TECHNOLOGY  SUMMARY

 


พบกันที่เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา http://www.ceted.org และ http://telethailand.com


E-Learning ในประเทศอินโดนีเซีย

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในประเทศอินโดนีเซียนั้น  โดยทั่วไปแล้วยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว  หรือแม้แต่การเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น  มาเลเซีย  สิงคโปร์  และประเทศไทย    จากข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์การวิจัยและการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์  ของสำนักการวิจัยและการประยุกต์เทคโนโลยี ประเทศอินโดนีเซีย   พบว่า ในปี ค.. 2001  ประเทศอินโดนีเซียมีประชากร 203,456,005 คน แต่มีผู้ใช้โทรศัพท์บ้านเพียง 6,304,798 เลขหมาย  และมีการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะประมาณ 5.5 แสนเลขหมาย    มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจำนวน 40 ราย  และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 2 ล้านคน  ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจ (ร้อยละ 42) และเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษา (ร้อยละ 21)   อย่างไรก็ตาม  ประเทศอินโดนีเซีย ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นอย่างยิ่ง  จึงพยายามหาทางลดช่องว่างของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Digital Divide) เพื่อสร้างและสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ  รัฐบาลอินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะใช้ ICT ให้มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนความพยายามเพิ่มการแข่งขันของประเทศ  โดยมีการสถาปนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆรวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ  เพื่อกำหนดนโยบาย  จัดลำดับความสำคัญ ติดตามและควบคุมการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร และรายงานการพัฒนาไปยังประธานาธิบดี   รัฐบาลได้กำหนดแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อการพัฒนา ICT และนำไปสู่การปฏิบัติ  โดยรวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษาในช่วงเวลาระหว่าง ค.. 2001- 2005 ด้วย

นอกเหนือจากการใช้ ICT ในการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว  ประเทศอินโดนีเซียยังเน้นการใช้  ICT เพื่อการศึกษาสำหรับผู้ที่ ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนด้วย  โดยเน้นการสอนทักษะด้าน ICT ในหลายๆสาขา  เช่น การเตรียมกำลังคนเพื่อเป็นนักเทคนิคเครือข่าย  นักเทคนิคคอมพิวเตอร์  นักเขียนโปรแกรม 

นักออกแบบกราฟิก  นักสร้างภาพเคลื่อนไหว  นักปฏิบัติการ  และนักออกแบบเว็บไซต์ เป็นต้น  สถานศึกษานอกโรงเรียนหลายแห่งและศูนย์ฝึกอบรม ICT เหล่านี้  ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับศูนย์ฝึกอบรม  ICT ต่างประเทศ  ในขณะที่อีกหลายๆแห่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญในระดับท้องถิ่น

ในปี ค.. 2002 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา (Center for Information and Communication Technology for Education: Pustekkom) ร่วมมือกับกรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมอาชีวศึกษา  พัฒนาโครงการ E-Learning ขึ้น เรียกว่า e-dukasi  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาในระดับมัธยมปลายและโรงเรียนอาชีวะผ่านการใช้อินเทอร์เน็ต  นอกจากหน่วยงานทั้งสองแล้ว  ศูนย์นี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก Indonesian Telephone Company (PT Telkom)    ศูนย์การวิจัยและการประยุกต์เทคโนโลยี   สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศอินโดนีเซีย   เครือข่ายข้อมูลโรงเรียน  บริษัท Detik.com  และ ICT watch    อย่างไรก็ตาม Pustekkom  ยังได้พัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ที่ไม่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตในหลากหลายวิชาอีกด้วย

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ ICT เพื่อการศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย เป็นปัญหาพื้นฐานที่พบในประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป  เช่น การนำ ICT เข้ามาใช้ในหลักสูตร  การเตรียมครู  และการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน  ปัจจุบันนี้  ประเทศอินโดนีเซียกำลังจัดทำร่างกฎหมายระบบการศึกษาแห่งชาติ  ซึ่งรวมถึงการการศึกษาด้าน ICT   และการใช้ ICT เพื่อการศึกษาด้วย  นอกจากนี้  ประเทศอินโดนีเซียกำลังก้าวไปสู่การบริหารแนวใหม่ซึ่งเน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จึงสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะด้าน ICT ให้มากขึ้น  และยังให้ความสำคัญด้านการศึกษานอกโรงเรียน  โดยจะเพิ่มบทบาทของการศึกษาแบบไม่เน้นการเทียบคุณวุฒิ  เพื่อฝึกอบรมกำลังคนด้าน ICT  ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต  

อย่างไรก็ตาม ประเทศอินโดนีเซียยังคงมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ

ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ด้อยทั้งปริมาณและคุณภาพ  และระดับความรู้ด้าน ICT ของประชาชนโดยเฉลี่ยยังต่ำ   ดังนั้น การใช้ E-Learning ในประเทศอินโดนีเซีย  คงต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

Harina Yuthetty. ICT and Education in Indonesia. [On-line]. Accessed August 29, 2003.

 

 

    Technology Summary Index
    E-mail:  พ.ต.ท.หญิง ศิริวรรณ  อนันต์โท

  ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ

โทร: 0 2247 8551  โทรสาร: 0 245 9038