เทคนิคและวิธีการ Flash BIOS

การดำเนินการต่อไปนี้อาจทำให้คอมพิวเตอร์เกิดปัญหาจนกระทั่งไม่สามารถบูตได้ (เมนบอร์ดเสีย) ก่อนดำเนินการ Flash BIOS ควรศึกษาขั้นตอนต่อไปนี้ให้เข้าใจก่อน
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรแกรมFlash BIOS ที่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับเมนบอร์ดรุ่นที่ใช้งานอยู่ หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาผู้ขายหรืออ่านจากคู่มือ การอัพเดทด้วยเวอร์ชันของBIOS ที่ออกแบบมาสำหรับเมนบอร์ดยี่ห้ออื่น หรือรุ่นอื่นอาจเกิดปัญหาจนกระทั่งบูตคอมพิวเตอร์ไม่ได้

หลักการของ BIOS และ CMOS

Basic Input / Output System หรือที่เรียกง่ายๆว่า ไบออส (BIOS) ชิ้นส่วนสำคัญภายในคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่จดจำค่าของฮาร์ดแวร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ด้านอุปกรณ์ Input Output System อุปกรณ์ดังกล่าวถูกควบคุมโดยโปรแกรมที่ฝังไว้ในส่วนของ CMOS หรือ ROM (Read Only Memory) ปัจจุบันไบออสทั้งหมดในคอมพิวเตอร์เป็นไบออสประเภท ที่ยอมให้อัพเกรดโปรแกรมใหม่ได้ (Flash BIOS ) ทำให้อัพเกรดโปรแกรมในไบออส ให้มีความทันสมัยขึ้นได้ (เรียกว่าอัพเกรดเฟิร์มแวร์)

เหตุที่ต้องมีการ Flash BIOS

เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ซีพียูรุ่นใหม่ถูกพัฒนาขึ้น มีการคิดค้นอุปกรณ์ต่อพ่วงชนิดใหม่ๆ รวมถึงมีการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว เหล่านี้เป็นเหตุให้ต้องอัพเดทโปรแกรมในไบออส เนื่องจากแรกทีเดียวที่ไบออสถูกสร้างมาพร้อมคอมพิวเตอร์หรือเมนบอร์ดนั้นเป็นโปรแกรมรุ่นเก่า หากไม่ได้อัพเดทอาจไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์ใหม่ๆ ได้ หรือใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ตัวอย่างผลประโยชน์ที่ได้จากการ Flash BIOS

1. เพื่อให้คอมพิวเตอร์บูตจาก SCSI , Zip Drive หรือ Network Drive ได้
2. เพื่อให้คอมพิวเตอร์รู้จักไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ๆ เช่น Pentium MMX , K6 , Cyrix 6x86M2
3. เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และฝ่ายผลิตทราบทีหลัง เช่นไม่สามารถฟอร์แมตไดรว์ 5.25 นิ้วได้
4. เพื่อให้รู้จักอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่น ไดรฟ์ซีดีรอม , การ์ดเสียง
5. เพื่อให้เข้ากันได้กับหน่วยความจำ ECC, FPM, EDO

การเตรียมตัวก่อน Flash BIOS

1. ตรวจสอบและจดบันทึกค่าต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน BIOS เดิมก่อน โดยการจดไว้บนกระดาษ จดเฉพาะค่าที่สำคัญๆก็พอ เช่น ฮาร์ดดิสก์ ประเภทของพอร์ตขนาน
2. ตรวจสอบวันที่ของ BIOS เดิมว่าถูกเขียนครั้งสุดท้ายวันที่เท่าไร เพราะเป็นไปได้ที่โปรแกรมที่จะอัพเดทใหม่อาจเป็นโปรแกรมที่เก่ากว่า หรือถ้าจะให้แน่นอนกว่า ให้ตรวจสอบเวอร์ชันของไบออส (เฟิร์มแวร์) ถ้าหากผู้ผลิตพัฒนาเป็นเวอร์ชัน
3. ตรวจสอบให้แน่ใจว่า BIOS Flash Program Code ที่ได้มาถูกออกแบบสำหรับเมนบอร์ดรุ่นที่ใช้งานอยู่ หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาผู้ขายหรืออ่านจากคู่มือเมนบอร์ด หากมีการ Flash ด้วยเวอร์ชันของโปรแกรมที่ถูกออกแบบสำหรับเมนบอร์ดยี่ห้ออื่นอาจเกิดปัญหา ทำให้ไม่สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้
4. จัดหาหรือเตรียมยูทิลิตี้และข้อมูลสำหรับ Flash BIOS ด้วยเวอร์ชันใหม่ เช่น กรณีของ Awards BIOS มียูทีลิตี้ชื่อ awdflash.exe และไฟล์ข้อมูลสำหรับ BIOS เป็นไฟล์นามสกุล .BIN (Binary File) ไฟล์ทั้งสองควรอยู่ในแผ่นดิสก์เก็ตเนื่องจากปกติไม่สามารถ Flash BIOS จากฮาร์ดดิสก์ หรือ CD-ROM ได้
5. จากข้อ 4 ให้ตรวจสอบก่อนว่าไฟล์โปรแกรมสำหรับ Flash BIOS ในข้อ 4 นั้นออกมาเพื่ออัพเดทอะไร และต้องการอัพเดทจริงๆ หรือไม่ หากไม่ต้องการก็ไม่ควรอัพเดท
| ขั้นตอนการ Flash BIOS | การแก้ไขเมื่อ Flash BIOS ล้มเหลว | ผลกระทบเมื่อ Flash BIOS ผิดตัว |