เมืองนิมิตร และชีวิตแห่งการ
กบฏสองครั้ง
พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๙๑

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์
(พ.ศ.๒๔๕๑ - ๒๔๙๑)


		
		เมืองนิมิตร เป็นนิยายโรแมนติกกึ่งสมจริง แทรกความรู้และทัศนะทาง
	ชีววิทยา จิตวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งก็เป็นความรู้ที่ใหม่สำหรับ
	คนไทยในขณะนั้น  เนื่องจากเมืองนิมิตรเป็นทั้งวรรณกรรมและบันทึกประวัติศาสตร์ 
	และเนื่องจากขณะที่งานชิ้นนี้เกิดขึ้น ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีอะไรล้าหลัง	
	กว่าประเทศอื่นในยุคสมัยเดียวกันอีกมาก  ทำให้งานชิ้นนี้ เป็นงานที่คนไทยน่าจะได้
	อ่านไว้

		สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ คือ แนวคิดของผู้แต่ง  ผู้แต่ง
	ต้องถูกจำคุกในข้อหากบฏถึง ๒ ครั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๘ ปี ทั้งๆ ที่
	ครั้งแรกผู้เขียนกล่าวว่าเป็นการเข้าไปพัวพันโดยบังเอิญ  และครั้งที่สองเข้าใจว่าเป็น
	ผลมาจากการเขียนหนังสือเรื่อง ความฝันของนักอุดมคติ หรือ เมืองนิมิตร เล่มนี้  
	ประสบการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะผสมกับฝีมือการเขียนทำให้หนังสือเล่มนี้  มีค่าควรแก่
	การศึกษา ในฐานะที่เป็นงานวรรณกรรมที่สะท้อนประวัติศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ 
	มุมของฝ่ายค้าน หรือผู้ที่มีมุมมองแตกต่างรัฐบาลผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 
	พ.ศ.๒๔๗๕

		เนื้อหาของนวนิยาย เมืองนิมิตร  กล่าวถึงชีวิตของ "รุ้ง" ผู้ถูกรัฐบาลใน
	สมัยนั้นจับขังคุกในข้อหากบฏบวรเดช  ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาทำมีเพียงแค่การกล่าวคำ
	ปราศรัยต่อต้านรัฐบาลในที่ชุมนุนชน  เมื่อเขาได้รับอภัยโทษเขาก็หลีกเลี่ยงจากงาน
	ราชการที่คนโน้นคนนี้ชวน  พยายามหางานทำด้วยการเป็นเสมียน และต่อมาด้วยการ
	เขียนหนังสือขาย  ระหว่างนั้นก็มีเรื่องรักแทรกประปราย และจนในที่สุดเขาก็ถูกจับ
	อีกครั้งหนึ่ง เพราะการเขียนหนังสือที่มีข้อความสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลใน
	สมัยนั้น

		บุคลิกของตัวละคร แม้รุ้งจะดูเป็นเพียงคนง่ายๆ ธรรมดา ผู้พยายามจะ
	ใช้เหตุผล ความเป็นตัวของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสิ่งต่างๆ แต่การที่เขาไม่ได้รู้สึก
	อาฆาตมาดร้ายฝ่ายรัฐบาลที่จับเขาไปขัง  และไม่เห็นว่าโทษการเมืองการเสียเกียรติก็
	ดี  การไม่ดูถูกงานที่ให้เงินเดือนต่ำก็ดี  การแยกเรื่องแต่งงานออกจากความรัก อะไร
	เหล่านี้  ทำให้ต้องนับว่า รุ้งมีลักษณะนิสัยใจคอต่างกับคนไทยทั่วไปในสังคมสมัยนั้น
	ไม่น้อยทีเดียว  และความคิดที่ "นำสมัย" นี่เองที่ช่วยให้งานชิ้นนี้น่าสนใจมากขึ้น

		การผูกโครงเรื่อง บางครั้งก็ทำให้รู้สึกว่าขัดแย้งกอยู่บ้าง เช่น การที่รุ้ง
	ซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาดี และเป็นคนที่สนใจอ่านหนังสือทางเศรษฐกิจการเมืองอยู่ด้วย 
	จะไปยอมทำงานรับใช้แขกฟรีๆ เป็นเวลาหลายเดือนกว่าจะได้เรียนรู้เอาทีหลังนั้น 
	ออกจะเป็นความซื่อที่มากเกินไปนิด  เพราะคนที่อุตสาห์ฝันถึง เมืองนิมิตร ได้ ก็น่าที่
	จะรู้ตั้งแต่ก่อนไปทำงานให้แขกแล้วว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นสามารถที่จะ "เอา
	รัดเอาเปรียบ"  คนได้แค่ไหน การกระทำของรุ้งจึงออกจะเป็นเรื่องเพ้อฝันอยู่ไม่น้อย  
	แต่ก็สะท้อนว่าคนไทยในสมัยทศวรรษที่ ๒๔๘๐ เริ่มให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ธุรกิจ
	มากขึ้น

		โดยรวมแล้ว เมืองนิมิตร ยังคงเป็นนิยายที่เขียนได้สละสลวย และดำเนิน
	เรื่องได้ค่อนข้างดี การใช้ภาษาเป็นไปอย่างชัดเจน รัดกุม ความคิดความอ่านโดยทั่ว
	ไปน่าสนใจอยู่หลายตอน  เช่น การวิจารณ์การเอารัดเอาเปรียบของเศรษฐกิจ ที่เน้น
	การหาเงินและกำไร  นับเป็นงานวรรณกรรมภาษาไทยที่คุ้มค่ากับการอ่านมาก  โดย
	เฉพาะผู้ที่ต้องการเข้าใจภาวะและความคิดของสังคมไทยในสมัย ๒๔๗๕ ถึงสงคราม
	โลกครั้งที่สอง

	ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง 
		เป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่รวมอยู่ในเล่มเดียวกับ เมืองนิมิตร   ซึ่งเป็นบันทึก
	จากชีวิตจริงๆ ของผู้เขียน   น่าสนใจตรงที่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่แต่ง  หรือฝันขึ้น
	เท่านั้น  ผู้เขียนลำดับเหตุการณ์ไปทีละตอนได้อย่างแจ่มชัด ให้เหตุผลที่น่าฟัง  ไม่ตี
	โพยตีพาย  และดูจริงใจในการแสดงความคิดเห็นมาก  ดังนั้นไม่ว่าประวัติศาสตร์ที่
	แท้จริงของช่วงนี้จะเป็นอย่างไร ผู้อ่านต้องตีความเอง   และเมื่อกล่าวในด้านวรรณ
	กรรม งานชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นงานที่น่าอ่านอีกชิ้นหนึ่ง


กลับไปหนังสือประเภทนิยาย