|
|
|
ย้อนอดีตเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้ทางการศึกษานับตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล มีการกล่าวถึงนักเทคโนโลยีทางการศึกษาพวกแรก คือกลุ่มโซฟิสต์ (The Elder Sophist) ที่ใช้วิธีการการสอนแบบบรรยายให้แก่มวลชน มีนักเทคโนโลยีทางการศึกษาบางท่านกล่าวถึงการใช้ชอล์คเขียนบนกระดานดำซึ่งเริ่มในทศวรรษที่ 1800 เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีทางการศึกษาในยุคแรกๆอยู่ในรูปแบบของการเขียนนั่นเอง โดยมีการพัฒนาจากการใช้มือวาด การเขียนสลักลงบนไม้ จนกระทั่งพัฒนาเป็นระบบการพิมพ์ที่สมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ต่อมาการพัฒนาได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ภาพประกอบการสอน การจัดสภาพห้องเรียนและการใช้สื่อการสอนประเภทต่างๆ ส่วนการใช้เทคโนโลยีทางสื่อโสตทัศน์ (audio visual) นั้น สามารถนับย้อนหลังไปได้ถึงต้นทศวรรษที่ 1900 เมื่อโรงเรียนและพิพิธภัณฑ์เริ่มใช้ประโยชน์จากสื่อภาพ เช่นภาพวาด ภาพระบายสี สไลด์ ฟิล์ม วัตถุ และแบบจำลองต่างๆเพื่อเสริมการบอกเล่าโดยคำพูด ต่อมา Thomas A. Edison ได้ผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์ขึ้นในปี ค.ศ. 1913 เขาได้เล็งเห็นประโยชน์ของภาพยนตร์ในการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นเขียนไว้เป็นหลักฐานว่า “ต่อไปนี้ หนังสือจะกลายเป็นสิ่งที่หมดสมัยในโรงเรียน เพราะเราสามารถใช้ภาพยนตร์ในการสอนความรู้ทุกสาขาได้ ระบบโรงเรียนจะต้องเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงภายในสิบปีข้างหน้า” ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าวิสัยทัศน์ของ Edison นั้นไม่ถูกต้อง ในช่วงปี 1918 ถึง 1928 การใช้สื่อทางการเห็นประกอบการเรียนได้เติบโตขึ้นอย่างมาก ถึงขนาดมีการก่อตั้งองค์กรวิชาชีพ การจัดทำวารสาร การศึกษาวิจัย และยังการจัดตั้งหน่วยงานบริหารในด้านการ visual education ขึ้นมาหลายแห่ง ในช่วงทศวรรษที่ 1930 มีการใช้เครื่องฉายภาพแบบข้ามศีรษะ (overhead projector) เครื่องบันทึกเสียง วิทยุกระจายเสียง และภาพยนตร์ เข้ามาเสริมการเรียนการสอน วิทยุจึงมีบทบาทมากขึ้นไปจนถึงต้นทศวรรษที่ 1940 ต่อมาโทรทัศน์เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 โทรทัศน์จึงมีบทบาทสำคัญเป็นเทคโนโลยีแถวหน้า ในสายตาของนักวิชาการบางท่าน ถือว่าช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพราะได้มีการนำเอาทฤษฎีทางด้านสื่อสารมวลชนและทฤษฎีระบบเข้ามาใช้ในวงการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ดังนั้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 จึงมีการใช้คำว่า “การสื่อสารทางภาพและเสียง” หรือ “audiovisual communications” แทนคำว่า “การสอนทางภาพและเสียง” หรือ “audiovisual instruction” ซึ่งย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดประการหนึ่งว่า เทคโนโลยีการสื่อสารนั้น คือเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดการเรียนการสอนนั่นเอง เทคโนโลยีได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 เมื่อโลกได้หันเข้ามาสู่ยุคของคอมพิวเตอร์ ในด้านการศึกษานั้น ได้มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในปี 1977 เมื่อมีการประดิษฐ์เครื่อง APPLE II ขึ้น โดยการใช้ในระยะแรกนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริหารจัดการ ต่อมาได้มีการพัฒนาโปรแกรมต่างๆเพื่อให้ใช้ได้ง่ายและสามารถช่วยในการเรียนการสอนได้มากขึ้น การใช้คอมพิวเตอร์ก็เป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนคุ้นเคย จนกระทั่งครูได้เรียกร้องให้มีการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในห้องเรียน ยุคของมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้เริ่มขึ้นในปี 1987 เมื่อบริษัท APPLE ได้เผยแพร่โปรแกรมมัลติมีเดียครั้งแรกออกมา คือโปรแกรม HyperCard แม้ว่าโปรแกรมนี้จะต้องใช้เครื่องที่มีกำลังสูง ต้องใช้เวลาในการฝึกหัดมาก แต่ผลที่ได้รับก็น่าประทับใจ การพัฒนามัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้มีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโปรแกรม HyperStudio มาใช้ และได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายๆโรงเรียน อย่างไรก็ตาม เพียงภายในสองปี มัลติมีเดียเพื่อการศึกษาก็ถูกแทนที่โดยสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่า นั่นก็คือ“อินเทอร์เน็ต” นั่นเอง การพัฒนาอันน่ามหัศจรรย์ใจของของอินเทอร์เน็ตในฐานะที่เป็นเครือข่ายแห่งเครือข่าย ทำให้มีการเชื่อมโยงกันได้อย่างเสรีไม่มีการปิดกั้น ดังนั้นคนทุกคนจึงสามารถเผยแพร่ข้อมูลของตนบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย พอๆกับการที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากแหล่งความรู้ต่างๆทั่วโลก และจากคุณสมบัติดังกล่าวนี้ อินเทอร์เน็ตจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษา รูปแบบต่างๆ เพราะนักเรียนและครูสามารถสื่อสารผ่านกันได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น E-mail การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านระบบ Bulletin Board และ Discussion groups ต่างๆ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้นในการโทรศัพท์หรือประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเพิ่มบทบาทสำคัญในการศึกษารูปแบบใหม่และยังช่วยเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้แนะนำ” พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนและค้นคว้าด้วยตัวเองอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง MacDonald, B. Technology in Education. (March 2002). [On-line]. Available on http://ed.uwyo.edu/course/ EDUC2000/EdTech/index.htm. Educational Technology. [On-line]. (March 2002). Available on: http://tiger.towson.edu/users /evacek1/techhist. htm. MacDonald, B. Technology in Education. (March 2002). [On-line]. Available on http://ed.uwyo.edu/course/ EDUC2000/ EdTech/index.htm. |
|
![]() |
![]() |
|
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ |
โทร: 0 2247 8551 โทรสาร: 0 245 9038 |