ที่กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับการสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น เป็นการสังคายนาครั้งสำคัญๆในพระพุทธศาสนา ซึ่งกระทำกันในประเทศที่พระพุทธศาสนาหยั่งรากมั่นคง คือ ประเทศอินเดีย ศรีลังกา และไทย แท้ที่จริงนั้น การสังคายนาชำระพระไตรปิฎก การจารึกและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทยได้กระทำกันหลายครั้งหลายหน ในหลายรัชกาล ต่อเนื่องกันตามวาระอันเป็นมงคลอย่างไม่ขาดตอน ซึ่งเรียงลำดับให้เห็นได้ดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 : เมื่อพ.ศ.2020 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนาไทย ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ในพระพุทธศาสนาที่กล่าวมาแล้ว ในครั้งนั้น เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ก็โปรดให้สร้างมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก

ครั้งที่ 2 : เมื่อพ.ศ.2331 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 9 ในพระพุทธศาสนาที่ได้กล่าวมาแล้ว ในครั้งนั้นเมื่อทำเสร็จแล้วโปรดให้ปิดทองแท่งทับทั้งปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทอง

ครั้งที่ 3 : เมื่อพ.ศ.2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระองค์ท่านเสวยสิริราชสมบัติครบ 25 ปี นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 10 ในพระพุทธศาสนา ซึ่งได้กล่าวในตอนต้นแล้ว

ครั้งที่ 4 : เมื่อพ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เพราะพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ขึ้นในรัชกาลที่ 5 นั้น ชุดหนึ่งมีเพียง 39 เล่มเท่านั้น มีบางคัมภีร์ที่ยังไม่ได้พิมพ์ และบางคัมภีร์พิมพ์แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้โปรดเกล้าฯให้กราบทูลอาราธนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นประธานในการตรวจสอบทานชำระต้นฉบับที่ขาดหายไปเพิ่มอีก จากที่มีอยู่ 39 เล่ม ให้ครบ 45 เล่ม การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยจนจบบริบูรณ์ และได้ขนานนามพระไตรปิฎกชุดนี้ว่า พระไตรปิฎกสยามรัฐ มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย พิมพ์จำนวน 1,500 ชุด จัดทำตั้งแต่พ.ศ.2468 ถึงพ.ศ.2473 จึงสำเร็จ เมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว ได้พระราชทานในพระราชอาณาจักร 200 ชุด พระราชทานนานาประเทศ 450 ชุด เหลืออีก 850 ชุด พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก

ครั้งที่ 5 : เมื่อพ.ศ.2483 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ต่อกัน ได้มีการตรวจชำระและแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์เป็นครั้งแรก เพราะพระไตรปิฎกฉบับก่อนที่ได้ทรงโปรดให้จัดสร้างขึ้นในรัชกาลก่อนๆนั้น เป็นภาษาขอมบ้าง เป็นภาษาบาลีอักษรไทยบ้าง ทั้งนี้ก็โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม ได้ทรงปรารภว่า ประเทศไทยเราควรจะมีพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทยจนครบถ้วนบริบูรณ์สมกับเมืองพระพุทธศาสนา กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) และรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นชอบด้วย จึงนำความกราบบังคมทูล และได้โปรดให้งานนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน โดยมอบให้กรมธรรมการ (ปัจจุบันคือกรมการศาสนา) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเพื่อเผยแผ่ต่อไป เริ่มดำเนินงานตั้งแต่พ.ศ.2483 ถึงพ.ศ.2500 และได้ขนานนามว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย จัดพิมพ์จำนวน 2,500 ชุด ชุดละ 80 เล่ม จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ครั้งที่ 6 : เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2514 เนื่องในงานอันเป็นมงคลสมัยสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชผู้ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระไตรปิฎกภาษาไทยมาแต่งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนั้น ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาบรรจบครบ 25 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2514 พอดี ทางราชการได้จัดพระราชพิธีรัชดาภิเษกถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ คณะกรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเห็นสมควรทูลเกล้าฯ ถวายการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยครั้งนี้ในปีรัชดาภิเษกนี้ด้วย จึงตกลงเรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ใหม่ว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง พิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พุทธศักราช 2514 โดยจัดพิมพ์ขึ้นจำนวน 2,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม เท่ากับจำนวนฉบับภาษาบาลีที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้

ครั้งที่ 7 : ต่อมา กรมการศาสนาได้ทำโครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงเสนอกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2520 และกรรมการมหาเถรสมาคมได้พิจารณาเห็นชอบและมีมติให้ดำเนินการได้ กรมการศาสนาได้เริ่มดำเนินการจัดพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ.2521 เสร็จสมบูรณ์ต้นปีพ.ศ.2522 และได้จัดพิมพ์จำนวน 2,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม และเรียกชื่อว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เหมือนเดิม

ครั้งที่ 8 : โดยที่กรุงรัตนโกสินทร์ได้ดำรงมั่นคงมาครบ 200 ปี ในปีพ.ศ.2525 ทางคณะสงฆ์เห็นว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา และได้เป็นมรดกตกทอดมาถึงบัดนี้ ก็โดยอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์แห่งพระบรมมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ตลอดมา กรมการศาสนาจึงได้นำเรื่องเสนอกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2524 ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมลงมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการจัดพิมพ์ได้ ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้จัดพิมพ์จำนวน 3,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม

ครั้งที่ 9 : เมื่อพ.ศ.2530 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 11 ในพระพุทธศาสนาที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ครั้งที่ 1 | ครั้งที่ 2 | ครั้งที่ 3 | ครั้งที่ 4 | ครั้งที่ 5 | ครั้งที่ 6 | ครั้งที่ 7 | ครั้งที่ 8 | ครั้งที่ 9 | ครั้งที่ 10 | ครั้งที่ 11

การสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศไทย