เรื่องหนังสือจากงานประกวดพระที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่1 ธันวาคม พ.ศ.2545

งานนี้เป็นงานครั้งแรกที่ผมได้นำพระเข้าประกวดด้วยตัวเอง ก็เนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเริ่มหันมาสนใจอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยการค้นคว้าศึกษา แม้ก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาบ้าง แต่ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ จริงๆแล้วมีโอกาสได้คลุกคลีมาเป็นเวลานับ 10 ปีก่อนหน้านี้ เพราะการสะสมของโบราณมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่ผมเริ่มศึกษาโบราณวัตถุหลายๆ ยุคสมัย ตั้งแต่เปิดแสดงของสะสมโบราณทางเว็บไซต์นี่แหละครับ ถ้าไม่ศึกษาผมจะไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า ของแต่ละชิ้นมีที่มาอย่างไร ศิลปะแต่ละสมัยเป็นอย่างไร มีความสวยงามและจุดที่แสดงถึงความมีลักษณะเฉพาะของศิลปะแต่ละยุคแต่ละสมัยเป็นอย่างไร เขียนนอกเรื่องไปย่อหน้าหนึ่ง วกมาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ


จากงานประกวดผมได้หนังสือมาเล่มนึง ชื่อ "การสร้างพระพุทธรูปล้านช้าง" จริงๆแล้วได้พบเห็นหนังสือเล่มนี้มานานแล้วครับ เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เกือบจะซื้อแล้วเหมือนกัน แต่ติดที่ราคาแพงไปหน่อย พอได้มาพบเห็นที่เป็นภาษาไทยแล้ว ราคาถูกกว่ากันเกือบครึ่งหนึ่ง แถมแปลมาให้ด้วย จึงไม่ลังเลตัดสินใจซื้อได้แบบทันทีทันใดครับ

มาพูดถึงหนังสือเล่มนี้ ตามความเห็นส่วนตัวครับ เป็นหนังสือที่ดีมาก ภาพพระพุทธรูป 455 ภาพ มีคำบรรยายด้วย แค่นี้ถือว่าคุ้มแล้วครับ แต่ที่เป็นของแถมให้ดูคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น คือการเขียนถึงพระพุทธรูปในหลายยุคสมัย และศิลปะของประเทศใกล้เคียงด้วย ยิ่งทำให้ผมไม่รู้สึกเสียดายเงินเลยครับ หนังสือลักษณะนี้ถือเป็นสากล โอกาสที่คุณจะเห็นพระพุทธรูปที่อายุไม่ถึงยุคสมัยนั้น แทบไม่มีเลย เป็นการเขียนตำราที่ทำให้ผู้ที่เริ่มสะสมใหม่ได้เรียนรู้อย่างถูกต้อง
เนื่องจากช่วงหลังๆ ที่พบเห็นหนังสือหลายๆ เล่มที่ทำออกมาเป็นตำรา หรือสมุดภาพพระพุทธรูป มักนำเอาพระพุทธรูปบางองค์มาแสดง ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าของหนังสือเองหรือไม่ก็ตาม พระองค์นั้นๆ อายุไม่ถึงยุคสมัยบ้าง ศิลปะผิดยุคสมัยไปบ้าง ทำให้ผู้ที่ซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ เข้าใจตามๆ กันแบบผิดๆ

ขอให้ความเห็นอีกครับว่า การที่จะแสดงภาพพระพุทธรูปในหนังสือ ที่หลายๆ คนตั้งใจจะให้เป็นตำรา น่าจะมีการอธิบายถึง รายละเอียดคร่าวๆ พุทธลักษณะของศิลปะนั้นๆ เพื่อความเข้าใจที่ถี่ถ้วนขึ้น ไม่ใช่นำพระพุทธรูปมาแสดงแล้วบอกว่าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน แต่ไม่ได้มีการอธิบายเลยว่าเชียงแสนเป็นอย่างไร ศิลปะแบบไหนจึงทำให้คุณบอกว่าเป็นเชียงแสน ทำไมไม่ใช่สุโขทัย หรืออู่ทอง
ส่วนรายละเอียดของหนังสือพระพุทธรูปล้านช้าง ผมจะได้ศึกษา และนำเอาใจความสำคัญมาให้ ท่านผู้อ่านได้ศึกษาหาความรู้ในโอกาสต่อไปครับ

ณัฐพล โอจรัสพร
www.thaiantiquer.com