พระยาอนุมานราชธน

	เสฐียรโกเศศ เป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๔ 
ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๒ สิริรวมอายุ ๘๐ ปี 
๖ เดือน เป็นบุตรนายหลีหรือมะลิกับนางเฮียะ มีนามเดิมภาษาจีนว่า หลีกวงหยง เปลี่ยนชื่อ
เป็น ยง ในเวลาต่อมา  และรับพระราชทานนามสกุล จากรัชกาลที่ ๖ ว่า เสฐียรโกเศศ  ภาย
หลังจึงเปลี่ยนนามสกุลเป็น  อนุมานราชธน  ตามบรรดาศักดิ์ที่ท่านรับพระราชทานในราชทิน
นามเดียวกัน โดยลำดับบรรดาศักดิ์ต่างๆ กันจากขุน หลวง  พระ และพระยาอนุมานราชธน

	เข้าเรียนอัสสัมชัญ พ.ศ.๒๔๔๓  เล่าเรียนจบชั้น ๔ พอขึ้นชั้น ๕ ก็ออกจากโรง
เรียน ทั้งนี้ครอบครัวมีฐานะไม่ดี  รวมทั้งมีพี่น้องหลายคน และพระยาอนุมานราชธนเป็นบุตร
คนโต กระนั้น ท่านกลับศึกษานอกระบบโรงเรียนและศึกษาตลอดชีวิต ด้วยมีนิสัยรักความรู้ 
กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของไทย  ชีวิตการงานเริ่มจากฝึกหัดผสมยาที่โอสถ
ศาลาของรัฐบาล  เมื่อมิได้รับเบี้ยเลี้ยง จึงลาออกมาทำงานโรงแรมโอเรียนเต็ล ได้เงินเดือนๆ 
ละ ๖๐ บาท ทำได้ไม่ถึงปี จึงลาออก  เมื่อกรมศุลกากรรับสมัครเสมียน เงินเดือนๆ ละ ๕๐ 
บาท ทั้งนี้เพื่อมีเวลาพักผ่อนมากกว่าและรับยกเว้นเกณฑ์เข้าเป็นทหาร  ที่กรมศุลากร พระยา
อนุมานราชธนได้พบนายนอร์แมน แมกสแวล  ผู้เป็นทั้งหัวหน้าและครูผู้สอนภาษาอังกฤษให้
พระยาอนุมานราชธนจนแตกฉาน

	ชีวิตข้าราชการของพระยาอนุมานราชธนในกรมศุลกากร มีความเจริญก้าวหน้า
เป็นลำดับ ได้เป็นพระยาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗  ขณะมีอายุ ๓๖ ปี  แต่กลับมาสิ้นสุดลง พ.ศ.
๒๔๗๖ ถูกปลดฐานรับราชการนาน  ความจริงเป็นผลจองการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕  
คณะผู้มีอำนาจใหม่ระแวงพวกข้าราชการเก่า ต่อมาหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร 
จึงชวนเข้ารับราชการในกรม  เป็นหัวหน้ากองศิลปวิทยา มีตำแหน่งต่ำกว่าเดิม  ด้วยความรู้
ความสามารถและคุณธรรม พระยาอนุมานราชธนจึงได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น และดำรงตำแหน่ง
อธิบดีกรมศิลปากร โดยที่หลังจากนั้นรับการต่ออายุราชการในตำแหน่งหลายครั้ง  ตราบจน
เกษียณอายุราชการในที่สุด  นอกจากงานประจำตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร  ที่ทำคุณประ
โยชน์แก่ศิลปวัฒนธรรมเป็นเอนกประการแล้ว ยังเป็นผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสำคัญ
ทางวิชาการหลายคณะ ทั้งเป็นศาสตราจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย  ชีวิตส่วน
ตัวนั้น  ท่านสมรสกับคุณหญิงละไม มีบุตรธิดารวม ๙ คน ในด้านผลงานนิพนธ์  พระยา
อนุมานราชธนมีงานศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงจำนวนมาก  งานที่ร่วมกันแปลกับกัลยาณมิตร
ของท่าน คือ คุณพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)  งานนั้นจะใช้นามปากกาแฝดว่า 
เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป


กลับไปผู้แต่งประเภทนิยาย