หัวข้อ : ประวัติภาษาเควนยา ข้อความ : ประวัติของภาษาเควนยา เควนยาหรือภาษาของเอล์ฟชั้นสูงเป็นภาษาที่มีชื่อเสียงที่สุดในตระกูลภาษาเอล์ฟแห่งอามัน ภาษาเควนยาในอามันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายคือ "วานยาริน และ นอลดอริน" ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์จึงมีเพียงภาษาเควนยาสายนอลดอรินเท่านั้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในมัชฌิมโลก ส่วนภาษาเควนยาสายอื่นนั้นมีพูดอยู่แต่ในอามันเท่านั้น ภาษาเควนยานับเป็นภาษาที่เก่าแก่เมื่อเทียบกับภาษาเอล์ฟตระกูลอื่น เควนยายังคงรักษารักษารูปแบบหลักๆของภาษาเอล์ฟดั้งเดิมอันเป็นภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยเหล่าเอล์ฟ เมื่อพวกเขาตื่นขึ้นครั้งแรกในความบริสุทธิ์ของคุยวิเอเนน และเป็นภาษาที่ "มีคำอันสวยงามมากหลายและมีคำพูดซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยประณีตมากมาย" (WJ:422) ในดรรชนีของซิลมาริลเรียนได้กล่าวถึงเควนยาเอาไว้ว่า "ภาษาโบราณ เป็นภาษาสามัญของเหล่าเอล์ฟทั้งหลาย ได้รับการยอมรับในวาลินอร์" ด้วยเหตุที่ว่าเควนยาใกล้เคียงกับภาษาเอล์ฟดั้งเดิม พวกเอล์ฟในอามันจึงถือว่าเควนยาเป็นเพียงภาษาที่ประยุกต์มาจากภาษาเอล์ฟดั้งเดิมเท่านั้นมิใช่ภาษาใหม่ โดยแท้จริงแล้วภาษาเอล์ฟดั้งเดิมและเควนยาอาจจะใช้แทนกันได้เป็นอย่างดี แต่ก็ใช่ว่าภาษาทั้งสองจะเหมือนกันทั้งหมดซะทีเดียวนัก เมื่ออยู่ในวาลินอร์ ภาษาเอล์ฟดั้งเดิมก็ได้เปลี่ยนแปลงไป "มันถูกปรับปรุงด้วยการประดิษฐ์คำใหม่(สำหรับสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม และสิ่งของชนิดใหม่) การปรับให้เสียงนุ่มนวลและกลมกลืนยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบของภาษาซึ่งดูเหมือนว่าพวกนอลดอร์จะทำได้งดงามกว่าเดิมด้วย" (WJ:20) เริ่มจากการเปลี่ยนเสียง b และ d ให้กลายมาเป็นเสียง v และ l (หรือ n) การทำให้สระท้ายคำออกเสียงสั้นขึ้น การลดสระเสียงหนักปานกลางลง รวมถึงการปรับตำแหน่งของพยัญชนะในกลุ่มคำหลายแห่งหรือการเปลี่ยนแปลงมัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการปรับเพื่อให้ออกเสียงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เควนยาก็ยังรับหรือดัดแปลงคำบางคำในภาษาของเหล่าผู้ปกครองอามัน-วาลาร์ พลังซึ่งเป็นดั่งเทพเจ้าผู้คุ้มครองโลกตามคำสั่งขององค์ผู้สร้าง มาใช้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเหล่าวาลาเองก็ได้สนับสนุนเหล่าเอล์ฟให้ "ประดิษฐ์คำใหม่ๆในรูปแบบของพวกเขาเอง หรือ...แปลความหมายของชื่อทั้งหลายให้อยู่ในรูปแบบภาษาของเหล่าเอล์ฟที่สละสลวย"แทนการรับคำเดิมหรือปรับปรุงคำมาจากภาษาวาลารินเท่านั้น (WJ:405) ซึ่งทำให้พวกนอลดอร์ "มีภาษาพูดที่เปลี่ยนแปลงไป มีความรักอันยิ่งใหญ่ในคำทั้งหลาย และแสวงหาชื่อใหม่ซึ่งเหมาะสมยิ่งกว่าให้กับสิ่งที่พวกเขารู้จักหรือจินตนาการขึ้นมา" (Silm.ch.5) ในอามัน เควนยาไม่เพียงแต่ใช้พูดกันในหมู่วานยาร์และนอลดอร์เท่านั้น แม้แต่เหล่าวาลาเองก็ยังใช้มันด้วยเช่นกัน หลังจากการมาถึงของเหล่าเอล์ฟ "เหล่าวาลาก็สามารถรับภาษาเควนยามาใช้ได้อย่างรวดเร็ว" แม้แต่พวกเอล์ฟเองก็ไม่ได้ยินพวกเขาพูดภาษาวาลารินบ่อยครั้งนัก "กล่าวได้ว่า เราอาจได้ยินวาลาร์กับเหล่าไมอาสนทนากันด้วยภาษาเควนยาอยู่บ่อยครั้งก็เป็นได้" (WJ:305) เพนโกลอด บัณฑิตแห่งกอนโดลินได้บันทึกไว้ว่า "เมื่อดูตามประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า ในสถานการณ์ต่างๆ เหล่าวาลามักกล่าวด้วยภาษาเควนยาเสมอ การกล่าวเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ให้เหล่าเอล์ฟซึ่งรู้ภาษาวาลารินเพียง 2-3 คนแปลเลย เพราะว่าเหล่าวาลาหรือไมอาร์แปลประโยคเหล่านั้นด้วยตนเองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งความจริง ประวัติศาสตร์หรือตำนานซึ่งถือกำเนิดขึ้นก่อนการตื่นขึ้นของเหล่าเควนดิ (เอล์ฟ - ผู้แปล) และประวัติศาสตร์หรือตำนานซึ่งเก่าแก่มากๆ รวมถึงสิ่งต่างๆที่เหล่าเอล์ฟไม่อาจรู้ได้นั้นก็ได้ถูกนำเสนอโดยเหล่าวาลาร์หรือไมอาร์เมื่อยามที่พวกเขาสอนเหล่าเอล์ฟอยู่แล้ว "เขายกตัวอย่างโดยอ้างจากไอนูลินดาเล (บทเพลงของเหล่าไอนู-ผู้แปล)ว่า " มัน...ไม่เพียงแต่ถูกนำเสนอด้วยคำในภาษาเควนยาเท่านั้น มันยังถูกนำเสนอตามรูปแบบวิธีคิดของพวกเราด้วย" แม้แต่เมลคอร์เองก็ศึกษาภาษาเควนยาด้วยเช่นกัน มิหนำซ้ำเขายังสามารถศึกษามันได้ดีอีกด้วย "อนิจจา" เพนโกลอดได้บันทึกไว้ว่า "ในวาลินอร์ เมลคอร์ใช้ภาษาเควนยาได้ราวกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำให้เหล่าเอล์ฟทั้งมวลประหลาดใจมาก เขาใช้มันได้โดยไร้ที่ติ มิมีผู้ใดเสมอเหมือน ราวกับว่าเขาเป็นกวีหรือครูตำนานเลยทีเดียว"(VT39:27) เมื่อรูมิลประดิษฐ์ตัวอักษร เควนยาก็กลายเป็นภาษาแรกที่ใช้การบันทึกงานเขียนต่างๆ (Silm.ch.6,LotR Appendix F) สำหรับภายนอกอาณาจักรซึ่งได้รับการอวยพร -อามัน หากปราศจากการกบฏของเหล่านอลดอร์ในยุคแรกแล้ว ภาษาเควนยาก็คงมิอาจเป็นที่รู้จักได้ เชื้อสายของพวกเขาส่วนใหญ่ออกจากอามันและ พลัดถิ่นมาสู่มัชฌิมโลก ซึ่งทำให้ภาษาของเอล์ฟชั้นสูงติดตัวพวกเขาไปด้วย และในมัชฌิมโลกนั่นเองที่พวกนอลดอร์ได้พบกับเหล่าซินดาร์ (เอล์ฟสีเทา)ญาติซึ่งมีจำนวนมากกว่าพวกเขามากและพูดภาษาที่ต่างออกไป ภาษาซินดารินได้ตัดการกต่างๆซึ่งยังมีใช้อยู่ในภาษาเควนยาทิ้งไปจนสิ้น อีกทั้งเสียงส่วนใหญ่ในภาษาทั้งสองก็ยังต่างกันมาก กล่าวคือเควนยามีเสียงสระมากกว่าซินดาริน และมีเสียงพยางค์ลงท้ายจำกัดเพียง b,d,g ซึ่งน้อยกว่าซินดาริน แต่ก็ราวกับพวกเขาเป็นผู้รังสรรค์มันขึ้นมา "เหล่านอลดอร์...สามารถเรียนภาษาของอาณาจักรเบเลเรียนด์ (เช่น ซินดาริน)ได้อย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับเหล่าซินดาร์ซึ่งศึกษาภาษาของวาลินอร์ (เช่น เควนยา)ได้แตกฉานช้ากว่า" 20 ปีหลังจากการเข้าสู่มัชฌิมโลกของเหล่านอลดอร์ "พวกนอลดอร์ก็พูดภาษาของเหล่าเอล์ฟสีเทากันอย่างกว้างขวาง" (Silm.ch.13) เมื่อกษัตริย์ธิงโกลได้ทรงทราบในท้ายที่สุดว่าพวกนอลดอร์ได้สังหารญาติของพระองค์ซึ่งอาศัยอยู่ในเทเลรีและขโมยเรือของพวกเขาหลบหนีออกมาจากวาลินอร์ พระองค์จึงทรงมีพระบัญชาห้ามมิให้มีการใช้ภาษาเควนยาในอาณาจักรของพระองค์อีก ผลที่ตามมาก็คือ "เหล่าผู้ถูกเนรเทศจึงต้องนำภาษาซินดารินมาใช้ในชิวิตประจำวันแทน ส่วนภาษาชั้นสูงจากตะวันตก(เควนยา-ผู้แปล)นั้นจะใช้กันแต่เพียงในหมู่เจ้านายของเหล่านอลดอร์ยามเมื่อพวกเขาพูดกันเท่านั้น ถึงกระนั้นเควนยาก็ยังคงรอดจากวิกฤตนั้นมาได้ด้วยการกลายเป็นภาษาสำหรับบันทึกตำนานของเหล่าประชาชนที่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้นแทน"(Silm.ch.15) ด้วยเหตุนี้เควนยาจึงรอดจากยุคแรกอันมืดมิดมาได้ แถมคำศัพท์ของมันยังขยายออกไปมากขึ้นโดยการรับและปรับปรุงคำบางคำมาจากภาษาอื่นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น คำว่า Casar "คนแคระ"มาจากภาษาดวาร์วิชคำว่า Khazad ส่วนคำว่า certa "พยัญชนะ" มาจากภาษาซินดารินคำว่า certh (WJ:388,396) สำหรับบางคำซึ่งมีอยู่แล้วพวกเขาก็นำมาประยุกต์ใช้หรือปรับเปลี่ยนความหมายให้เหมาะกับภาษาเควนยาของเหล่าเอล์ฟผู้พลัดถิ่นแทน ยกตัวอย่างเช่น คำว่า urco ในภาษาเควนยาของเหล่าเอล์ฟแห่งวาลินอร์จะใช้ในความหมายที่ว่า "สิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งความหวาดกลัวของเหล่าเอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหรือเงาที่น่าสงสัย หรืออสูรกายที่เดินไปมาก็ตาม" ซึ่งสิ่งนี้พวกเขาจดจำมันไว้ในรูปแบบของเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเดินทางออกจากคุยวิเอเนนของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยในภาษาเควนยาของเหล่าเอล์ฟผู้พลัดถิ่นนั้น คำว่า urco ได้รับการยอมรับว่ามีต้นกำเนิดเช่นเดียวกับคำว่า orch ในภาษาซินดาริน และถูกนำมาใช้เพื่อแปลมัน ดังนั้นความหมายของคำว่า urco จึงสามารถแปลอย่างง่ายๆได้ว่า "ออร์ค" (WJ:390;คำว่า urco ซึ่งเป็นคำในภาษาเควนยาซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาซินดารินก็มีใช้ด้วย) เมื่อพวกเอไดน์(มนุษย์-ผู้แปล)ได้เดินทางมาถึงเบเลเรียนด์ พวกเขาไม่เพียงแต่ศึกษาภาษาซินดารินเท่านั้น แต่ยัง "ขยายขอบเขตไปถึงภาษาเควนยาด้วย" (WJ:410) แต่อย่างไรก็ตาม "พวกมนุษย์ก็ไม่เคยพูดภาษาเควนยาเลย" (Plotz letter) ชื่อซึ่งเป็นภาษาเอล์ฟชั้นสูงดังเช่น "เอเลนดิล" กลายมาเป็นที่นิยมในหมู่เอไดน์ ทูรินขนานนามตัวเองด้วยนามในภาษาเควนยาว่า "ทูรัมบาร์" หรือ "เจ้าแห่งความตาย" นิเอนอร์ น้องสาวของเขาเองก็ร้องออกมาเป็นภาษาเควนยาก่อนที่เธอจะฆ่าตัวตายด้วย (Silm.ch.21) มีตัวอย่างมากมายแสดงให้เห็นว่าภาษาเควนยานั้นยังคงมีการใช้และเป็นที่จดจำกันอยู่ในหมู่นอลดอร์ผู้พลัดถิ่นทั้งหลาย ดังเช่น เมื่อทูร์กอนสร้างนครลับของเขาขึ้น "เขาตั้งชื่อมันด้วยภาษาของ เหล่าเอล์ฟแห่งวาลินอร์ว่าออนโดลินเด"แต่ถึงกระนั้น"กอนโดลิน"ซึ่งเป็นคำที่แปลเป็นภาษาซินดารินก็ถูกนำมาใช้เป็นชื่อในยามปกติของนครแห่งนี้แทน แม้แต่ในกอนโดลิน ภาษาเควนยาก็ "ยังคงเป็น เพียงภาษาสำหรับบันทึกตำนาน"ของเหล่าประชาชนทั้งหลายเท่านั้น "ประชาชนเองก็ยังคงใช้ภาษาซินดารินสนทนาในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับเหล่านอลดอร์กลุ่มอื่น" แต่ถึงกระนั้น เมื่อทูออร์เดินทางมาถึงกอนโดลิน เขาก็ได้ยินทหารยามแห่งกอนโดลินกล่าว "ภาษาชั้นสูงของเหล่านอลดอร์ซึ่งเขาไม่รู้จักเลยออกมา" กล่าวได้ว่า "เควนยาก็คือภาษาที่ใช้ประจำในครอบครัวของทูร์กอน และเป็นภาษาดั้งเดิมของเออาเลนดิล"นั่นเอง (UT:44,55) PM:348 ได้ย้ำให้พวกเราเห็นว่า "หลังจากตั้งนครลับแห่งกอนโดลินแล้ว ทูร์กอนก็ได้รื้อฟื้นภาษาเควนยาขึ้นใหม่ในฐานะภาษาประจำครอบครัวของเขา" เมื่ออาเรเดลได้ออกจากกอนโดลินและถูก เอออลจับตัวเอาไว้จนกระทั่งได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่เขานั้น "เธอได้ตั้งชื่อบุตรชายด้วยภาษาต้องห้ามของเหล่านอลดอร์เอาไว้ในใจแล้วว่า โลมิออน ซึ่งมีความหมายว่า บุตรแห่งสนธยา" (Silm.ch.16) ภายหลังเอออลก็ได้ตั้งชื่อบุตรชายของเขาเป็นภาษา ซินดารินว่ามาเอกริน ซึ่งอาเรเดลก็ได้ "สอนภาษาเควนยาซึ่งเอออลสั่งห้ามให้กับมาเอกริน"(WJ:337) อย่างไรก็ตาม เควนยาซึ่งพูดโดยเหล่าผู้ถูกพลัดถิ่นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในข้อปลีกย่อยบางประการขึ้น บางทีมันอาจจะเกิดขึ้นก่อนที่กษัตริย์ธิงโกลจะทรงมีพระบัญชาสั่งห้ามมิให้ผู้ใดใช้มัน ซึ่งทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษาศาสตร์หยุดชะงักลงเกือบหมดอีกด้วย ในจดหมายที่เขียนถึงดิก พลอตซ์ โทลคีนได้บรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงของคำนามในภาษาเควนยาดั้งเดิมซึ่งเรียกว่า "ภาษาเควนยาหนังสือ"เอาไว้ โทลคีนเขียนว่า "ภาษาที่เก่าแก่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่มนุษย์ (ผู้ไร้อมตะ) นักปราชญ์ชาวนูเมนอร์ และผู้ที่รอดชีวิตมาจากกอนโดลิน (ซึ่งอยู่ในยุคที่สาม)ก็คือภาษาที่ใช้ในงานเขียนต่างๆ" แต่เขาก็ได้ขยายความเอาไว้ว่า "เควนยาเป็นภาษาพูดที่ได้รับการเผยแพร่ออกไปในหมู่พวกนอลดอร์จนกระทั่งมันกลายเป็นภาษาที่แพร่หลาย (ก่อนที่พวกเขาจะพลัดถิ่น)ไป... เควนยาในรูป"ภาษาพูด"นี้ยังคงใช้สนทนาสืบมาในหมู่เอล์ฟดั้งเดิมแห่งนอลดอร์ แต่พวกเขาก็มิได้เปลี่ยนแปลงอะไรมันอีกแล้ว นับแต่นั้นในแต่ละรุ่นก็จะทำการศึกษามันโดยอาศัยงานเขียนต่างๆ" จากที่กล่าวมาดูเหมือนว่า ภาษาเควนยาในรูปของ "ภาษาพูด" เองก็ควรจะมีการใช้ในงานเขียน และภาษาเควนยาในรูปนี้เองที่ในแต่ละรุ่นจะต้องทำการศึกษามัน งานเขียนเหล่านี้คงจะเป็นงานเขียนที่เขียนโดยเหล่านอลดอร์เมื่อยามพลัดถิ่นนั่นเอง หลังจากนั้นภาษาเควนยา ของพวกเขาก็ค่อยๆแยกออกจากภาษาเควนยาที่พูดในอามันทีละน้อย (โดยเฉพาะการสูญหายของกรรมการก) "สภาพของการพลัดถิ่น...ได้เอื้ออำนวยต่อการสร้างงานเขียนใหม่ๆ ขึ้นโดยอาศัยความทรงจำในเรื่องตำนานหรือบทเพลงซึ่งเป็นผลงานต่างๆ ที่พวกเขารู้จักก่อนที่พวกเขาจะพลัดถิ่นเป็นข้อมูล" (PM:332) บางทีพวกนักปราชญ์ชาวนูเมนอร์อาจจะมีโอกาสได้พบเห็นรูปแบบของภาษาเควนยาซึ่งเก่าขึ้นไปอีกก็ได้ ด้วยเหตุที่ว่านอกจากเหล่านอลดอร์ที่พลัดถิ่นอยู่ในมัชฌิมโลกแล้ว พวกเขายังได้ติตต่อกับพวกเอล์ฟจากเอเลสเซอาและวาลินอร์อีกด้วย ปัจจุบัน นักเขียนไม่นิยมใช้ภาษาเควนยาหนังสือกันแล้ว แต่หันกลับไปนิยมใช้ภาษาเควนยาในรูปแบบของเหล่านอลดอร์ผู้พลัดถิ่นซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคำอาลัยของกาลาดิเอล (นามาริเอ-ผู้แปล)แทน (LotR1/II ch.8) ยุคแรกสิ้นสุดลงด้วยสงครามแห่งความโกรธแค้น เมื่อเริ่มยุคที่สอง พวกนอลดอร์บางกลุ่มได้เดินทางกลับสู่อามัน "แต่ว่าก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบอยู่ในมัชฌิมโลกต่อไป" (Silm.ch.24) ด้วยเหตุนี้เหล่าผู้พูดภาษาเควนยาจึงยังหลงเหลืออยู่ในฮิเธอร์แลนด์ (มัชฌิมโลก-ผู้แปล) แม้กระทั่งศัตรูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเอง ยามเมื่อปรากฏตนขึ้นต่อหน้าเหล่าเอล์ฟในรูปลักษณ์อันงามสง่า เพื่อหลอกลวงพวกเขา ก็ยังตั้งชื่อตนเองเป็นภาษาเควนยาเลยว่า อันนาตาร์-เจ้าแห่งของขวัญ (ว่าด้วยแหวนแห่งอำนาจและยุคที่สาม Silm.) ชื่อที่แท้จริงของมันก็เป็นภาษาเควนยาเช่นกัน แต่เนื่องด้วยชื่อนั้นอาจทำให้ผู้อื่นรู้จักมันซึ่งมันไม่ชอบ มันจึงใช้ชื่ออันนาตาร์แทน ชื่อที่แท้จริงของมันก็คือเซารอน-ผู้ถูกเกลียดชัง (Silm.Index.) ภายหลังเหล่าช่างแห่งเอเรเกียนก็ได้ตั้งชื่อผลงาน อันยิ่งใหญ่ของพวกเขาเป็นภาษาเควนยาด้วยเช่นกันว่า นาร์ยา เนนยา และวิลยา เหล่าแหวนแห่งอำนาจที่ยิ่งใหญ่รองจากเอกธำมรงค์เท่านั้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่มีอิทธิต่อประวัติศาสตร์ของยุคที่สองโดยมาก กลับเป็นตำนานของเกาะขนาดใหญ่ที่เหล่าวาลายกให้แก่เหล่าเอไดน์-เกาะนูเมนอร์ พวกเอไดน์เป็นสหายของเหล่าเอล์ฟ และพวกเขาส่วนมากก็รู้ภาษาซินดารินด้วย (ถึงแม้ว่าภาษาที่ชาวนูเมนอร์ใช้สนทนากันจะเป็นภาษาอาดูนาอิค-ภาษาของเหล่ามนุษย์ ก็ตาม) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า "เหล่าครูตำนานของพวกเขาได้ศึกษาภาษาเอล์ฟชั้นสูงแห่งอาณาจักรที่ได้รับการอวยพรซึ่งโดยมากเป็นตำนานและเพลงที่มีมาตั้งแต่กำเนิดโลกด้วย...ด้วยเหตุนี้กษัตริย์ชาวนูเมนอร์จึงนิยมอวยพระนามของพระองค์เป็นภาษาเอล์ฟ(เควนยาหรือซินดาริน) ไว้เคียงข้างพระนามภาษาอาดูนาอิค รวมทั้งทรงชื่นชอบที่จะตั้งชื่อเมืองหรือสถานที่สวยงามต่างๆที่พวกพระองค์ค้นพบบนเกาะนูเมนอร์และชายฝั่งของฮิเธอร์แลนด์เป็นภาษาเอล์ฟด้วย"(Akallabeth) ยกตัวอย่างเช่น เมเนทาร์มา ,อาร์เมเนลอส,โรเมนนา หรือแม้แต่ชื่อนูเมนอร์เองก็เป็นภาษาเอล์ฟเช่นกัน แต่ถึงกระนั้น "เควนยาก็ยังไม่ใช่ภาษาพูดของนูเมนอร์อยู่ดี เควนยามีไว้เพียงเพื่อศึกษาและเพื่อผู้สืบสายโลหิตระดับสูงของตระกูลต่างๆ ซึ่งจะได้รับการสั่งสอนเมื่อเยาว์วัยเท่านั้น นอกจากนี้เควนยาก็ยังมีไว้สำหรับงานเขียนเอกสารของทางราชการซึ่งต้องเก็บรักษาเอาไว้ เช่น กฎหมาย ม้วนจารึก หรือพงศาวดารกษัตริย์...รวมถึงพบบ่อยในงานด้านประวัติศาสตร์ที่ต้องการปกปิดทั้งหลายอีกด้วย แต่ว่าหน้าที่ส่วนใหญ่ของเควนยาก็คือการตั้งชื่อ ไม่ว่าจะเป็นชื่อของสถานที่ต่างๆ ภูมิภาค หรือลักษณะภูมิประเทศก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นภาษาเควนยาทั้งสิ้น (ถึงแม้ว่าพวกมันจะมีชื่อท้องถิ่นเป็นภาษาซินดารินหรืออาดูนาอิคซึ่งมีความหมายเหมือนกันอยู่แล้วก็ตาม) ชื่อบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อราชการและชื่อสาธารณะของเหล่าสมาชิกราชตระกูลและผู้สืบเชื้อสายของเอลรอสล้วนแล้วแต่เป็นภาษาเควนยาทั้งสิ้น" (UT:216) เหตุที่กษัตริย์ทรงอวยพระนามของพระองค์เป็นภาษาเควนยาก็เนื่องจากว่าภาษาของเอล์ฟชั้นสูงเป็น "ภาษาที่สูงศักดิ์ที่สุดในโลก" นั่นเอง (UT:218)แต่กระนั้น ยุคสมัยก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว เหล่านูเมนอร์เริ่มริษยาความเป็นอมตะของเหล่าเอล์ฟ ทำให้พวกเขาค่อยๆเย็นชากับอามัน เมื่อกษัตริย์องค์ที่ 20 ของนูเมนอร์ขึ้นครองราชย์ในปี 2899 ของยุคที่สอง พระองค์ก็ทรงทำลายราชประเพณีดั้งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ด้วยการตั้งชื่อของพระองค์เป็นภาษาอาดูนาอิคแทนภาษาเควนยาว่า อาร์-อาดูนาคอร์ "เจ้าแห่งตะวันตก" ในรัชกาลของพระองค์ "ไม่มีการใช้ภาษาเอล์ฟและไม่ทรงอนุญาตให้สอนด้วย แต่ว่าเควนยาก็ยังคงถูกรักษาไว้อย่างลับๆ โดยเหล่าผู้ซื่อสัตย์ทั้งหลาย หลังจากนั้นเรือจากเอเลสเซอาก็ไม่ค่อยมายังชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะนูเมนอร์อีกเลย หรือมาก็มาอย่างลับๆเท่านั้น"(UT:222) ในปี 3102 เมื่อ อาร์-กิมิลซอร์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 23 "พระองค์ทรงห้ามใช้ภาษาของพวกเอล์ฟโดยเด็ดขาด รวมทั้งไม่อนุญาตให้พวกเอล์ฟมายังอาณาจักรของพระองค์ด้วย หากผู้ใดฝ่าฝืนต้อนรับพวกเอล์ฟจะต้องถูกลงโทษ" (UT:223) "ภาษาของเหล่าเอล์ฟถูกเนรเทศโดยกษัตริย์กบฏทั้งหลาย มีเพียงภาษาอาดูนาอิคเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้บนเกาะนูเมนอร์ได้ หนังสือโบราณซึ่งเขียนด้วยภาษาเควนยาหรือซินดารินจำนวนมากเองก็ล้วนถูกทำลาย"(PM:315) อย่างไรก็ตาม เมื่ออินซิลาดูนโอรสของกิมิลซอร์ขึ้นครองราชย์ในปี 3177 (หรือ 3175ตามหลักฐานอีกสายหนึ่ง-กรุณาดู UT:227) พระองค์ก็ทรงพิสูจน์ให้เห็นว่า พระองค์ทรงแตกต่างกับกษัตริย์เหล่านั้น พระองค์ทรงโทรมนัสในสิ่งที่เหล่ากษัตริย์องค์ก่อนๆ ได้กระทำลงไป และทรงอวยพระนามของพระองค์ตาม ราชประเพณีอันเก่าแก่อีกครั้งว่า ทาร์-พาลันเทียร์ ผู้มีสายตาอันยาวไกล ทาร์-พาลันเทียร์ "ทรงปรารถนาที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าเอล์ฟกับเจ้าแห่งตะวันตกขึ้นอีกครั้ง" แต่ก็สายไปเสียแล้ว (UT:223) พระองค์ทรงมีพระราชธิดาซึ่งทรงมีพระนามในภาษาเควนยาว่า มิริเอล เพียงองค์เดียว ซึ่งเธอก็น่าจะได้ขึ้นเป็นราชินีหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตในปี 3255 หากเธอไม่ถูก ฟาราซอน บุตรชายของกิมิลคาด อนุชาของ ทาร์-พาลันเทียร์ บังคับให้แต่งงานด้วยเสียก่อน การที่ฟาราซอนอภิเษกเธอเป็นมเหสีทำให้เธอหมดโอกาสที่จะช่วงชิงอำนาจในนูเมนอร์ทันที หลังจากนั้นเขาก็ไม่อนุญาตให้เธอใช้ชื่อภาษาเควนยาอีก ทั้งยังเปลี่ยนชื่อของเธอเป็นภาษาอาดูนาอิคว่า ซิมราเฟล อีกด้วย ความทรนงและความจองหองทำให้ อาร์-ฟาราซอน ท้าทายเซารอนที่อยู่ในมัชฌิมโลก ไมอา ผู้ชั่วร้ายแสร้งทำเป็นพ่ายแพ้ ด้วยเหตุนี้ ฟาราซอนจึง "กลับสู่นูเมนอร์ราวกับนักโทษด้วยความยะโสอย่างโง่ๆ ของพระองค์เอง หลังจากนั้นไม่นานเซารอนก็ทำให้กษัตริย์หลงใหลในตัวเขาและแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าที่ปรึกษา ในไม่ช้าเขาก็ทำให้พวกนูเมนอร์ทั้งหมดก้าวเข้าสู่ความมืดได้สำเร็จ ยกเว้นก็แต่ผู้ที่ซื่อสัตย์เพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น" (LotR Appendix A) เซารอนหลอกให้กษัตริย์ทรงเชื่อว่า พระองค์จะทรงเป็นอมตะ หากว่าพระองค์สามารถแย่งอำนาจในการปกครองอามันจากเหล่าวาลามาได้สำเร็จ ดังนั้นในที่สุดฟาราซอนจึงทรงพยายามที่จะรุกรานอาณาจักรที่ได้รับการอวยพร เซารอนรู้ดีว่าเหล่านูเมนอร์ไม่มีทางที่จะสู้กับเหล่าวาลาทั้งหลายได้แน่ และเหตุการณ์ก็เป็นดังที่เซารอนคาดไว้จริงๆ กองเรือของฟาราซอนพ่ายแพ้อย่างหมดรูป แต่เซารอนก็คาดไม่ถึงว่าเหล่าวาลาจะเพรียกหาองค์ผู้สร้าง ซึ่งองค์ผู้สร้างก็ทรงใช้อำนาจของพระองค์เปลี่ยนแปลงรูปร่างของโลกไปตลอดกาล อาณาจักรที่ได้รับการอวยพรถูกย้ายออกจากโลกที่สามารถมองเห็นได้ไปสู่อาณาจักรที่ถูกซ่อนเร้น ผู้ที่สามารถไปถึงมันได้อีก มีเพียงเหล่านอลดอร์ผู้พูดภาษาเควนยา ที่ยังใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบอยู่ในมัชฌิมโลกเท่านั้น เกาะนูเมนอร์สาบสูญไปจากผืนทะเลที่มันตั้งอยู่ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าหนังสือที่เขียนด้วยภาษาเควนยานั้นสูญหายไปพร้อมกับการล่มสลายของเกาะแห่งกษัตริย์นี้ มากมายเพียงใด เกาะที่จมลมไปนั้นได้ชื่อใหม่ในภาษาเอล์ฟชั้นสูงว่า มาร์-นู-ฟัลมาร์ ดินแดน (หรือที่ถูกตามหลักภาษาศาสตร์ก็คือ บ้าน)ใต้หมู่คลื่น และอาตาลันเตความหายนะ ผู้ที่รอดชีวิตออกมาจากเหตุการณ์นี้ได้มีเพียงเอเลนดิล อิสซิลดูร์ อะนาริออน และผู้ที่ติดตามพวกเขาเท่านั้น นี่เป็นของขวัญจากชื่อภาษาเควนยาของพวกเขา พวกเขาคือสหายของเหล่าเอล์ฟ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลุกฮือขึ้นกบฏต่อต้านเหล่าวาลาเลย หลังจากนั้นพวกเขาก็ได้สร้างอาณาจักรของผู้พลัดถิ่นขึ้นในมัชฌิมโลกนามว่า อาร์นอร์และกอนดอร์ ในไม่ช้าเซารอนก็เข้าโจมตีกอนดอร์ แต่เขาก็พ่ายแพ้ในการรบที่ดากอร์ลัด หลังจากที่ถูกเหล่ามนุษย์และเอล์ฟล้อมอยู่เจ็ดปี เขาก็ออกจากบารัด-ดูร์ และพ่ายแพ้ให้แก่กิล-กาลัด เอเลนดิล และอิสซิลดูร์ ผู้ซึ่งรอดชีวิตมาจากเหตุการณ์นั้นได้เพียงคนเดียว ยุคที่สองของโลกจบลง แต่อาณาจักรของผู้พลัดถิ่น ก็ยังยืนยงมาถึงยุคที่สาม และควานรู้ด้านภาษาเควนยาก็ ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในหมู่นักปราชญ์แห่งอาร์นอร์และกอนดอร์เป็นอย่างดี กษัตริย์แห่งอาร์นอร์และกอนดอร์ทรงใช้พระนามในภาษาเควนยาตามแบบอย่างบูรพกษัตริย์แห่งนูเมนอร์ผู้ซื่อสัตย์แต่โบราณกาลมา (เมื่อถึงปี 861แห่งยุคที่สาม อาร์นอร์ได้แยกออกเป็นอาณาจักรเล็กๆชื่อ อาร์เธไดน์ รูเดาร์ และคาร์โดลาน กษัตริย์ของอาณาจักรเหล่านี้ได้เปลี่ยนมาใช้พระนามในภาษาซินดารินแทน) เสนาบดีแห่งกอนดอร์เองก็มีชื่อเป็นภาษาเควนยาเช่นกัน จนกระทั่งถึงยุคของมาร์ดิล ผู้สำเร็จราชการคนแรกของกอนดอร์ (ที่เรียกเช่นนี้ก็เนื่องด้วย ช่วงปี 2050-3019 แห่งยุคที่สาม กอนดอร์ไร้ซึ่งกษัตริย์ เสนาบดีจึงต้องรับหน้าที่ทั้งหมดแทน)อย่างไรก็ดี หลังจากมาร์ดิลแล้ว ทายาทของมาร์ดิลก็ได้เลิกใช้ชื่อภาษาเอล์ฟชั้นสูงนับแต่บัดนั้น ผู้สำเร็จราชการไม่เคยใช้ชื่อภาษาเควนยาอีกเลย เหตุก็เพราะพวกเขาล้วนคิดว่ามันเป็นการอาจเอื้อมเกินไปที่จะใช้ชื่อในภาษาเควนยาซึ่งเป็นถือเป็นราชประเพณีเฉพาะกษัตริย์เท่านั้น แต่เมื่ออารากอร์นขึ้นครองราชย์ในปี 3019 พระองค์ก็อวยชื่อตนเองเป็นภาษาเควนยาอีกครั้งว่า เอเลสซาร์ (ศิลาของเหล่าเอล์ฟ-ผู้แปล) เทลคอนตาร์ (สไตรเดอร์-ผู้แปล) ตามอย่างโบราณราชประเพณีมา หลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคที่สี่ซึ่งนอลดอร์กลุ่มสุดท้ายได้ล่องเรือออกจากมัชฌิมโลก กลับสู่อามันตลอดกาล เหล่าชนผู้พูดภาษาเควนยากลุ่มสุดท้ายได้จากโลกเราไปแล้ว แต่ก็ดังที่แกนดัล์ฟได้ชี้แนะแก่อารากอร์นว่า มันเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะ "รักษาสิ่งที่ควรรักษาเอาไว้" (LotR3/VI ch.5) รวมทั้งความรู้ในด้านภาษาเอล์ฟทั้งหลายด้วย เรารู้ว่าอารากอร์นได้ตั้งชื่อโอรสของพระองค์เป็นภาษาเอล์ฟชั้นสูงว่า เอลดาริออน ซึ่งได้ขึ้นครองราชบังลังก์หลังจากที่พระองค์สวรรคตในปีที่ 120 แห่งยุคที่สี่ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับยุคนี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าตราบใดที่อาณาจักรกอนดอร์ยังคงอยู่ ตราบนั้นภาษาเควนยาก็คงจะเป็นที่จดจำตลอดไปด้วยเช่นกัน คำย่อทั้งหลายในเรื่อง WJ - The War of the Ring Silm - Silmarillion VT - Vinyar Tengwar จดหมายข่าว Plotz Letter - จดหมายถึงดิก พล็อตซ์ UT - Unfinished Tales PM - The Peoples of Middle-earth LotR - The Lord of the Rings แปลจาก internal history of quenya www.uib.no/People/hnohf/ จาก : วัช - - earendil115@hotmail.com - 16/05/2002 01:07 |
ข้อความ : ขอขอบคุณเหล่าสหายพรายทั้งหลายที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกอยากแปลเรื่องนี้ขึ้นมาจนสำเร็จ สำหรับที่อยู่ในวงเล็บแล้วมีการเติมคำว่าผู้แปลลงไปนั้นเป็นเชิงอรรถที่ผมใส่ลงไปเองครับ ที่จริงผมจัดหน้าดีแล้วนะ ( อุตส่าห์เข้ามาจัดก่อนโพสต์อีกที) ทำไมหน้ามันถึงเบี้ยวอย่างนี้ล่ะครับ (คุณปัญญาตอบด่วน ) ถ้าแปลผิดตรงไหนก็ขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยนะครับ เพราะภาษาอังกฤษผมแข็งแรงแค่นี้แหละ ก็ผมถนัดภาษาอื่นนี่ครับ ถ้าชอบผมจะพยายามแปลอันอื่นมาลงอีกครับ
ปล. ที่ไม่พิมพ์อันนี้ไปกับข้างบนด้วย เพราะผมกลัวมันเสียสวยครับ แล้วก็เสียจนได้สิน่า จาก : วัช - 16/05/2002 01:14 |
ข้อความ : กรี๊ดสนั่น!!!
นับถือ นับถือ ยอดจริงๆ ค่ะ แปลได้สละสลวยมาก จาก : สาวน้อยร้อยแปด - 16/05/2002 12:51 |
ข้อความ : โค้งสามทีด้วยความนับถือ ขอบคุณมากๆนะคะที่แปลมาให้อ่านกัน
อยากเก่งอย่างพวกท่านจังเลยค่ะ ^^ จาก : liamm - 16/05/2002 18:05 |
ข้อความ : พวกท่านเก่งกันจริงๆเลย เพิ่งเข้ามาอ่านเนี่ย ทึ่งมากๆ จาก : orliggo - 17/05/2002 13:59 |
ข้อความ : โอ้ เย้ สุดยอดครับท่าน
โพสไว้ก่อน ยังไม่ได้อ่าน เดี๋ยวอ่านเสร็จมาโพสต่อ จาก : ฮอบบิตั้ม - 17/05/2002 19:35 |
ข้อความ : แปลได้เฉียบมาก ผมชอบคำว่าครูตำนานจังเลย (lore-master)
ใช้คำง่าย ๆ แต่ชัดเจน และกินความหมายลึกมาก ผมจัดหน้าให้แล้วนะ คือมันกั้นแท๊บข้างหน้าไม่ได้ ไม่รู้เป็นไง ก็เลยแบ่งย่อหน้าออกมาให้เห็นชัดขึ้น แล้วก็ตัด enter ทิ้งนิดหน่อย ให้มัน wrap word เอาเอง จะดูดีขึ้น จาก : ฮอบบิตั้ม (ัปัญญาน่ะแหละครับ) - 17/05/2002 20:23 |
ข้อความ : อันนี้ต้องยกความดีให้คุณจิระนันท์ครับ แปลสคริปต์หนังออกมาได้สวยเหลือเกิน ผมก็ครูพักลักจำเขามาอีกที คุณฮอบบิตั้มชอบคำเดียวกับผมเลยครับ จาก : วัช - 18/05/2002 00:29 |
ข้อความ : เหอ....ขอบคุณครับแต่..... ยาวอ่ะ จาก : นิรนามแห่งมอดอร์ - 18/05/2002 13:10 |