"พิมาย..แหล่งอารยธรรมที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง"
เมืองพิมายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง ทางด้านศิลปวัฒนธรรมบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล
ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานตอนล่างทั้งหมด ชุมชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้มีมานานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
และเริ่มมีการรับเอาอารยธรรมจากท้องถิ่นต่างๆ ผสมผสานกันเรื่อยมา
ตลอดจนเผยแพร่อารยธรรมพิมายนี้ไปยังดินแดนต่างๆ ดังจะเห็นได้จาก
1. หลักฐานจากประมาณพุทธศตวรรษที่
8 ที่ได้ค้นพบการแพร่กระจายของภาชนะดินเผาแบบ"พิมายดำ"
ตามดินแดนต่างๆ ซึ่งแสดงว่าได้มีการติดต่อระหว่างชุมชมในดินแดนนี้กับดินแดนอื่นๆ
2. ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ได้มีการติดต่อรับอารยธรรมมาจากอินเดีย
โดยรับเอาพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามา ดังจะเห็นได้จากร่องรอยของศาสนสถาน
เทวรูปพระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูป ในหลายๆท้องที่
3. พุทธศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงเวลาที่รับเอาวัฒนธรรมขอม
และได้พัฒนาเมืองพิมายเป็นศูนย์กลางการปกครอง และคมนาคมขึ้นในภูมิภาคนี้
ดังจะเห็นได้จากการสร้างเมืองเป็นแบบขอมที่มีปราสาทหินพิมาย
เป็นพุทธสถานที่สำคัญกลางใจเมือง และได้มีการต่อเติมจนกลายเป็นปราสาทขอมที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน
4.สืบเนื่องต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ก็มีปรากฏในพงศาวดารและเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ
และในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมืองพิมายนี้ก็เป็นที่มั่นของกรมหมื่นเทพพิพิธ
ที่ใช้ในการรวบรวมผู้คน เพื่อกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า
จนกระทั่งถูกปราบปรามในสมัยกรุงธนบุรี
5. เมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงเป็นแหล่งผสมผสานอารยธรรมจากหลายชนชาติ
และเป็นแหล่งอาศัยของพลเมือง ที่มีมาแต่เดิมและอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
มีทั้ง มอญ-ขอม ไท-เสียม ไท-โคราช ลาว และเขมร ซึ่งชนเหล่านี้ต่างรับรู้และถ่ายทอดวิญญาณการมีตัวตนของเมืองพิมาย
สืบต่อมาไม่มีวันลืมเลือนจนตราบเท่าทุกวันนี้