Dimension of Family Medicine and Family Practice   Dimension of Family Medicine and Family Practice

Dimension of Family Medicine and Family Practice  

คัดย่อบางส่วนจากเอกสารประกอบการสอนของ   .เกียรติคุณ นพ.... ธันยโสภาคย์  เกษมสันต์

 

 

         Carmichael ได้ให้คำจำกัดความของ “เวชศาสตร์ครอบครัว” และ “เวชปฏิบัติทั่วไป” ไว้ดังนี้

   เวชศาสตร์ครอบครัว    คือ สาขาวิชาความรู้ที่ประกอบด้วยองค์ความรู้และทักษะทางวิชาการแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และวิชาการทางสังคมมานุษยวิทยา ร่วมกับจิตวิทยา ในส่วนที่สัมพันธ์กับสุขภาพและหน้าที่ของครอบครัว

  เวชปฏิบัติครอบครัว    คือ การประยุกต์หลักการเวชศาสตร์ครอบครัวในการดูแลบุคคล แเละครอบครัวอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยความรู้ ความสามารถในการใช้องค์ความรู้ดังกล่าว เพื่อดูแลสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว ตั้งแต่แรกเริ่มทุกเรื่อง และให้บริการที่มีคุณภาพ อันประกอบด้วย

-          การดูแลอย่างต่อเนื่อง  (Continuity of care)

-          การดูแลแบบองค์รวม   (Holistic care)

-          การดูแลแบบผสมผสาน  (Integrated care) 

-          การดูแลในรูปแบบที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย  (Accessible)

-          การดูแลที่มีระบบการปรึกษาในโรคที่ซับซ้อนและมีการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ  (Consultation and referral system)

  แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัว มีบทบาทเด่นในการดูแลระดับปฐมภูมิ ซึ่งควรอาศัยหลักการของเวชปฏิบัติครอบครัวในการดูแลสมาชิกในชุมชน ดังนี้

“ดูแลแต่แรกทุกเรื่อง   ต่อเนื่อง   เบ็ดเสร็จ   ผสมผสาน 

บริการเข้าถึงสะดวก     บวกระบบปรึกษาส่งต่อ”

    1.       ดูแลแต่แรกทุกเรื่อง  ( Care on first contact basis )  

ในระดับปฐมภูมิ แพทย์มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทุกคนตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ โดยต้องทำรายงานเป็นหลักฐาน เริ่มตั้งแต่ประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ รายการปัญหา (problem lists) ประเมินความสำคัญของปัญหาที่พบ (set priority) และการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม หากไม่สามารถดูแลได้สมบูรณ์ในสถานที่นั้นๆ ก็ต้องพิจารณาปรึกษา หรือส่งผู้ป่วยไปพบผู้ชำนาญเฉพาะโรคได้อย่างเหมาะสม ในบทบาทนี้ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปนั้นทำหน้าที่เป็น gatekeeper

 

  2.       ต่อเนื่อง  ( Continuity of care )  

ลักษณะเด่นที่สุดของแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวอยู่ที่การดูแลต่อเนื่อง ดังนั้น การให้การดูแลในลักษณะนี้จะต้องมีปัจจัยเรื่องขอบข่ายของที่อยู่อาศัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ควรจะกระจัดกระจาย หรือห่างไกลกันเกินไปนัก อีกทั้งต้องมีเงื่อนไขในด้านความพึงพอใจ หรือสมยอมของผู้รับบริการด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้รับบริการจึงควรจะเป็นไปในทางที่ดี และไว้ใจกัน

        ในหลักปฏิบัติของแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวนั้น เมื่อสถานบริการพร้อมที่จะให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะต้องบันทึกรายงานถาวรเพื่อใช้ในการดูแล ติดตามการรักษาผู้ป่วยรายนั้นไปตลอดชีวิต ถ้ามีการปรึกษา หรือส่งต่อ ก็ต้องบันทึกเหตุและผลไว้ตามลำดับเวลาอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์

        ปัจจัยนี้อาจปฏิบัติได้ยากในเมืองใหญ่ หรือในเขตที่ประชาชนมีฐานะดี มีความรู้ดี เพราะมักจะเลือกที่จะพบแพทย์ที่เป็นผู้ชำนาญการเองตามอาการที่มี ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้

 

  3.       เบ็ดเสร็จ ( Comprehensive care )  

จากข้อ 1 ที่กล่าวว่าดูแลทุกเรื่องนั้น จะขยายความ ณ ที่นี้ว่า “ทุกเรื่อง” คืออะไรบ้าง

3.1    ทุกรูปแบบการดูแล  คือ รักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสภาพ

3.2    ทุกด้านของผู้ป่วย หรือผู้รับบริการ  คือ ด้านกายภาพ อารมณ์จิตใจ และสังคม (Physical psycho-social)

3.3    ทุกวิธีการที่นำมาใช้ คือ ความรู้ (cognitive)  การปฏิบัติ (psychomotor) และเจตคติ (attitude)

          แพทย์แต่ละคนคงไม่รอบรู้กว้างขวางทุกเรื่อง แต่ในแง่ของการดูแลแบบเบ็ดเสร็จนั้น คือการนำความรู้ ความสามารถไปใช้ในหลักการเท่านั้น  (ดูรูปลูกเต๋าเพื่อประกอบความเข้าใจ)

 

  4.       ผสมผสาน  ( Integrated or total care )  

การดูแลผู้ป่วยในระบบเวชปฏิบัติครอบครัวดังกล่าวมาแล้วนั้น อาศัยการทำงานเป็นทีมที่สอดคล้องกับสภาพของผู้ป่วย และทรัพยากรท้องถิ่น แพทย์ปฐมภูมิจำเป็นต้องเป็นผู้ประสานงานที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ และในขณะเดียวกันจะต้องมีความเป็นผู้นำทีมที่ดี มีการตัดสินใจที่เหมาะสม

 

  5.       บริการเข้าถึงสะดวก  ( Accessible care )  

การที่มีบริการที่เข้าถึงได้สะดวกนั้นจะทำให้การดูแลอย่างต่อเนื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ

เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุลากรทางสาธารณสุขกับผู้ป่วยและญาติ นโยบายของรัฐในด้านนี้ก็คือ  การที่มีโรงพยาบาลชุมชนในทุกอำเภอ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของเวชปฏิบัติระดับปฐมภูมิไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน ถ้ามองย้อนกลับไป การที่ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงสะดวก ทีมบุคลากรก็สามารถออกให้บริการในเชิงรุกได้สะดวกเช่นกัน อันเป็นประโยชน์ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคอีกทางหนึ่ง

 

6.          6. ระบบปรึกษาและส่งต่อ ( Consultation and referral system )  

เวชปฏิบัติครอบครัวที่ดีต้องมีการปรึกษาและส่งต่ออย่างมีระบบ  

การปรึกษา เป็นการเสนอปัญหาที่ผู้ดูแลผู้ป่วยขณะนั้นไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือไม่แน่ใจ ไม่สามารถทำเองได้ หรือเป็นความประสงค์ของผู้ป่วยหรือญาติที่ต้องการความเห็นจากผู้ชำนาญการท่านอื่น ๆ เพื่อประกอบการยินยอมรับการรักษา ควรตระหนักว่า การปรึกษาไม่ใช่การถ่ายโอนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น เมื่อได้คำตอบมาแล้ว ต้องนำมาถ่ายทอดและให้ผู้ป่วย หรือญาติมีส่วนช่วยตัดสินใจเสมอ

การส่งต่อ เป็นกระบวนการโอนความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยไปให้ผู้ชำนาญการ หรือไปรักษาต่อในสถานที่ซึ่งมีความพร้อมมากกว่า โดยผู้ป่วยและญาติยินยอม เมื่อรักษาเสร็จแล้วก็กลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ดูแลทีมเดิมต่อไป

        การปรึกษาและส่งต่อควรกระทำแบบสองทาง คือผู้ชำนาญการด้านอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวได้ หากมีข้อสงสัยในประวัติ หรือสภาพครอบครัวของผู้ป่วยซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเจ็บป่วยนั้นๆ และเมื่อแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ชำนาญการควรส่งประวัติการดูแลรักษากลับมายังแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้นๆ อยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลอย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย