![]() | นิราศหนองคาย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๑๒ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.๒๕๑๖
นายทิม สุขยางค์ (หลวงพัฒนพงศ์ภักดี) |
นิราศหนองคาย เป็นนิราศซึ่ง นายทิม สุขยางค์ หรือหลวงพัฒนพงศ์ภักดีแต่ง ขึ้นขณะที่เขามีอายุเพียง ๒๘ ปี นายทิมได้ทำหน้าที่เป็นทนายหน้าหอของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) โดยได้ติดตามเจ้าพระยามหินทรฯ แม่ทัพไปในกองทัพที่ยกไปหมายจะ ปราบฮ่อ ซึ่งเข้ามาก่อกวนอยู่ทางนครหลวงพระบาง อันยังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ใน สมัยรัชกาลที่ ๕ นิราศหนองคาย เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ช่วยให้เข้าใจความหมายของคำว่า การ ยกทัพ การเกณฑ์ทัพ การพักพล รวมทั้งเส้นทางระหว่างเดินทัพก็ช่วยให้เห็นสภาพบ้านเมือง ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี เพราะนายทิมได้เขียนไว้โดยละเอียด ความเริ่มต้นจากเจ้าพระยามหินทรรับสนองพระบรมราชโองการเตรียมทัพไป ปราบฮ่อเมืองหนองคาย จะช่วยให้คนรุ่นหลัง-ผู้อ่าน ได้ทราบว่าการที่จะออกรบทัพจับศึกกัน คราวหนึ่งๆ นั้นต้องมีการจัดพระยา พระหลวง ขุน ให้เป็นทัพปีกซ้าย ปีกขวาและเป็นทัพหน้า ต้องมีการเกณฑ์เลขสมฉกรรจ์ ต้องเกณฑ์ทาส พวกมูลนายนั้นเล่าใช้ปัญญา ซ่อนทาสไว้เสีย จากการเกณฑ์ทัพ รวมทั้งว่าผู้มีทรัพย์สินเงินทอง สู้จ้างคนแทนตัวกลัวไพร่ นั้นนิยมใช้เงิน จ้างคนออกรบแทนตน พิธีการเคลื่อนพลที่นายทิมแต่งขึ้นมาเล่าใน นิราศนั้นเป็นพิธีการอัน สง่างามยิ่งใหญ่ ดูองอาจ ประสมประสานด้วยพิธีการทางโลกและทางธรรม เสียงโห่ร้องเอา ชัยของทหารกึกก้องท้องน้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมารับกองทัพอยู่ ณ พระตำหนักแพริมน้ำพร้อมเหล่าขุนนางเรือของกองทัพจะเคลื่อนเข้าเทียบ กองทัพปราบฮ่อ เดินทางทั้งโดยทางเรือและทางบก ผ่านเมืองผ่านป่า วันแล้ววัน เล่า เป็นเวลาไปกลับทั้งสิ้นถึง ๘ เดือน ในท่ามกลางสภาพเช่นนั้นเอง นิราศหนองคายได้แสดง ให้เห็นภาพแห่งความลำบากยากแค้นอย่างแท้จริงของกองทหาร ซึ่งต้องทนต่อความหนาวเหน็บ ความหิวโหย ไข้ป่าและฝนหนัก ได้ซาบซึ้งถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายทหารกับพลทหาร ระหว่างทางร่วมรบในชะตากรรมเดียวกัน นายทิมได้ใช้โวหารกวีอย่างธรรมดาที่สุดสำหรับนิราศหนองคาย แต่กลับทำให้เกิด มโนสำนึกถึงกองทัพไทยในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาแต่อดีตซึ่งเคยผ่านสงคราม ไม่ว่าจะเป็นมูล นายหรือไพร่ ทาส ก็ล้วนแต่ได้ผ่านความยากลำบาก ความเสียสละ อดทนมาด้วยกันทั้งสิ้น ดังจะยกความระหว่างเดินทัพผ่านป่าต่อกับเมืองพิมายมาประกอบไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ "ที่ผืนแผ่นดินบางแห่งบ้างแดงล้ำ บ้างก็ดำเหมือนแสร้งแกล้งมุสา บางแห่งเหลืองสีซ้ำดอกจำปา พื้นสุธาบางแห่งขาวไม่ร้าวราน ที่ในดงพงพฤกษ์นึกประหลาด ด้วยอากาศดงร้ายหลายสถาน บางแห่งร้อนบางแห่งเย็นเป็นวิการ บ้างสะท้านจับเท้าหนาวขึ้นมา บ้างครั่นเนื้อตัวร้าวซักหาวนอน บ้างก็ร้อนวิบัติขัดนาสา บางแห่งวิงเวียนหัวมืดมัวตา บ้างจับนาสิกให้ชักไอจาม บ้างก็เหม็นขื่นเขียวเหม็นเปรี้ยวบูด ไม่อาจสูดด้วยว่าจิตนั้นคิดขาม ด้วยอายแร่แต่ดินมักกินลาม ตลอดตามสองข้างหนทางจร อีกอายว่านอายยาในป่าชิด ล้วนมีพิษขึ้นอยู่ดูสลอน ครั้งต้องแสงสุริยาทิพากร กำเริบร้อนด้วยพิษฤทธิ์วิกล อายพื้นดินนำพาให้อาพาธ วิปลาสแรงกล้าเมื่อหน้าฝน ตกแล้งหมาดขาดเหงื่อยังเหลือทน จึงพาคนให้เป็นไข้ได้รำคาญ คนเดินเท้าก้าวหล่มบ้างล้มลุก ช้างเดินบุกหล่มล้าน่าสงสาร เหล่าโคต่างล้าล้มอยู่ซมซาน บ้างวายปราณกลิ้งตายเป็นหลายโค ช้างบุกหล่มบ้างล้มด้วยเต็มล้า ดูก็น่าสมเพชสังเวชโข เจ้าของช้างเสียใจร้องไห้โฮ ว่าพุทโธ่ซื้อมาราคาแพง ที่ช้างใหญ่ไม่สู้ล้ามาติดติด พระอาทิตย์คล้ายบ่ายลงชายแสง คนเดินเท้าอ่อนล้าระอาแรง บ้างย่องแย่งเท้าพุปะทุพอง" (หน้า ๒๑๖-๒๑๘) การเดินทัพของกองทัพจากเมืองหลวงได้ผ่านบ้านผ่านเมืองสำคัญๆ หลายเมือง เช่น อยุธยา สระบุรี สีคิ้ว พิมาย โคราช เป็นต้น ตลอดเส้นทางนี้ นายทิมเขียนนิราศอย่างเปิด เผยและตรงไปตรงมาโดยไม่ปิดบังว่าข้าราชการไม่ว่าในกองทัพหรือหัวเมืองเอารัดเอาเปรียบ รีดไถราษฎรหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงกันด้วยวิธีไหนและอย่างไร นิราศหนองคาย ความจริงเป็นนิราศเล่าเรื่องกองทัพเดินทางไปปราบฮ่อ เมืองหนอง คายแต่ลงท้ายเรื่องกลับตาลปัตรว่า ฮ่อ ที่คอยก่อเรี่องก่อราวเป็นจลาจลอยู่ที่บริเวณหลวงพระ บางและแดนอีสานของไทยนี้ที่แท้ไม่ว่าเป็นใคร หน้าตาเป็นอย่างไรหรือเป็นชนชาติไหนกันแน่ เพราะบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องถูกจับมาด้วยเหตุก่อการไม่สงบนั้น เมื่อสืบสวนเข้าแล้วก็มักกลายเป็น ลาวบ้าง เป็นจีนบ้าง เป็นญวนบ้าง เป็นต้น บ้างก็ไม่รับว่าตนเป็นญวนเลยด้วยซ้ำไป ซึ่งก็ต้อง แปลว่าเป็นลาว ตกลงเป็นใครกันแน่ก็สุดจะรู้ได้ หรือว่าเป็นการจับผิดตัวเสียแล้ว |