เพียงความเคลื่อนไหว
พิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ในช่วงปี ๒๕๑๖-๒๕๒๒
และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ๒๕๑๗

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
(พ.ศ.๒๔๘๓ - )



		เพียงความเคลื่อนไหว  เป็นผลงาน ที่เริ่มต้นเมื่อเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม
	ในปี ๒๕๑๖ ซึ่งขบวนการนักศึกษาประชาชนได้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ และขยายตัวเป็นการ
	เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมด้านต่างๆ ของสังคม เนาวรัตน์  ได้เขียนบทกวีสนับสนุน
	การต่อสู้ครั้งนั้น ใจความตอนหนึ่งว่า
	
			"การเกิดต้องเจ็บปวด
			ต้องร้าวรวดและทรมา
			ในสายฝนมีสายฟ้า
			ในผาทึบมีถ้ำทอง

			มาเถิดมาทุกข์ยาก
			มาบั่นบากกับเพื่อนพ้อง
			อย่าหวังเลยรังรอง
			จะเรืองไรในชีพนี้

			ก้าวแรกที่เราย่าง
			จะสร้างทางในทุกที่
			ป่าเถื่อนในปฐพี
			ยังไม่ไว้รอให้เดิน"
				(เพียงความเคลื่อนไหว, หน้า ๑๐๘-๑๐๙)
		
		งานเนาวรัตน์มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวอยู่แล้วในข้อที่ว่า เขาจริงใจเหลือเกิน
	กับความคิดและความรู้สึกที่แสดงออกมา ดังนั้น เนาวรัตน์จึงมิได้เขียนบทกวีการเมือง
	จากทฤษฎีหรือตรรกะ  แต่เขาเริ่มต้นจากความรู้สึกลึกซึ้งต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่ระเบิด
	ออกมาจากภายใน ในบท เพียงความเคลื่อนไหว เนาวรัตน์ระบายความรู้สึกของเขาออก
	มาจากความกดดันของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ว่า
	
			ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด
			ร้อนที่แผดก็ผ่อนเพลาพระเวหา
			พอใบไม้ไหวพลิกริกริกมา
			ก็รู้ว่าวันนี้มีลมวก
	
		จาก ลมวก นี้ เนาวรัตน์นำคลี่คลายเหตุการณ์ตอนจบบทกวี เพียงความ
	เคลื่อนไหว ว่า
	
			"พอเสียงร่ำรัวกลองประกาศกล้า
			ก็รู้ว่าวันพระมาอีกหน
			พอปืนเปรี้ยงแปลบไปในมณฑล
			ก็รู้ว่าประชาชนจะชิงชัย" (หน้า ๕๕)
	
		ภาพ "เหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด" ในวรรคแรกนั้นเป็นประสบการณ์
	จริงๆ ของเนาวรัตน์ ขณะที่เขาอยู่ภาคใต้ เขาได้มีประสบการณ์เช่นนั้นและคิดวรรคอัน
	ทรงพลังนี้ขึ้นมา  เขายังไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้ควรนำไปใช้ที่ไหน  จะเอาไปเปรียบกับอะไร  
	จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม  จึงรู้ว่าถึงเวลาของ ลมวกแล้ว นี่คือประสบการณ์
	ของกวีที่มีความหมายต่อการสร้างสรรค์งานของเขา

		จากผลงาน "เพียงความเคลื่อนไหว" ทำให้เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้รับราง
	วัลซีไรท์  ในปี พ.ศ.๒๕๒๓  คณะกรรมการตัดสินในปีนั้นกล่าวว่า
	
		"ความสามารถในการใช้รูปแบบกวีนิพนธ์ของเขานั้น  เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว 
	เขาเป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านฉันทลักษณ์ตามแบบแผน และทั้งด้านเพลงพื้นบ้าน
	ถึงขนาดที่เรียกว่า ในเพลงกล่อมเด็ก เนาวรัตน์ก็อาจสอดสาระทางการเมือง และสังคมที่
	ร้อนแรงได้"
	(หน้า ๑๒)	


กลับไปหนังสือประเภทกวีนิพนธ์