(เอกสารเหล่านี้ สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำไปจัดพิมพ์ เผยแพร่ทาง internet โดยไม่ได้รับความยินยอม)
ระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทย
นพ.อาคม เชียรศิลป์ หัวหน้ากลุ่มงานเคมีบำบัด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ปัจจุบันนี้โรคไม่ติดต่อเป็นปัญหาด้านสุขภาพของประชากรโลก ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ. 2558 โรคไม่ติดต่อจะเป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 50 โรคมะเร็ง จัดเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการตายดังกล่าว และผู้ป่วยโรคมะเร็งมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ไว้ว่าในปี 2563 จะมีประชากรโลกตายด้วยโรคมะเร็งมากกว่า 11,000,000 คน อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 7,000,000 คน
ดังนั้น โรคมะเร็งจึงจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก 1
สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 3 ของประชากรไทย ตามสถิติมีคนตายจากโรคมะเร็งประมาณวันละ 160 คน ปีหนึ่ง ๆ ตรวจพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 64,000 ราย ต่อปี และเสียชีวิตปีละประมาณ 30,000 ราย อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทย ประมาณ 153.6 ต่อประชากรไทย 100,000 คน สำหรับผู้ชาย และประมาณ 123.8 คน ต่อประชากร 100,000 คน สำหรับผู้หญิง ช่วงอายุที่พบเป็นมะเร็งมาก คือ เพศชาย 55 - 75 ปี เพศหญิง 45-65 ปี แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 30 ปี สำหรับเพศชาย และ 25 ปี สำหรับเพศหญิง แต่สำหรับหญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วแนวโน้มของการเป็นโรคมะเร็งอาจมีตั้งแต่อายุน้อยกว่า 25 ปี 2, 3 ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่ประสบความสำเร็จพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของมะเร็งที่พบบ่อยสามารถป้องกันได้ และ 2 ใน 3 ของสาเหตุโรคมะเร็ง มีส่วนสัมพันธ์กับบุหรี่ อาหาร โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย และมลพิษที่ได้จากการประกอบอาชีพ รวมทั้งจากสิ่งแวดล้อม ประมาณ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งที่มีสาเหตุเนื่องมาจากความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในเด็กและกลุ่มโรคมะเร็งบางกลุ่ม (Harvard report)4 นอกจากนี้ยังพบว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่ใช้เวลานานหลายปีก่อนจะแสดงอาการและเป็นโรคเรื้อรัง ที่ไม่ได้เป็นเฉพาะอวัยวะใดแห่งเดียว แต่เกี่ยวข้องถึงระบบต่างๆ ทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้น ขน ผม และเล็บ การรักษาโรคมะเร็งต้องใช้เวลานาน มีผลทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจ บุคลากร รวมทั้งสภาวะด้านจิตใจของผู้ป่วย และญาติผู้เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปโรคมะเร็งเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งกลุ่มนี้อาจมีโรคมะเร็งระยะแรกซ่อนตัวอยู่มาเป็นเวลานานแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ ด้วยความเจริญทางการแพทย์มีมากขึ้น ทำให้ประชากรกลุ่มนี้มีอายุขัยนานขึ้น (life expectency) ดังนั้น อุบัติการโรคมะเร็งใน ผู้สูงอายุจึงเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อชีวิตที่มีความสุข มีคุณภาพที่ดีและปลอดจากการเป็นโรคมะเร็ง จึงขอแนะนำให้ศึกษาหาความรู้และติดตามข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่มีรายงานอยู่ตามสื่อต่าง ๆ และดูแล เอาใจใส่สุขภาพของตนเองเป็นสำคัญโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประชากรไทยจัดอันดับตามอัตราส่วนต่อประชากร 100,000 คน
เปรียบเทียบกับประชากรโลกในวัยเดียวกัน (ASR, World) ได้ดังนี้ 3
เพศชาย |
ASR (World) |
เพศหญิง |
ASR (World) |
1. มะเร็งตับ |
37.4 |
1. มะเร็งปากมดลูก |
20.9 |
2. มะเร็งปอด |
26.5 |
2. มะเร็งเต้านม |
16.30 |
3. มะเร็งลำไส้ใหญ่, และทวารหนัก |
10.4 |
3. มะเร็งตับ |
15.5 |
4. มะเร็งช่องปาก |
5.4 |
4. มะเร็งปอด |
11.1 |
5. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ |
5.2 |
5. มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก |
7.5 |
6. มะเร็งกระเพาะอาหาร |
4.9 |
6. มะเร็งรังไข่ |
4.7 |
7. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (NHL) |
3.7 |
7. มะเร็งช่องปาก |
4.0 |
8. มะเร็งหลอดอาหาร |
3.7 |
8. มะเร็งไทรอยด์ |
3.2 |
9. มะเร็งหลังโพรงจมูก |
3.6 |
9. มะเร็งกระเพาะอาหาร |
3.0 |
10. มะเร็งเม็ดโลหิตขาว |
3.3 |
10. มะเร็งมดลูก (Corpus) |
2.9 |
อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทยในปี พ.ศ.2536 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง ที่พบใหม่ 63,740 ราย
ในเพศชายมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่พบใหม่ 32,801 ราย/ปี โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย 10 อันดับแรก คือมะเร็งตับ 8,189 ราย มะเร็งปอด 5,500 ราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ 2,191 ราย มะเร็งช่องปาก 1,094 ราย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 1,057 ราย มะเร็งกระเพาะอาหาร 1,041 ราย มะเร็งเม็ดเลือดขาว 891 ราย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 881 ราย มะเร็งหลังโพรงจมูก 855 ราย มะเร็งหลอดอาหาร 748 ราย
ในเพศหญิงมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่พบใหม่ 30,940 ราย/ปี โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดใน เพศหญิง 10 อันดับแรก มะเร็งปากมดลูก 5,462 ราย มะเร็งเต้านม 4,223 ราย มะเร็งตับ 3,679 ราย มะเร็งปอด 2,608 ราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1,789 ราย มะเร็งรังไข่ 1,252 ราย มะเร็งช่องปาก 953 ราย มะเร็งต่อมธัยรอยด์ 885 ราย มะเร็งกระเพาะอาหาร 723 ราย มะเร็งคอมดลูก 703 ราย
อุบัติการของโรคมะเร็งในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ขอเสนอข้อมูลโรคมะเร็งของตัวแทนแต่ละภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพมหานคร ในรูปตารางและแผนภูมิ เพื่อให้เห็นภาพเหมือนและแตกต่างของอุบัติการของโรคมะเร็งแต่ละภาค อันจะเป็นประโยชน์ในการจัดทำแผน ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งที่เหมาะสม และนอกจากนี้ในภาพของมหภาพ (macro) ยังได้เสนอข้อมูล โรคมะเร็งของประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ในรูปแบบของแผนที่โลก และแผนภูมิ เกี่ยวกับอุบัติการเกิดและการตายของโรคมะเร็งตับ (ชาย-หญิง) มะเร็งปอด (ชาย-หญิง) มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม (เฉพาะหญิง) เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในประชากรไทย และเป็นกลุ่มโรคมะเร็งที่ คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติเห็นชอบให้ดำเนินการรีบด่วนก่อน ตามแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Control Program – NCCP)
อัตราการเกิดมะเร็งในประเทศไทย (ASR)
อัตราการเกิดมะเร็งในกรุงเทพ (ASR)
จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งในประเทศไทยแยกตามชนิดของโรค
เอกสารอ้างอิง
Karol Sikora. Developing a global strategy for cancer. หนังสือประกอบการประชุมแผนการป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ วันที่ 20 เมษายน 2541 กระทรวงสาธารณสุข
Vatanasapt V., Martin N., Sriplung H, Chindavijak K. et al Cancer in Thailand 1988-1991. IARC
Technical Report No.16 Lyon, 1993
Deerasmee, S., Martin N. et al Cancer in Thailand Vol.II (1992-1994). International Agency For Research On Cancer, World Health Organization, IARC Technical Report No.34, Lyon, 1999.
Cancer Causes & Control, 1996 : 7 (Suppl 1) (Harvard Report on Cancer Prevention)
Strickland, PT. Kensler, TW. Clinical and Physical Agents in Our Environment. Abeloff, MD. Armitage, JO. Lichter, AS. Niederhuber, JE. (eds) Clinical Oncology Churchill Livingston : New York, 1995 : 115-165
Maurie markman, Basic Cancer Medicine, W.B. Saunders Company, 1997: 4-7.
Souhami R. Tobias J. Cancer and its management 1998 : 8
ข้อมูลจากงานนิทรรศการสัปดาห์ต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 22 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2541 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ข่าวจากวิทยุ Voice of America ภาคภาษาไทย ออกอากาศเวลา 6.00 – 6.30 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543.