆ จุดที่สวยงามที่สุดจุดหนึ่งของวัดโพธิ์นี้ก็คือที่องค์พระมหาเจดีย์
4 องค์ 4 รัชกาลที่ประดับไฟสว่างไสว สีสันขององค์พระเจดีย์สีขาว เขียว
เหลือง และน้ำเงิน อันหมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์และองค์พระมหากษัตริย์งดงามยิ่งเมื่อต้องแสงไฟสาดส่องในยามราตรี
สิ่งที่น่าสังเกตุอีกอย่างหนึ่งตรงนี้ก็คือ ภายในวัดไม่มีฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศเลยทำให้การเดินชมเป็นไปด้วยความสดชื่น
ถ้าใครยังไม่เคยเข้ามาชมวัดโพธิ์ในตอนกลางคืน ในตอนที่ไฟฟ้าติดส่องสว่าง
ลองเข้ามาดูเถิดครับ รับรองว่าจะยิ่งซาบซึ้งประทับใจกว่าเข้ามาเดินในตอนกลางวันมากมาย
จากวัดโพธิ์ เราขี่จักรยานออกมาตามถนนหน้าพระธาตุ ขี่ไปถึงท่าสุพรรณ
ที่ตรงนั้นยังคงเป็นตลาดร้างรกรุงรัง แต่ภายในตลาดร้างรกรุงรังนี่เองที่ภาพอันงดงามที่สุดของวัดอรุณ
สัญญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทยปรากฎประจักษ์ชัดและสวยงามยิ่ง ครับ เป็นที่รู้กันในหมู่ช่างภาพหลายคนว่า
มุมที่สวยงามที่สุดของวัดอรุณนั้นถ่ายได้จากที่ตรงนี้นี่เอง น่าประหลาดใจครับภาพที่สวยงามจนเป็นสัญญลักษณ์ที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลกของประเทศไทยกลับถ่ายออกไปได้จากกองขยะกองใหญ่
ยิ่งถ้าใครที่ต้องการมุมสูงหน่อย ก็ยิ่งจะย่ำแย่ไปกว่านั้นอีก เพราะต้องเดินผ่าส้วมของชาวตลาด
ปีนหลังคาส้วมขึ้นไปบนหลังคาท่าสุพรรณทุลักทุเลจริงๆ
แล้วเราก็พากันขี่จักรยานกันต่อไป จากท่าสุพรรณ เส้นทางสำรวจของเราก็ลากต่อไปที่ท่าราชวรดิษฐ์ขนานไปกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง
ไปจนถึงท่าช้างผ่านต่อไปหลังวัดมหาธาตุตรงที่เป็นวิทยาลัยสงฆ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ท่าพระจันทร์ และเนื่องจากยังไม่ดึกมากนักประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังเปิดกว้างอยู่
เราเลยแอบดอดเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตแหล่งศึกษาร่มเย็นเด่นริมสายชลของผมและของใครอีกหลายๆคน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนี้ แม่โดมยังดูเด่นเป็นสง่า สวยงามอยุ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
นักศึกษาชายหญิงเดินไปมากันขวักไขว่เพราะยังหัวค่ำอยู่ มาดูมาเห็นนักศึกษาในตอนนี้โดยเฉพาะนักศึกษาสาวขาวๆสวยๆแล้วก็เสียดายวัยหนุ่มที่ล่วงเลยไป
นึกถึงภาพเก่า ๆ ในอดีตสมัยยังเรียนอยู่ที่นี่ สมัยนั้นกิจกรรมนักศึกษาประเภทเพื่อสังคมดูคึกคัก
แต่นักศึกษาเดี๋ยวนี้ดูจะไม่ค่อยสนใจกันสักเท่าไร การเรียนก็ไม่ได้โดดเด่นกว่าเมื่อก่อนนักไม่รู้เอาเวลาไปทำอะไรกันหมด
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือวังหน้า เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการประดับไฟอย่างสวยงาม
โดยเฉพาะลวดลายหน้าบันแบบวังหน้าที่ไม่ซ้ำกับวังหลวงหรือที่อื่น ๆ มองเห็นเด่นเป็นสง่าอยู่นั้น
ยามต้องแสงไฟดูงดงามเกินจะกล่าววาจาจริง ๆ ที่ลานสนามหญ้าวังหน้าแห่งนี้แหละที่ในอดีตคือสังคีตศาลา
สถานที่จัดการแสดงนาฏศิลปไทยให้ประชาชนชมในราคาย่อมเยา ที่นี่สมัยเด็ก
ๆ พ่อมักพาผมมาดูการแสดงบ่อย ๆ ยังจำได้สมัยนั้นเราตื่นตาตื่นใจกับการแสดงโขนมาก
เวลาที่โขนเหล่านี้แสดงหลุดจากหน้าโรงมาจนถึงสนามหญ้าที่ผู้ชมนั่งดูอยุ่
เราอยากจะกระโดดลงไปเล่นด้วยคนเสียด้วยซ้ำ
ถนนพระอาทิตย์ เดี๋ยวนี้ดูเงียบเหงาเพราะสะพานพระปิ่นเกล้า ทำให้ความสำคัญของท่าเรือพระอาทิตย์ที่เคยคึกคักจ๋อยลงไป
จำได้อีกเหมือนกันว่าถนนนี้เมื่อก่อนเป็นเหมือนต้นสายรถราง ตั๋วมีเบาะราคา
๕๐ สตางค์ ไม่มีเบาะ๒๕ สตางค์ พ่อเคยพาผมมาขึ้นรถรางที่นี่เสมอ นั่งไปเยาวราชตอนข้ามคลองหลอดน่าตื่นเต้นมากเพราะสะพานเป็นเหล็ก
ล้อรถก็เป็นเหล็กเสียงล้อรถกระทบสะพานเหล็กดังกระหึ่มครืนครั่น พวกเราเด็ก
ๆจอมซน บางทีก็เกาะรถรางมาถึงสะพานนี้ แล้วก็ทิ้งตัวตูมลงคลองหลอดซึ่งสมัยนั้นยังลึกอยู่เล่นน้ำกันได้อย่างสนุกสนาน
เดี๋ยวนี้รถรางไม่มีและคลองหลอดก็ไม่มีแล้ว ถนนพระอาทิตย์มีแต่ร้านเหล้าที่ก็ทำให้ถนนเงียบๆดูแปลกหูแปลกตาไปอีกแบบ
ป้อมพระสุเมรุ หนึ่งในสองป้อมที่ยังเหลืออยู่ เมื่อสักปีกว่า ๆ มานี่
กรุงเทพมหานคร ศิลปากร และ ททท.มาช่วยกันทำเสียสวยสะอาด ได้ข่าวว่าจะมีโครงการมาทำให้ตรงนี้เป็นที่พักผ่อนและที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม
แต่ในวันนี้ทั้งป้อมใหญ่และต้นหย้าริมแม่น้ำยังดูรกทึบ ไฟก้ไม่มีติดไว้มืดตึ๊ดตื๋อ
ทีมเราจอดจักรยานลงไปเดินดูรอบๆป่ารก เดินไปถึงต้นลำพูสองต้นที่ยืนแช่น้ำอยู่พอเป้นสัญญลักษณ์ว่าที่นี่เรียกว่าบางลำพู
เราคุยกันไปก็คบคิดกันไปว่า อีกหน่อยถ้าเราได้ทำทัวร์จักรยานมาจริงๆ
เราจะช่วยเป้นตัวเร่งให้โครงการทำพื้นที่ตรงนี้ให้สวยงามให้เสร็จไวๆเลยทีเดียว
จากป้อมพระสุเมรุ ขบวนของเราก็เลี้ยววกกลับเข้าซอยวัดชนะสงคราม ผ่านไปในเส้นทางมืดตึ๊ดตื๋อจนมาโผล่อีกครั้งหนึ่งที่ถนน
แล้วเลี้ยวขวาเลี้ยวซ้ายวกเข้าถนนข้าวสาร พอเข้าสู่ถนนสายนี้ ความมืดเมื่อครู่ก็กลับกระจ่างสว่างด้วยแสงไฟนีออนประดับถนน
ก็จะอะไรเสียอีก แสงสีจากหลอดไฟประดับถนนฟลูออเรสเซ้นต์ ป้ายโฆษณารูปลักษณ์และสีสันต่าง
ๆ นั่นเอง
ถนนสายนี้เป็นถนนฝรั่งซำเหมา มีเกสต์เฮ้าส์ราคาไม่แพง มีร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม
ร้านเหล้ามากมายหลายแห่งทีเดียว ถนนข้าวสาร โดยทั่วไปเป็นถนนนอึกทึกครึกโครม
ฝรั่งซำเหมาออกมานั่งดูดดื่ม ( ดูดบุหรี่ ดื่มสุรา ) กันอยู่ตามริมถนนมากมาย
ถนนข้าวสารนี้ก็เป็นดัชนีชี้การท่องเที่ยวไทยได้อีกโสตหนึ่งถ้าถนนนี้เงียบเหงาก็พอจะแสดงได้ว่านักท่องเที่ยวน้อย
แต่ถ้าถนนสายนี้คึกคักก็จะมีนักท่องเที่ยวมากอะไรทำนองนี้
จากถนนข้าวสารทีมของเราชักหมดแรงเลยพากันปั่นจักรยานไปทางบางลำภูเลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ
แล้วทุกคนก็พร้อมใจกันจอดรถแวะเข้าไปเติมพลังกันในร้านข้าวต้มวัดบวรนิเวศ
ภายในร้านข้าวต้มมองออกมาเห็นหน้าบันของวัดพระแก้วสวยงามมาก แต่ความสวยนั้นก็ถูกขัดจังหวะด้วยสายไฟฟ้าขยุ้มใหญ่ที่เกะกะลูกตาเต็มที
นี่ถ้ากรุงเทพของเราสามารถเอาสายไฟฟ้าทั้งหมดลงใต้ดินได้เมื่อไรละก็
รับรองว่าวัดวาอารามของไทยนั้นจะสวยงามมากกว่านี้อีกหลายเท่าเลยจริง
ๆ คงต้องรบกวนท่านผู้ว่า กทม.อีกที เอาแค่ในเกาะรัตนโกสินทร์เป็นรายการนำร่องก่อนก็ได้
จากถนนข้าวสาร ทัวร์ของเราก็เดินทางกลับที่ตั้งคือ ททท. โดยก่อนกลับเรายังแอบเถลไถลออกนอกเส้นทางขี่ต่อไปชมน้ำพุประกอบดนตรีของ
กทม.ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์
เลยไปชมพระที่นั่งอนันตสมาคมและปิดท้ายด้วยการขี่วนรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ที่เราค้นพบว่าเนื่องจากมีต้นไม้มากในสวนจิตรลดาที่ตรงนั้นอากาศจึงค่อนข้างหนาวเย็นกว่าที่อื่น
นี่แหละอิทธิฤทธิ์ของต้นไม้ ที่นอกจากจะให้เนื้อไม้ ให้ดอก และให้ผลแก่มนุษย์เราแล้ว
ยังให้ความฉ่ำเย็นที่อะไรอย่างอื่น ๆก็ทำไม่ได้เสมอเหมือนด้วย
วัดเบญจมบพิตรเป็นวัดสุดท้ายที่ทีมเราเข้าไปเยี่ยมเยือน เข้าไปดูแล้วเพื่อนทุกคนต่างก็ซาบซึ้งในความสวยงามของศิลปไทย
ขากลับทีมสำรวจพากันถีบจักรยานกลับ ททท.กันมาอย่างเงียบๆ ในใจแต่ละคนต่างมีความคิดหนักอึ้งกันหลายๆอย่าง
ทำอย่างไร เราจึงจะจัดขบวนจักรยานท่องเที่ยวยามราตรีของเราได้อย่างสำเร็จสมบูรณ์
ทำอย่างไรคนจำนวนมากๆอย่างนั้นจะรู้สึกซาบซึ้งประทับใจในการเดินทางได้เหมือนกับพวกเรากลุ่มเล็กๆ
ทำอย่างไรความสวยงามของศิลปไทยเหล่านั้นจะเข้าไปซาบซึ้งและประทับใจผู้ที่มาร่วมเดินทางกับเรา
ทำอย่างไรเราจะฝ่าการจราจรหนาหนักของกรุงเทพ ฯได้สำเร็จ
และขณะนี้ที่คำตอบของคำถามต่างๆเหล่านั้นกำลังถูกค้นคิด เส้นการเดินทางชมเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรี
กำลังถูกลากขึ้นพาลัดเลาะตัดเส้นทางใหม่ให้เหมาะสมที่สุด ปลอดภัยที่สุดและน่าประทับใจที่สุด
เพื่อการเข้ามาร่วมกันของเพื่อนชาวจักรยาน กทม. ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม
และในการทำทัวร์เกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรีในโอกาศต่อไป
และทั้งหมดนี้ก็คือการสำรวจเส้นทางเพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรี
อันเป็นทัวร์นำร่องสำหรับบริษัทท่องเที่ยวเอกชนที่อาจจะศึกษาและจัดติดตามต่อไปในอนาคต
โดยการเดินทางครั้งแรกจะเป็นการเดินทางในพิธีเปิดปีท่องเที่ยวไทย ๒๗
ธันวาคม ๒๕๔๐ ด้วยรถจักรยานจำนวนกว่า ๕๐๐ คัน และในคราวต่อ ๆ ไปที่จะจัดเป็นรายการท่องเที่ยวคืนละประมาณ
3๐ คัน ทุกคืน เจ็ดคืนติดต่อกัน
หมายเหตุจากผู้เขียน
บทความเรื่องนี้คือบันทึกการสำรวจเกาะรัตนโกสินทร์ด้วยจักรยาน
ก่อนการจัดทำขบวนจักรยานร่วมเฉลิมฉลองในพิธีเปิดปี AMAZING THAILAND
และการจัดทำทัวร์จักรยานชมเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรี ซึ่งจัดทำขึ้นติดตามต่อมาอีก
7 วันด้วยกัน ขบวนจักรยานเฉลิมฉลองพิธีเปิดฯ ได้ผลเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้
คือประเมินว่าน่าจะมีเพื่อนชาวจักรยานมาร่วมกันประมาณ 500 คัน แต่ในวันจริงมีมาร่วมกันนับพันคัน
ตกภาคกลางคืนขบวนจักรยานแล่นชมเกาะรัตนโกสินทร์เป็นขบวนสวยงามยาวเหยียด
นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การมาร่วมกันของพี่น้องชาวจักรยานที่มีจำนวนจักรยานมากที่สุดเป็นครั้งแรก
ทัวร์จักรยานชมเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรีที่จัดขึ้นติดต่อมาอีก 7 วันก็ประสพความสำเร็จเป็นอย่างสูง
ทัวร์จักรยานเกาะรัตนดกสินทร์ยามราตรีได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างท่วมท้น
จักรยานมีไม่พอบริการ จากที่ประเมินไว้ว่าทุกคืนจะมีทัวร์จักรยานออกคืนละ
30 คัน ปรากฏว่ามีออกจริงคืนละไม่ต่ำกว่า 50 คัน
ปี 2542 มีการขยายผลกิจกรรมท่องเที่ยวด้วยจักรยานในเกาะรัตนโกสินทร์
เป็นความร่วมมือ ระหว่าง กทม. และ ททท. โดยมูลนิธิพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
ฯ โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบออกเป็นสองส่วน คือททท. จัดทัวร์จักรยานชมเกาะรัตนโกสินทร์ยามราตรีในคืนวันเสาร์
ส่วน กทม. จัดขี่จักรยานรณรงค์ไปรอบเกาะรัตนโกสินทร์ทุกเช้ามืดวันอาทิตย์
ผลปรากฏว่าทัวร์คืนวันเสาร์ของ ททท. ขายดีมีผู้สนใจเข้าร่วมการขี่จักรยานชมเกาะรัตนโกสินทร์ทุกครั้งๆละเป็นจำนวนมาก
และจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาอีกหลายเดือนด้วยกัน ในที่สุด ททท. เตรียมขยายผลการทำงานนี้สู่ภาคเอกชน
มีการปรับปรุงราคาค่าบริการใหม่ให้เอกชนมีกำไรในราคาประมาณ 450 บาท พร้อมคู่มือ
และการบริการต่างๆ หากทว่าอยุ่ดีๆ กทม.ที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการจัดกิจกรรมรณรงค์ได้จัดทัวร์จักรยานในเส้นทางเดียวกัน
โดยศูนย์ท่องเที่ยว กทม. ในราคา 250 บาท ทำให้ภาคเอกชนที่จะรับช่วงต่อไปไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับ
ภาคราชการอย่าง กทม. ได้ ในส่วน ททท. เมื่อ กทม. มารับช่วงต่อไปเช่นนี้จึงยุติการจัดกิจกรรมนี้ลงเพื่อมิให้เป็นการแข่งขันกันเองในระหว่างหน่วยราชการด้วยกันประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในมูลนิธิพิทักษ์สิ่งแวดล้อมฯอันเป็นหน่วยงานปฏิบัติงาน
ทุกวันนี้จึงมีการจัดกิจกรรมจักรยานท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์เพียงโดย
ศูนย์ท่องเที่ยว กทม. เพียงหน่วยงานเดียว
บัตรเครดิต สินเชื่อ สินเชื่อเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล เงินด่วน เงินกู้ สมัครบัตรเครดิต สินเชื่อ บัตรเครดิต
โปรแกรมบัญชี โต๊ะจีน-จัดเลี้ยง บ้านจัดสรร-บ้านใหม่-บ้านเดี่ยว ธนาคารกรุงไทย สกินhi5 วิเคราะห์บอล ราคาบอล