|
|
|
คลื่นความถี่วิทยุเพื่อการศึกษา:
ฝันที่ยังไม่เป็นจริง
พ.ต.ท. หญิง ดร. ศิริวรรณ อนันต์โท |
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการใช้คลื่นความถี่วิทยุในการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2473 จนปัจจุบัน การศึกษามักจะถูกอ้างเป็นเหตุผลเบื้องต้นในการขอดำเนินกิจการสื่อกระจายเสียงทั้งวิทยุและโทรทัศน์อยู่ตลอดมา แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลทุกยุคสมัยดูจะให้ความสำคัญต่อการใช้คลื่นความถี่เพื่อการศึกษาไม่มากนัก เพราะการศึกษาไม่ได้ให้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่คุ้มค่า แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติเรื่องการใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อการศึกษาไว้ ด้วยในมาตรา 40 เหตุใดการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุจึงมีความสำคัญถึงขั้นต้องถูกตราไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ การศึกษาจากประสพการณ์ในหลายประเทศ พบว่าเหตุผลที่รัฐบาลในแต่ละประเทศได้ให้ความสำคัญในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และวางนโยบายควบคุมการใช้คลื่นความถี่วิทยุ มีที่มาดังต่อไปนี้: 1. เหตุผลทางด้านเทคนิค การควบคุมโครงสร้างพื้นฐานของสื่อเช่นคลื่นความถี่วิทยุนั้นมาจากเหตุผลสำคัญประการแรกคือปัญหาด้านเทคนิค ในประเทศทุนนิยมนั้น การได้ครอบครองคลื่นความถี่ โดยเฉพาะ คลื่นวิทยุโทรทัศน์ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคลื่นความถี่ถูกนับว่าเป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่ขาดแคลน และโทรทัศน์นั้นยังมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนอย่างสูง ในประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ หรือ Federal Communications Commission (FCC) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุมัติใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ขออนุญาตต้องนำไปใช้เพื่อ ความสะดวก ความจำเป็น และ ประโยชน์ของสาธารณชน 2. เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ในหลายประเทศนั้น การดำเนินธุรกิจกระจายเสียงตกอยู่ในมือของรัฐหรือภายใต้การผูกขาด เนื่องจากรัฐได้เล็งเห็นว่าธุรกิจประเภทนี้มีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดได้ อีกความเห็นหนึ่งก็คือ ผู้ชมหรือผู้ฟังของสื่อกระจายเสียงสามารถถูกชักจูงโดยสื่อได้ง่าย เช่นอาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง 3. เหตุผลทางด้านสังคม เป็นเหตุผลทางด้านวัฒนธรรมและศีลธรรม เนื่องจากธรรมชาติ ของสื่อกระจายเสียงนั้นสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ผู้รับได้ง่าย เนื้อหาสาระของสื่อจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม และความคิดของบุคคลอย่างแพร่หลาย ซึ่งแตกต่างกับสื่อประเภทอื่น เช่น โทรศัพท์ หรือ อินเทอร์เน็ต ซึ่งบริการเนื้อหาสาระตามความต้องการโดยเฉพาะของผู้ใช้มากกว่า ดังนั้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย รัฐบาลจึงมีมาตรการควบคุมเนื้อหาสาระของสื่อกระจายเสียงเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่วิทยุให้มากที่สุด 4. เหตุผลทางด้านการเมือง สื่อมวลชนสามารถถูกใช้เพื่อการสร้างกระแสทางการเมือง เช่น สร้างนโยบายสาธารณะ ประชามติ และความนิยมทางการเมืองได้ ดังนั้นการควบคุมสื่อจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อมิให้คลื่นความถี่ถูกใช้ไปในทางที่ผิดได้
ในประเทศไทยนั้น การควบคุมการใช้คลื่นความถี่วิทยุตั้งแต่เริ่มแรกน่าจะมีแนวคิดมาจากหลักการเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะเหตุผลทางด้านเทคนิค (การเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด) และเหตุผลทางด้านการเมือง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในแต่ละยุคสมัยดูเหมือนจะให้ความสำคัญต่อการใช้คลื่นความถี่เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมืองและธุรกิจมากไป จนละเลยการใช้เพื่อสังคม (เช่น การศึกษา) ดังนั้น จากการผลักดันของนักการสื่อสารมวลชนและบุคคลหลายฝ่าย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จึงได้มีบทบัญญัติในมาตรา 40 ที่จะให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุเสียใหม่ เพื่อให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ซึ่งเรียกชื่อว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช. ) อย่างไรก็ตาม 6 ปีหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3 ปี หลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปรากฏว่าการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ตามพรบ. ดังกล่าวยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การล่าช้ามีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆที่ต้องการที่นั่งในคณะกรรมการดังกล่าว เป็นที่น่ายินดีว่า พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็ได้มีบทบัญญัติในหมวดที่ 9 ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งมาตรา 63ได้เน้นให้รัฐมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุทุกประเภทเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษา อย่างไรก็ตามการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการศึกษาจะเป็นจริงสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความจริงใจของผู้ใช้กฎหมายว่าต้องการจะเลือกใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อประโยชน์ทางสังคมหรือธุรกิจมากกว่ากันเอกสารอ้างอิง
|
|
![]() |
|
© 2003 TeleThailand |
Last revised 27/11/03 |