![]() |
ดำรงประเทศ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๗๔
เวทางค์ |
ดำรงประเทศ เป็นจินตนิยาย ที่นำเสนอปรัชญาการเมืองในแนว "ธรรมา- ธิปไตย" ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เนื้อหาสาระและบทสนทนา ของตัวละครสำคัญ ชี้ให้เห็นเด่นชัดว่า เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายของรัฐหรือการปกครอง คือธรรมะ "เป็นการปกครองโดยธรรมเพื่อความเป็นธรรมของราษฎร" เวทางค์กำหนดให้ตัวละครฝ่ายที่ปกครองบ้างเมืองโดยธรรมะ ชื่อว่า "พระ ธรรมาธิป" แปลว่า ธรรมะเป็นใหญ่ ทรงปกครองกรุงเทวะปุระอย่างสงบร่มเย็นมาเป็นเวลา นาน ภายหลังเจ้าชายเดชานุชิต กษัตริย์กรุงราชภุชยกกองทัพมารุกราน ด้วยข้ออ้างจะเอา ตัวเจ้าหญิงกนกเลขาราชธิดาแห่งกรุงเทวะปุระไปเป็นมเหสี และต้องการเป็นมหาจักรพรรดิ ระหว่างการสู้รบกัน กองทัพแห่งกรุงเทวะปุระพ่ายแพ้ฝ่ายกรุงราชภุชหลาย ครั้ง กระทั่งต่อมาพระเจ้าธรรมาธิปต้องสูญเสียพระกรข้างซ้ายไป แต่ก็ยังคงทำการรบพุ่ง อย่างไม่ลดละ ทั้งได้วางกลอุบายให้เจ้าหญิงกนกเลขา โต้เถียงพระราชบิดาต่อหน้าแม่ทัพ นายกองอย่างรุนแรง เรื่องขอให้ส่งตัวท้าวเธอไปให้ศัตรู เพื่อยุติสงครามลง พระเจ้าธรรมาธิปแสร้งพิโรธหนัก ทรงเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการสูญเสีย เอกราชให้กับอริราชศัตรู และถือเป็นหน้าที่อันชอบธรรมของพระองค์เป็นการปกครอง ราษฎร ทรงเน้นการปกครองโดยธรรมและพร้อมเสียสละทุกประการดังจะเห็นถึงจุดยืนจาก การโต้เถียงกับพระราชธิดาว่า "พ่อได้ยึดถือจาตุกรณีย์ที่กษัตราธิราชควรมีอยู่อย่างพร้อมบริบูรณ์ คือ พ่อยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะตัดสินความเมืองด้วยความยุติธรรมบำรุงราษฎร ด้วยให้มีความสุข, บำรุงผลประโยชน์ของบ้านเมืองที่ควรจะมีและควรจะได้ กับทั้งได้ป้องกันพระนครให้ดำรงคงไว้ซึ่งความมีอิสระภาพ ฉะนั้น ในบัดนี้, เมื่อ คนของเรายังตายไม่หมด และแขนของพ่อขาดไปเพียงข้างเดียว พ่อและคนทั้ง หลายจะยอมเสียผลประโยชน์กับความมีอิสระภาพของเราให้กับใครไปไม่ได้เลย" หรือตรัสถึงหน้าที่ของผู้ปกครองว่า "หัวหน้าทุกคนในโลกก็มีลักษณะคล้ายกันหมด ทุกคนต้องทำความดี, ทุก คนต้องทำความสำเร็จ ถ้าคนใดไม่สามารถทำได้ คือเห็นแก่ตัวมากที่สุด เห็นแก่ คณะญาติโดยขาดความยุติธรรมแก่คนทั่วไป หรือเห็นแก่อำนาจราชศักดิ์เกินไป หัวหน้าเช่นนั้นต้องเปนไม่ได้ หรือต้องตาย ไม่มีใครจะเชิดชูเอาไว้เลย..." ความก้าวหน้าทางความคิด ที่อิงกับสัจธรรมหรือธรรมะในพุทธศาสนามีอยู่มาก มาย แม้ว่าบางครั้งจะนำมาใช้ได้ไม่สมจริงสมจัง เป็นการยัดเยียดความคิดของผู้เขียนให้กับ ตัวละคร แต่ถ้าพิจารณากระบวนการประพันธ์ที่มุ่งเสนอปรัชญาความคิดเป็นหลัก โดยแฝง ไว้ในรูปแบบนวนิยาย ข้อบกพร่อง เช่นนี้คงพอจะอนุโลมให้ได้ โดยเฉพาะความคิดของเจ้าหญิงกนกเลขาที่แสดงออกมา ทรงตระหนักว่า การที่ พระองค์ทรงอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ไปทุกสิ่งทุกอย่าง มีชีวิตอย่างสุขสำราญในปราสาทราชวัง ราชอุทยาน และแวดล้อมไปด้วยนางกำนัลนั้น คุณค่าของพระองค์ "เปนเพียงดอกไม้ที่ล้อมรอบไว้ด้วยความอับเฉา เปนเพียงหุ่นของการเมือง และเปนเพียงรูปปั้นอันงามที่มีไว้สำหรับประดับพระราชวังหรือบ้านเมือง แต่แล้ว จะหาคุณค่าอะไรให้มากไปกว่านั้นอีกไม่ได้ ไม่มีความรู้สึก, ไม่มีหัวใจ นอกจากมี แต่ความเปลืองในค่าบำรุงรักษา มากกว่าสิ่งอันใดทั้งหลายทั้งนั้น ซึ่งค่าบำรุง รักษาเหล่านี้ ล้วนแต่เปนน้ำแรงของชาวเทวะปุระทั้งสิ้น คิดดังนั้นแล้ว เจ้าหญิง ทรงพระกรรแสง อย่างมีความเจ็บช้ำอย่างหนักที่ดวงใจและที่หน่วยตา และทั้งๆ ที่ทุกสิ่งที่ล้อมพระองค์อยู่โดยรอบนั้นเต็มไปด้วยความเกษม, เต็มไปด้วยความ หอมหวนและเต็มไปด้วยพิภพแห่งอุทยานสวรรค์" เพื่อชาติบ้านเมือง เจ้าหญิงทรงตัดสินขัดพระทัยพระราชบิดา จนต้องอาญาโบยตี อย่างหนัก และถูกขับไล่ออกจากเมืองอย่างทุกขเวทนา พระองค์มุ่งหน้าไปหาเจ้าชายเดชานุชิต ทรงใช้ความงามแห่งรูป รส กลิ่น เสียง (ตามหลักพุทธธรรม) และการโต้เถียงกันด้วยสติปัญญา หรือปรัชญาชีวิต ทำให้เจ้าชายผู้แข็งแกร่งพระทัยอ่อนตกหลุมรัก มิอาจห้ามดำกฤษณาในการ ประเวณีได้ ดำรงประเทศ ยังได้ให้สัจจะความจริงของสงครามอย่างเป็นวิภาษวิธีเช่น กล่าว ถึงการดำรงฐานะของชาติ เป็นสาเหตุหนึ่งของสงคราม แต่ที่ชาติจะทำความต้องการให้สำเร็จ ลงได้เพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ความสามารถของผู้ทำ กษัตริย์จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด สงครามขึ้นได้ "การสงครามทำให้คนทั้งหลาย ไม่คิดถึงชั้น, ฐานะ, ศักดิ์, ความฟุ้งเฟ้อ, ความสำราญ และการถือพวกแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย, โดยที่เมื่อใดได้ถึง คราวสงครามแล้ว ทั้งความลำบากยากแค้น, ทั้งความอดอยาก, ทั้งความตาย เปนตุลาการอันดีที่จะสอบสวนถึงความสามัคคีและความรัก ว่าคนในชาติจะมีอยู่ ต่อกันสักเพียงใด นอกจากนั้น, สงครามยังทำให้เกิดของแปลก และของใหม่ที่ โลกปรารถนา ซึ่งอารยะธรรมต้อง การใช้อีกอย่างเหลือที่จะนับได้ เพราะการ ทำงานเพื่อแลกกับชีวิต มีคุณสมบัติต่างกันมากในที่สุด, สงครามก็เปนเหมือน อำนาจที่ปลุกชาติให้ตื่น, ให้ขะมักขะเม้นต่อการงาน, และให้รู้จักถึงผลร้ายของ การขาดอารยะธรรม คือเปนบทเรียนอันดีของคนเกียจคร้าน, ของคนที่โง่เขลา, ของคนที่ไม่พยายามจะสร้างตนให้เปนคน และข้อสุดท้าย, ชัยชะนะของสงคราม ย่อมเปนผลของความมีอิสระภาพ, เสรีภาพ, สภาพของชาติและของคนจึงมี คุณค่า ดังนี้ เพราะฉะนั้น, บัดนี้, จึงถึงเวลาอันสำคัญแล้วที่ชาวนครเทวะปุระจะ ต้องทำหน้าที่ของตนต่อไป...หน้าที่นั้น คือ ทำสงคราม! สงคราม! แต่สงคราม... พุทโธ่เอ๋ย!" |