การยื่นแบบเพิ่มเติม ภ.พ. 30
ในกรณีที่ผู้ประกอบการได้ยื่นแบบ ภ.พ. 30 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ต่อมาพบว่าแบบแสดงรายการที่ยื่นไว้มี ข้อผิดพลาดอันเนื่องมาจากการแจ้งยอดขายหรือยอดซื้อของกิจการไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น แจ้งยอดขายไว้ขาดไป แจ้งยอดขายไว้เกินไป แจ้งยอดซื้อไว้ขาดไป หรือแจ้งยอดซื้อไว้เกินไป ฯลฯ ให้ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติม

  1. ยอดขายในเดือนนี้ (หรือกรณียื่นเพิ่มเติม (1.1) ยอดขายแจ้งไว้ขาย (1.2) ยอดซื้อแจ้งไว้เกิน) ให้ผู้ประกอบการกรอกเฉพาะยอดขาย ที่แสดงไว้ขาดไป และหรือยอดซื้อที่แสดงไว้เกินไปโดยใส่เครื่องหมาย " / " ลงในช่อง " สี่เหลี่ยม " หน้าข้อความนั้น

    ข้อสังเกต

    ยอดขายแจ้งไว้ขาด หมายความถึง ยอดขายสินค้าหรือบริการทั้งสิ้นที่ผู้ประกอบการแสดงไว้ขาดไป ไม่ว่าจะเป็นยอดขายสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 หรือร้อยละ 0 หรือยอดขายสินค้าหรือบริการที่ได้รับ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

  2. ลบ ยอดขายที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 (ถ้ามี) ให้ผู้ประกอบการกรอกเฉพาะยอดขายสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ที่ผู้ประกอบการได้แสดงไว้ขาดไป (ถ้ามี)

    ข้อสังเกต

    กรณียอดขายที่ผู้ประกอบการแจ้งไว้ขาดตาม 1. เป็นเฉพาะยอดขายสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตัวเลขที่กรอกใน 2. จะเท่ากับตัวเลขที่กรอกใน 1.

  3. ลบ ยอดขายที่ได้รับยกเว้น (ถ้ามี) ให้ผู้ประกอบการกรอกเฉพาะยอดขายสินค้าหรือบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการ ได้แสดงไว้ขาดไป (ถ้ามี)

    ข้อสังเกต

    กรณียอดขายที่ผู้ประกอบการแจ้งไว้ขาดตาม 1. เป็นเฉพาะยอดขายสินค้าหรือบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัวเลขที่กรอกใน 3. จะเท่ากับตัวเลขที่กรอกใน 1.

  4. ยอดขายที่ต้องเสียภาษี (1. - 2. - 3.) ให้ผู้ประกอบการกรอกผลลัพธ์ที่ได้จากการนำยอดขายแจ้งไว้ขาด และหรือยอดซื้อแจ้งไว้เกินตาม 1. ลบด้วยยอดขายที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ตาม 2. และยอดขายที่ได้รับยกเว้นตาม 3.

  5. ภาษีขายเดือนนี้ ให้ผู้ประกอบการกรอกจำนวนภาษีขายโดยคำนวณในอัตราร้อยละ 7 ของยอดขายที่ต้องเสียภาษีตาม 4.

  6. ยอดซื้อที่เสียภาษีแล้วในเดือนนี้ (หรือกรณียื่นเพิ่มเติม (6.1) ยอดซื้อแจ้งไว้ขาด (6.2) ยอดขายแจ้งไว้เกิน) ให้ผู้ประกอบการกรอกเฉพาะ ยอดซื้อที่แสดงไว้ขาดไป และหรือ ยอดขายที่แสดงไว้เกินไป โดยใส่เครื่องหมาย " / " ลงในช่อง " สี่เหลี่ยม " หน้าข้อความนั้น

    ข้อสังเกต

    1. ยอดซื้อแจ้งไว้ขาด หมายความถึงเฉพาะยอดซื้อสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการมีสิทธิขอหักเป็นภาษีซื้อและได้แสดงไว้ขาดไปเท่านั้น

    2. ยอดขายแจ้งไว้เกิน หมายความถึงเฉพาะยอดขายสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ที่ผู้ประกอบการได้แจ้ง ไว้เกินไปเท่านั้น

  7. ภาษีซื้อเดือนนี้ ให้ผู้ประกอบการกรอกจำนวนภาษีซื้อ โดยคำนวณในอัตราร้อยละ 7 ของยอดซื้อแจ้งไว้ขาด และหรือยอดขายแจ้งไว้เกินตาม 6.

  8. ภาษีที่ต้องชำระเดือนนี้ (ถ้า (5) มากกว่า (7)) ให้ผู้ประกอบการกรอกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ โดยนำจำนวนภาษีขายเดือนนี้ตาม 5. ลบด้วยจำนวนภาษีซื้อเดือนนี้ตาม 7.

  9. ภาษีที่ชำระเกินเดือนนี้ (ถ้า (5) น้อยกว่า (7)) ถ้าภาษีขายเดือนนี้ตาม 5. น้อยกว่าภาษีซื้อเดือนนี้ตาม 7. จะเป็นภาษีที่ชำระเกิน ให้ผู้ประกอบการนำจำนวนภาษีซื้อเดือนนี้ตาม 7. ลบด้วยจำนวนภาษีขายเดือนนี้ตาม 5. ผลลัพธ์ที่ได้ให้นำมากรอกใน 9.นี้

  10. ภาษีที่ชำระเกินยกมา ในกรณีของการยื่นแบบเพิ่มเติม ห้ามมิให้ผู้ประกอบการนำภาษีที่ชำระเกินตามแบบ ภ.พ. 30 ที่ได้ยื่นไว้แล้วมาใช้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงไม่ต้องกรอกรายการใน 10. นี้

  11. ภาษีสุทธิที่ต้องชำระ (ถ้า 8. มากกว่า 10.) ให้ผู้ประกอบการกรอกจำนวนเงินภาษีสุทธิที่ต้องชำระ โดยนำจำนวนเงินตาม 8. มากรอกลงใน 11. นี้

  12. ภาษีสุทธิที่ชำระเกิน (ถ้า 10. มากกว่า 8. หรือ 9. รวมกับ 10.) ให้ผู้ประกอบการกรอกจำนวนเงินภาษีสุทธิที่ชำระเกินโดยนำจำนวนเงินตาม 9. มากรอกใน 12. นี้

  13. เงินเพิ่ม ให้ผู้ประกอบการกรอกจำนวนเงินเพิ่มที่ต้องชำระ โดยคำนวณเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบ แสดงรายการของเดือนภาษีนั้น จนถึงวันยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้คำนวณเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระตาม 11. แล้วกรอกลงใน 13. นี้

    ข้อสังเกต

    กรณีไม่มีเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมตาม 11. ผู้ประกอบการไม่ต้องคำนวณเงินเพิ่มแต่อย่างใด

  14. เบี้ยปรับ (ถ้ามี) ให้ผู้ประกอบการกรอกจำนวนเงินเบี้ยปรับที่ต้องชำระ โดยมีวิธีการคำนวณเบี้ยปรับดังนี้

    (ก) คำนวณเบี้ยปรับ หนึ่งเท่า ของจำนวน ภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป (ร้อยละ 7 ของยอดขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่แจ้งไว้ขาด)

    (ข) คำนวณเบี้ยปรับ หนึ่งเท่า ของจำนวน ภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป (ร้อยละ 7 ของยอดซื้อแจ้งไว้เกิน)

    (ค) คำนวณเบี้ยปรับ หนึ่งเท่า ของเงิน ภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมตาม 8.

    ให้ผู้ประกอบการเสียเบี้ยปรับตามกรณี (ก) หรือ (ข) หรือ (ค) เพียงกรณีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องเสียเบี้ยปรับมากที่สุด

    เบี้ยปรับดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจขออนุมัติลดได้ดังนี้

    1. กรณียื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา ให้เสียร้อยละ 2 ของเบี้ยปรับ

    2. กรณียื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา ให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ

    3. กรณียื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลัง 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ

    4. กรณียื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลัง 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา ให้เสียร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับ

    ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้ลดเบี้ยปรับ กรอกจำนวนเบี้ยปรับที่ขอลดได้แล้วลงใน 14. นี้

    ข้อสังเกต

    1. แบบ ภ.พ. 30 ที่ผู้ประกอบการยื่นเพิ่มเติมกฎหมายให้ถือเป็นคำร้องขอลดเบี้ยปรับด้วย โดยผู้ประกอบการจะได้รับการอนุมัติให้ลดเบี้ยปรับตามอัตราและเงื่อนไขที่กำหนดในทันทีที่ยื่นแบบเพิ่มเติมดังกล่าว

    2. กรณีที่ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ไว้เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ต่อมาพบว่าแบบแสดงรายการที่ยื่นไว้มีข้อผิดพลาด จึงได้ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีนั้น ในกรณีนี้หากปรากฏว่าผู้ประกอบการมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียเพิ่มเติม การคำนวณเบี้ยปรับตาม 14. (ค) ดังกล่าวข้างต้นให้คำนวณเบี้ยปรับ สองเท่า ของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเติม

  15. รวมภาษี เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับที่ต้องชำระ (11. + 13. + 14. หรือ 13. + 14. - 12.) ให้ผู้ประกอบการกรอกยอดรวมภาษีสุทธิที่ต้องชำระตาม 11. เงินเพิ่มตาม 13. และ เบี้ยปรับ (ถ้ามี) ตาม 14. หรือยอดรวมเงินเพิ่มตาม 13. และเบี้ยปรับ (ถ้ามี) ตาม 14. ลบด้วยภาษีสุทธิที่ชำระเกินตาม 12. แล้วแต่กรณี

  16. รวมภาษีที่ชำระเกินหลังคำนวณเงินเพิ่มและเบี้ยปรับแล้ว (12. - 13. - 14.) ถ้าภาษีสุทธิที่ชำระเกินตาม 12. มีจำนวนมากกว่า เงินเพิ่มตาม 13. และเบี้ยปรับตาม 14. ให้นำยอดภาษีสุทธิที่ชำระเกินลบด้วยเงินเพิ่มและเบี้ยปรับดังกล่าว ได้ผลลัพธ์เท่าไร ให้นำยอดมากรอก ใน 16. นี้

    ข้อสังเกต

    กรณียื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติม และมีภาษีที่ชำระเกิน ผู้ประกอบการต้องขอคืนภาษีเป็น เงินสด เท่านั้น จะขอยกยอดภาษีที่ชำระเกินไปใช้ในเดือนถัดไปไม่ได้