สร้อยทอง
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๑๗

นิมิตร ภูมิถาวร
(พ.ศ.๒๔๗๘ - ๒๕๒๔)



		สร้อยทอง เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่ดำเนินเรื่องกระชับปมประเด็น
	ของเรื่องเปิดตั้งแต่บทต้น  พร้อมๆ ไปกับการปล่อยตัวละครสำคัญๆ ออกจากการ
	เริ่มต้นเช่นนี้ เชื้อชวนให้ผู้อ่านใช้จินตนาการเป็น "ผู้ประพันธ์" เรื่องควบคู่ไปด้วย
	ทำให้การอ่านกับการวาดเรื่องในใจปะทะสังสรรค์ระหว่าง 'ผู้ประพันธ์ในกระดาษ' 
	กับ 'ผู้ประพันธ์ในใจ' ความสัมพันธ์นี้มิเพียงแต่จะทำให้เรื่องอ่านสนุก  มีรสมีชาติ 
	ในแง่ของผู้อ่านเท่านั้น  สำหรับในแง่ของผู้เขียนแล้ว ยังเป็นการแสดงชั้นเชิงใน 
	"ล้อ" กับฉบับในใจของผู้อ่านอีกด้วย  กล่าวคือ การกำหนดเรื่องต้องไม่ลอยเตลิด
	ไปตามแรงฝัน  แต่ต้องกำกับให้สมจริง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้เรื่องดำเนิน
	ไปอย่างพื้นๆ อย่างผู้อ่านทั่วๆ ไปคาดการณ์ เดาเรื่องได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะ
	ถ้าเป็นเช่นนั้น เสน่ห์ของการอ่านก็สิ้นสุดลงด้วย

		เนื้อหาของสร้อยทองนั้น อยู่ในลักษณะที่ปิดฉากนั้นๆ ไปในขณะเดียว
	กันก็ "ส่งลูก" ต่อไปให้บทที่ตามมาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละบท จะแบ่งตามฉาก
	เหตุการณ์ และตัวละครที่มีบทบาทหลัก  การแบ่งเนื้อหาทั้งเรื่องเป็นส่วนๆ นั้นมี
	สัดส่วนกะทัดรัดเหมาะสม  การเล่าเรื่องนั้นเนิบนาบ ทำนองเดียวกับความเชื่องช้า
	ในชนบท ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ที่เป็นไปอย่างไม่เร่งรีบ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นหนัก
	หน่วงในความรู้สึกของตัวเอกของเรื่อง  คนที่ไร้อำนาจในสังคม  ปัญหาที่ดูเหมือน
	เล็กน้อยสามารถนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ และรวมสั่งสมจนเป็นเรื่องใหญ่โตได้  เรื่องจึง
	ดำเนินไปเหมือนคลื่นใต้น้ำ ส่วนผิวน้ำที่สังเกตเห็นได้นั้นเรื่อยไหลไปอย่างราบเรียบ  
	น้ำเสียงของผู้เล่าเป็นน้ำเสียงของเรื่องบนผิวน้ำ  เพราะฉะนั้นจึงเป็นน้ำเสียงที่ไม่
	ได้มุ่งจะเร้าอารมณ์เศร้า หรือให้สงสาร  ความจริงแล้วก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็น
	ประจำอยู่แล้วในชนบทไทย  จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้เรียกน้ำตา  แต่ชี้ให้รู้สึกที่จะแก้ไข 
	ส่วนจะรู้สึกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 'ผู้ประพันธ์ในใจ'  ที่จะเล่าให้มโนธรรมของตนเองฟัง
	ด้วยน้ำเสียงอย่างไรและจะแต่งเรื่องต่อไปจากที่นิมิตรได้จบลงแล้วอย่างไร สำหรับ
	ผู้อ่านที่มิได้มีภูมิหลังใกล้เคียง คงมิได้รู้สึกนำตัวเองไปร่วมกับตัวเอก อาจจะเป็น
	ข้อดีที่ผู้อ่านมองจากมุมมอง  ทำให้ครองสติในการพิจารณาได้มั่นกว่า

		สร้อยทอง เริ่มเรื่องเปิดฉากด้วยเสียงขัน อันเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต
	ของ 'สร้อยทอง'  ชื่อนกเขา  ที่เป็นตัวเอกของเรื่องประคบประหงม และจบลง
	ด้วยสภาพไร้เสียงของสร้อยทอง  "สิ้นเสียงขันคู"  ถือได้ว่าเป็นศิลปะของการเปิด
	และปิดเรื่องที่ลงตัว "สร้อยทอง" คือ ตัวดำเนินเรื่อง เพราะมิเพียงแต่เรื่องจะใช้
	ชีวิตของ "สร้อยทอง" เป็นแกนนำดำเนินเรื่องเท่านั้น  การเปิดและปิดเรื่องเช่นนี้
	ยังเป็นข้อกำหนดที่สำคัญระหว่างจุดเริ่มจนจุดจบอีกด้วย  แต่สร้อยทอง ไม่ใช่
	เรื่องของ "สร้อยทอง" โดยตรงแต่เป็นเรื่องพยาธิสภาพของสังคมไทยและระบบ
	ราชการ "สร้อยทอง"  ตกเข้าไปอยู่ในกระแสของอำนาจที่ 'ผู้อยู่ในกรง'  ไม่อยู่ใน
	ฐานะเป็นผู้กระทำแต่ถูกกำหนด  สร้อยทอง จึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ชะตา
	กรรมของนก  เป็นมรณกรรมของมนุษย์

		การที่สร้อยทอง ประกอบไปด้วยตัวละครหลากหลาย  แม้ว่าจะเป็น
	นิยายขนาดสั้น  แต่ในเชิงกลยุทธ์การประพันธ์แล้ว  เป็นเสมือนหนึ่งเป็นการกวาด
	กล้องไปในมุมกว้าง  ทั้งในหมู่บ้านเอง กล้องก็จับไปที่หลายหน้าตาไปจนถึงฉากที่
	อำเภอ  ซึ่งยังให้เสียงพูดแก่ตัวละครรองๆ ลงไปอีก และการที่มี "มากหน้าหลาย
	ตา"  ในเรื่องมิใช่ว่าจะเป็นการเสริมเข้ามาอย่างลอยๆ ตรงกันข้าม  ตัวละครแต่
	ละตัวมีบทบาทในการทำให้เรื่องดำเนินไป หรือจะเรียกว่าแต่ละตัวละครมีส่วน
	เสริมให้ชะตาชีวิตของตัวเอก จบลงอย่างชวนหดหู่ใจอย่างที่เป็น  ทำให้เมื่ออ่าน
	เรื่องตลอดแล้ว  ผู้อ่านอาจจะคิดไปถึงคำถามที่ถกเถียงกันในวิชาสังคมศาสตร์ 
	และมนุษยศาสตร์ที่ว่า  อะไรกำหนดชีวิตของมนุษย์ชะตากรรมของตน  เงื่อนไข 
	สภาพทางสังคม-เศรษฐกิจ  คนแวดล้อมรอบข้างหรือตัวเองเป็นผู้ลิขิต สร้อย
	ทอง เป็นเรื่องตัวอย่างหนึ่งที่ชวนให้คิดได้มาก  เนื่องจากว่าปัญหานี้เป็นปัญหา
	ใหญ่อย่างยิ่ง  เรื่องที่ให้คำตอบง่ายๆ จึงด้อยค่าเชิงความคิด และสร้อยทอง ห่าง
	ไกลจากความง่ายเช่นนั้น


กลับไปหนังสือประเภทนิยาย