การกลับมาเกิดใหม่ของแพทย์ระดับปฐมภูมิ (Primary care doctor)

ฺ Dr. yui

ในอดีตประเทศไทย การแพทย์ส่วนใหญ่เป็นแบบแพทย์แผนโบราณตามความเชื่อของทางตะวันออก คือการเน้นการรักษาแบบองค์รวม มีแนวคิดว่าโรคที่เกิด เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุ ในร่างกาย ซึ่งทางแก้คือการปรับธาตุให้สมดุล ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้โดยวิธีการทางวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเมื่อความเจริญทางด้านตะวันตกที่เน้นการพิสูจน์ได้แบบวิทยาศาสตร์เข้ามาในประเทศไทย การใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูง การจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ที่สอนแพทยศาสตร์ในแนวแพทย์ตะวันตก หรือคือการแพทย์ในยุคปัจจุบัน การแพทย์แผนโบราณจึงค่อยๆเสื่อมความนิยมจนในที่สุดกลายเป็นแพทย์ทางเลือก(Alternative medicine)

ในยุคต้นๆของการเปลี่ยนแปลงในแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์ยังไม่มีการแบ่งแยกแผนกย่อยลงไปมากนัก แพทย์ส่วนใหญ่จึงเป็นแพทย์ทั่วไปที่ให้การรักษาโรคที่พบบ่อยที่ไม่มีความยุ่งยากสลับสับซ้อนอะไรนัก จนกระทั่งในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ถึงจุดสูงสุด การแพทย์รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ความคิดในแนวที่มองเห็นคนแยกออกเป็นส่วนๆเหมือนเครื่องจักรเริ่มเกิดขึ้น มีการแยกรักษาเป็นแพทย์เฉพาะทาง มีการแบ่งแพทย์ออกเป็นแพทย์ทั่วไป(general doctor)  แพทย์เฉพาะทาง(specialist) จนถึงขั้นแพทย์เฉพาะทางต่อยอด(Sub-specialist) มีการแบ่งแยกการให้การดูแลสุขภาพออกเป็น ระดับปฐมภูมิ (Primary care) ระดับฑุติยภูมิ(Secondary care) และระดับตติยภูมิ (Tertiary care) เกิดมีความเชื่อที่ว่าแพทย์เฉพาะทางย่อมดีกว่าแพทย์ทั่วไป จึงมีการทุ่มเททรัพยากร กำลังคน แรงจูงใจเกือบทั้งหมดลงในการดูแลสุขภาพระดับฑุติยภูมิและตติยภูมิ มีการสร้างแพทย์เฉพาะทางออกมาเป็นจำนวนมากซึ่งเกือบทั้งหมดจะไม่เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิ ถึงแม้มีการเปิดการสอนแพทย์เฉพาะทางในสาขาแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General practice) เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในระดับปฐมภูมิแต่แพทย์กลุ่มนี้ไม่ได้รับแรงจูงใจใดๆ ให้อยู่ทำงานและกลายเป็นแพทย์ที่ดูด้อยกว่าแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติทั่วไปจึงเริ่มลดความนิยมและเริ่มสูญหายไปจากวงการแพทย์ เมื่อแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางเวชปฏิบัติทั่วไปเริ่มหายไป เหลือแต่แพทย์เฉพาะทาง แต่ความต้องการในการดูแลสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังต้องการการดูแลในระดับปฐมภูมิ (อันได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การให้การรักษาในโรคง่ายๆ) แพทย์เฉพาะทางที่ไม่เคยถูกเตรียมพร้อมในการให้ดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิจึงต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วย จึงเกิดปัญหาดังนี้

1.      มีการแบ่งแยกดูเป็นส่วนๆ ตามความถนัดของแพทย์ ไม่มีการดูแลแบบองค์รวม(Holistic approach) บางครั้งลืมความเป็นคนของผู้ป่วย “เกิดเหตุรักษาโรค ไม่ได้รักษาคน”

2.      มีการใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูงจนประชาชนบางกลุ่มไม่มีกำลังในการจ่าย และเข้าไม่ถึงการบริการ มีคนบางกลุ่มได้รับการรักษาเกินที่ควรจะได้และบางกลุ่มไม่ได้เลย

3.       แพทย์เน้นการตั้งรับอยู่ในโรงพยาบาล การดูแลเชิงรุก ได้แก่ การป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพ การออกตรวจเยี่ยมผู้ป่วยนอกสถานที่ มองเห็นเป็นสิ่งที่เสียเวลาและมีประโยชน์น้อย เป็นเหตุให้คนไม่รู้จักการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ยิ่งทำให้เจ็บป่วยมากขึ้น

4.      การแพทย์พานิชย์ เมื่อมีการมองว่าการแพทย์เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่แสวงหากำไร ความนับถือแพทย์จึงเปลี่ยนจากผู้มีพระคุณ กลายมาเป็นผู้ที่ทำการค้า ความศรัทธา การนับถือในแพทย์เริ่มลดลง เกิดมีการฟ้องร้อง การร้องเรียนขอชดเชยค่าเสียหาย

5.      การแพทย์ที่เข้าถึงยาก ความไม่มั่นใจในการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มกลับไปมองหาการแพทย์แบบอื่น หรือการแพทย์ทางเลือก เช่นการใช้สมุนไพร ชีวจิต หมอพระ หมอผี หมอแผนโบราณ ถูกบ้างผิดบ้างแล้วแต่ความเชื่อของตน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีความคิดใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพทย์ที่เสื่อมถอยลง  ยิ่งเมื่อพบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงมีแนวคิดในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ โดยมีแนวคิดว่าระบบบริการที่ให้ผลคุ้มค่า จะต้องมีลักษณะ 3 อย่างคือ

1.        มีความเสมอภาค (Equity) คือทุกคนต้องได้เหมือนกันหมด

2.        มีคุณภาพ (Quality) คือ สามารถไว้ใจได้ ได้มาตรฐาน ทั้งมีการดูแลโดยองค์รวมทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ

3.        มีประสิทธิภาพ คือ ใช้จ่ายน้อยแต่ได้ผลคุ้มค่า

การแพทย์เฉพาะทาง ในลักษณะเดิมไม่สามารถที่จะเป็นไปตามแนวคิดดังกล่าวได้ จึงมีการมองหาแนวทางใหม่ที่จะสร้างให้เกิดการแพทย์ในอุดมคติ และแนวทางหนึ่งก็คือการฟื้นฟูให้การดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง มีการสร้างแพทย์ที่ดูแลระดับปฐมภูมิ (Primary care doctor) หรือที่เรียกว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family doctor) เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิของประชาชน แพทย์ดูแลระดับปฐมภูมิหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จะมีลักษณะเด่นคือ

1.      ให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม “รักษาคน ควบคู่ไปกับรักษาโรค"

2.      บริการใกล้บ้าน ใกล้ใจ ให้บริการตามเวลาราษฎร ไม่ใช่เวลาราชการ เมื่อมีปัญหาสุขภาพจะเป็นแพทย์คนแรกที่นึกถึง

3.      เน้นการให้การดูแลสุขภาพในเชิงรุก มากกว่าเชิงรับ

4.      ไม่จำเป็นต้องทำงานในโรงพยาบาล สามารถให้บริการที่บ้านและอยู่ในชุมชน

5.      รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการวินิจฉัยและรักษา ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและชุมชน

6.      มีความสามารถเชื่อมโยง ส่งต่อ เป็นหนึ่งเดียวกับโรงพยาบาล (Health care co-ordinator) รู้จักแยกแยะว่าเมื่อไรจะรักษาเอง เมื่อไรจะส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

การแพทย์ในอุดมคติ และ แพทย์ผู้ดูแลระดับปฐมภูมิจะเกิดขึ้นได้ คงขึ้นกับแรงผลักดันของสังคม ความจริงจัง จริงใจของผู้มีอำนาจ ผู้บริหารบ้านเมือง การจัดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า การวางระบบสุขภาพที่เหมาะสม การออกกฎหมาย  การสร้างแรงจูงใจและการส่งเสริมขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ปฏิบัติงาน และองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ที่จะปฏิรูประบบสุขภาพของไทย ให้เป็นไปตามฝัน