พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๑

สุชีพ ปุญญานุภาพ
(พ.ศ. ๒๔๖๐ - )



		พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา จัดแบ่งเป็น 
	๓ ปิฎก ดังนี้
		๑. วินัยปิฎก   ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
		๒. สุตตันตปิฎก   ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป
		๓. อภิธัมมปิฎก    ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะที่สำคัญ

		นอกจากพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังจัดเป็น
	เอกสารหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และนับเนื่องเป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา
	ด้วย เป็นที่มาหรือบ่อเกิดวรรณคดีไทย และแรงบันดาลใจทางศิลปกรรมแขนงอื่น 
	ตลอดจนมีผลต่อสังคมทางด้านหลักความเชื่อ และศีลธรรมจรรยากระนั้น พระไตรปิฎก
	บันทึกด้วยภาษามคธหรือภาษาบาลี แม้จะมีฉบับแปลเป็นภาษาไทย ยังเป็นการยากแก่คน
	ทั่วไปจะศึกษาโดยสะดวก เพราะความจำกัดทางความรู้ภาษามคธหรือภาษาบาลี  รวมทั้ง
	ธรรมะที่แปลเป็นไทยแล้ว ก็มีส่วนยากแก่การทำความเข้าใจ  ประกอบกับมีขนาดความ
	ยาวมาก  การศึกษาพระไตรปิฎกในทางปริยัติหรือทางทฤษฎี จึงจำเป็นต้องมีครูอาจารย์
	ผู้รู้ช่วยอธิบายหรือแนะนำ เช่นเดียวกับการประสานการปฏิบัติธรรมพึงมีกัลยาณมิตร

		ด้วยเหตุนี้ เมื่อสุชีพ ปุญญานุภาพจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน 
	จึงควรอนุโมทนาอย่างยิ่ง เป็นความเอื้อเฟื้อแก่พระศาสนาอย่างสำคัญ และเป็นสื่อการ
	ศึกษาที่เหมาะแก่สมัย  ก่อประโยชน์ทั้งพุทธบริษัทอีกทั้งบุคคลเหล่าอื่น  ที่พึงประสงค์
	ศึกษาพระไตรปิฎกจากเอกสารภาษาไทย มิเพียงถือว่าได้สืบพระศาสนาตามคติดั้งเดิม 
	การสร้างสรรค์งานสำคัญนี้นับเป็นการเพิ่มพูนสมบัติวรรณกรรมไทยด้วย

		เนื้อหาพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน ครอบคลุมสาระความรู้ ตามพระ
	ไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ๔๕ เล่ม ครบถ้วนทั้งวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก 
	แม้จะมีวลีขยายความชื่อหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชนว่า "ย่อความ จาก
	พระไตรปิฎก ฉบับบาลี ๔๕ เล่ม"  แท้ที่จริงหนังสือเล่มนี้จัดทำส่วนย่อความไว้ส่วนหนึ่ง
	ของหนังสือ คือ เป็นภาคที่ ๔ จากการจัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นห้าภาค ภาคอื่นๆ นั้นล้วน
	มีความสำคัญต่อการศึกษาพระไตรปิฎก และทำให้บรรลุความมุ่งหมายของการจัดทำ
	หนังสือเล่มนี้ อันมุ่งหวังให้ประชาชนผู้อ่านเกิดประโยชน์ รวม ๔ ประการ

		๑.  รู้ความหมายและความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก
		๒.  รู้เรื่องที่น่าสนใจ  เพื่อให้เห็นแนวคำสอนทางพระพุทธศาสนา
		๓.  รู้ความย่อในพระไตรปิฎกแต่ละเล่ม ทั้ง ๔๕ เล่ม เป็นการย่อที่พยายาม
	ให้ได้สาระสำคัญ
		๔.  สามารถศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ไทย  เพื่อทราบความเป็นมาแห่ง
	พระไตรปิฎกในไทย ซึ่งรวบรวมเพื่อให้ค้นสะดวก ไม่กระจัดกระจาย
	
		ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้จัดทำหรือผู้สร้างพระไตรปิฎกฉบับสำหรับ
	ประชาชน จึงกำหนดเนื้อหาเพื่อจัดทำแบ่งในการนำเสนอตามลำดับ รวมห้าภาคซึ่งขอ
 	กล่าวโดยย่อดังนี้	

		ภาคที่ ๑ ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  พระไตรปิฎกคืออะไร  ประวัติการ
	สังคายนา  ลักษณะของการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระ
	พุทธศาสนา
		ภาคที่ ๒ ว่าด้วยเอกสารทางประวัติศาสตร์  เริ่มจากพระไตรปิฎกฉบับ
	พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์  ถึงรายงานการสร้างพระไตรปิฎก
	สมัยรัชกาลที่ ๗ 
		ภาคที่ ๓ ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
		ภาคที่ ๔ ความย่อแห่งพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี ที่จัดทำย่อเป็นภาษา
	ไทย
		     * พระวินัยปิฎก  ตั้งแต่เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๘
		     * พระสุตตันตปิฎก  ตั้งแต่เล่ม ๙ ถึงเล่ม ๓๓ รวม ๒๕ เล่ม
		     * พระอภิธัมมปิฎก   เล่ม ๓๔ ถึงเล่ม ๔๕  รวม ๑๒ เล่ม
		ภาคที่ ๕ ว่าด้วยบันทึกทางวิชาการ
	
		การเลือกรูปแบบของการนำเสนอที่ดีเหมาะแก่เนื้อหาเพียงใดนั้น ประการ
	สำคัญคือความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่ดี มีความสละสลวยเข้าใจง่าย  ทั้งนี้อาศัย
	กลวิธีการนำเสนออย่างมีวิจารณญาณอีกเช่นกัน  กล่าวคือ ยึดหลักทำให้ง่ายเป็นพื้น
	ฐาน  ครั้นความจำเป็นทางวิชาการดังกรณีศัพท์บัญญัติเป็นภาษาธรรมะต้องคงไว้ ก็
	ช่วยผู้อ่านให้เข้าใจง่ายขึ้นผ่านวิธีต่างๆ เช่น คงรูปศัพท์ไว้หากแปลหรือทำคำอธิบาย
	กำกับ  บางกรณีทำเชิงอรรถ เป็นต้น
	
		เนื้อความตามพระไตรปิฎกฉบับบาลีมีขนาดความยาว ถ้าจะแปลทั้งหมด
	ย่อมซ้ำซ้อนกับพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยที่มีแล้ว  เพื่อรักษาประโยชน์การศึกษาได้
	ในเวลาจำกัด  จึงย่อเป็นภาษาไทยให้สั้นลง  เว้นแต่วินิจฉัยว่าสูตรนั้นหรือข้อความ	
	บางตอนน่าสนใจก็เลือกแปลเฉพาะความบางตอนที่ควรแปล และเพื่อประโยชน์ใน
	การศึกษาประกอบหรือศึกษาเพิ่มเติม หากผู้อ่านสนใจก็ดีหรือเพื่อแสดงหลักฐาน
	ควรเชื่อถือ  หรือเพื่อตการตรวจสอบสะดวกขึ้นก็ดี  การนำเสนอที่ถือเป็นจุดเด่น
	อีกอย่างหนึ่งของท่านผู้จัดทำ นั่นคือการอ้างอิงหลักฐานชัดแจ้ง
	
		องค์ประกอบอื่นที่เกื้อกูลการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือโดยสะดวกขึ้น
	หนังสือเล่มนี้จัดทำแผนภูมิพระไตปิฎกในรูปสารบัญ  นอกจากสารบัญที่มีตามปกติ 
	และจัดทำแผนผังพระไตรปิฎก แผนผังพระวินัยปิฎก แผนผังพระสุตตันเตปิฎก 
	และแผนผังพระอภิธัมมปิฎก  รวม ๔ แผนผัง  สำหรับท้ายเล่มจัดสารบัญ ค้นคำ
	เป็นอีกส่วนหนึ่ง เรียงลำดับอักษร  ดังอาจเรียกตามความนิยมทั่วไปว่าดัชนีค้นคำ
	นั่นเอง
		
		อนึ่ง ภาคที่ ๕ ว่าด้วยบันทึกทางวิชาการ แม้จะมิใช่เป็นการย่อความพระ
	ธรรมวินัย แต่เป็นการแสดงข้อคิดเห็นทางความรู้ที่น่าสนใจ  ทั้งเรื่องการแปลการ
	พิเคราะห์เอกสารหลักฐานที่อาจจะแปลกันผิดในบางส่วนมาก่อน  หรือบางเรื่องเป็น
	การสำรวจตรวจสอบทำให้เกิดความรู้ใหม่  เช่น พระสาวกผู้ใหญ่หรือที่เรียกว่าพระ
	อดีตมหาสาวกทั้ง ๘๐ ประกอบด้วย  พระอริยบุคคลมิใช่ลำพังพระภิกษุ  หากครบ
	ถ้วนในพุทธบริษัททั้ง ๔
	
		คุณค่าของหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชนเล่มนี้ นอกจาก
	ทำพระไตรปิฎกให้ง่ายเหมาะแก่ประชาชนแล้ว  ยังนำประชาชนสู่พระไตรปิฎก คือ
	สร้างนิสัยปัจจัยจากฉบับนี้  สู่การมีฉันทะต่อการศึกษาปฏิบัติให้ลึกซึ้งขึ้น เข้าถึง
	ธรรมสำหรับการดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท เช่น ข้อความที่แปลถึงฐานะ ๕ ที่
	ควรพิจารณาเนื่องๆ คือความธรรมดาที่บุคคลไม่ล่วงพ้นไปได้ทั้งความแก่ ความ
	เจ็บไข้ ความตาย การต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง และมีกรรม
	คือ การกระทำกับผลแห่งการกระทำเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม เป็นต้น

		คุณค่าบางกรณีเป็นคุณค่าในทางหลักการ เช่น หลักการเพื่อวินิจฉัยว่า
	ธรรมะใดเป็นธรรมะทางพระพุทธศาสนา และสิ่งใดมิใช่ธรรมะทางพระพุทธศาสนา 
	เช่น เรื่องลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ เป็นต้น  กล่าวโดยรวม คุณค่า
	จากพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน นอกจากมีคุณลักษณะต่างๆ ดังกล่าวมา
	แต่ต้น  ยังเป็นประโยชน์แก่ปัจเจกขนและมหาชน  ตลอดจนสถาบันการศึกษา และ
	ต่อสถาบันพระศาสนาอย่างยิ่ง


กลับไปหนังสือประเภทศาสนา, ปรัชญา