พระคงลำพูน

 

พระคงถูกขุดพบที่วัดพระคง ส่วนวัดอื่น ๆ ในจังหวัดลำพูนได้มีการขุดพบพระลำพูนสกุลอื่น ๆ พร้อมกับการพบพระคงประกอบอยู่ในกรุด้วยเสมอ ซึ่งแทบจะขุดพบในวัดต่าง ๆ ทุกวัดในจังหวัดลำพูน พร้อมในเชียงใหม่

จากการสันนิษฐานพระคง ลำพูน น่าจะมีการสร้างในยุคที่ใกล้เคียงกับพระรอดกรุวัดมหาวัน แต่จำนวนพระคงมีมากกว่าพระรอดจึงทำให้ความนิยมในพระคงมีน้อยกว่าพระรอด ซึ่งในปัจจุบันราคาเช่าหาพระคง
ก็ไม่ได้เป็นรองพระสกุลลำพูนอื่น ๆ จะเป็นรองก็เพียงแต่พระรอดเท่านั้น พระคงที่มีหน้ามีตา ฟอร์มสมบูรณ์ คมชัดลึกทุกอย่าง
หายาก ราคาเช่าหาก็จะสูงตามไปด้วย ไม่ได้เป็นรองพระสกุลลำพูนอื่น ๆ เลย

การดูพระคงแท้สามารถดูได้เบื้องต้นจากพิมพ์พระคง โดยดูจากรายละเอียดของลำตัว ลำแขนโดยเฉพาะแขนซ้ายจะทิ้งดิ่งลงมาแล้วหักศอกเป็นมุม ทำให้มือซ้ายวางพาดตักเป็นแนวขนาน โดยจะต่างไปจากพระบาง ซึ่งจะทำมุมบริเวณศอก แต่ไม่ได้เป็นมุมฉาก เม็ดบัวใต้ฐานจะมีลักษณะคล้าย ๆ กับวงรีวางในลักษณะแนวนอน ไม่เป็นเหลี่ยม อีกทั้งซอกระหว่างบังเม็ดที่ 5 และ 6 จะปรากฎเนื้อเกินที่เป็นลักษณะขีดแบบพริ้วระหว่างเม็ดบัวชุดบน และล่าง เรียกว่าเส้นตัวหนอน "ซึ่งขอย้ำว่าต้องเป็นเส้นที่หยุกหยิก ไม่เป็นเส้นตรง" ในบางองค์ซึ่งมีการทำเลียนแบบเส้นนี้จะมีลักษณะตรง แต่เนื่องจากเส้นตัวหนอนนี้มักจะไม่ปรากฎ เนื่องจากไม่ติดในพิมพ์จึงต้องมีการดูจากส่วนอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่นเนื้อพระ ผนังโพธิ์ไม่เรียบร้อยจนเกินไป มีความเป็นธรรมชาติ ใบโพธิ์ไม่กระด้างมีความพริ้ว การดูพระแท้ไม่สามรถที่จะดูในจุดใดเพียงจุดเดียว แล้วจะสามารถฟันธงได้ว่าองค์นี้แท้หรือไม่ จะต้องมีการดูส่วนประกอบหลาย ๆ อย่าง โดยขอเน้นว่าบางองค์ที่ผ่านการใช้มานาน นั้นจะไม่สามารถดูตำหนิบางจุดได้ จึงต้องอาศัยดูจากเนื้อพระทั้งพระแท้ และไม่แท้ เปรียบเทียบกัน (ควรหาพระไม่แท้มาเปรียบเทียบด้วย อาจจะหาเช่าองค์ที่มีความใกล้เคียงในราคาไม่แพง เพื่อมาใช้ประกอบในการเปรียบเทียบด้วย) ทั้งความเป็นธรรมชาติในหลาย ๆ จุด "เน้นว่าความเป็นธรรมชาตินั้นมีความแตกต่างจากความตั้งใจทำตำหนิมาก" ต้องสังเกตุให้ถี่ถ้วนด้วย

พระคงลำพูนประกอบด้วยสีหลัก ๆ ทั้งหมด 6 สี คือ

1. สีขาว

2. สีพิกุล

3. สีเขียวคราบเหลือง

4. สีเขียวคราบแดง

5. สีเขียวหินครก

6. สีดำ (หายากมาก)

ซึ่งสีพระคงที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการนำพระไปสุม ซึ่งพระแต่ละองค์แต่ละสีจะถูกความร้อนเผาในอุณหภูมิที่แตกต่างกันไป
ทำให้สีที่ได้แตกต่างกัน โดยสีที่ใกล้เคียงกับสีเขียวนั้น พระคงจะมีลักษณะแกร่ง ขนาดอาจจะเล็กไปกว่าสีขาวและสีพิกุล(สีเหลือง)
ที่โดนความร้อนเผาน้อยกว่า เนื่องจากพระคงสีเขียวมีการหดตัวมากกว่า

พระคงลำพูนประกอบด้วยพระกรุเก่า และกรุใหม่ โดยทั่วไปแล้วจะเห็นพระคงบางองค์ผ่านการใช้ มีผิวมันทั้งที่องค์พระและผนังโพธิ์

พระคงบางองค์เป็นกรุเก่า ซึ่งบางกรณีเพิ่งจะมีการขุดพบเมื่อไม่นานมานี้ หรือที่เรียกว่าเก่าฝากกรุนั้น พบเห็นได้มากจากพระคงที่มีการลงรักปิดทอง ซึ่งอาจจะเคยถูกขุดพบมานานแล้ว แต่เนื่องจากพอนำพระมาใช้แล้ว ทำให้มีเหตุผลบางประการที่จะนำไปฝังไว้ตามเดิม พระคงกลุ่มที่ลงรักปิดทองนี้เป็นกลุ่มที่หาพระสวยยากพอสมควร เนื่องจากพระคงในลักษณะนี้ส่วนมากเป็นพระที่ผ่านการใช้มามาก แล้วจึงนำไปปิดทองซ้ำ

จากตัวอย่างที่ได้แสดงนี้ เป็นพระคงกรุเก่าทั้งสององค์องค์ที่อยู่ด้านซ้าย เดิมพระเป็นสีพิกุล แต่เนื่องจากการใช้ ทำให้สีพิกุลเดิมกลายเป็นสีน้ำตาลในที่สุด
บริเวณผิวที่องค์พระ และผนังโพธิ์มีความหนึกนุ่ม

ส่วนองค์ที่อยู่ด้านขวาเป็นพระคงกรุเก่าเช่นกัน จริง ๆ แล้วฟอร์มของพระคงทั้งสององค์เป็นฟอร์มใหญ่ เพียงแต่องค์นี้โพธิ์บางส่วนมีลักษณะบิดเบี้ยว และเนื้อพระผ่านการใช้มามากกว่าทำให้พระสึกมากกว่า สังเกตุได้จากบริเวณลำแขนด้านขวาขององค์พระ และบัวใต้ฐานพระจะสึกมากผิวทั้งด้านหน้า และด้านหลังมีความหนึกนุ่มซึ่งเรียกได้ว่าผ่านการใช้มามากพอสมควร

Home