![]() | บทกวีของเปลื้อง วรรณศรี พิมพ์อยู่ใน กวีประชาชน (๒๕๑๗) ประวัติผลงานและคำรำลึกเปลื้อง สุวรรณศรี (๒๕๔๐)
เปลื้อง วรรณศรี |
งานบทกวี ของเปลื้อง วรรณศรี ส่วนใหญ่เป็นกวีการเมืองหรือกวีเพื่อชีวิต กล่าวถึงความไม่ยุติธรรมในสังคม และการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของ ประชาชน มีเนื้อหาทำนองวิพากษ์วิจารณ์การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ปลุกใจประชาชนให้ ยืนหยัดต่อสู้ที่มีลักษณะซ้ำซากอยู่บ้าง แต่มีหลายชิ้นที่เขียนได้อย่างเห็นภาพชัดเจน, ได้ อารมณ์ความรู้สึก ใช้คำง่ายๆ สั้นๆ สัมผัสและจังหวะที่กินใจ ไม่ว่าจะเป็นชื่อบทกวี เช่น เห็นอยู่แต่ผู้ยากเข็ญ, ใครไปจุดแสงไฟให้ดาวเด่น, ใช่น้ำตาข้าทาส, เพื่อชีวิตที่ดีกว่าหรือ บางประโยคบางวรรคที่เห็นภาพชัดมีจังหวะจะโคนที่ปลุกเร้าอารมณ์ ความรู้สึกสะเทือนใจ ในสภาพความเป็นอยู่ของสามัญชนที่ยากจน ตัวอย่างเช่น "หน้าหนาวโอ้หนาวร้าวเหลือ ขาดเสื้อผ้าคราวหนาวใหญ่ ขาดยาอาหารสะท้านใจ เจ็บไข้อนาถาข้าทน เห็นอยู่แต่ผู้ยากเข็ญ ทุกข์เช่นพวกข้าทุกคน เป็นเพื่อนเยือนถามยามจน ล้วนคนยากเข็ญเช่นเรา เออ - ถ้าคนจนเรือนแสน ล้าน, - แล่นไล่ล้างความเศร้า ความทุกข์ทั้งปีนี้เอา แรงเข้าหักเหี้ยนเตียนกอง น้ำตาที่ไหลหลั่งเลือด เช็ดเหือดด้วยมือทั้งผอง ทุกข์ที่คนจนทนครอง คือคุกจำจองไม่มี" เห็นอยู่แต่ผู้ยากเข็ญ (ข่าวภาพ,๒๔๙๔) บทกวีบางชิ้น เช่น ข้างกองไฟ เขียนทีสถานีรถไฟสุรินทร์ คืนวันที่ ๑๔ ก.พ. ๒๕๐๑ แม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำที่คมคาย แต่ก็เป็นกวีสัจนิยม ที่สะท้อนภาพชีวิตของคนจนชาวอีสาน ในหน้าหนาว ในยุคนั้นได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ข้างกองไฟ "ใต้โค้งฟ้าอ้าขอบออกครอบโลก แคนวิโยคยอกกายช่างร้ายเหลือ โอ้ละหนอ...คลอคำน้ำเสียงเครือ ทั้งเลือดเนื้อแสบคันเสียงแคนนั้น ลมยะเยียบเฉียบเย็นทุกเส้นขน น้ำค้างหล่นต้องไม้คนใจสั่น นกละเมอเพ้อหลงหนาวงงงัน เรไรมันหริ่งหรีดกรีดสำนึก เดือนรูปเคียวเกี่ยวฟ้าฝ้าเฟือนแสง ดาราแดงหรี่ร่วงด้วยล่วงดึก แต่ความหนาวร้าวที่ทวีลึก ให้แสนบึกบึนด้านสะท้านทน นอนเสียเถิดลูกแม่แผ่อกป้อง อยู่ข้างกองไฟผ่าวกลางหาวหน จงอ้าปากผากแห้งเพราะแล้งลน ดื่มนมปนสายเลือดที่เดือดร้อน หากแม้นชีพไม่สิ้นดิ้นกระเดือก จักไม่เลือกหนักแบกแลกไว้ก่อน ขอแต่เจ้าขวัญตาไร้อาวรณ์ ได้พักผ่อนเอาแรงแกร่งพรุ่งนี้" การอ่านบทกวีของเปลื้อง ไม่เพียงแต่ได้รสชาติทางวรรณศิลป์ของงานที่มีความ งามแบบศิลปะเพื่อชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะเท่านั้น หากยังทำให้รับรู้ได้ถึงภาวะอารมณ์ ความรู้สึกของสังคมไทยในยุคทศวรรษที่ ๒๔๙๐ และ ๒๕๐๐ ได้อย่างแจ่มชัดด้วย งานกวีของเปลื้องเป็นงานกวีที่มีเลือดเนื้อ มีความจริงใจที่ควรค่าแก่การศึกษา และรำลึก ถึง |