โคลนนิ่ง คืออะไร
การโคลน หรือ การขยายจำนวนเซลล์หรือ สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ
- การโคลนเป็นเทคนิคที่ใช้ได้โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มียีนพิเศษในตัวเท่านั้น ธรรมชาติมีการผลิตสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันอยู่แล้ว เช่น กรณีแฝดเหมือน หรือ แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ก็คือ การโคลนมนุษย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กล่าวคือ ตัวอ่อนมีการแบ่งตัว ออกเป็นสองชีวิต หรือ มากกว่านั้น ในระดับจุลชีพแล้ว การแบ่งตัวของเซลล์ก็คือ การโคลนนั่นเอง ส่วนสำคัญของพันธุวิศวกรรม ประกอบด้วยการตัดยีนจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ นำมาใส่ในจุลชีพ แล้วขยายจำนวนจุลชีพนี้ให้มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการหมักดอง ซึ่งนักจุลชีววิทยาทำได้ดี มานานแล้ว เพื่อให้สามารถผลิตผลผลิตของยีนใหม่ ที่ใส่เข้าไปนั้นได้จำนวนมากๆ จึงอาจเรียกการทำ เช่นนี้ว่า การโคลนยีน
- มนุษย์ใช้เทคนิคการโคลนในระดับหนึ่งกับพืช มาหลายสิบปีแล้ว นั่นคือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชให้เป็นต้น ที่มีลักษณะเหมือนกัน ส่วนการโคลนสัตว์ทั้งตัวนั้น เริ่มมาหลายสิบปีแล้ว เช่นกัน แต่เพิ่งมาทำสำเร็จกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นที่กำลังเป็นที่ฮือฮากันมากก็คือ จะมีเทคนิคที่โคลนมนุษย์ ได้หรือไม่ และถ้าได้ ควรจะทำหรือไม่ มีข้อขัดข้องทางจริยธรรม และ ศีลธรรมหรือไม่ คำถามนี้คงจะต้องมีการโต้เถียงเพื่อหาคำตอบกันอีกนาน ข้อที่จะต้องพิจารณา ประการหนึ่งคือ มีความเสี่ยงเพียงใดที่จะได้มนุษย์ที่ไม่ปรกติจากการโคลน ตัวอย่างเช่น มนุษย์ดังกล่าว จะมีอายุจริงเท่าไร เท่ากับตั้งแต่เริ่มโคลน หรือ ตั้งแต่กำเนิดของเซลล์ ที่นำมาโคลน นั่นคือ หากนำเซลล์จากมนุษย์ที่มีอายุ 40
ปีมาโคลน เด็กคนนี้จะเริ่มมีชีวิตเมื่ออายุ 40 ปีหรือไม่ หรือ จะเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่เริ่มโคลนเท่านั้น ข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความเสี่ยงในการโคลน เช่น เซลล์ที่นำมาโคลนอาจตาย หรือได้มนุษย์ที่ผิดปรกติ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสี่ยงเหล่านี้ คำถามเหล่านี้ ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ทั้งนี้ยังไม่นับคำถามอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น มนุษย์ที่กำเนิดมาจาก การโคลน จะมีฐานะทางกฎหมายอย่างไร
- ดังนั้นแม้ในทางเทคนิคเราจะสามารถโคลนมนุษย์ได้ ในไม่ช้า แต่ยังมีประเด็นที่จะต้องคิดให้ตกเสียก่อน จึงยังไม่ควรยอมให้มีการโคลนมนุษย์ได้ ในขณะนี้
- แม้จะยังไม่ยอมให้โคลนมนุษย์ได้ทั้งคน แต่ถ้าเป็นอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ ตา ปอด หรือหัวใจล่ะ จะยอมให้มีการโคลนหรือไม่ อวัยวะเหล่านี้เป็นที่ต้องการสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็น ต้องเปลี่ยนอวัยวะ ในปัจจุบันมีผู้บริจาคอวัยวะน้อย แต่ผู้รอรับบริจาคอวัยวะมีมาก เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มีการถกเถียง กันมากขึ้นทุกวัน