ดูความสำเร็จของงานเทคโนโลยีเพื่อการศึกษากันที่ไหนดี ?
พินิจ พันธ์ชื่น
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 9 ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีข้อความที่ระบุชัดแจ้ง ถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งในมาตรา 63 64 และ 65 ดังนี้
มาตรา 63 รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น
มาตรา 64 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่น วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
มาตรา 65 ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ
จะเห็นได้ว่าตามมาตรา 63 นั้นเป็นเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาทุกรูปแบบ รวมทั้งเพื่อทะนุบำรุงศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องติดตามดูกันต่อไปว่าจะเป็นจริงได้สักแค่ไหน เพราะพลังอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลที่มีอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนนั้น ไม่ธรรมดา
สิ่งที่น่าสนใจติดตามอีกด้านหนึ่งก็คือผลอันเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรา 64 และ 65 โดยในมาตรา 64 นั้น เน้นที่การพัฒนาและการผลิตสื่อเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้ในทางการศึกษา ผลที่จะตามมาก็คือเราจะได้เห็นสื่อและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หลั่งไหลเข้าสู่สถานศึกษามากยิ่งขึ้น ภายใต้เหตุผลที่สวยงามต่างๆ นานา และลงท้ายด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 64 ดังกล่าวข้างต้น
ในแง่ของปริมาณ ความสำเร็จของงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาคงดูได้ไม่ยาก เพียงตรวจนับจำนวนเครื่องมือและสื่อต่างๆ ว่ามีเพียงพอและมีอัตราส่วนที่เหมาะสมกับอาจารย์และนักศึกษาหรือไม่ ซึ่งก็จะมีมาตรฐานที่เป็นสากลเป็นตัวเทียบอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วงว่าเราจะล้าหลังไม่มีข้าวของที่จำเป็นไว้ใช้ เพราะการผลักดันให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง คงมีมาจากหลายทิศทาง ทั้งด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติและเหตุด้วยผลแอบแฝงในเชิงผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ แต่ปริมาณหรือจำนวนของสื่อหรือเครื่องมือที่มีใช้ ไม่น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของความสำเร็จในด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
เมื่อพิจารณาตามมาตรา 65 จะเห็นได้ชัดว่ามุ่งเน้นการพัฒนาที่ตัวบุคคล ทั้งในส่วนของการผลิตและการใช้เทคโนโลยี ข้อความสำคัญในวรรคสุดท้ายที่ว่า
รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะถ้ามองย้อนอดีตเรามักจะขาดเรื่องสำคัญ คือ การพัฒนา คน ให้ทันกับ ของ ทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ในระบบเทคโนโลยีต่างๆ เป็นของเล่นของคนกลุ่มหนึ่งไปโดยอัตโนมัติ เหตุก็เพราะไม่ได้สนใจอย่างจริงจังกับการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ ของ ที่มีให้คุ้มค่าที่สุดนั่นเอง เทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องอะไรบางอย่างที่ แพง และเปลี่ยนแปลงเร็วตามเงื่อนไขของระบบทุนนิยมและกระแสแห่งวัตถุนิยม ทั้งยังเป็นดาบหลายคมที่อาจสร้างความลุ่มหลง เหลวไหล เป็นของเล่นที่ผลาญเวลาได้มากที่สุด ส่งเสริมความมักง่าย ความเห็นแก่ตัวและการคดโกง แถมด้วยเป็นเครื่องเร่งความเป็นทาส ขาดความเป็นไทยได้มากยิ่งขึ้นด้วยในทางกลับกันเราก็มีสิทธิ์ผลักดันให้เทคโนโลยี เป็นเครื่องส่งเสริมความ ฉลาดรู้ และ ปรีชาสามารถ ให้เกิดมีขึ้นในผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน
ทั้งนี้เทคโนโลยีจะต้องได้รับการพัฒนา ปรับเปลี่ยนและนำมาใช้อย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการในทุกๆด้าน และสนองตอบต่อกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ ของทั้งอาจารย์และนักศึกษา
แล้วจะดูความสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีได้อย่างไร
การมีข้าวของเครื่องใช้มาก ๆ แต่ไม่ได้ใช้ ย่อมแสดงออกซึ่งความล้มเหลวอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ควรเผลอดีใจ เพียงแค่เห็นมีคนไปสัมผัส และใช้งานเครื่องมือเทคโนโลยีกันบ่อยๆ ควรตามดูต่อไปด้วยว่าเขาใช้ทำอะไร มีผลออกมามีคุณค่า มีประโยชน์อย่างไรบ้าง มีประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเสนอ เพื่อพิจารณาดังนี้
ผู้เรียนต้องแสดงออกให้เห็นได้ว่า เข้าใจการทำงานและการใช้งานอุปกรณ์ในระบบเทคโนโลยีเป็นอย่างดี
ผู้เรียนต้องเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยี กับเรื่องราวทางจริยธรรมและวัฒนธรรม และใช้สื่อต่างๆ ในระบบเทคโนโลยี อย่างมีคุณธรรมและด้วยความรับผิดชอบ
ผู้เรียนต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเสริมสร้างการเรียนรู้ เพิ่มผลผลิตของงานในสาขาวิชาชีพ สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณะได้
ผู้เรียนต้องใช้เทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับผู้เชี่ยวชาญและบุคคลทั่วไปได้ดี สามารถใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ เพื่อสื่อสารความรู้และความคิดสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เรียนควรได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อบ่งชี้ รวบรวม และประเมินข่าวสาร ข้อมูลจากแหล่งต่างๆได้ และสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องประมวลผลข้อมูล และนำเสนอรายงานได้ รวมทั้งรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ให้เหมาะสมกับงาน
ผู้เรียนสามารถใช้ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยี ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ และใช้เทคโนโลยีพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหา ที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้
ถ้าหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ผู้สอน ได้คอยติดตามดูแลและ
วางเงื่อนไข ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีตามแนวทางที่กล่าวมา เชื่อว่าจะทำให้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า มีความหมายและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อีกมาก อย่างแน่นอน