ประชุมโคลงโลกนิติ
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๐ ฉบับหอประชุมแห่งชาติ กรมศิลปากร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
( พ.ศ. ๒๓๓๖-๒๔๐๒ )



		โลกนิติ เป็นวรรณกรรม ประเภทคำสอนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่
	สุดเรื่องหนึ่งเชื่อกันว่าสำนวนเก่าเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ในการรวบรวมตี
	พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้น หอพระสมุดวชิรญาณ ได้ยึดโคลงโลกนิติฉบับ
	พระนิพนธ์ของพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระเดชาดิศร (พระยศขณะ
	ทรงพระนิพนธ์) ที่จารึกไว้ ณ พระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีจำนวน ๔๐๘ บท เป็นสำนวนหลัก 
	และมีการพิมพ์สำนวนเก่าที่ไม่ปรากฏใครแต่งในสมัยใดลงเปรียบเทียบไว้ด้วย พร้อมกับหลัก
	ฐานที่มาเช่น คาถาภาษาบาลีหรือสันสกฤตกำกับเท่าที่รองอำมาตย์เอกหลวงญาณวิจิตร (สิทธิ 
	โรจนานนท์) ผู้รวบรวมจะพยายามสืบค้นได้

		เนื้อหาของโคลงโลกนิตินั้น ถ้าจำแนกตามประเภทวรรณกรรม ก็จะอยู่ในกลุ่มวรรณ
	กรรมประเภทคำสอน เพราะเกริ่นนำไม่กี่บทแล้วล้วนเป็นสุภาษิตสอนใจทั้งสิ้น เป็นการสอนง่ายๆ 
	ที่ผู้มีพื้นฐานนิสัยที่ดีอยู่แล้ว  จะซึมซับรับไว้ได้ไม่ยากเลย นอกจากคนที่มีสันดานหยาบกร้าน 
	หรือโง่เขลาทางภาษาเท่านั้นที่จะไม่เข้าใจ

		กลวิธีแต่งโคลงโลกนิติแทบทุกบท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้
	ทรงพระนิพนธ์ด้วยความระมัดระวังในฉันทลักษณ์จนเป็นแบบฉบับโคลง ๔ สุภาพได้ไม่มีผิด
	ตำแหน่งคำเอกคำโทและสัมผัสเลย  แต่ละบทจะยกคาถาภาษาบาลี หรือสันสกฤตขึ้นมาก่อน
	ให้ดูขลัง  แล้วยกสำนวนเก่าที่ปรากฎมาก่อน อาจจะเป็นสำนวนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามา
	แสดงไว้จากนั้นจึงเป็นพระนิพนธ์ของกรมพระยาเดชาดิศร เช่น
	
	โคลงที่ ๓	     ปุติมจฺฉํ กุสคฺเคน	           โย นโรอุปนยฺหติ
		     กุสาปิ ปูติ วายนฺติ	           เอว พาลูปเสวนา
				           (โลกนิติ)

		            ปลาร้าหุ้มห่อด้วย           ใบคา
		     คาติดแปดเหม็นปลา             คละคลุ้ง
		     คือคนผู้ดีหา	            คบเพื่อน พาลนา
		     ความชั่วปนปานฟุ้ง	            เนื่องร้ายเสมอกัน
 				            (สำนวนเก่า)

		           ปลาร้าพันห่อด้วย            ใบคา
		     ใบก็เห็นคาวปลา                   คละคลุ้ง
		     คือคนหมู่ไปหา                      คบเพื่อน พาลนา
		     ได้แต่ร้ายร้ายฟุ้ง                    เฟื่องให้เสียพงศ์
				          (กรมพระยาเดชาฯ)
	
		จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า บทพระนิพนธ์ จะอ่านง่ายชัดเจน เข้าได้ง่ายกว่าและถูก
	ต้องตามฉันทลักษณ์ เช่น ในบาทที่ ๓ ของสำนวนเก่า  ตำแหน่งคำเอกในคำที่สาม  คือ "ผู้" 
	สำนวนเก่าใช้คำโท  กรมสมเด็จพระเดชาฯ  ทรงเปลี่ยนเป็นหมู่ซึ่งเป็นคำเอก ความไม่เสีย และ
	เข้าใจง่ายด้วย

		ในการแต่งเนื้อความของโคลงโลกนิติ  แต่ละบทจะใช้วิธีการอุปมาอุปไมยทั้งสิ้น 
	คือ จะยกอุปมาขึ้นตั้งสองหรือสามบาทแรกของโคลงแล้วอุปไมยด้วยบาทสุดท้าย เป็นการ
	สรุปให้คิด หรือไม่ก็สอนตรงๆ เลย
	
	เช่น    
               		       ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้                มีพรรณ
		ภายนอกแดงดูฉัน                       ชาดป้าย
		ภายในย่อมแมลงวัน                  หนอนบ่อน
		ดุจดั้งคนใจร้าย                           นอกนั้นดูงาม (๕)
	หรือ     
		      ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น             รักเรียน
		ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร                    ผ่ายหน้า
		คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน       วนจิต
		กลอุทกในตระกร้า                     เปี่ยมล้น ฤามี (๒๓)
	
		แต่ในส่วนที่เป็นโคลงกระทู้ชุดหนึ่งนั้น  ก็เลือกกระทู้ที่เป็นคำพังเพยหรือสุภาษิต  
	มาเป็นตัวตั้งแล้วขยายความเป็นโคลงอธิบายเป็นสุภาษิต  เช่นเดียวกับตัวอย่าง
	
		       อา  สาสุดสิ้นเรี่ยว               แรงกาย
		ภัพ และผลพังหาย                    โหดเศร้า
		เหมือน เพลิงตกสินธุ์สาย          สูญดับ  ไปนา
	     	ปูน  ต่อขาดขอดเต้า                  จึงรู้คุณปูน (๓๘๙)
          
		       ช้างสาร หกศอกไซร้           เสียงา
		งูเห่า กลายเป็นปลา                  อย่าต้อง
		ข้าเก่า เกิดแต่ตา                       ตนปู่ ก็ดี
		เมียรัก อยู่ร่วมห้อง                  อย่าไว้วางใจ (๓๙๘)

 		         ไป่เห็นน้ำ หน้าด่วน         ชวนกัน
		ตัดกระบอก แบ่งปัน                ส่วนไซร้
		ไป่เห็นรอก อวดขัน                  มือแม่น
		ขึ้นหน้าไม้ ไว้ให้                       หย่อนแท้เสียสาย (๔๐๐)
	
		อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดถึงเนื้อเรื่องในประชุมโคลงโลกนิติแล้ว ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ
	ไปกว่าการประชุมคำสอน  คนที่ไม่ค่อยสนใจกวีนิพนธ์ อาจจะรู้สึกว่าน่าเบื่อ แต่คนที่ชอบอ่าน
	กวีนิพนธ์จะชื่นชมซาบซึ้งทั้งรสความ  รสคำ  และรสอารมณ์เพราะแต่ละคำที่ใช้มีอรรถรส มี
	ชีวิต  และมีวิญญาณแห่งถ้อยคำ ประเทืองทั้งปัญญาและอารมณ์

		โลกนิติคำโคลง นับเป็นเรื่องเอกของพระองค์ รัดกุมเข้าใจง่ายทุกบท แสดงว่า
	ผู้นิพนธ์เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการแต่งโคลงโลกนิติ ตามความหมายก็คือ  ระเบียบแบบแผน
	ของโลก  เป็นความรู้สึกนึกคิดที่ฝั่งในจิตใจมนุษย์ เป็นหลักในการดำรงชีวิตในโลกอย่างดียิ่ง
	เรื่องหนึ่ง  หลักในการดำรงชีวิตที่เด่นๆ มีอาทิเช่น
	
		     จำสารสับปลอกเกี้ยว  	ตีนสาร
		จำนาคมนตร์โอฬาร		ผูกแท้
		จำคนเพื่อใจหวาน		ต่างปลอก
		จำโลกนี้มั่นแล้		แต่ด้วยไมตรี (๑๐๑)

		     คนใดหนหนึ่งผู้		ใจฉกรรจ์
		เคียดฆ่าคนอนันต์		หนักแท้
		ไป่ปานบุรุษอัน		ผจญจิต เองนา
		เธียรท่านเยินยอแล้		ว่าผู้มีชัย (๑๐๕)

		     คนใดโผงพูดโอ้		อึงดัง
		อวดอ้างกล้าอย่าฟัง		สับปลี้
		หมาเห่าเล่าอย่าหวัง		จักขบ ใครนา
		สองเหล่าเขาหมู่นี้		ชาติเชื้อเดียวกัน (๑๒๖)

		     โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง		เมล็ดงา
		ปองติฉินนินทา		ห่อนเว้น
		โทษตนเท่าภูผา		หนักยิ่ง
		ป้องปิดคิดซ่อนเร้น		เรื่องร้ายหายสูญ (๑๗๑)


กลับไปหนังสือประเภทกวีนิพนธ์