กันเกรา (Fagrea fragrans Roxb.)

ที่เชิงเขาเหล่าพันธุ์มิ่งไม้

ลมพัดกวัดไกวอยู่หันเหียน
รกฟ้าขานางยางตะเคียน กันเกรากระเบียนและชิงชัน

ขุนช้างขุนแผน...พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

ต้นกันเกรานี้ ทางภาคใต้เรียกกันว่า "ตำเสา" หรือ "ทำเสา" แต่ทางภาคอีสานเรียกว่า "มันปลา" เป็นไม้ต้นสูงใหญ่แข็งแรง ใบดกทึบหนาสีเขียวแก่เป็นมัน ชอบขึ้นในที่แล้งหรือในที่ ๆ มีฝนชุก เวลามีดอกมักออกเป็นช่อตามปลาย ๆ กิ่ง มีสีเหลืองนวลอมแสดเล็กน้อย ช่อคล้าย ๆ ช่อดอกเข็มหรือดอกอโศก มีกลิ่นหอมระรื่นทั้งวัน ไม้พันธุ์นี้โตช้า ใช้ปลูกเพาะเอาจากเมล็ดมากกว่าอย่างอื่น ๆ กันเกราเป็นพันธุ์ไม้ที่มีทรงต้นสวย ฤดูออกดอกทางภาคใต้อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม แต่ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ผลกลมเล็ก ขนาดประมาณ 6 มิลลิเมตร เมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้ม หรือแดงอมส้ม เนื้อไม้ละเอียดสีเหลืองอ่อน แข็งแรงทนทาน ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ดี แก่นและเปลือกใช้เป็นสมุนไพร จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าควรปลูกเป็นอย่างยิ่ง และพบขึ้นตามธรรมชาติเกือบทุกภาคของประเทศ เป็นไม้ท้องถิ่นของแถบเอเชียตอนใต้