สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาท สมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กับหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๘
เมษายน พ.ศ.๒๔๐๖ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๐ สิริรวมพระชันษา ๘๓ ปี
๑๐ เดือน ๑๒ วัน มีพระเชษฐภคินีร่วมครรโภทร คือ พระองค์เจ้าหญิงกรรณิกาแก้ว เมื่อ
แรกพระประสูติรับพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ขณะเจริญพระชันษาได้
เพียง ๕ ขวบ รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต จึงรับพระบรมราชานุเคราะห์จากพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐาทรงชุบเลี้ยงต่อไป
การศึกษาเริ่มในพระบรมมหาราชวังจนมีความรู้อักษรสมัย ต่อจากนั้นทรงศึกษาที่
โรงเรียนทหารมหาดเล็ก มีพระทัยจดจ่อกับงานศิลปะจึงรับสนองพระมหากรุณาธิคุณที่โปรด
ให้เขียนรูปถวายเนืองนิจ พระชันษา ๑๓ ปี ทรงผนวชเป็นสามเณร ประทับวัดบวรนิเวศฯ
ครั้งทรงลาผนวชจึงทรงศึกษาวิชาทหารและรับราชการทหารต่อมา ครั้น พ.ศ.๒๔๒๓ ใกล้
ครบ ๑๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงเป็นนายช่างอำนวย
การซ่อมหอพระ ขณะพระชนม์ ๑๗ พรรษา รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณได้เรียบ
ร้อย พอพระชนม์ ๒๐ พรรษา จึงได้รับพระราชทานวังเก่าท่าพระให้เป็นที่ประทับ พ.ศ.๒๔๒๗
ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ มีความเลื่อมใสจนต้อง "ขอให้สึกออกมาช่วยกันทำราชการ" พ.ศ.
๒๔๒๘ ทรงกรมครั้งแรกเป็นกรมขุน พ.ศ.๒๔๓๐ ทรงรับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้า คือ เจ้า
ฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงศ์
หน้าที่ในราชการ เมื่อตั้งกรมโยธาธิการ พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงเป็นเสนาบดี พระองค์
แรกของกระทรวง เป็นมูลเหตุให้เจ้านายพี่น้องทรงล้อเรียกกันว่า "นายช่างใหญ่แห่งกรุง
สยาม" ภายหลังเป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง, กระทรวงกลาโหม ทรงเป็นผู้บัญชาการกรม
ยุทธนาธิการ, ผู้บัญชาการทหารเรือ แล้วกลับเป็นมาเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นต่อ
มาเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง ความชำนาญในการช่างและเชี่ยวชาญทางศิลปะ เมื่อเลื่อนกรม
สูงขึ้น พระนามกรมที่รับพระราชทานจึงประกาศถึงความเชี่ยวปรีชาในศิลปะหลายแขนง รับ
พระราชทานเลื่อนกรมสูงสุดเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาฯ
การส่วนพระองค์ ทรงมีชายาคนแรก คือ ม.ร.ว.ปลื้ม ศิริวงศ์ มีพระธิดา ด้วย
กันหนึ่งองค์ ครั้นชายาคนแรกถึงแก่กรรม จึงได้หม่อมมาลัย เศวตาร์เป็นพระชายามีโอรส
สององค์ ต่อมาหม่อมมาลัยถึงแก่กรรม จึงได้ ม.ร.ว โต เป็นชายา มีพระโอรสธิดาด้วยคราว
นี้ เป็นชายหนึ่งหญิงห้า
ผลงานฝีพระหัตถ์ ทางช่างทรงเป็นเอกในการออกแบบงานมัณฑนศิลป์ เช่น พัด
เครื่องสังเค็ด เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯลฯ ทางจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มี ภาพสีน้ำมันประกอบ
พงศาวดาร, ภาพลายเส้น งานประติมากรรม ทรงออกแบบพระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๑ เชิง
สะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปั้นขยายแบบ นอกนั้นทรงออกแบบ
พระพุทธรูป เช่น พระพุทธไสยา วัดราชาธิวาส เป็นต้น ในทางดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลง
เขมรไทรโยค เช่นเดียว ในทางละครทรงริเริ่มละครดึกดำบรรพ์ ในทางสถาปัตยกรรมได้
ทรงออกแบบพระเมรุมาศ, อุโบสถวัดเบญจมบพิตร เป็นต้น