![]() |
ค.
หมวดหน่วยงาน/องค์กร 1. ศูนย์ครูพระปริยัตินิเทศก์ หมายถึง หน่วยงานของสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านการศาสนศึกษา และการศึกษาสงเคราะห์ 2. โรงเรียนพระปริยัติธรรม หมายถึง สถานที่ที่จัดให้มีการเรียนการสอนการศึกษาพระปริยัติธรรม 3. โรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำตำบล หมายถึง โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่จัดการศึกษา แผนกธรรม ครบ ๓ ชั้น คือ นักธรรมตรี โท เอก และมีนักเรียนไม่น้อยกว่า ๔๐ รูป 4. โรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำอำเภอ หมายถึง โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่จัด การศึกษา ทั้งแผนกธรรม-บาลี และมีนักเรียนรวมกันไม่น้อยกว่า ๕๐ รูป แผนกบาลี ไม่น้อยกว่า ๑๕ รูป 5. โรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำจังหวัด หมายถึง โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่จัดการศึกษา ทั้งแผนกธรรม-บาลี และมีนักเรียนรวมกันไม่น้อยกว่า ๑๐๐ รูป แผนกบาลีไม่น้อยกว่า๓๐ รูป 6. โรงเรียนพระปริยัติธรรมดีเด่น หมายถึง โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่จัดการศึกษาทั้งแผนกธรรม-บาลี มีนักเรียนรวมกันไม่น้อยกว่า ๑๕๐ รูป แผนกบาลีไม่น้อยกว่า ๕๐ รูปและมีผลการสอบแผนกธรรมได้ไม่น้อยกว่า ๕๐ รูป แผนกบาลีได้ไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป 7. โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัด หมายถึง สถานที่ซึ่งจัดให้มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นตามเกณฑ์กำหนดในจังหวัดนั้นๆ โดยแต่ละจังหวัดอาจมีมากกว่า 1 โรงเรียน หรือหลายจังหวัดรวมกันเป็นโรงเรียนเดียวก็ได้ (มีระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดไว้โดยเฉพาะ) 8. สำนักเรียน หมายถึง สำนักงานหรือสถานที่ที่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมในส่วนกลาง 9. สำนักเรียนคณะจังหวัด หมายถึง สำนักงานหรือสถานที่ที่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมในส่วนภูมิภาค ในจังหวัดเจ้าสังกัด (ภายในจังหวัดนั้น ๆ คือ จังหวัดหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะมีสำนักศาสนศึกษาที่ทำการสอนพระปริยัติธรรมกี่แห่ง แต่เวลาสมัครสอบจะต้องสมัครสอบในนามสำนักเรียนคณะจังหวัด) 10. สำนักศาสนศึกษา หมายถึง วัดหรือสถานที่ที่ไม่ใช่สำนักเรียนหรือสำนักเรียนคณะจังหวัด ซึ่งจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและหรือแผนกบาลี (เวลาสมัครสอบในเขตกรุงเทพมหานครจะต้องส่งเข้าสมัครสอบในสำนักเรียนใดสำนักเรียนหนึ่ง ในส่วนภูมิภาคจะต้องสมัครสอบในนามสำนักเรียนคณะจังหวัดนั้น ๆ) 11. โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา หมายถึง สถานที่ที่จัดให้มีการ เรียนการสอนการศึกษาพระปริยัติธรรมควบคู่ไปกับการศึกษาวิชาสามัญ มี 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 12. กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา หมายถึง การรวมกลุ่มของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ที่อยู่ในเขตการศึกษาเดียวกัน เช่นเดียวกับเขตการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่นิเทศ ควบคุมดูแล ฯลฯ การดำเนินการด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนภายในกลุ่ม มี 14 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 - 12 แบ่งตามเขตพื้นที่เช่นเดียวกับเขตการศึกษา แต่กลุ่มที่ 13 เป็นกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย ส่วนกลุ่มที่ 14 เป็นกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา สังกัดคณะสงฆ์อนัมนิกาย (มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 13. ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หมายถึง วัดหรือหน่วยงานที่จัดตั้งสถานศึกษาเพื่อสอนความรู้ทางพระพุทธศาสนา (พุทธประวัติ ธรรมะ ศาสนพิธี ฯลฯ) และความรู้สามัญอื่น ๆ แก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยจัดสอนในวันอาทิตย์ ใช้ชื่อย่อว่า ศพอ. เดิมเรียกว่า โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (รร.พอ.) (มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 14. ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดและมัสยิด หมายถึง ศูนย์ที่จัดตั้งโดยวัดหรือมัสยิดที่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ แก่เด็กเล็ก (อายุ 3 - 5 ปี)โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ให้เด็กได้ใกล้ชิดกับศาสนาตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อเป็นพื้นฐานการปลูกฝังและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในโอกาสต่อไป มีชื่อย่อว่า "ศดว."(ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด)และ "ศดม." (ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิด) (มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 15. หน่วยสงเคราะห์พุทธมามกะ หมายถึง หน่วยที่วัดจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่แสดงตนเป็นพุทธมามกะ (ชาวพุทธ) ของนักเรียนและประชาชนทั่วไป รวมทั้งให้การอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม และการสงเคราะห์ด้านอื่น ๆ แก่ประชาชนในพื้นที่ ตามสมควร (มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 16. สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด หมายถึง วัดหรือสำนักที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนและอบรมด้านการปฏิบัติกรรมฐานที่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ตามระเบียบมหาเถรสมาคม (มีระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดไว้โดยเฉพาะ) 17. ศูนย์พระนักเทศน์ประจำจังหวัด หมายถึง ศูนย์กลางการบริหารงานของพระ นักเทศน์ประจำจังหวัดต่าง ๆ (ยังไม่มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 18. กลุ่มพุทธศาสนาในสถานศึกษา หมายถึง การรวมกลุ่มของนักเรียนนักศึกษา ในสถานศึกษาที่นับถือพระพุทธศาสนาจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและหลักธรรมของพระพุทธศาสนา อาจมีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่ละสถาบันกำหนด เช่น กลุ่มพุทธศาสน์ ชมรม หรือชุมนุมพุทธศาสน์ เป็นต้น (มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 19. หน่วยเผยแพร่ศีลธรรม หมายถึง หน่วยที่กลุ่มบุคคลที่นับถือพระพุทธศาสนา (ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้สนใจทั่วไป) จัดตั้งขึ้นในวัดใดวัดหนึ่งเพื่อทำกิจกรรมด้านศาสนาและการเผยแพร่คุณธรรมจริยธรรม (มีระเบียบการดำเนินการโดยเฉพาะ) 20. หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล หมายถึง หน่วยอบรมประชาชนแห่งราชอาณาจักรซึ่งมีวัดตั้งอยู่ (ตั้งอยู่ในวัดในแต่ละตำบล) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชน ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพอนามัย สัมมาชีพ การศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์ เป็นต้น มีชื่อเรียกย่อว่า "อ.ป.ต." (มีระเบียบมหาเถร-สมาคมกำหนดไว้โดยเฉพาะ) 21. พุทธสมาคม หมายถึง สมาคมที่กลุ่มชาวพุทธตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา เผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มีหน่วยงานกลางตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางและมีสาขาอยู่ทั่วทุกจังหวัด เรียกว่า พุทธสมาคมจังหวัด 22. เปรียญธรรมสมาคม หมายถึง สมาคมที่ผู้จบการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้วลาสิกขา (หรือบางส่วนยังไม่ลาสิกขา) จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา เผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และปกป้องพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร |
||||
|