พระพุทธรูปเชียงแสนสามารถแบ่งได้คร่าว
ๆ เป็น 2 ยุคด้วยกัน
1. ยุคต้น: พระพุทธรูปเชียงแสนในยุคนี้มีพุทธลักษณะที่สำคัญได้แก่
มีพระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลมสั้นและค่อนข้างพอง พระโอษฐ์เล็ก พระอุระนูน
พระรัศมี (เกศ) เป็นรูปบัวตูม ชายจีวรและสังฆาฏิสั้น อยู่เหนือพระถันด้านซ้าย
พระพุทธรูปในยุคแรกนี้ล้วนนั่งแบบปางมารวิชัย พร้อมกับขัดสมาธิเพชรทั้งสิ้น
ดูมีสง่า นุ่มนวล มิดูเบาลอยดังเช่นพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงศตวรรษที่
17 - 19
พระพุทธรูปในยุคต้น โอกาสที่จะพบเห็นพระพุทธรูปสิงห์สามให้เห็นบ้างประปราย
แต่ศิลปะขององค์พระพุทธรูปสูงกว่า
ฐานพระมีทั้งชนิดฐานเขียง ทำเรียบปราศจากลวดลาย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีความเก่าแก่มากที่สุด
และฐานบัว ซึ่งมีทั้งบัว 2 ชั้น ประกอบด้วยบัวหงาย บัวคว่ำ และฐานบัว 1
ชั้น
จากการสังเกตุบัวที่ใต้ฐานพระ ในยุคที่เก่าแก่กว่านั้น
มักเป็นบัวที่เรียกว่าบัวขีด ซึ่งการหล่อองค์พระอาจทำเป็นฐานเรียบ และได้นำเอาพระที่หล่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว
มาทำการตกแต่งเพิ่มที่ฐานองค์พระต่อไป ส่วนในยุคหลัง ๆ มักจะมีการหล่อพระพุทธรูปพร้อมทั้งหล่อบัวใต้ฐานประกอบด้วย
ไม่ว่าจะเป็นบัวชั้นเดียว หรือบัวสองชั้น
2. ยุคหลัง: เรียกอีกอย่างว่า เชียงแสน - เชียงใหม่ ส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า
สิงห์สาม เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงที่นครพิงค์เชียงใหม่เป็นราชธานี
สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 - 21 พระพักตร์ยาวรีมากขึ้น พระวรกายดูปราดเปรียวกว่า
ไม่อวบอ้วนเหมือนยุคแรก พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง การนั่งนิยมนั่งขัดสมาธิราบทั้งสิ้น
ชายสังฆาฏิยาวหย่อนลงมาจนถึงพระนาภี
พระพุทธรูปเชียงแสนในยุคหลังนี้ ได้แผ่อิทธิพลไปยังประเทศลาว
คือบริเวณเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ จนถึงจำปาศักดิ์ โดยฝีมือของช่างบริวณอาณาจักล้านช้าง
หรือประเทศลาวนี้ มีความแข็งกระด้าง และองค์พระบางองค์มีฝีมือในการปั้นแบบสู้ช่างล้านนาไม่ได้