![]() |
สันติประชาธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๑๖ โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ |
สันติประชาธรรม เป็นหนังสือรวบรวมบทความและปาฐกถาของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ (ผู้เขียน) ที่เขียนและเคยตีพิมพ์ในระหว่าง ปี ๒๕๑๑ - ๒๕๑๖ แบ่งออกเป็นสี่ภาค คือ ภาคที่ ๑ ประสบการณ์ ภาคที่ ๒ การเมือง ภาคที่ ๓ แด่ ผู้ที่จากไป และภาคที่ ๔ การศึกษา ภาคที่ ๑ ประสบการณ์ ผู้เขียนได้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิตครอบครัวของตัวผู้เขียน สะท้อนให้เห็นภาพครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ สมัยก่อนการเปลี่ยน แปลงการปกครองประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้ง ทางความคิดระหว่างแนวคิดของชาวจีนในเมืองไทยในขณะนั้น ฝ่ายหนึ่งมองจีน เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หมายมั่นว่าจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายใน เมืองจีน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ถือว่า "เกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทย ต้องเป็นไทย ต้องจงรักภักดีต่อไทย" ผู้เขียน นำเสนอข้อคิดในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยการ วิจารณ์ตนเองว่าเคยเป็น "ไทยมุง" ในสมัยเป็นวัยรุ่นจนถึงเป็นนักเรียนนอกก็ยัง วางตนเป็นไทยมุงอยู่ จนเมื่อได้พบ ดร.พร้อม วัชระคุปต์ จึงคิดว่า "เราก็เป็น พลเมืองคนหนึ่ง มีหน้าที่และสิทธิเสรีภาพที่จะร่วมกันกับผู้อื่น บันดาลให้การ ปกครองของบ้านเมืองเป็นไปโดยชอบธรรม" และ "ถ้ารักจะให้ดุลแห่งชีวิตของ ประชาชาติไทยเคลื่อนสูงขึ้นไปโดยไม่ทิ้งเสถียรภาพ ไม่มีทางอื่น ต้องร่วมกัน มากๆ เลิกลัทธิไทยมุง ไทยบ่น ไทยมุงบ่นเสีย ชวนกันย้ายสังกัดเป็นไทยสน ไทยร่วม ไทยเรียกร้อง แล้วไทยจะเจริญ" ลักษณะ ๔ ประการของบ้านเมืองที่ผู้เขียน นำเสนอให้คิด คือ ๑) มี สมรรถภาพ ๒) มีเสรีภาพ ๓) มีความยุติธรรม และ ๔) แผ่เมตตากรุณา ในส่วน ของสมรรถภาพในด้านการปกครอง "หมายความว่า หัวหน้าพรรคการเมืองรู้จักวิธี เป็นผู้นำลูกพรรค มือสะอาดพอที่จะป้องกันมิให้ลูกพรรคขู่กรรโชกได้ และแม้จะ ประสบลูกพรรคที่เลว ก็สามารถขจัดอุปสรรคได้ โดยไม่ละทิ้งหลักการ เสรีภาพ ยุติธรรม และเมตตากรุณา" ภาคที่ ๒ การเมือง เรื่องเด่นในภาค คือ "จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ" ซึ่งผู้เขียนเขียนไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ หลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญ นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบบเผด็จการทหารอีกครั้ง เมื่อเดือน พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ขณะนั้นผู้เขียนเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ผู้ เขียนเขียนออกมาในรูปจดหมายส่งถึงจอมพลถนอม ใช้ท่วงทำนองวรรณศิลป์ อุปมาอุปมัย อย่างนิ่มนวล แต่เนื้อหาหนักแน่นเป็นแก่นสาร คัดค้านการยึดอำนาจ และเรียกร้องให้คืนรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ "ตั้งแต่ผมรู้จักพี่ทำนุจนรักใคร่นับถือเป็นส่วนตัวมาก็กว่ายี่สิบปี ผม ได้ยินอยู่เสมอว่าพี่ทำนุ (และคณะ) นิยมเสรีประชาธรรม...ผมก็ยินดีด้วยอย่างจริง ใจ...สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเรา ก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ ผมว่าอะไรไม่ร้ายแรงเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมี ผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา...ถ้าหมู่บ้านของเรา มีแต่การใช้อำนาจ ไม่ใช้สมองไป ในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มา จนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ว่า เส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และ เวลาหลับตานั่นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ..." (หน้า ๕๔-๕๕) และให้แนวทางไว้ว่า "ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือ ความสามารถที่จะ เปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา ถ้าเราทำได้ เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชน ของเราอย่างเหลือหลาย...ผมจึงขอเรียนวิงวอน ให้ได้โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้าน ขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด..." (หน้า ๕๖-๕๗) ในภาคนี้มีบันทึก "ประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี" ซึ่งได้ขยายความ แนวคิดสันติประชาธรรมอย่างละเอียด "ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชา ธรรม นอกจากสันติวิธี" (หน้า ๕๙) "การใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกัน เพื่อประชาธรรมนั้น แม้จะ สำเร็จ อาจได้ผลก็เพียงชั่วครู่ชั่วยาม จะไม่ได้ประชาธรรมถาวร เมื่อฝ่ายหนึ่ง ใช้อาวุธแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ ก็ย่อมคิดใช้อาวุธโต้ตอบ เมื่ออาวุธปะทะกันแล้ว จะรักษาประชาธรรม ไว้ได้อย่างไร ตัวอย่างมีทั่วไปใน อาฟริกา เอเซีย อเมริกา ใต้ และผู้ที่สมคบกันใช้อาวุธแสวงอำนาจนั้น ภายหลังก็มักจะแตกแยกกันเพราะ ชิงอำนาจกัน ใช้อาวุธต่อสู้ซึ่งกันและกันอีก ไม่มีที่สิ้นสุด" (หน้า ๕๙-๖๐) "สันติวิธี เพื่อประชาธรรมนั้น เมื่อใช้กับฝ่ายที่มีอาวุธ ก็ไม่แน่ว่าจะ กระทำได้สำเร็จ และแม้จะสำเร็จก็ต้องใช้เวลานาน เช่น มหาตมคานธีใช้กับ อังกฤษต้องระกำลำบาก ต้องมานะอดทนเด็ดเดี่ยว ต้องอาศัยความกล้าหาญ มากกว่าผู้ที่ใช้อาวุธ เพราะมือเปล่าต้องเผชิญกับอาวุธ" (หน้า ๖๐) บันทึก "ปัญหาสังคมไทย" ซึ่งได้ถูกรวมอยู่ในภาคนี้ เป็นบันทึก การตอบคำถามแปดข้อ ต่อสถานการณ์ในปี ๒๕๑๖ ก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕ ๑๖ เพียงครึ่งปี และบันทึกการเดินทางกลับกรุงเทพฯ ของผู้ เขียนเอง ระยะสั้นเพียง ๑๐ วัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ ภาคที่ ๓ แด่ผู้ที่จากไป เป็นส่วนที่ผู้เขียน เขียนไว้อาลัย บุคคลที่น่านับถือหกคนที่สิ้น ชีพตักษัย หรือเสียชีวิตในช่วงปี ๒๕๑๑-๒๕๑๕ ซึ่งประกอบด้วย หม่อมเจ้า สิทธิพร กฤดากร, พลตำรวจเอกอดุล อดุลเดชจรัส, เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์, นายสมบูรณ์ เหล่าวานิช, นายพร้อม วัชระคุปต์, และนายขำ พงศ์หิรัญ ลีลา ในการเขียนคำไว้อาลัยของผู้เขียนนั้น เขียนแทบไม่ซ้ำแบบกัน เช่น กรณีของ ท่านสิทธิพร ผู้เขียนเขียนว่า "วันนี้ชาติไทยจนลงไปถนัด ชาวไร่ชาวนาจนลง ถนัด ลูกชาวไร่ชาวนาจนลงถนัด นักศึกษาและนักเกษตรจนลงถนัด นัก เศรษฐศาสตร์จนลงถนัด ท่านทั้งหลายกับผมจนลงถนัด เพราะขาดท่านสิทธิ พร" ส่วนของ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส เป็นการท้าวความถึงเหตุ การณ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และสดุดี ขำ พงศ์หิรัญ "ราษฏร สามัญ" ว่าเป็น "ผู้ที่ควรแก่การยกย่องนับถือ ผู้ที่ควรแก่การยกย่องและ เคารพ คือ ผู้ที่ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม มิใช่ผู้ที่ทรงอำนาจ แต่ไร้คุณธรรม" เป็นต้น ภาคที่ ๔ การศึกษา บทความหลักในภาคนี้ คือ "ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย" ซึ่ง สะท้อนความเห็นของผู้เขียนเอง ในประเด็นประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย "หมายความว่า นิสิตนักศึกษามีโอกาสได้แสดงความเห็นโดยเสรี เกี่ยวกับหลักสูตรหรือการสอนการวิจัยในมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพหรือบริการนักศึกษา นักศึกษาควรได้มีสิทธิออกความ เห็นอภิปรายพร้อมด้วยเหตุผล เมื่อมีข้อบังคับออกมา นักศึกษาควรได้รับการ ชี้แจงให้เข้าใจถ่องแท้ และมีโอกาสออกความเห็นได้โดยไม่ถูกลงโทษหรือหวาด เกรงการลงโทษ มีการเลือกตั้งโดยนักศึกษาเอง ให้นักศึกษาเป็นผู้แทน เป็น กรรมการสโมสร และกรรมการสวัสดิการนักศึกษาเหล่านี้ เป็นต้น" (หน้า ๑๑๔) บทความที่น่าสนใจรองลงมาคือ "เรียนเพื่อสอบ หรือสอบเพื่อเรียน หรือ เรียนเพื่อเรียน" โดยผู้เขียน ได้เขียนสรุปว่า "แต่ถ้าเป็นผม ใครมาสบประมาทว่า ถ้าไม่สอบแล้วไม่ควรเรียน ผมจะยอมไม่ได้ เพราะเรามามหาวิทยาลัย พ่อแม่ หรือ ผู้อุปการะให้ทุน (ใน กรณีของผม ประชาชนทั้งประเทศ - ผู้เขียนได้ทุนของรัฐบาล) หวังว่าจะให้ มาเรียน คติที่พึงยึดถือ คือ ถ้าไม่เรียนก็อย่าสอบ ไม่ใช่ถ้าไม่สอบก็อย่าเรียน" (หน้า ๑๒๖) บทเรียนที่เขียนจากชีวิตจริงของ ผู้เขียนถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง อีก ๓ บท คือ "Labor Omnia Vincit" "ฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอามากระเดียด" และ "เรียนให้เก่ง" ทั้งยังมีบทความสั้นๆ ๔ เรื่อง ที่เกี่ยวกับการศึกษาเศรษฐ ศาสตร์ และการมีส่วนในการพัฒนาวิชานี้ของ ผู้เขียน คือ "เศรษฐศาสตร์จง เจริญ" "รายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ ๒๕๑๑-๒๕๑๒" "คณะเศรษฐศาสตร์ ในปีการศึกษา ๒๕๑๓" และ "ตีกใหม่เศรษฐศาสตร์" |