พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 18 - 23

 

การสร้างพระพุทธรูปล้านช้างช่วงแรกนี้ กำเนิดในรัชสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้ม รับอิทธิพลบางส่วนมาจากศิลปะเขมร แบบบายน สามารถแบ่งย่อยได้ 3 ช่วงย่อย ๆ ดังนี้

  • พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงแรก
  • พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงกลาง
  • พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงปลาย

1. พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงแรก ( กลางพุทธศตวรรษที่ 18 - กลางพุทธศตวรรษที่ 19)

เริ่มรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม จนกระทั่งรัชสมัยพระนางมหาเทวี โดยมีต้นแบบจากพระพุทธรูปเขมร แบบบายน หรือที่ชาวลาวเรียก พระบาง นั่นเอง และมีการผสมผสานกับศิลปะของไทย เช่น เชียงแสน สุโขทัย เป็นต้น ลักษณะของพระพุทธรูปในช่วงนี้ มีลักษณะคล้ายภาพสามมิติ กล่าวคือ เหมือนการแหงนมองพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ ฝ่าเท้าที่วางทับกันจะมีลักษณะเปิดในแนวเอียงฝ่าเท้าออกมาด้านนอก
โดยพุทธลักษณะเด่นๆ ของพระพุทธรูปในช่วงแรกนี้ ประกอบด้วย

 

พระพุทธรูปล้านช้างในตอนต้น ยุคแรก ลักษณะการนั่งจะนั่งลึกมาก สังเกตุดูจากลักษณะการนั่ง แต่ลักษณะพุทธศิลปะอื่นๆ ได้มีการผสมผสานกับศิลปะล้านนาด้วย (ภาพพระพุทธรูปจาก หนังสือล้านช้าง ประวัติศาสตร์ และการสร้างพระพุทธรูป)

 

พุทธลักษณะ

ลักษณะการนั่ง

ประทับนั่งลึก

พระเพลา(ตัก)

มีขนาดใหญ่

พระชานุ (เข่า)

มีขนาดใหญ่

พระหัตถ์

มีขนาดใหญ่

พระวรกาย

สูงชลูด

พระอุระ(อก)

แบนแฟบ

พระเศียร(ศีรษะ)

เรียวเล็ก

 

2. พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงกลาง ( กลางพุทธศตวรรษที่ 19 - กลางพุทธศตวรรษที่ 20)

รัชสมัยของพระไชยจักรพรรดิ์ ถึงสมัยพระเจ้าวิชุลราช เป็นช่วงที่นับได้ว่ามีความรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนาอย่างมาก เนื่องจากมีการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 8 ที่นครเชียงใหม่ แต่การแสดงลักษณะของพระพุทธรูปแบบชนชาติลาวยังไม่ชัดเจนมากนัก
โดยพุทธลักษณะเด่นๆ ของพระพุทธรูปในช่วงแรกนี้ ประกอบด้วย

 

พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้น ช่วงกลาง แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นล้านช้างที่ค่อนข้างชัดเจน โดยสังเกตุจากฐานพระพุทธรูป (ภาพพระพุทธรูปจาก หนังสือล้านช้าง ประวัติศาสตร์ และการสร้างพระพุทธรูป)

 

 

 

พุทธลักษณะ

พระเพลา(ตัก)

กว้าง

เส้นสังฆาฏิ

ยาวจรดพระนาภี(หน้าท้อง)

พระอุระ(อก)

แบน

พระกรรณ(หู)

มีเอกลักษณ์ชัดเจน เบ้าพระกรรณขนาดใหญ่ ติ่งพระกรรณขนาดเล็ก ยอดพระกรรณโค้งตามแบบศิลปะเขมรยุคปลาย

พระเศียร

มีขนาดเล็กรับกับพระอังสา(บ่า)


3. พระพุทธรูปล้านช้างตอนต้นช่วงปลาย ( กลางพุทธศตวรรษที่ 20 - ปลายพุทธศตวรรษที่ 22)

รัชสมัยพระเจ้าโพธิสาร ถึงรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ช่วงนี้จัดให้เป็นยุคทองของการสร้างพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง เนื่องจากแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ พระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นมามีการผสมผสานกับอิทธิพลจากศิลปะอื่นๆ ได้อย่างลงตัว การสร้างมีความปราณีตงดงาม และมีเอกลักษณ์
โดยพุทธลักษณะเด่นๆ ของพระพุทธรูปในช่วงแรกนี้ ประกอบด้วย

 

พระพุทธรูปปางสดุ้งมารขนาดใหญ่ ศิลปะตามแบบล้านช้างช่วงต้นยุคปลาย สนิมสีเขียวอมฟ้า เป็นองค์หนึ่งในหลายๆ องค์ ซึ่งตั้งอยู่รอบหอพระแก้ว นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ภาพพระพุทธรูปจาก หนังสือล้านช้าง ประวัติศาสตร์ และการสร้างพระพุทธรูป)

 

 

 
พุทธลักษณะ

พระเพลา

กว้าง

พระอุระ(อก)

นูนล่ำสัน รับอิทธิพลจากศิลปะสุโทัย

พระกรรณ(หู)

มีเบ้าพระกรรณขนาดใหญ่ ติ่งพระกรรณห้อยยาวโค้งออกจากลำคอ

พระเศียร

ส่วนมากมีลักษณะใหญ่ รับกับพระอังสาที่กว้างขึ้น

พระรัศมี

มีหลากหลายแบบ โดยมาเป็นรูปเปลวแท่งตรง ยอดของพระรัศมีอาจประดับด้วยอัญมณี

 

 

จากบทความดังกล่าวสามารถแบ่งได้เบื้องต้นถึงพระพุทธรูปลาวในยุคต้น ส่วนลักษณะของพระพุทธรูปลาวยุคปลาย จะได้เพิ่มเติมในภายหลัง ตามพุทธลักษณะของพระพุทธรูปลาวยุคต้นนี้ ได้แบ่งตามพุทธลักษณะ และยุคสมัย โดยคร่าว ๆ เท่านั้น รายละเอียดเพิ่มเติม ให้ศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือ " ประวัติพระพุทธรูปล้านช้าง"

 

ณัฐพล โอจรัสพร
www.thaiantiquer.com
เอกสารอ้างอิง: สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์, "หนังสือประวัติศาสตร์การสร้างพระพุทธรูปล้านช้าง", 2543.