Digital Camera
-
ชนิดของกล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล
-
การใช้งานกล้องดิจิตอล
-
วิธีเลือกซื้อกล้องดิจิตอล
-
รู้สักนิด ก่อนเล่นดิจิตอล
ชนิดของกล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล
.......กล้องถ่ายภาพดิจิตอลที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก
มีการออกแบบมาให้สามารถเลือกใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ซึ่งเราสามารถแบ่งได้
2 ประเภท
1. กล้องคอมแพ็ค ดิจิตอล
......กล้องคอมแพ็คดิจิตอลเป็นกล้องดิจิตอลที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย
เพียงศึกษาวิธีใช้งานเพียงเล็กน้อยก็สามารถใช้งานได้ โดยหลักการแล้วกล้องคอมแพ็คดิจิตอลมีหลักการทำงานเหมือนกับกล้องคอมแพ็คที่ใช้ฟิล์มถ่ายภาพ
ในปัจจุบันเป็นกล้องที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากใช้งานง่ายและราคาไม่แพงมากนัก
โดยปกติจะมีความละเอียดของภาพประมาณ 1-3 ล้านพิกเซล
ซึ่งความละเอียดขนาดนี้สามารถขยายภาพได้ถึงขนาด 8 x 10 นิ้ว
โดยยังให้คุณภาพของภาพในระดับที่ดี นอกจากนั้นกล้องคอมแพ็คดิจิตอลในปัจจุบันได้มีการพัฒนาและออกแบบให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้สะดวก
เช่น ระบบการซูมภาพ ระบบการวัดแสงอัตโนมัติ ระบบการบันทึกภาพเคลื่อนไหว

กล้องถ่ายภาพดิจิตอลคอมแพค
2. กล้องดิจิตอลชนิดสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว
.......กล้องดิจิตอลชนิดสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว
เป็นกล้องถ่ายภาพดิจิตอลที่มีการพัฒนาจากกล้องขนาด 35 มม.ที่ใช้ฟิล์ม
โดยมีหลักการทำงานเหมือนกับกล้องถ่ายภาพสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบใช้ฟิล์ม
จะแตกต่างกันตรงที่กล้องดิจิตอลจะใช้แผ่นการ์ดเป็นตัวรับและบันทึกข้อมูล
ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพดิจิตอลชนิดสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวจะมีความละเอียดของภาพสูง 5
- 6 ล้านพ輜กเซล
และยังมีการพัฒนาให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบันทึกข้อมูลให้สูงกว่านี้
นอกจากนั้นยังได้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น
โดยเพิ่มเติมในส่วนของประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ระบบการวัดแสง , ระบบการตั้งความไวชัตเตอร์
,ระบบบันทึกภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

กล้องดิจิตอลชนิดสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว
3. กล้องดิจิตอลขนาดกลาง
.......กล้องดิจิตอลขนาดกลางมีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับกล้อง
120 ที่ใช้ฟิล์ม จะแตกต่างกันในเรื่องความละเอียดในการบันทึกภาพ
โดยปกติจะสามารถบันทึกรายละเอียดได้มากกว่า 5 ล้านพิกเซลขึ้นไป
ส่วนมากจะใช้กันในธุรกิจการพิมพ์
และการโฆษณาที่ต้องการคุณภาพของงานที่ต้องการความละเอียดของภาพสูง
หรือต้องการขยายภาพขนาดใหญ่
กล้องดิจิตอลขนาดกลางจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงมากจึงมีใช้เฉพาะกลุ่มของผู้ดำเนินธุรกิจในการถ่ายภาพโฆษณา
หรือสิ่งพิมพ์

กล้องถ่ายภาพดิจิตอลขนาดกลาง
ความละเอียดของกล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล
.......
.......กล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล
มีความแตกต่างกันในความสามารถในการบันทึกรายละเอียดแตกต่างกัน
ซึ่งรายละเอียดของการบันทึกภาพจะกำหนดค่าเป็นหน่วยที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel)
ซึ่งในกล้องแต่ละชนิดจะมีความสามารถที่จะบันทึกรายละเอียดแตกต่างกันดังที่กล่าวมาแล้ว
เช่น 1 - 2 ล้านพิกเซล, 3 ล้านพิกเซล หรือ 5 ล้านพิกเซล ซึ่งค่าพิกเซลยิ่งมากย่อมหมายถึงคุณภาพในการบันทึกรายละเอียดของภาพยิ่งสูงขึ้น
ค่าของพิกเซลหมายถึง
หน่วยพื้นฐานที่ย่อยที่สุดซึ่งจะแสดงค่าความละเอียดของภาพโดยคิดจากพื้นที่กว้าง 1
นิ้ว x ยาว 1 นิ้ว ถ้าค่าพิกเซลยิ่งมากความละเอียดของภาพยิ่งสูง
.......ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพดิจิตอลส่วนใหญ่จะมีความละเอียดมากกว่า
1 ล้านพิกเซล
ซึ่งในการเลือกใช้งานผู้ใช้จึงจำเป็นจะต้องเลือกให้ถูกกับลักษณะการใช้งาน
เช่นถ้าต้องการบันทึกภาพเพื่อนำไปใช้ประกอบในการทำเวบเพจ
ความละเอียดไม่จำเป็นจะต้องมาก อาจใช้เพียง 3- 5 แสนพิกเซลก็เพียงพอแล้ว
แต่ถ้าต้องการจะบันทึกภาพทั่วไปเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยอาจนำไปอัดขยายขนาดภาพ
ขนาด 3 x 5 นิ้ว - 4 x 6 นิ้ว ความละเอียดของกล้องควรใช้ความละเอียดประมาณ 2 - 3
ล้านพิกเซล ก็เพียงพอ แต่ถ้าต้องการนำภาพไปขยายขนาดใหญ่
ความละเอียดก็จำเป็นต้องสูงขึ้น เช่น 5 - 6 ล้านพิกเซล
ซึ่งแน่นอนถ้าเราเลือกใช้กล้องที่มีความละเอียดในการบันทึกภาพสูงขึ้นราคาของกล้องก็สูงขึ้นด้วยเป็นต้น
เพราะฉะนั้น
การพิจารณาเลือกซื้อกล้องให้เหมาะสมกับลักษณะงานจึงถือว่าเป็นการเลือกใช้ที่ฉลาดและประหยัดงบประมาณได้อย่างดี
การบันทึกข้อมูลของกล้องระบบดิจิตอล
.......การบันทึกภาพของกล้องถ่ายภาพทั่วไปเราใช้ฟิล์มในการเก็บบันทึก
ส่วนในกล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอลเราใช้แผ่นข้อมูลในการบันทึก
ซึ่งแผ่นข้อมูลที่ใช้ในการบันทึกภาพนั้นมีการใช้ในหลายลักษณะ ดังนี้
......1. แผ่นบันทึกข้อมูลแบบดิสก์เก็ต (Diskett)
เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลขนาด .3 นิ้ว
เช่นเดียวกับแผ่นดิสก์เก็ตคอมพิวเตอร์จะใช้กับกล้องที่มีความละเอียดไม่มากนัก
โดยตัวแผ่นข้อมูลแบบดิสก์เก็ตจะบันทึกภาพในนามสกุล .BMP หรือ JPG ได้ประมารณ 25 -
30 ภาพเท่านั้น
แผ่นบันทึกข้อมูลแบบดิสก์เก็ต (Diskett)
......2.
แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Compact Flash
เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลที่มีขนาดเล็กกว่าแผ่นดิสก์เก็ตและสามารถบันทึกข้อมูลได้มากกว่า
รวมถึงความรวดเร็วในการบันทึกภาพที่สูงขึ้น

แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Compact Flash
......3.
แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Smart Media เป็นแผ่นบันทึกที่ได้มีการพัฒนาขึ้นในระยะหลัง
มีขนาดเล็กกว่าแผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Compact Flash
และมีขนาดความจุของข้อมูลให้เลือกใช้ได้มากมาย ตั้งแต่ 8 - 256 MB
ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ แต่การใช้งานของแผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Smart Media
ค่อนข้างระวังรักษายาก
เนื่องจากหน้าสัมผัสที่เป็นแผ่นทองเหลืออาจเกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย
จึงจำเป็นจะต้องระมัดระวังในการใช้งานเป็นกรณีพิเศษ เช่น
พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสด้วยมือโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณหน้าสัมผัส

แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Smart Media
......4. แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ
Memory Stick
เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก
สามารถบันทึกข้อมูลได้มากแต่มีราคาค่อนข้างสูงจึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก

แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Memory Stick
...... .5.
แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Micro Drive แผ่นบันทึกข้อมูลแบบไมโครไดร์ฟ
มีลักษณะคล้ายคลึงกับแผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Compact Flash สามารถบันทึกข้อมูลได้มาก
บางรุ่นสามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้มากถึง 1 GB

แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Micro Drive
......6. แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Multi Media Card
เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลที่มีขนาดเล็กมาก เพียง 32 x 24 มิลลิเมตร และมีความหนาเพียง
1.4 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเล็กมาก
ความจุของแผ่นบันทึกข้อมูลชนิดนี้สูงสุดจะมีขนาดความจุ 128 MB

แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Multi Media Card
.......7.
แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ SD Card (Secure Digital Card)
เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Multi Media Card แต่จะมีความหนากว่า
สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ง่ายขึ้นและมีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงขึ้น
นอกจากนั้นยังถูกออกแบบมาให้สามารถป้องกันการทำสำเนาข้อมูลได้อีกด้วย
ขนาดความจุของแผ่นบันทึกข้อมูลแบบ SD Card จะมีขนาดความจุตั้งแต่ 8 MB - 256 MB

แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ SD Card (Secure Digital Card)
.......8.แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ
Mini CD-RW เป็นแผ่นบันทึกข้อมูลลักษณะเป็นแผ่นกลมคล้ายกับแผ่นซีดีทั่วไป
จะใช้กับกล้องบางรุ่นเท่านั้น ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีขนาดใหญ่
เก็บรักษายาก
แผ่นบันทึกข้อมูลแบบ Mini CD-RW
การใช้งานกล้องดิจิตอล
.......การเลือกใช้งานของกล้องดิจิตอล
เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ไม่ควรมองข้ามเพราะนอกจากจะทำให้เราสามารถใช้งานได้เหมาะสมกับลักษณะงานแล้ว
ยังสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพดิจิตอลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะความละเอียดที่ได้มีการพัฒนาให้สามารถให้ความละเอียดที่สูงมาก
แต่ในการเลือกใช้เราควรเลือกให้เมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 4 ระดับ
1. ความละเอียดน้อยกว่า 1 ล้านพิกเซล เหมาะสำหรับการทำภาพประกอบเวบเพจที่ใช้บนอินเตอร์เน็ตหรือแสดงผลขนจอควมพิวเตอร์ในการนำเสนอผลงาน
ถ้านำมาอัดขยายภาพจะให้รายละเอียดไม่ดีนัก
2. ความละเอียดขนาด 1 ล้านพิกเซล เหมาะสำหรับงานสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก
หรือใช้ในการนำเสนอผลงาน Presentation
3. ความละเอียดขนาด 2 - 3 ล้านพิกเซล เหมาะสำหรับงานถ่ายภาพทั่วไป เช่น
ภาพบันทึกต่าง ๆ เนื่องจากความละเอียดระดับนี้สามารถนำมาขยายภาพได้ เช่น ภาพขนาด 4
x 6 นิ้ว, 6 x 8 นิ้ว หรือ 8 x 10 นิ้วเป็นต้น
4. ความละเอียดขนาด 4 ล้านพิกเซลขึ้นไป เหมาะสำหรับงานที่ต้องการคุณภาพสูง
หรือต้องการขยายภาพขนาดใหญ่และต้องการคุณภาพของภาพที่สูงมาก
.......เมื่อเราทราบแล้วว่ากล้องดิจิตอล มีให้เราเลือใช้ได้หลายระดับขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งาน
การใช้งานของกล้องดิจิตอลที่ถูกวิธีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้งานไม่ควรมองข้ามซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ช่องมองภาพ (Viewfinder)
.......ช่องมองภาพของกล้องถ่ายภาพดิจิตอล
จะแตกต่างกับช่องมองภาพของกล้องถ่ายภาพที่ใช้ฟิล์มเล็กน้อย
เนื่องจากปัจจุบันช่องมองภาพของกล้องดิจิตอลบางรุ่นเป็นช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์
(Electronic Viewfinder) หรือเรามักเรียกว่าช่องมองภาพแบบ EVF
ซึ่งเปรียบเสมือนการนำจอโทรทัศน์ขนาดจิ๋วไปบรรจุไว้ในช่องมองภาพนั่นเอง
ถ้าเราไม่ได้เปิดสวิตซ์ของกล้องถ่ายภาพ
เราก็ไม่สามารถมองเห็นภาพจากช่องมองภาพซึ่งแตกต่างกับช่องมองภาพแบบทั่วไป
.......นอกจากการมองเห็นภาพของกล้องดิจิตอลจะสามารถมองผ่านช่องมองภาพแล้ว
กล้องดิจิตอลส่วนมากจะมีจอภาพสำหรับแสดงผลให้ผู้ถ่ายภาพได้เห็นผลของการบันทึกภาพ
หรือใช้แทนช่องมองภาพปกติ
เนื่องจากการบันทึกภาพโดยผ่านการมองผ่านจอภาพจะแสดงผลที่ถูกต้องมากกว่าการมองผ่านช่องมองภาพ
(Viewfinder) โดยเฉพาะกล้องดิจิตอลขนาดเล็ก จะให้ผลในการบันทึกภาพได้ถูกต้องมากกว่า
แต่การใช้จอภาพในการแสดงผลก็ทำให้แบตเตอรี่ของกล้องหมดเร็วเช่นกัน
2. การบันทึกภาพ
......
การบันทึกภาพของกล้องดิจิตอลแตกต่างจากกล้องที่ใช้ฟิล์มปกติ
โดยการบันทึกภาพของกล้องดิจิตอล เราต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
...........2.1 ความจุของแผ่นบันทึกข้อมูลเป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาอย่างมาก
โดยปกติกล้องดิจิตอลจะต้องใช้แผ่นบันทึกข้อมูลเก็บภาพแทนฟิล์ม
ถ้าเราเลือกใช้แผ่นข้อมูลที่มีความจุน้อย เช่น 8 MB หรือ 16 MB
การบันทึกภาพก็บันทึกภาพได้น้อย
แต่การที่เราจะใช้แผ่นข้อมูลที่สามารถบันทึกข้อมูลได้มากนั้น
ราคาของแผนบันทึกข้อมูลก็มีราคาสูงมากเช่นกัน
โดยทั่วไปแล้วถ้าเราต้องการนำภาพที่บันทึกไปใช้งานแต่ละครั้งไม่มาก
การใช้แผ่นข้อมูลที่มีความจุน้อยถึงปานกลางถือเป็นทางเลือกที่ฉลาด
เพราะเมื่อบันทึกภาพไปแล้วเราสามารถถ่ายโอนข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์แผ่นดิสก์แล้วนำแผ่นบันทึกข้อมูลนั้นกลับมาใช้ใหม่ได้
.............2.2
พิจารณาถึงความละเอียดในการบันทึกภาพ
การบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิตอลสามารถเลือกบันทึกภาพด้วยความละเอียดแตกต่างกันได้
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำภาพนั้นไปใช้อะไร ยกตัวอย่างเช่น เรามีแผ่นบันทึกข้อมูล 8 MB
ถ้าไปบันทึกภาพแบบละเอียดมากเราอาจได้ภาพเพียง 1-10 ภาพ
แต่ถ้าบันทึกภาพที่ไม่ต้องการความละเอียดมากอาจบันทึกภาพได้หลายสิบภาพ
โดยเฉพาะถ้านำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นไฟล์ภาพใช้กับการทำเวบเพจ
แต่ละภาพมักใช้ความละเอียดไม่เกิน 70 KB เท่านั้น
.......นอกจากการพิจารณาถึงการเลือกความอะเอียดในการบันทึกภาพแล้ว
การเลือกรูปแบบการบันทึกข้อมูลถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาสำหรับผู้ใช้งานกล้องดิจิตอล
เนื่องจากปัจจุบันกล้องดิจิตอลสามารถบันทึกภาพได้หลายรูปแบบ เช่น JPEG , TIFF , RAW
ซึ่งการบันทึกภาพทั้ง 3 รูปแบบสามารถบันทึกข้อมูลได้แตกต่างกันดังนี้
JPEG (Join Potographic Group)
เป็นการบันทึกภาพที่ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ของการบันทึกข้อมูล เนื่องจากการบันทึกด้วย
JPEG จะมีการบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็ก ทำให้เราสามารถบันทึกภาพได้มาก
แต่การบันทึกด้วยรูปแบบนี้จะทำให้คุณภาพของภาพลดลง
TIFF (Tagged Image File Format) รูปแบบนี้เป็นการบันทึกภาพที่ให้คุณภาพสูง
และให้รายละเอียดของภาพสูง
แต่การบันทึกภาพด้วยรูปแบบนี้จะใช้พื้นที่ในการบันทึกข้อมูลมาก
RAW เป็นการบันทึกภาพที่แตกต่างจากการบันทึกแบบ JPEG และ TIFF
เนื่องจากการบันทึกภาพรูปแบบ RAW จะไม่ผ่านขบวนการแปลงข้อมูลเหมือน JPEG หรือ TIFF
ทำให้เราสามารถปรับแต่งคุณภาพของภาพได้ง่ายกว่า
การใช้และการบำรุงรักษากล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล
.......การใช้และบำรุงรักษากล้องถ่ายภาพดิจิตอลอย่างถูกวิธี
ย่อมหมายถึง
การเพิ่มประสิทธิภาพของกล้องถ่ายภาพให้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ตลอดอายุการใช้งาน
ซึ่งจะขอแนะนำวิธีการใช้และบำรุงรักษากล้องถ่ายภาพดิจิตอลอย่างถูกวิธีดังนี้
1. ใช้งานอย่างระมัดระวัง
เนื่องจากกล้องถ่ายภาพดิจิตอลมีระบบการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน
เมื่อเราใช้งานจึงจำเป็นต้องใช้อย่างทะนุถนอม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
2. ตรวจสอบการใช้งานก่อนและหลังการใช้งานทุกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่น
สวิตซ์ปิดเปิดกล้อง , ฝาครอบเลนส์ , แบตเตอรี่
3. เลือกใช้แบตเตอรี่ให้ถูกต้องกับลักษณะการใช้งาน
โดยดูได้จากคู่มือการใช้กล้องที่กำหนดมา
ไม่ควรใช้แบตเตอรี่ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือชำรุดและควรนำแบตเตอรี่ออกจากกล้องทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
4. ทำความสะอาดกล้องอย่างสม่ำเสมอ โดยควรจะทำความสะอาดหลังจากการใช้งานทุกครั้ง
และต้องทำความสะอาดอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณเลนส์และช่องใส่การ์ดข้อมูล
ต้องให้ความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ
5. เก็บกล้องในที่ที่ไม่มีฝุ่นละอองหรือห่างจากความร้อน เช่น
ไม่ควรเก็บกล้องไว้ในตู้เสื้อผ้า ในรถหรือที่มีฝุ่นละอองมาก
ควรเก็บไว้ในตู้เก็บโดยเฉพาะที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้จะดีที่สุด
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผ่นบันทึกข้อมูลโดยตรง
เนื่องจากแผ่นบันทึกข้อมูลบางชนิดไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันการเกิดรอยขีดข่วน
เมื่อจำเป็นจะต้องใช้งานควรสัมผัสเฉพาะบริเวณขอบของแผ่นบันทึกข้อมูล
หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณหน้าสัมผัสเพราะอาจเกิดรอยขีดข่วนหรือความชื้นจากเหงื่อและจากการสัมผัสอาจทำอันตรายแก่แผ่นบันทึกข้อมูลได้
7. ไม่ควรนำแบตเตอรี่ทิ้งไว้ในกล้องถ่ายภาพ
ทุกครั้งเมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วควรนำแบตเตอรี่ออกจากกล้อง
เนื่องจากกล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอลจะทำงานตลอดเวลาเมื่อมีแบตเตอรี่บรรจุอยู่ถึงแม้เราจะปิดสวิทช์กล้องแล้วก็ตาม
ในหลักการทำงานของกล้องดิจิตอลนั้น
หลังจากเราบันทึกภาพแล้วตัวเซนเซอร์ในตัวกล้องจะทำหน้าที่ในการรับภาพ
โดยแปลงสัญญาณภาพส่งไปยังหน่วยประมวลผลเพื่อคำนวณออกมาเป็นภาพ
แล้วจึงส่งภาพที่บันทึกไว้ไปเก็บไว้ในหน่วยความจำของกล้องในรูปแบบของการ์ด Smart
Media, Compact Flash ซึ่งมีความสามารถในการบันทึกข้อมูลแตกต่างกัน เช่น 16 MB , 32
MB , 64 MB หรือ 128 MB
รู้สักนิด ก่อนเล่นดิจิตอล : บทความโดยคุณ Grape
ผมได้เข้ามาหาความรู้อยู่ในตากล้องดอทคอมอยู่สักพักนึง
คิดว่าอยากจะให้อะไรกลับบ้าง
ก็เห็นว่าเรื่องเกี่ยวกับดิจิตอลยังมีค่อนข้างน้อยแต่มีคนสนใจเยอะมาก
เรื่องเกี่ยวกับการเลือกกล้องก็มีให้อ่านเยอะและจริงๆ
ก็เขียนยากเพราะเปลี่ยนรุ่นกันเร็วมาก
เลยคิดว่าน่าจะเน้นเกี่ยวกับความแตกต่างไปจากกล้องฟิล์มน่าจะทำให้ผู้ใช้กล้องทั้งสองประเภทเข้าใจง่ายขึ้น
บทความนี้มีเนื้อหาพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่
เหมาะกับคนที่กำลังคิดว่าจะเล่นดิจิตอลดีไหม หรือ
คนที่เล่นดิจิตอลเลยและไม่เคยเล่นกล้องฟิล์มจริงจังมาก่อน หรือ
คนที่ยังไม่คิดจะเล่นดิจิตอลแต่ก็อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับมันบ้าง
เนื้อหาบางส่วนจะไม่ขอลงรายละเอียดนักเพื่อไม่ให้บทความยาวหรือเป็นวิชาการจนเกินไปและไม่ค่อยเน้นเรื่องการเลือกรุ่นและยี่ห้อกล้องมากนัก
แต่เนื้อหาหลายๆ
ส่วนน่าจะมีประโยชน์ในการพิจารณาเลือกซื้อกล้องดิจิตอลด้วยตัวเองในภายหลัง
|
บทนำ
กล้องดิจิตอลมีความนิยมเพิ่มขึ้นทุกวันๆ
หากไม่รู้เกี่ยวกับมันเลย อาจจะดูเชยไปหน่อยสำหรับยุคนี้ คนรุ่นใหม่หลายคน
อาจจะเริ่มเล่นกล้องดิจิตอลโดยที่ไม่ได้เล่นกล้องฟิล์มมาก่อนด้วยซ้ำ
การเลือกกล้องดิจิตอลโดยเฉพาะกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
อาจจะยากกว่าการเลือกกล้องฟิล์มหรือกล้อง Digital SLR (DSLR)
เพราะรวมแทบทุกอย่างไว้ในตัว เลนส์ก็ถอดเปลี่ยนไม่ได้อย่างกล้อง SLR ทั่วไป
เป็นตัวถ่ายทอดรายละเอียด ความคมชัด ของภาพ ไปสู่ เซ็นเซอร์รับภาพ (Image
sensor) ในตัวกล้อง ซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดคุณภาพของภาพที่ออกมา
หรือพอเทียบได้กับฟิล์ม และแถมยังมีแฟลชในตัวที่ก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน
ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายๆ คนรู้จักและคุ้นเคยกับกล้องดิจิตอลมากขึ้น
|
1.
ประเภทของกล้องดิจิตอล
กล้องดิจิตอลที่พบเห็นทั่วไป แบ่งได้ง่ายๆ
จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ กล้องดิจิตอลคอมแพ็ค (หรือเรียกว่า digital point-and-shoot
แปลว่า เล็งแล้วถ่ายได้เลย) กับ กล้องดิจิตอล SLR (นิยมเรียกสั้นๆ ว่า DSLR)
สำหรับแบบแรกจะเป็นกล้องขนาดเล็ก กะทัดรัด มีตั้งแต่ขนาดเล็กมาก ถึง ปานกลาง
หลายระดับราคา (ปัจจุบันมีตั้งแต่ ไม่ถึงหมื่นจนถึงสี่หมื่นกว่าบาท),
ส่วนมากจะติดมากับเลนส์ซูมถอดเปลี่ยนไม่ได้
แต่บางตัวอาจจะเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสคงที่, มีโหมดออโต้ใช้ง่าย กดอย่างเดียว
ไม่ต้องสนใจอะไรมาก และมักจะมีโหมดสำเร็จรูป เช่น ถ่ายระยะใกล้ (close-up หรือ
macro), ถ่ายพลุ, ถ่ายงานเลี้ยงกลางคืน, ถ่ายภาพบุคคล เป็นต้น หรือ
ให้ถูกใจช่างภาพขึ้นมาหน่อยก็จะมีโหมด A หรือ Av (ผู้ใช้เลือกรูรับแสง
กล้องจะเลือกค่าความเร็วชัตเตอร์ให้) , โหมด S หรือ Tv (ผู้ใช้เลือกความเร็วชัตเตอร์
กล้องเลือกรูรับแสงให้) และ โหมด M (manual คือ ต้องปรับเองทั้งสองค่า)
ลูกเล่นกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค จะว่าไปก็มีไม่น้อยทีเดียว
ไม่ว่าจะระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่ (multi-segment), เฉลี่ยหนักกลาง (center-weighted),
เฉพาะจุด (spot) เผลอๆ จะมี spot ตามกรอบโฟกัสอีกด้วย ระบบออโต้โฟกัส
มีทั้งแบบทำงานครั้งเดียว หรือต่อเนื่อง และยังมีแมนนวลโฟกัสให้เลือกใช้อีกด้วย
ในขณะที่กล้องคอมแพ็คใช้ฟิล์มทั่วไป แทบจะไม่ค่อยมีอะไรให้ปรับเลือกมากนัก
ซึ่งเป็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่งสำหรับกล้องคอมแพ็คใช้ฟิล์มทั่วไปกับกล้องดิจิตอลคอมแพ็คก็ว่าได้
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ได้ยินหลายคนบ่นว่ากล้องดิจิตอลใช้ยาก
(การมีปุ่มให้ปรับเลือกเยอะ
อาจจะไม่เป็นผลดีเสมอไปสำหรับคนไม่ได้เล่นกล้องจริงจัง) ปกติกล้องดิจิตอลคอมแพ็คจะมีแฟลชในตัว
แต่กำลังไม่สูงนัก ดังนั้นรุ่นที่แพงขึ้นมาหน่อยจะมีแฟลชฮ็อทชู (hotshoe)
ไว้เสียบแฟลชภายนอกกำลังแรงขึ้น ไว้เอาใจคนที่เล่นกล้องจริงจังด้วย
ในแง่อุปกรณ์เสริมอื่นๆ อาจจะมีให้เลือกใช้ได้ด้วย เช่น เลนส์ Converter ,
ฟิลเตอร์ เป็นต้น
สำหรับกล้อง DSLR เหมือนกล้อง SLR
ใช้ฟิล์มปกติแทบทุกอย่าง ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ เสียบแฟลชภายนอก
หรือใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้ตามปกติ ภายนอกจะต่างไปบ้างก็ตรงที่มีจอแอลซีดี (LCD)
อยู่ข้างหลัง และไม่ต้องมีมอเตอร์เลื่อนฟิล์ม ฝาหลังจึงไม่มี (ในขณะที่เขียนนี้
Leica กำลังจะพัฒนาฝาหลังดิจิตอล 10 ล้านพิกเซล สำหรับกล้องฟิล์ม SLR รุ่น R8
และ R9 น่าสนใจทีเดียว เพราะปัจจุบันยังไม่มีฝาหลังดิจิตอลสำหรับกล้องฟิล์ม 35
มม. ออกมาเลย)
สิ่งที่แตกต่างส่วนใหญ่จะเป็นเรื่ององศารับภาพที่ไม่เท่ากับกล้องฟิล์ม และจอ
LCD ซึ่งเอาไว้ดูภาพหลังจากถ่ายแล้วเท่านั้น (review)
ซึ่งจะต่างจากกล้องดิจิตอลคอมแพ็คที่ใช้ดูก่อนถ่านได้ด้วย (preview)
นอกจากนี้ราคาตัวกล้อง DSLR ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตัวกล้อง SLR ใช้ฟิล์ม
|


กล้องดิจิตอล SLR


กล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
|

A CMOS image sensor

A CCD image sensor

X3 ccd image sensor
|
2. อิมเมจเซ็นเซอร์
ส่วนสำคัญของกล้องดิจิตอล
เซ็นเซอร์รับภาพ หรืออิมเมจเซ็นเซอร์ (Image
sensor) ทำหน้าที่เสมือนฟิล์ม ที่รับภาพมาจากเลนส์ ในขณะที่ฟิล์ม
ภาพจะเกิดเป็นภาพแฝงในฟิล์ม
หลังจากนำไปผ่านกระบวนการเคมีจึงจะออกมาเป็นภาพจริงได้
ในกรณีของเซ็นเซอร์รับภาพ
มันจะแปลงแสงที่รับมาให้สุดท้ายออกมาเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า
หรือออกเป็นข้อมูลได้นั่นเอง โดยอาศัยวงจรอิเล็กทรอนิคส์ช่วย
ภาพที่ออกมาจึงอยู่ในรูปแบบไฟล์ข้อมูลดิจิตอลที่จับต้องไม่ได้อย่างฟิล์ม
มีข้อดีตรงที่เราสามารถโอนย้ายและทำสำเนาไฟล์ข้อมูลนี้ให้เหมือนต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์
ได้ไม่จำกัดจำนวน และสามารถนำไฟล์ข้อมูลดิจิตอลนี้ไปใช้งานได้หลากหลาย
ขนาดภาพของไฟล์ข้อมูลที่ออกมาเป็นกี่ล้านพิกเซล
(megapixels) ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนพิกเซลของอิมเมจเซ็นเซอร์ด้วย ในแต่ละพิกเซลก็เหมือนเป็นจุดสีเล็กๆ
เมื่อนำวางเรียงต่อกัน จนประกอบขึ้นเป็นภาพๆ หนึ่ง หากจำนวนพิกเซลมาก
มันก็จะมีรายละเอียดของภาพมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
จะมีความละเอียดอยู่ในช่วง 3 - 5 ล้านพิกเซล แม้รายละเอียดจะสู้ฟิล์มไม่ได้
แต่ก็ถือว่าเพียงพอในการอัดรูปขนาด 4x6 นิ้ว ถึง 8x10 นิ้ว แล้ว
(ถ้าต้องการนำภาพไปอัด ควรจะถ่ายที่ความละเอียดสูงสุดเท่านั้น) ส่วนกล้อง DSLR
มักจะอยู่ที่ 6 ล้านพิกเซล ถึง 10 กว่าล้านพิกเซลก็มี
กี่พิกเซลถึงจะสวยล่ะ
ทำไมแต่ละที่บอกขนาดที่อัดได้สูงสุดไม่เท่ากัน ? มีวิธีง่ายๆ
ที่พอจะใช้เป็นแนวทางได้บ้าง คือนำจำนวนพิกเซลของภาพในแนวนอน หรือ แนวตั้ง
หารด้วย ความยาว หรือ ความกว้าง ของภาพของกระดาษอัดที่ต้องการ สมมติ ภาพขนาด 3
ล้านพิกเซล 2048 x 1536 พิกเซล (อัตราส่วน 4:3) เมื่อนำไปอัดภาพบนกระดาษขนาด
8x10 นิ้ว จะได้ภาพใหญ่สุดที่ไม่ถูกตัดส่วนใดออกขนาด 10 x 7.5 นิ้ว
จะเทียบได้ว่าบนภาพนั้น จะมีจำนวนพิกเซลต่อระยะหนึ่งนิ้ว (pixels per inch หรือ
ppi อาจจะคนละความหมายกับ dots per inch หรือ dpi ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่พิจารณา
เช่น ถ้าสแกนเนอร์ dpi กับ ppi ความหมายเดียวกัน
แต่ถ้าเป็นอิงค์เจ็ทพรินเตอร์จะคนละความหมาย) ทั้งแนวตั้งและแนวนอน คือ 2048 /
10 = 204.8 (หรือ 1536 / 7.5 = 204.8 เช่นกัน) หรือในกรณี ภาพขนาด 5 ล้านพิกเซล
2592 x 1944 พิกเซล (อัตราส่วน 4:3) เมื่อนำอัดภาพขนาด 6x8 นิ้ว
(เต็มพื้นที่กระดาษ) เทียบได้ว่า มีจำนวนพิกเซลต่อระยะหนึ่งนิ้ว
ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เท่ากับ 2592 / 8 = 324 (หรือ 1944 / 6 = 324 เช่นกัน) -
> ซึ่งถ้าค่าที่คำนวณได้ มากกว่า 300 ppi หรือ มากกว่า
ถือว่ายังให้รายละเอียดที่ดีมาก แม้จะมองที่ระยะใกล้มากด้วยตาเปล่าก็ตาม
หากอยู่ระหว่าง 200 - 300 ppi ก็ยังถือว่าให้รายละเอียดในระดับที่ดีอยู่
(เมื่อมองที่ระยะปกติ ประมาณ 40 ซม.) แต่ถ้าน้อยกว่า 150 ppi ลงมาแล้ว
คุณภาพจะลดลงไปอยู่ในระดับพอใช้ได้เท่านั้น
ขนาดของอิมเมจเซ็นเซอร์มักจะมีขนาดเล็กกว่าฟิล์ม 35 มม. (36 x 24 มม. อัตราส่วน
3:2) ของกล้องดิจิตอลคอมแพ็คมักจะมีขนาดเล็กมาก (และอัตราส่วน 4:3)
เรามักจะได้ยินขนาดมักจะบอกเป็นความยาวเส้นทแยงมุมของเซ็นเซอร์รับภาพ เช่น
1/2.5 นิ้ว , 1/1.8 นิ้ว , 2/3 นิ้ว เป็นต้น ถ้าเป็นขนาด 1/1.8 นิ้ว
ขนาดพื้นที่รับภาพจะเท่ากับประมาณ 7.2 x 5.3 มม. ถ้าเป็นขนาด 2/3 นิ้ว
ขนาดพื้นที่รับภาพจะเท่ากับประมาณ 8.8 x 6.6 มม.
จะเห็นว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดฟิล์ม 35 มม. แต่เมื่อนำมาอัดรูปขยายใหญ่แล้ว
ก็เรียกได้ว่าเล็กพริกขี้หนูจริงๆ
สำหรับกล้อง DSLR
ส่วนใหญ่นิยมมีขนาดใกล้เคียงกับ 24 x 16 มม. (อัตราส่วน 3:2 เหมือนฟิล์ม 35 มม.)
จะมีกล้อง DSLR บางตัวที่มีขนาดเท่าฟิล์ม 35 มม. อยู่เหมือนกัน
(ซึ่งก็ราคาแพงมาก ในขณะนี้) และด้วยความที่พื้นที่รับภาพเล็กกว่าฟิล์ม 35 มม.
นี่เอง ทำให้เมื่อใช้เลนส์กล้องฟิล์ม 35 มม. ตามปกติ จะได้องศารับภาพที่แคบกว่า
ชนิดของเซ็นเซอร์รับภาพเห็นทั่วไปจะมีสองแบบตามกรรมวิธีผลิต คือ ซีซีดี (CCD)
กับ ซีมอส (CMOS) ซึ่งในกล้องดิจิตอลคอมแพ็คส่วนใหญ่จะเป็น CCD ขณะที่กล้อง
DSLR จะมีทั้ง CCD และ CMOS
แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบวงจรอิเล็กทรอนิคส์ของเซ็นเซอร์รับภาพในกล้องดิจิตอลคอมแพ็คกับ
DSLR จะเป็นคนละแบบกัน ซึ่งจะมีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพ
และก็ทำให้ลูกเล่นบางอย่างแตกต่างกันออกไปด้วยอย่างที่เกริ่นไปข้างต้นบ้างแล้ว
|
3. เลนส์นั้นสำคัญไฉน
ตามปกติ
เลนส์ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการกำหนดคุณภาพของรูปที่ได้โดยเฉพาะในกล้องใช้ฟิล์ม
แต่เมื่อเป็นกล้องดิจิตอลแล้ว อิมเมจเซ็นเซอร์มีผลมากต่อคุณภาพของรูปด้วย
แต่ถึงอย่างไรเลนส์ก็ยังคงความสำคัญอยู่ไม่น้อยที่ต้องพิจารณาด้วย
ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่างภาพส่วนใหญ่จะให้ความเชื่อถือกับเลนส์ที่มียี่ห้อเป็นที่รู้จักมากกว่า
ส่วนใหญ่กล้องดิจิตอลคอมแพ็คมักจะติดมากับเลนส์ซูม ยกตัวอย่างเช่น เลนส์ 7.2 -
28.8 มม. f2.0 - 3.0 หมายถึง ทางยาวโฟกัสสั้นที่สุด 7.2 มม.
มีขนาดรูรับแสงกว้างสุดที่ f2.0 และมีช่วงทางยาวโฟกัสยาวสุดที่ 28.8 มม.
รูรับแสงกว้างสุดที่ f3.0 (ถือว่าค่อนข้างสว่างมากเมื่อเทียบกับเลนส์ของซูมของกล้องฟิล์มคอมแพ็ค)
โดยทั่วไปอาจจะบอกสั้นๆว่า เป็นช่วงซูมกี่เท่า
โดยเอาค่าทางยาวโฟกัสยาวที่สุด หารด้วยค่าที่สั้นสุด เท่ากับ 28.8 / 7.2 = 4
เท่า (4x) ซึ่งบางตัวอาจจะมีช่วงกว้างถึง 10x ก็มี ทั่วไปนิยมไม่ต่ำกว่า 3x
ก็น่าจะใช้งานทั่วไปได้สะดวก
ช่วงทางยาวโฟกัสที่ยาวกว่ามักจะใช้งานได้คล่องตัวกว่า
แต่คุณภาพอาจจะไม่ได้ดีกว่าช่วงที่แคบกว่าเสมอไป ถึงอย่างไรคุณภาพของซูมด้วยเลนส์
หรือที่เรียกว่า optical zoom ก็ถือว่ายังดีกว่าซูมแบบดิจิตอล (digital zoom)
มากนัก ดังนั้นจะเห็นว่าช่างภาพส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับ digital zoom
กันมากนัก
อย่างที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้
เกี่ยวกับองศารับภาพของกล้องดิจิตอล มักจะไม่เท่ากับกล้องฟิล์ม
บ่อยครั้งที่เราจะพบว่าผู้ผลิตนิยมบอกทางยาวโฟกัสของเลนส์กล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
เป็นค่าทางยาวโฟกัสที่เทียบเท่ากับของเลนส์กล้องฟิล์ม 35 มม. เช่น
บอกว่าเลนส์มีทางยาวโฟกัส เทียบเท่า 35 - 105 มม.
ในขณะที่มีค่าทางยาวโฟกัสจริงของเลนส์เท่ากับ 7.1 - 21.3 มม. (3x)
ทั้งนี้เพื่อบอกค่าองศารับภาพที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยอยู่แล้วกับเลนส์ของกล้องฟิล์ม
35 มม. จะทำให้ผู้ใช้เข้าใจได้ง่ายกว่า แต่เมื่อพิจารณาค่าช่วงระยะชัด (depth
of field) คงต้องถือตามค่าทางยาวโฟกัสจริงของเลนส์ (ตามการคำนวณ
ต้องคิดถึงอัตราขยายที่แตกต่างกันด้วย แต่โดยรวมแล้ว
ค่าทางยาวโฟกัสจะมีผลมากกว่า) หลายคนๆ จะสังเกตว่าใช้กล้องดิจิตอลคอมแพ็คแล้ว
มันให้ช่วงระยะชัดที่กว้างมาก แม้จะเป็นช่วงรูรับแสงกว้างสุดก็ตาม
ทำให้เวลาถ่ายภาพบุคคล
อาจจะไม่ได้ฉากหลังเบลอมากอย่างที่ต้องการหรือที่เคยเห็นกับเลนส์กล้องฟิล์ม SLR
ปกติ ในกรณีนี้เลนส์ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสมากจะได้เปรียบกว่า
โดยเฉพาะเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสจริงประมาณ 50 มม. ขึ้นไป
สำหรับกล้อง DSLR
ส่วนใหญ่พื้นที่เซ็นเซอร์รับภาพจะเล็กกว่าฟิล์ม 35 มม.
แต่ก็ไม่เล็กมากอย่างในกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
ผู้ผลิตนิยมบอกเป็นตัวคูณทางยาวโฟกัส เช่น 1.3 , 1.5 , 1.7 เป็นต้น
(กล้องดิจิตอลคอมแพ็ค มักจะมีค่าอยู่ในช่วงประมาณ 4 - 6
แล้วแต่ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ)
ซึ่งเป็นค่าที่ใช้บอกองศารับภาพเทียบเท่ากับกล้องฟิล์ม 35 มม. เช่นเดียวกัน
เช่น สมมติว่า ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 20 มม. เมื่อนำมาใช้กับกล้อง DSLR
ที่มีค่าตัวคูณทางยาวโฟกัส 1.5 ก็จะได้ องศารับภาพนั้นจะเทียบเท่าเมื่อใช้เลนส์
20 x 1.5 = 30 มม. แต่อย่างไรก็ตามค่าช่วงระยะชัดนั้น (depth of field)
ก็ยังถือตามค่าทางยาวโฟกัสจริงของเลนส์ซึ่งจะไม่ต่างกันมากอย่างกรณีของกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
ช่างภาพบางคนอาจจะมองเป็นข้อดีอย่างหนึ่งคือ ได้เลนส์ที่เป็นช่วงเทเลมากขึ้น
เช่น ใช้เลนส์ 300 มม. f2.8 ก็จะกลายเป็นเทียบเท่าเลนส์ 450 มม. f2.8 เป็นต้น
ถ้ามองตรงนี้เป็นข้อดีได้ ข้อเสียก็คือช่วงเลนส์มุมกว้างนั่นเอง
ที่จะหาใช้ได้ยาก เช่น ถ้าใช้เลนส์ซูมมุมกว้างช่วง 18 - 36 มม.
ก็จะกลายเป็นเลนส์ซูมเทียบเท่า 27 - 54 มม.
ซึ่งยังไม่กว้างอย่างที่หลายคนต้องการ บางคนอาจจะยอมลงทุนซื้อกล้อง DSLR
ที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพขนาดเท่าฟิล์ม 35 มม. มาใช้เลยก็มี (ขณะที่เขียนนี้ Nikon
กำลังจะวางตลาดเลนส์ซูมมุมกว้าง 12-24 มม. ซึ่งออกแบบสำหรับใช้กับ DSLR
โดยเฉพาะ)
|
Digital Zoom

SLR zoom Lens

2x Optical zoom
VS

2x Digital zoom
|

Color Temperature

white balance

Tungsten Film
|
4. สีสันที่ถ่ายทอด
สีสันของกล้องดิจิตอลมักจะพยายามเน้นไปแนวทางที่ถูกต้องเที่ยงตรง
โดยเฉพาะกล้องรุ่นใหม่ๆ ทำได้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมากทีเดียว (ความเห็นผู้เขียน
คิดว่าคล้ายฟิล์มตระกูล Kodachrome)
มากกว่าจะไปในแนวให้สีสวยสดจัดจ้านอย่างฟิล์มหลายๆ ตัวที่นิยมในท้องตลาด
ดังนั้นบางคนที่ใช้ฟิล์มมาก่อนพอเริ่มใช้กล้องดิจิตอลใหม่ๆ
อาจจะรู้สึกว่าสีมันดูจืดๆ ไม่ค่อยสวยนัก
อย่างไรก็ตามการปรับแต่งสีให้กับรูปภาพดิจิตอลให้สวยสดกว่าที่เห็นไม่ใช่เรื่องยากนัก
อาจจะปรับเลือกในตัวกล้อง หรือจะเลือกทำในคอมพิวเตอร์ภายหลัง ซึ่งใครๆ
ก็สามารถเรียนรู้และทำได้เองไม่ยากเย็นนัก
ยังมีโปรแกรมบางตัวที่ปรับแต่งสีให้เหมือนกับฟิล์มยอดนิยมบางตัวอีกด้วย
นอกจากนี้กล้องดิจิตอลยังมีให้เลือกปรับไวท์บาลานซ์ (white balance นิยมย่อว่า
WB) หรืออาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า ปรับสมดุลสีขาว
ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของกล้องดิจิตอล
ซึ่งเมื่อก่อนจะมีเฉพาะในกล้องวีดีโอเท่านั้น
เพื่อให้ภาพที่ได้มีสีสันที่ถูกต้องใกล้เคียงกับที่ตาเห็นในสภาพแสงต่างๆกัน
เช่น ภายใต้แสงจากหลอดไส้, หลอดฟลูออเรสเซนต์, ไฟแฟลช เป็นต้น พร้อมทั้งมี
manual white balance ให้เราเลือกใช้ในกรณีที่ต้องการความเที่ยงตรงของสีมากขึ้น
ปกติแล้ว ดวงตาเรา สามารถทำ white balance อัตโนมัติ ได้ดีมาก
จนบางครั้งเราไม่ได้สังเกต และแน่นอนว่ากล้องมี Auto White Balance
(เรียกย่อว่า AWB)ให้เลือกใช้เหมือนกัน
ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะปรับเลือกไม่ถูกในช่วงแรก
ในขณะที่ฟิล์มสีแต่ละรุ่น
จะถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพแสงเดียวเท่านั้น เช่น ฟิล์ม Daylight
เหมาะกับแสงแดดปกติ (ช่วงเที่ยงวัน), ฟิล์ม Tungsten เหมาะกับแสงจากหลอดไส้
หากนำไปถ่ายในสภาพแสงอื่น เช่น เมฆมาก, ตอนพระอาทิตย์ขึ้น / ตก หรือ แสงแฟลช
เป็นต้น สมดุลสีที่ได้จะแตกต่างออกไปบ้าง ซึ่งจะแก้ไขได้โดยใช้ฟิลเตอร์แก้สี
หรือจะให้ร้านปรับแก้ให้ตอนอัดรูปก็ได้ซึ่งในบางครั้งอาจจะออกมาไม่ได้อย่างที่เราต้องการ
ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ใช้ฟิลมหลายๆ คน นิยมอัดรูปในระบบดิจิตอลมากขึ้น
ซึ่งจะได้กล่าวถึงในภายหลัง
|
5. น๊อยส์คืออะไร ?
น๊อยส์ หรือ noise
เป็นสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้น มักจะปรากฏเป็นเม็ดๆ ในภาพ อาจจะเป็นสีเดียว
หรือหลายๆ สี ก็มี (แต่หากเป็นแนวริ้วสีแปลกๆ
เกิดเฉพาะบนส่วนที่มีรายละเอียดมาก อย่างลายผ้าถี่ๆ ตรงนี้จะไม่ใช่ noise
แต่เป็น มอ หรือ มอเร Moire จะไม่ขอกล่าวถึงสาเหตุในที่นี้) จะเห็นได้ในรูป
มากบ้าง น้อยบ้าง และอาจจะสังเกตได้ง่ายในส่วนที่เป็นเงามืด ปัจจัยที่ทำให้เกิด
noise มีต่างๆ กัน ทั้งชนิดและขนาดของพิกเซลบนเซ็นเซอร์รับภาพ, ความเร็วชัตเตอร์,
ความไวแสง เป็นต้น จะพอเปรียบเทียบได้กับเกรนของฟิล์ม ดังนั้นจะได้ยินหลายๆ
คนเรียก noise นี้ว่า ดิจิตอลเกรน (digital grain) ก็มี
noise ยิ่งมีน้อยยิ่งดี
ภาพจะดูใสสะอาดมากขึ้น
เหมือนเกรนในฟิล์มยิ่งเล็กก็ยิ่งทำให้ขยายภาพได้ใหญ่มากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบแล้ว noise
ในกล้องดิจิตอลก็ถือว่ายังน้อยกว่าเกรนของฟิล์มค่อนข้างมาก
แม้จะในกล้องดิจิตอลคอมแพ็คก็ตาม แต่ในบางสถานการณ์ noise
จะเพิ่มมากจนถึงระดับแย่มากได้ เช่น เมื่อเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่นาน เช่น
นานกว่า 1-2 วินาที แต่สำหรับกล้อง DSLR บางตัวอาจจะเปิดชัตเตอร์นานเป็นนาทีๆ
โดยไม่มี noise มากวน ก็มีเหมือนกัน ในกล้องมักจะมี noise reduction
(นิยมย่อว่า NR) ให้เลือกใช้เพื่อลดปริมาณ noise ในภาพ หรือ
อาจจะทำงานอัตโนมัติเลือกไม่ได้ ซึ่งก็ให้ผลที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
หรือในกรณีเมื่อปรับความไวแสง (sensitivity หรืออาจจะเรียกว่า ISO)
ไปที่ค่าสูงขึ้น noise ก็จะเพิ่มตามไปด้วย เป็นต้น
หลายคนพอเห็น ISO
ในกล้องดิจิตอลก็อดสงสัยไม่ได้
จะว่าไปนี่ก็เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของกล้องดิจิตอล
ตรงที่ผู้ใช้สามารถเลือกปรับความไวแสงแบบรูปต่อรูปได้ หรือ อาจจะเลือก Auto ISO
ก็ได้ ถ้าเป็นกล้องดิจิตอลคอมแพ็คทั่วไป มักจะอยู่ในช่วง 100 - 400 แต่ถ้าเป็น
DSLR อาจจะมีค่าที่สูงกว่า เช่น 800 หรือ 1600 ให้เลือกใช้ด้วย และที่ ISO สูงๆ
noise จะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ดูคล้ายๆ ฟิล์มที่ ISO มากๆ
ก็มีเกรนใหญ่กว่าฟิล์ม ISO น้อยๆ แต่ในกล้องดิจิตอล ขนาดพิกเซลยังคงเท่าเดิม
เพียงแต่พอปรับ ISO สูงขึ้นแสงเข้าน้อยลง
วงจรอิเล็กทรอนิกส์ในกล้องดิจิตอลจะขยายสัญญาณมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแน่นอน
noise ก็ถูกขยายเพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ดีในกล้องดิจิตอลแต่ละรุ่นจะมี
noise แตกต่างกันไป และกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ มักจะถูกพัฒนาให้มี noise
น้อยลงกว่ากล้องรุ่นเก่าๆ ซึ่งจะเห็นว่าพัฒนาไปได้เร็วมากในช่วงนี้
จะเอาเป็นกฎเกณฑ์แน่นอนสำหรับ noise นั้นยังค่อนข้างลำบากทีเดียว
|

ISO 100

ISO 400
|
6. เห็นภาพทันที
พระเอกของกล้องดิจิตอล
อย่างที่กล่าวไว้ตอนแรกว่ากล้องดิจิตอลจะมีจอแอลซีดี
(LCD) ไว้สำหรับดูภาพ หรือดูเมนูต่างๆ และแสดงค่าที่ปรับตั้งไว้
รวมทั้งแสดงพื้นที่วัดแสง, แสดงกรอบโฟกัส ด้วย
รูปจากกล้องดิจิตอลเป็นไฟล์ข้อมูลดิจิตอล
ดังนั้นจึงสามารถนำมาดูได้ทันทีหลังจากกล้องบันทึกลงสื่อบันทึกข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว
คนส่วนใหญ่จะชอบจุดนี้มากเพราะจะดูได้ทันทีว่ารูปที่ถ่ายไปแล้วเป็นอย่างไร,
ได้อย่างที่ต้องการไหม และจำเป็นต้องถ่ายใหม่หรือไม่
แม้จอ LCD จะค่อนข้างเล็ก
แต่กล้องก็สามารถขยายภาพเพื่อดูเฉพาะส่วนได้
ทำให้เพียงพอที่จะสังเกตได้ว่ามีคนในรูปที่ถ่ายไปแล้วกระพริบตาหรือไม่
สำหรับคนที่เล่นกล้องจริงจัง อาจจะใช้กล้องดิจิตอลคอมแพ็คทำหน้าที่เป็นเหมือนกล้องโพลารอยด์ชั้นดี
คือใช้ลองถ่ายภาพก่อนที่จะใช้ฟิล์มถ่ายจริง
ซึ่งช่วยลดจำนวนภาพที่ต้องถ่ายคร่อมได้ (ISO บนกล้องดิจิตอลอาจจะไม่เท่ากัน
ควรดูผลทดสอบให้ดีก่อนเลือกใช้งาน) แต่อย่างไรก็ตามการใช้จอ LCD
เป็นประจำจะทำให้เปลืองแบตเตอรี่ค่อนข้างมาก
ดังนั้นในสถานการณ์ที่ต้องการประหยัดแบตเตอรี่ จึงควรจะปิดจอ LCD เป็นอันดับแรก
กล้องดิจิตอลจะมีช่อง video out มาให้ พร้อมแถมสายต่อมาด้วย
สามารถนำไปต่อกับโทรทัศน์ ช่อง video เพื่อแสดงผลได้ นับว่ามีประโยชน์ทีเดียว
ในกรณีที่ต้องการแสดงผลให้คนกลุ่มใหญ่
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว จอ LCD ของกล้อง DSLR
นี้จะใช้สำหรับดูรูปหลังจากถ่ายภาพแล้วเท่านั้น (review)
ซึ่งจะต่างกับกล้องดิจิตอลคอมแพ็คตรงที่ใช้ดูก่อนถ่ายได้ด้วย (preview)
เป็นเพราะชนิดของเซ็นเซอร์รับภาพคนละแบบกัน ดังนั้นผู้ผลิตจึงไม่ทำจอ LCD
ที่บิดได้หรือปรับมุมได้ อย่างในกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค ให้กับกล้อง DSLR จอ LCD
แบบปรับมุมได้ มีข้อดีในตอนที่ต้องถ่ายภาพในมุมปกติไม่สะดวก
เช่นที่มุมต่ำหรือสูงกว่าปกติ หรือที่แคบๆ
ซึ่งผู้ใช้สามารถยื่นมือเข้าไปและจัดองค์ประกอบจากการมองจอ LCD ได้
หรือแม้แต่การตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพตัวเอง เพื่อเอาไปทำรูปติดบัตร
หรือใช้งานอื่นๆ ก็ตาม การบิดจอ LCD ให้หันมาด้านเดียวกับเลนส์ได้
ก็ช่วยให้งานง่ายมากขึ้นทีเดียว อย่างไรก็ตามการถือกล้องด้วยสองมือลอยๆ
แล้วมองจอ LCD จะมีความมั่นคงน้อยกว่าแบบมองช่องมองภาพปกติ
ดังนั้นอาจจะทำให้กล้องสั่นไหวขณะถ่ายภาพได้ง่ายกว่า
จึงต้องพึงระมัดระวังในการถือกล้องให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะในกรณีแสงน้อย
|
|
|
7. กล้องทำงานไม่ได้หากไร้ไฟ
แม้ในปัจจุบันกล้องดิจิตอลถูกพัฒนาให้ประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้นแล้ว
แต่ก็ยังถือว่ากล้องดิจิตอลใช้แบตเตอรี่เปลืองกว่ากล้องฟิล์มทั่วไป
เพราะมีวงจรอิเล็กทรอนิคส์มาก และต้องใช้ไฟฟ้าแทบจะทุกขั้นตอนการทำงาน
ขาดไฟก็ไร้ประโยชน์ ในกล้องฟิล์ม SLR
จะมีกล้องประเภทหนึ่งที่ไม่มีแบตเตอรี่ก็ทำงานได้ปกติ (ยกเว้นวัดแสง)
กล้องดิจิตอลจึงนิยมใช้แบตเตอรี่แบบประจุไฟใหม่ได้
หรือนิยมเรียกทับศัพท์ว่าแบบชาร์จไฟได้ (rechargeable battery)
ส่วนมากจะเห็นอยู่ 2 แบบคือ ลิเธียมไอออน (Lithium-ion หรือ Li-ion) และ นิเกิลเมทัลไฮดรายด์
(NiMH) จะประหยัดกว่าแบบชาร์จไฟไม่ได้ (ใช้หมดแล้วทิ้ง)
อย่างไรก็ตามผู้ใช้กล้องดิจิตอลก็มักจะนิยมมีแบตเตอรี่สำรองแบบชาร์จไฟได้อย่างน้อยอีกชุด
ไว้ใช้สลับกันในช่วงที่ชุดแรกไฟหมดและนำไปชาร์จไฟใหม่
และเมื่อต้องเดินทางไปในที่ห่างไกลจากความเจริญ ไม่มีไฟฟ้า
หรือหาที่ชาร์จไฟได้ยาก
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟไม่ได้ ไปหลายๆ ชุดด้วย
ในกรณีที่กล้องสามารถใช้ได้ แต่ถ้ากล้องใช้แบตเตอรี่ขนาด AA ได้
ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเตรียมไปเยอะนัก
ในกรณีที่คิดว่าพอจะหาซื้อจากร้านค้าท้องถิ่นได้ในราคาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
ในสเปคของกล้องดิจิตอลแต่ละรุ่น
มักจะบอกรุ่นและขนาดของแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ด้วย
ส่วนมากจะใช้ได้ทั้งแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ และแบบชาร์จไฟไม่ได้
ดังนั้นควรศึกษาให้ดีก่อนเลือกใช้ และสำหรับแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำในการชาร์จไฟหรือการเก็บระยะยาว
ที่ระบุในคู่มือกล้องและแบตเตอรี่
เพื่อใช้ได้อย่างถูกต้องและมีอายุใช้งานยืนยาว อย่างเช่น แบตเตอรี่ Li-ion และ
NiMH แม้จะไม่มี memory effect อย่าง NiCd (นิแคด หรือ นิเกิลแคดเมียม)
ทำให้สามารถชาร์จไฟใหม่ได้ทันทีโดยไม่มีผลกับความจุของแบตเตอรี่
แต่การที่ชาร์จไฟบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น
จะทำให้จำนวนรอบการชาร์จไฟของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ควร (แบตเตอรี่ NiMH
รุ่นใหม่ๆ เคลมว่าสามารถชาร์จได้ถึง 500-1000 รอบ)
อายุการใช้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ทางที่ดีควรใช้ให้ใกล้หมด
(แต่ก็ไม่ต้องรอให้หมดเกลี้ยงจนกล้องทำงานไม่ได้) แล้วจึงค่อยทำการชาร์จไฟใหม่
จะทำให้ใช้ได้นานมากขึ้น สำหรับแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟไม่ได้ ถ้าเป็นแบบลิเธียม (Lithium)
ก็จะมีหลายรุ่นหลายขนาดให้เลือกใช้ แต่ร้านค้าที่ขายอาจจะหาได้ยาก
แต่ถ้าเป็นขนาด AA อาจจะหาซื้อได้ง่ายกว่า มักจะนิยมใช้แบบอัลคาไลน์ (Alkaline)
นอกไปจากการใช้แบตเตอรี่แล้ว กล้องดิจิตอลยังมีช่องต่อไฟตรง (DC in)
โดยต่อผ่านอแดปเตอร์ได้อีกด้วย แต่อาจจะต้องซื้อเพิ่มเติมทีหลัง
ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ใช้งานอยู่กับที่ และสามารถต่อไฟได้สะดวก
กล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้ออาจจะสามารถใช้แบตเตอรี่ได้หลายชนิดและหลายรุ่นก็จริง
แต่ก็มีบางรุ่นที่อาจจะห้ามใช้หรือไม่แนะนำให้ใช้ด้วย
ดังนั้นควรศึกษาให้ดีก่อนเพื่อจะได้ไม่เป็นผลเสียกับการทำงานของกล้องในภายหลัง
|
8. สื่อบันทึกภาพดิจิตอล
มักจะเรียกว่า เมมโมรี่คาร์ด (memory card)
ใช้บันทึกภาพในรูปแบบไฟล์ข้อมูลดิจิตอล มีหลายรูปแบบให้ชวนปวดขมับ ทั้ง Compact
Flash (นิยมเรียกสั้นๆว่า CF) , Microdrive , Secure Digital (SD), Multi Media
Card (MMC), Smart Media (SM), Memory Stick (MS) , MS pro และ xD
ส่วนมากที่นิยมกันแพร่หลายที่สุด ราคาไม่แพงนักก็คงจะเป็น CF
แต่ละชนิดก็มีขนาดความจุน้อย ถึงมากให้เลือกใช้ เช่น ความจุ 32 MB, 64 MB, 128
MB, 256 MB เป็นต้น และบางชนิดอาจจะมีระดับที่ความจุสูงกว่านี้ให้เลือกด้วย ใน
memory card จะเก็บได้กี่ภาพนั้นก็แล้วแต่ขนาดไฟล์ภาพที่เราบันทึกมา
ซึ่งในข้อมูลสเปคของกล้องมักจะมีตารางข้อมูลให้เทียบด้วย
ควรศึกษาให้ดีก่อนที่จะซื้อ memory card เพิ่มเติม เพราะส่วนมาก memory card
ที่แถมมากับตัวกล้องมักจะมีความจุที่น้อยเกินไป ไม่เพียงพอกับการใช้งาน
เมื่อเปรียบเทียบกับฟิล์มซึ่งทำหน้าที่ทั้งรับภาพและบันทึกในตัว
กล้องดิจิตอลมีอิมเมจเซ็นเซอร์จะทำหน้าที่รับภาพเข้ามา
สุดท้ายภาพที่ได้มาอยู่ในรูปแบบไฟล์ข้อมูลดิจิตอล บันทึกลงสู่ memory card
อีกต่อหนึ่ง ซึ่งแน่นอนล่ะว่าคุณจะลบทิ้งก็ได้ถ้าไม่พอใจ
ช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับบันทึกรูปต่อๆ ไป จะว่าไปแล้ว memory card
มีราคาแพงกว่าฟิล์มมาก อย่างเช่น ปัจจุบัน CF ขนาด 128 MB ราคาเกือบ 2 พันบาท
เท่ากับฟิล์มเกือบยี่สิบม้วน แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งเดียว
เพราะสามารถนำมาใช้ต่อได้ไม่จำกัดครั้ง อายุการใช้งานยาวมากสำหรับการใช้งานปกติ
ถ่ายโอนไฟล์ไปเก็บที่อื่นหรืออัดรูปออกมา แล้วลบของเดิมบน memory card ทิ้ง
เพื่อนำไปใช้ถ่ายใหม่ อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้อดีอีกอย่างของการบันทึกภาพดิจิตอล
คือ จำนวนภาพแปรเปลี่ยนไปตามขนาดไฟล์ภาพที่เราเลือกบันทึก
ต่างกับฟิล์มที่มีจำนวนภาพคงที่ต่อม้วน (สามารถถ่ายน้อยกว่าม้วนได้
แต่มากกว่าไม่ได้)
ในบางรูปที่เราต้องการถ่ายเพื่อใช้งานอย่างอื่นที่ไม่ต้องการนำไปอัด เช่น ขึ้น
web หรือส่ง e-mail ให้เพื่อนดู เราอาจจะเลือกบันทึกในขนาด หรือคุณภาพที่น้อยลง
เพื่อประหยัดพื้นที่ memory card ก็ได้
แม้ memory card จะมีข้อดีอยู่มาก
รวมถึงไม่ต้องกังวลกับการผ่านเครื่องเอกซ์เรย์ตามสนามบินหลายๆครั้ง
ซึ่งจะมีผลกับฟิล์มที่ยังไม่ล้างได้
แต่ก็มีข้อพึงระวังเวลาใช้งานเพราะมีวงจรอิเล็กทรอนิคส์อยู่ภายใน
ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
ทำตามคำแนะนำในการใช้ในคู่มืออย่างเคร่งครัด ในบางครั้งการถอดหรือการเสียบ
เข้าออกจากอุปกรณ์อื่น โดยไม่ระมัดระวัง หรือนำไปใช้กับ card reader
ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้ไฟล์ข้อมูลดิจิตอลสูญหาย หรือแย่กว่านั้นอาจจะทำให้
memory card เสียทั้งอันก็ได้ และควรหลีกเลี่ยงความชื้นและความเปียกแฉะทุกชนิด
(Microdrive เป็นฮาร์ดดิสค์ขนาดจิ๋ว จึงไม่ควรทำตกกระแทกโดยเด็ดขาด)
|
|
|
|
|
9. คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งจำเป็น
อย่างที่ได้กล่าวไป เมื่อเราถ่ายภาพแล้ว
สิ่งที่นิยมใช้เก็บภาพก่อนที่จะนำ memory card ไปใช้ในครั้งต่อไป
ก็คือคอมพิวเตอร์ โดยการต่อสาย USB ที่ให้มาด้วย จากกล้องเข้ากับคอมพิวเตอร์
หรืออาจจะเลือกซื้อ card reader เพิ่มเติม มาเพื่อใช้เสียบกับ memory card
ที่ถอดออกมาจากกล้องก็ได้ นอกจากจะใช้เป็นที่เก็บภาพแล้ว
คอมพิวเตอร์ยังถือว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการจัดการกับภาพ, ลดขนาดภาพ,
ตกแต่งภาพ, เพิ่มลดแสง, ปรับคอนทราสต์, ปรับแก้สี ฯลฯ
ก่อนที่จะนำไปใช้งานอื่นต่อไป
สำหรับผู้ใช้งานดิจิตอลที่จริงจังควรศึกษาวิธีการจัดการหรือตกแต่งภาพดิจิตอลด้วย
ซึ่งเครื่องมือนี้เองที่มีคนเปรียบเทียบว่าเป็นห้องมืดดิจิตอลเลยทีเดียว (digital
darkroom)
เมื่อเราเก็บภาพในคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ
จะทำให้ฮาร์ดดิสค์เต็มได้ เราอาจจะเลือกบันทึกเก็บภาพไว้ในแผ่น CD-R
เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับฮาร์ดดิสค์ ในกรณีนี้ควรเลือกแผ่น CD-R ที่มีคุณภาพดี
และทำสำเนาไว้มากกว่า 1 แผ่น โดยอาจจะแยกเป็นแผ่นใช้งานและแผ่นเก็บอย่างเดียว
เพราะเมื่อเรานำแผ่น CD-R มาใช้งานแล้ว
มีโอกาสที่แผ่นจะเป็นรอยขีดข่วนจนใช้งานไม่ได้ อย่างไรก็ตามแม้ผู้ผลิตแผ่น CD-R
จะอ้างว่าข้อมูลในแผ่นสามารถอยู่ได้หลายสิบหรือเป็นร้อยปีในสภาพการเก็บที่เหมาะสม
เราก็ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป
ควรนำออกมาทำสำเนาใหม่บ้างและเพื่อให้แน่ใจว่าใช้กันได้กับในมาตรฐานของยุคใหม่ๆ
ด้วย
เมื่อซื้อกล้องดิจิตอลมา
นอกจากจะมีโปรแกรมจัดการกับภาพหรือตกแต่งภาพอย่างง่ายแถมมาให้แล้ว
ยังอาจจะมีโปรแกรมอื่นๆ เช่น โปรแกรมต่อรูป Panorama, โปรแกรมทำ Photo Slide
show (ในรูปแบบแผ่นวีซีดี) แถมมาด้วย
ทำให้การใช้งานมีความหลากหลายและคุ้มค่ามากขึ้น หรือแม้แต่ใช้ upgrade firmware
ของตัวกล้องเองเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดหรือเพิ่มเติมลูกเล่นในตัวกล้องได้
ตามแต่ผู้ผลิตกล้องจะออกมาซึ่งมักจะตามข่าวคราวได้ทางอินเทอร์เน็ท (** การ
upgrade firmware ควรทำตามขั้นตอนที่ระบุอย่างเคร่งครัด
มิฉะนั้นอาจจะทำให้กล้องไม่ทำงานได้ในภายหลัง **)
อย่างไรก็ดีคอมพิวเตอร์ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าอย่างหนึ่ง
ดังนั้นก่อนจะทำการเชื่อมต่อกล้องเข้ากับคอมพิวเตอร์ หรือ memory card เข้ากับ
card reader
ควรศึกษาและปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้งานที่ระบุไว้ในคู่มือทั้งการใส่และการถอดอย่างเคร่งครัด
จากที่กล่าวมาคอมพิวเตอร์จึงเหมือนเป็นสิ่งที่จำเป็นทีเดียวในการใช้งานกล้องดิจิตอลได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
และราคาคอมพิวเตอร์ปัจจุบันก็ถือว่าราคาลดลงกว่าแต่ก่อนมากโดยเฉพาะในปี 2546
นี้รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนมีคอมพิวเตอร์ใช้งานกันมากขึ้น
ทำให้มีคอมพิวเตอร์ราคาถูกออกมาในตลาดมากขึ้น
บางชุดราคาจะถูกกว่ากล้องดิจิตอลด้วยซ้ำ
|
10. เวลาตอบสนองที่ต้องพิจารณา
กล้องดิจิตอลโดยเฉพาะกล้องดิจิตอลคอมแพ็คจะมีเวลาการตอบสนองที่ค่อนข้างนานกว่ากล้องฟิล์มปกติ
ตั้งแต่เวลาเปิดกล้องจนถึงเวลาพร้อมทำงาน, เวลาหลังจากที่กดชัตเตอร์จนถึงเวลาที่ชัตเตอร์ทำงานจริง
หรือเวลาที่บันทึกภาพลงสื่อบันทึกข้อมูลเรียบร้อยจนพร้อมที่จะทำงานต่อไป
ส่วนใหญ่ในกล้องฟิล์มทั้งแบบคอมแพ็คและ SLR
มักจะพิจารณากันเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่กดชัตเตอร์จนถึงเวลาที่ชัตเตอร์ทำงานจริง
(นิยมเรียกสั้นๆว่า shutter lag time ) ซึ่งค่อนข้างสั้นมาก ...
ในขณะที่กล้องดิจิตอลคอมแพ็คทั่วไป
จะนานกว่าเล็กน้อย จนอาจรู้สึกได้ว่าช่วงเวลาที่หลังจากที่กดชัตเตอร์กับช่วงของภาพที่ถ่ายได้อาจจะไม่ตรงกันนัก
โดยเฉพาะกรณีวัตถุกำลังเคลื่อนที่
และยิ่งช่วงเวลาตั้งแต่กดปุ่มเปิดกล้องจนถึงกล้องพร้อมทำงานด้วยแล้ว อาจจจะนานถึง
5 - 10 วินาที ก็ได้ ในกล้อง DSLR
โดยทั่วไปจะมีเวลาการทำงานที่ใกล้เคียงกับกล้องฟิล์ม SLR ในระดับเดียวกัน
ยกเว้นแค่มีช่วงเวลาที่บันทึกภาพลงสื่อบันทึกข้อมูลเท่านั้น
(ยี่ห้อและรุ่นของสื่อบันทึกข้อมูลที่ใช้กับกล้องแต่ละรุ่น
ก็มีผลต่อเวลานี้เช่นกัน) ดังนั้นจึงทำให้มีข้อจำกัดตอนถ่ายภาพในโหมดต่อเนื่อง
ทั้งกล้องดิจิตอลคอมแพ็คและ DSLR
จะถ่ายรูปต่อเนื่องได้ แต่ที่ต่างออกไปจากการถ่ายต่อเนื่องของกล้องฟิล์มคือ
นอกจากจะบอกความเร็วในการถ่ายต่อเนื่อง อย่างเช่น 3 ภาพ ต่อ วินาที แล้ว
ยังบอกด้วยว่าถ่ายต่อเนื่องได้จำนวนกี่ภาพที่ความเร็วนั้น เช่น 3 ภาพ ต่อ
วินาที ได้ 10 ภาพ หลังจากนั้นอาจจะต้องรอบันทึกเสร็จ
หรือถ่ายต่อได้แต่ความเร็วลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ขนาดและคุณภาพของภาพ
มีผลกับความเร็วและจำนวนภาพที่ถ่ายต่อเนื่องด้วย
เพราะในกรณีถ่ายต่อเนื่องกล้องจะเอาภาพที่ถ่ายเสร็จเก็บไว้ในเมมโมรี่ในตัวกล้องก่อน
(เรียกว่าบัฟเฟอร์ เมมโมรี่ ขนาดใหญ่ก็เก็บได้หลายรูป)
แล้วจึงค่อยส่งไปบันทึกต่อใน memory card อีกทอดหนึ่ง
ในกรณีของกล้องฟิล์มจะหยุดถ่ายต่อเนื่องก็ต่อเมื่อปล่อยปุ่มชัตเตอร์หรือฟิล์มหมดม้วนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ
พัฒนาได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จะเห็นว่าเวลาการตอบสนอง
และความเร็วและจำนวนภาพในการถ่ายต่อเนื่อง ถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
(ในขณะที่เขียนนี้ Nikon เพิ่งประกาศตัว DSLR รุ่น D2H
ซึ่งสามารถถ่ายตัวเนื่องที่ความเร็ว 8 ภาพต่อวินาที ได้ถึง 40 ภาพ - ไฟล์ Jpeg
ที่ความละเอียด 4 ล้านพิกเซล)
|
|
|
11. อัดรูปดิจิตอลได้ด้วยเหรอ ?
อาจจะมีหลายคนที่เคยหรือยังเข้าใจอยู่ว่าถ่ายรูปดิจิตอลแล้วเอารูปมาอัดเหมือนกล้องฟิล์มไม่ได้
ต้องเอาไปพิมพ์ทางพรินเตอร์สีเองซึ่งต้นทุนค่อนข้างแพง
แต่เมื่อความนิยมในกล้องดิจิตอลมีมากขึ้น
ความแพร่หลายของร้านอัดรูปดิจิตอลก็มากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งใช้เครื่องที่อัดรูปลงกระดาษอัดรูปธรรมดาได้
(ที่ผ่านกระบวนการเคมีเพื่อล้างกระดาษอัดรูป)
แต่อย่างไรก็ยังถือว่าไม่แพร่หลายมากนัก
เพราะในต่างจังหวัดอาจจะหาได้ยากและมีราคาค่าอัดรูปแพงกว่าในกรุงเทพฯ
อยู่พอสมควร ไม่เพียงแค่กล้องดิจิตอลเท่านั้นที่อัดระบบดิจิตอลได้
ผู้ใช้ฟิล์มก็เริ่มนิยมเลือกอัดรูปในระบบดิจิตอลมากขึ้นด้วยเช่นกัน
เพราะสามารถปรับแก้สีให้มีความถูกต้องได้ง่ายกว่าอัดระบบปกติ
และยังมีโปรแกรมช่วยปรับภาพคมขึ้นให้เลือกใช้ด้วย
วิธีอัดก็คือนำฟิล์มไปสแกนให้เป็นไฟล์ภาพดิจิตอลก่อนที่จะอัดก่อนนั่นเอง
หรือช่างภาพอาจจะเลือกสแกนฟิล์มเอง แล้วนำไฟล์ภาพไปปรับแต่งเองตามที่ต้องการ
แล้วจึงนำไฟล์รูปภาพมาอัดภายหลังได้ โดยไม่ต้องให้ช่างอัดรูป
ปรับแต่งหรือแก้ไขรูปใดๆ ให้เราเลยก็ได้ ซึ่งก็ให้ผลงานที่ตรงใจมากขึ้น
(หากร้านอัดนั้นมีระบบจัดการสีที่ดี, calibrate สีกับกระดาษอัด และ
เราทำไฟล์รูปใน color space เดียวกับร้านอัด
และตั้งค่าอุณหภูมิสีของจอมอนิเตอร์อยู่ในช่วงประมาณ 5000 ถึง 6000 K
ก็น่าจะให้ความถูกต้องสีในระดับที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ) ในขณะที่การอัดฟิล์ม
negative สีในระบบปกติ ต้องอาศัยประสบการณ์ในการอัดภาพค่อนข้างสูง
ฟิล์มใหม่และฟิล์มเก่า อาจจะให้จะต้องมีการปรับแก้สีที่ต่างกัน
ทำให้ในการอัดรูปบางครั้งเหมือนเป็นการลุ้นผลงานขั้นตอนสุดท้าย
ซึ่งแม้จะถ่ายมาได้ยอดเยี่ยมแต่อัดออกมาแล้วอาจจะทำให้ต้องตกใจได้เหมือนกัน
อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า memory card
มีโอกาสจะเสียได้ ดังนั้นหากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรนำ memory card
ไปอัดภาพที่ร้านทันที หรือเอาไปเสียบเข้า card reader
ที่ไม่รู้จักหรือยี่ห้อที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ
ทางที่ดีควรจะทำสำเนาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เราก่อน แล้วจึงทำสำเนาลงแผ่น CD-R
หรือ CD-RW แล้วค่อยนำไปใช้ที่ร้านอัดรูป
ถ้าในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้รูปภาพสูญหายตอนนำไปอัด
เราจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง
เกือบจะลืมกล่าวถึงสิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของรูปดิจิตอล
นั่นก็คือการเลือกรูปไปอัด ที่ทำได้ค่อนข้างสะดวกกว่าเดิมมาก
โดยเมื่อถ่ายมาแล้วสามารถเลือกที่จะไม่อัดเลยก็ได้
หรือหากจะเอาไปอัดก็สามารถเลือกรูปบนจอมอนิเตอร์ เห็นชัดเจนและสะดวกกว่า
ในขณะที่ฟิล์มเมื่อล้างแล้วไม่อัดเลย จะดูได้ค่อนข้างลำบาก
ดังนั้นในการอัดครั้งแรกจึงมักจะนิยมอัดรูปทั้งม้วนซึ่งบ่อยครั้งที่มีรูปที่ถ่ายเสียหรือไม่ต้องการมาด้วย
ซึ่งทำให้ช่างภาพส่วนหนึ่งเริ่มนิยมล้างฟิล์มอย่างเดียวแล้วนำมาสแกนเก็บเป็นไฟล์เพื่อใช้งานโดยไม่อัดจากฟิล์มก่อนเลยก็มี
|
12. บันทึกวีดีโอได้ด้วย
ในกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
เกือบทุกตัวจะสามารถบันทึกวีดีโอได้ด้วย โดยทั่วไปจะเป็นขนาด QVGA หรือ 320 x
240 ที่ 15 เฟรมต่อวินาที หรือย่อว่า fps
และบางตัวจะสามารถบันทึกเสียงเข้าไปได้ด้วย
นอกจากนี้บางตัวอาจจะระบุว่าสามารถบันทึกได้โดยไม่จำกัดเวลาต่อหนึ่งไฟล์ ก็คือ
เนื้อที่ใน memory card เท่าไร ก็ถ่ายไปได้จนเนื้อที่หมด เพียงแต่ต้องใช้
memery card รุ่นที่บันทึกได้เร็วหน่อย
แค่นี้ก็ถือว่าให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้ใช้ได้มากทีเดียว เพราะขนาดของ QVGA
ก็ไม่ได้เล็กมากเกินไปสำหรับทำ VCD เก็บไว้ดูเล่น (ขนาดของ VCD ระบบ PAL
ตกประมาณ 352 x 288 ที่ 25 fps) หรือกล้องบางตัว สามารถถ่ายวีดีโอได้ถึงขนาด
VGA หรือ 640 x 480 ที่ 30 fps
ซึ่งเกือบจะใกล้เคียงกับที่ถ่ายจากกล้องวีดีโอดิจิตอลเลยทีเดียว
แต่ถ้าเกิดสงสัยว่าแล้วควรจะซื้อกล้องถ่ายภาพนิ่งดิจิตอลหรือกล้องวีดีโอดิจิตอลดีล่ะ
เพราะเห็นกล้องวีดีโอดิจิตอล ก็ถ่ายภาพนิ่งได้แต่ความละเอียดไม่มาก
ผู้เขียนแนะนำว่า ถ้าเน้นคุณภาพงานอันไหน ก็ซื้ออันนั้นดีกว่า
หรือซื้อแยกกันก็ไดหากเน้นคุณภาพทั้งภาพนิ่งและวีดีโอ
เพราะตอนนี้กล้องที่ทำได้ดีทั้งคู่ยังไม่ค่อยมีในตลาด
ในกล้อง DSLR
ตอนนี้ยังไม่มีลูกเล่นให้บันทึกวีดีโอ เพราะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อจำกัด
เกี่ยวกับเรื่องรูปแบบวงจรของเซ็นเซอร์รับภาพ ที่ต่างไปจากของกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
(เวลาที่ถ่ายภาพไม่สามารถ ส่งข้อมูลออกมาได้ในเวลาเดียวกัน
ทำให้ไม่เร็วพอที่จะถ่ายภาพวีดีโอที่ต่อเนื่องระดับ 15 fps หรือ 30 fps ได้)
และเป็นเหตุผลเดียวกับเรื่องจอ LCD ที่ดูได้เฉพาะหลังจากถ่ายแล้วเท่านั้น
|
|
|
|
|
|
|
13. ความสะดวก, คุณภาพและราคา
ยังไม่ได้ไปด้วยกัน
อย่างที่ได้กล่างถึงคุณภาพในการอัดขยายไปบ้างแล้ว
แต่จริงๆ แล้วภาพจากกล้องดิจิตอลไม่ได้เหมือนกับกล้องฟิล์มไปซะทีเดียว
เพราะในภาพจากกล้องดิจิตอลไม่ได้มีแค่ noise แต่ยังมี moire
ซึ่งมีลักษณะเป็นริ้วสีแปลกๆ เกิดบนส่วนของภาพที่มีรายละเอียดมากของภาพ
ที่ไม่พบเห็นในกล้องฟิล์ม (กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จึงยังจำเป็นต้องใช้ anti-alias
filter เพื่อลดรายละเอียดของภาพจากเลนส์ลงก่อน เป็นการแก้ไข Moire) และ
ความคลาดสี (Chromatic Aberrations) ที่มักจะเห็นเป็นขอบเขียว ขอบม่วง
หรือขอบน้ำเงิน จะเห็นชัดในส่วนรอยต่อที่มีคอนทราสต์มากๆ
และจะสังเกตได้ง่ายโดยเฉพาะในกล้องดิจิตอลคอมแพ็ค
ซึ่งการใช้รูรับแสงที่แคบลงก็ช่วยลดความคลาดสีได้พอสมควร
ในกล้องฟิล์มก็มีปัญหาเรื่องความคลาดสีบ้างแต่จะขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้เท่านั้น
นอกจากนี้อาจจะยังมีสิ่งแปลกๆ ในภาพ เช่น ขอบพิกเซลเป็นเหลี่ยมๆ
เหมือนฟันเลื่อยๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากการตั้งระดับการปรับภาพคม (sharpening level)
ที่สูงเกินไปก็ได้ หรือ เม็ดสีแปลกๆ ที่เกิดจากการแบบบีบอัดภาพในรูปแบบ JPEG
ฯลฯ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้แย่ไปหมดซะทีเดียว ในขณะที่จำนวนพิกเซลของภาพเพิ่มขึ้น
ปัญหาต่างๆ ก็ดูจะเล็กลงและสังเกตได้ยากขึ้นตามไปด้วย
แน่นอนว่าราคาของกล้องที่มีจำนวนพิกเซลสูงๆ ก็สูงตามไปด้วย
และต่อไปปัญหาเหล่านี้อาจจะถูกแก้ไขให้น้อยลงในระดับที่ไม่มีใครสนใจก็เป็นได้
คำถามคาใจที่มักจะเกิดกับคนที่ยังไม่เคยใช้กล้องดิจิตอลมาก่อน
ว่าทำไมในเมื่อคุณภาพกล้องดิจิตอลมันยังไม่เต็มที่
ทำไมไม่รอให้มันดีก่อนแล้วค่อยไปเล่นล่ะ ? จริงๆแล้ว
วัตถุประสงค์ในการถ่ายภาพของแต่ละงานสำหรับแต่ละคน
มิใช่ว่าต้องเน้นคุณภาพสุดยอดเสมอไป
อย่างถ้าเราไปถ่ายรูปงานสังสรรค์ทานข้าวกับเพื่อนเก่าตามปกติ
ก็คงไม่ได้มีใครจะมานั่งเพ่งดูรูปถ่ายถึงขั้นว่าขนตาใครจะมีรายละเอียดดีกว่ากัน
แต่มักจะถามว่าเมื่อไรจะได้ดูรูป ? ขออัดรูปเมื่อไรจะได้ ?
แน่นอนล่ะว่ากล้องดิจิตอลที่มีความสะดวกสูงกว่า
จึงมีความเหมาะสมในลักษณะงานทำนองนี้มากกว่ากล้องฟิล์ม เพราะรูปดูทันทีได้เลย
จะต่อสายจากกล้องเข้าทีวี ให้ดูในงานเลยก็ได้
เพื่อให้เลือกถ่ายใหม่จนกว่าเจ้าตัวจะพอใจ หรืออาจจะส่งรูปขึ้น web
ส่วนตัวให้ดูกันภายในไม่กี่วันได้เลย (แล้วแต่ความขยันของช่างภาพ)
หรืออาจจะทำสำเนารูปขนาดเต็มทั้งหมดลงแผ่น CD-R
แจกเพื่อนทุกคนให้ไปเลือกอัดกันเองก็ยังได้
(แต่คงจะต้องอธิบายวิธีการอัดภาพจากไฟล์ดิจิตอลให้เพื่อนคุณหลายๆ
คนที่ยังไม่เคยอัด)
หลายคนคงพอจะเริ่มเห็นภาพมากขึ้นว่าทำไมบางคนจึงใช้ทั้งกล้องฟิล์มและกล้องดิจิตอลคู่กันไปด้วย
รองรับทั้งงานที่เน้นคุณภาพและงานที่เน้นความสะดวกคล่องตัวเป็นหลัก
นั่นหมายความว่ากล้องดิจิตอลเหมาะกับงานที่ไม่เน้นคุณภาพสูง ? ก็ไม่เสมอไป
เพราะกล้อง DSLR คุณภาพสูงพอจะใช้แทนฟิล์มได้ก็เริ่มมีให้เห็นในตลาดบ้าง
แต่แน่นอนราคาก็ยังสูงเอาการทีเดียว
เมื่อเทียบกับกล้องฟิล์มที่อาจจะสะดวกน้อยกว่า
แต่คุณภาพที่ได้กับราคาเริ่มต้นที่ต้องจ่ายไป
ก็ถือว่ายังคุ้มค่ากว่ากล้องดิจิตอลมาก
อย่างไรก็ตามช่างภาพบางกลุ่มที่งานเน้นความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานภาพ
มากกว่าการขยายใหญ่ๆ และจำเป็นต้องถ่ายภาพจำนวนมากๆ ในแต่ละวัน เช่น
ช่างภาพกีฬา, ช่างภาพข่าว, ช่างภาพนิตยสาร ฯลฯ
ก็เริ่มหันมาเลือกใช้กล้องดิจิตอลในการทำงานมากขึ้น
เพราะสะดวกและสามารถประหยัดเวลาในการทำงาน
รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายของฟิล์มและค่าล้างได้มหาศาล
ซึ่งบางทีราคาค่ากล้องดิจิตอลที่แพงก็สามารถคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียกับกล้องฟิล์มตามปกติภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น
จากตัวอย่างที่ยกมาหวังว่าหลายคนคงจะเข้าใจวัตถุประสงค์ของช่างภาพแต่ละกลุ่มในการเลือกใช้กล้องดิจิตอลมากขึ้น
|

ความคลาดสี (Chromatic Aberrations)

Moire
|
|
14. กล้องตกรุ่นเร็ว สิ่งที่ต้องเตรียมใจไว้ก่อน
บางคนที่ใช้กล้องดิจิตอลอาจจะรู้สึกไม่ดีที่กล้องดิจิตอลเปลี่ยนรุ่นกันเร็วมาก
อาจจะเพราะยังอยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนา
และตลาดก็เริ่มนิยมมากขึ้นและยังตอบสนองกับกล้องที่ออกมาใหม่เป็นอย่างดี
ทำให้บางคนที่รู้สึกกลัวกล้องที่ตนใช้จะตกรุ่น
เลยพยายามแสวงหากล้องรุ่นใหม่มาทดแทนอยู่เสมอ ด้วยวิธีซื้อใหม่ขายตัวเก่า ทั้งๆ
ที่สเปคกล้องอาจจะไม่ได้ต่างกันมากนัก
พอทำไปสักพักอาจจะรู้สึกเหนื่อยและเบื่อเพราะกล้องมันก็ออกมาเรื่อยๆ
ยังไม่มีทีท่าว่าหยุดพัฒนา อย่าง ตอนซื้อกล้อง 5 ล้านพิกเซลก็คิดว่าสุดยอดแล้ว
แต่พอ 8 ล้านพิกเซลจะออกมา ก็คิดจะซื้อใหม่อีก ซึ่งถ้ามองให้ดีแล้ว
ไม่จำเป็นต้องขายต่อก็ได้ ใช้มันไปเรื่อยๆ เหมือนสินค้าไฮเทคตัวหนึ่ง
จนกว่าจะเสียซ่อมไม่ได้หรือซ่อมไม่คุ้ม
หรือคิดว่ามีกล้องรุ่นใหม่สามารถสนองการใช้งานให้ได้มากกว่า
(หรือสนองความอยากได้ ? ต้องสังเกตเอาเอง) จึงค่อยวางแผนที่จะซื้อใหม่
ซึ่งตอนนั้นก็คงมีกล้องรุ่นใหม่กว่าไว้ให้เลือกอีกเช่นกัน
ค่อนข้างจะต่างไปจากกล้องฟิล์มที่แม้จะออกมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ดูล้าสมัย
ด้อยความสามารถ หรือราคาตกมากอย่างกล้องดิจิตอล กล้องเก่าหลายๆ
ตัวอาจจะมีราคาแพงขึ้นเป็นกล้องสะสมก็ได้
ดังนั้นก็ต้องดูตัวเองก่อนที่จะเล่นว่าเป็นคนแบบใด ชอบตามแฟชั่นไหม
รู้สึกไม่สบายใจเวลาคนอื่นมองว่ากล้องเก่าหรือเปล่า
แต่ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเน้นที่การใช้งานมากกว่าความรู้สึกภูมิใจที่ได้มีกล้องรุ่นล่าสุดล่ะก็
ก็น่าจะใช้งานกล้องดิจิตอลได้อย่างมีความสุขทีเดียว
เป็นความจริงที่ว่ากล้องดิจิตอลที่ออกมาใหม่ๆ
มีแนวโน้มที่คุณภาพจะดีกว่า และราคาถูกกว่ากล้องที่ออกมาก่อน (Canon ออก EOS-10D
มาแทน EOS-D60 ภายในเวลาประมาณปีเดียว ปรับปรุงหลายอย่างได้ดีขึ้น
ทำงานเร็วขึ้น แต่ราคาถูกลงเป็นหลักหมื่นบาท)
หากซื้อมาแล้วก็พยายามใช้งานให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไป
หากซื้อมาเก็บไว้เฉยๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้มนัก
แม้ราคากล้องดิจิตอลจะแพงกว่ากล้องฟิล์มอยู่พอสมควร *
แต่ก็มีหลายคนที่ซื้อมาและสามารถใช้จนคุ้มค่าฟิล์มและค่าล้างอัดได้ภายในเวลา
1-2 ปี หรือเร็วกว่าก็ได้
จริงส่วนหนึ่งที่บางคนบอกว่าซื้อกล้องดิจิตอลแล้วประหยัดกว่า
นั่นคือเมื่อถ่ายภาพเยอะขึ้น
ค่าฟิล์มและค่าล้างอัดที่ลดลงไปจะช่วยทดแทนกับราคากล้องที่แพงกว่าได้
แต่ถ้าซื้อมาแล้วไม่ค่อยได้ใช้ ถ่ายภาพค่อนข้างน้อย
กล้องดิจิตอลคงจะไม่ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเท่าไร
กล้องฟิล์มอาจจะดูเหมาะสมกว่าด้วยซ้ำ
* ในขณะที่เขียนนี้ Canon เพิ่งประกาศตัว EOS-300D
หรือ Rebel Digital (ชื่อในอเมริกา) ราคาตั้งเฉพาะตัวกล้อง US$ 900
หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 38000 บาท ซึ่งถือว่าถูกมากในกล้อง DSLR ด้วยกัน
แต่ถ้าเทียบกับกล้องฟิล์มในระดับลูกเล่นพอกัน ก็ยังถือว่าแพงกว่าอยู่พอสมควร
|
บทสรุป
ในช่วง 1-2
ปีที่ผ่านมาที่กล้องดิจิตอลมีความนิยมเพิ่มขึ้น ช่างภาพหลายๆ
คนคงจะเจอคำถามยอดฮิตอย่าง เล่นกล้องดิจิตอลดีไหม ? หรือ
มีงบเท่านี้ซื้อกล้องดิจิตอลตัวไหนดี ? ซึ่งบางคนเคยใช้มาแล้วก็คงตอบได้บ้าง
ส่วนคนที่ไม่เคยใช้หรือไม่รู้จักมาก่อนอาจจะต้องหาข้อมูลอยู่พอสมควรกว่าจะตอบได้
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ข้อมูลมากขึ้นสำหรับทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยใช้กล้องดิจิตอลมาก่อน
และสามารถนำไปพิจารณาเลือกใช้งานให้กับตัวเองหรือคนรอบข้างได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งแน่นอนคำตอบของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
อุปกรณ์ในการถ่ายภาพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย
แต่ไม่ว่าเราจะใช้อะไร ความสุขในการถ่ายภาพคงไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
|