ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม

	ดิเรก ชัยนาม เกิดเมื่อ ๑๘ มกราคม ๒๔๔๘  ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรของ
พระยาอุภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) และนางแช่ม  ได้รับการศึกษาทางกฎหมาย ได้รับ
ปริญญา น.บ.ท. จากโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งสมัยนั้นสังกัดกระทรวงยุติธรรม ได้เริ่มอาชีพ
ในวงการราชการก่อนช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕  เล็กน้อย และสัมพันธ์
กับคณะราษฎรหลายคน  ตลอดชีวิตราชการนับว่าเป็นทั้งข้าราชการประจำและการเมืองที่
โดดเด่นคนหนึ่ง ปัจจุบัน "ดิเรก ชัยนาม" ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องกันทั้งใน
วงการเมืองในประเทศและต่างประเทศ ในฐานะนักการทูตที่เยี่ยมยอดที่สุดคนหนึ่งของไทย 
ซึ่งทำงานในด้านนี้เด่นหลายตำแหน่ง  หน้าที่ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ  และว่าการกระทรวง
การต่างประเทศในหลายคณะรัฐมนตรี ทั้งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อสงคราม
โลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง นับตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และภายหลังสงคราม
ก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งของรัฐบาล ดร.ปรีดี พนม ยงค์ และ
รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  ในฐานะเอกอัครราชทูตไทยก็ประจำพระราชสำนัก
ญี่ปุ่นในระยะต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำ
สำนักเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอนในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ซึ่งต้องมีภาระหนักมาก 
ทั้งในการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบที่รัฐบาลบริติช พยายามบังคับให้ผู้แทนรัฐบาล
ไทยลงนาม  จนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามามีอิทธิพลแทนที่บริเทนสมัยก่อนสงคราม
โลกครั้งที่สองต้องแทรกแซง ต่อมาในท้ายของชีวิตราชการประจำเป็นเอกอัครราชทูตประจำ
กรุงบอนน์

             นอกเหนือจากงานด้านการต่างประเทศอันเป็นหลักแล้ว ก็ยังเคยดำรงตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กระทรวงยุติธรรม เป็นคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์คนแรก และตำแหน่งงานด้านอื่นๆ อีกเมื่อสมัยวัยหนุ่ม เช่น เลขาธิการคณะ
รัฐมนตรี (รักษาการ) อธิบดีกรมร่างกฎหมาย ฯลฯ

              มีผลงานเขียนตีพิมพ์มากมาย เช่น การทูต (๒๔๘๙)  ประวัติการปกครอง
(๒๔๙๑)  ประวัติศาสตร์ตะวันออกไกล (๒๔๙๔)  รัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (๒๔๙๔- 
๒๔๙๕)  ชุมนุมปาฐกถา (๒๕๐๑) รวมปาฐกถาชุดใหม่ (๒๕๐๗)  รวมปาฐกถาชุดล่าสุด 
(๒๕๑๒)  ซึ่งแสดงถึงเป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้และขอบเขตความสนใจที่หลากหลาย
กว้างขวาง ตั้งแต่เรื่องการต่างประเทศที่ถนัดแล้ว ก็สามารถแสดงปาฐกถาในเรื่องต่างๆ 
ได้อีกมาก เช่น "พระพุทธศาสนากับเสรีภาพ"  "ปัญหาพัฒนาการ" "การพัฒนาเศรษฐกิจ
ระหว่างประเทศ" จนถึง "งานอดิเรก"  ซึ่งเกี่ยวกับหนังสือที่ชอบแสดงถึงทั้งความเป็น
นักอ่าน นักเขียน และนักแสดงปาฐกถา แนวหน้าคนหนึ่งของไทยในช่วงสงครามโลกครั้ง
ที่สอง จนถึงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐


กลับไปผู้แต่งประเภทการเมือง, เศรษฐศาสตร์, ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย