กรณี"โยนบก" จิตร  ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ (ต่อ )

         มิตร ร่วมรบ ได้บันทึกถึงถ้อยแถลงแสดงเจตนารมณ์ในกรณีจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของจิตร เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ว่า  "สวัสดีเพื่อนนิสิตทั้งหลาย ก่อนอื่นผมขอยอมรับว่า ผมได้พูดเช่นนั้นกับท่านประธานเชียร์ (นายสีหเดช บุนนาค)จริง แต่ความหมายของผมมิได้เป็นดังประธานเชียร์เข้าใจ ที่ผมว่าจะทำหนังสือแบบแหวกแนวนั้น ผมหมายถึงด้านรูปแบบกล่าวคือ ก่อนหน้านี้ หนังสือ ๒๓ ตุลาฯ ไม่มีใครกล้าเล่นสี โดยถือว่าเป็นหนังสือประเภทไว้ทุกข์ จะต้องทำปกเป็นสีดำตลอดและเนื้อหาก็จะต้องเป็นการเฉลิมพระเกียรติโดยตลอด ปีนี้ผมมีการปรับปรุงบ้าง เช่น กล้าเล่นสีแบบรีดเดอร์ไดเจสต์ คือ ในการตีเส้น ทำกรอบ หรือคำบรรยายโปรยหน้าเรื่องซึ่งเรียงด้วยจิ๋วบาง ผมมักจะใช้สีชมพู ซึ่งทำให้ดูสวยและน่าอ่าน นอกจากนี้ ตรงหัวกระดาษ เท่าที่แล้วมามักจะลงแต่ ตราพระเกี้ยว จนรู้สึกจำเจและชาชิน แต่ปีนี้ผมได้ไปขอถ่ายพระราชลัญจกร สยามินทร์ที่กรมศิลปากรมาทำบล็อคเป็นการพิเศษ ส่วนปกแทนที่จะลงสีดำหมดเหมือนเมื่อก่อน ก็ใช้สีขาวธรรมดา ด้านหน้ามีพระรูปทรงม้า แต่ด้านหลังเป็นหมอกเนบิวล่า ซึ่งแสดงถึงจักรวาลที่กำลังเปลี่ยนแปลง ส่วนในด้านเนื้อหานั้นก็ได้ไปขอร้องให้ผู้รู้เขียนสรรเสริญคุณงามความดีที่เป็นของใหม่ออกไป มิใช่พูดซ้ำไปซ้ำมาอยู่แต่เรื่องเก่า ๆ ที่ใคร ๆ ก็รู้อยู่แล้ว นี่คือความหมายของคำว่า แหวกแนว ตามที่ผมหมายถึง ถ้าแหวกแนวหมายถึงการทำหนังสือเอียงซ้าย หมายถึงการทำหนังเป็นแบบคอมมิวนิสต์แล้ว ผมจะไปพูดให้ท่านทราบล่วงหน้าทำไม ?" (วารสารอักษรศาสตรพิจารณ์ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙)

          ต่อมา จิตรได้ชี้แจงถึงเรื่องการจัดทำปกหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ที่ถูก ม.ร.ว.สลับกล่าวหาว่า "มีจิตใจโน้มเอียงนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์" ดังปรากฏอยู่ในคำให้การฯ ว่า "เรื่องพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ ข้าฯ ชี้แจงว่า รูปหรือพระบรมฉายาลักษณ์นั้นลงตีพิมพ์บ่อยครั้ง ข้าฯ เห็นว่า ควรจะเปลี่ยนแนวใหม่เอาสัญลักษณ์อื่น ที่หมายถึงรัชกาลที่ ๕ มาลงแทนคือ รูปพระเกี้ยว อันเป็นตราประจำพระองค์ และลายเซ็นพระราชหัตถเลขาว่า สยามินทร์ มาลงแทน และข้าฯ ได้ชี้แจงถึงความลำบากในการจัดหารูปพระเกี้ยว และรูปลายเซ็นพระราชหัตถเลขาให้นิสิตฟัง"

          หนังสือพิมพ์กิตติศัพท์ ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๖ ได้รายงานถึงคำชี้แจงของจิตร ในกรณีการจัดทำปกหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ไว้ว่า  "เหตุที่หนังสือเล่มนั้น ไม่ปรากฏมีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ตามที่เลขาธิการกล่าวอ้างเป็นประเพณี ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ทำกันมา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว   ก็มีรูปซ้ำซากอยู่ตลอดมา ปีนี้ตนได้พยายามหามุมใหม่เหมือนกันก็ยังไม่เหมาะ จึงได้เกิดความคิดใหม่ โดยไปขอถ่ายลายพระหัตถ์ สยามินทร์ จากกรมศิลปากร มาไว้ที่หน้าปกหนังสือประกอบกับ ภาพพระเกี้ยว ซึ่งคิดว่า เป็นสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ โดยสมบูรณ์แล้ว ส่วนในข้อกล่าวหาที่ว่าเนื้อเรื่องในหนังสือพิมพ์เล่มนั้นเอียงซ้าย นายจิตรแถลงอย่างติดตลกว่า ก็เห็นจะเอียงเพียง ๓๐ องศาเท่านั้น"

            ส่วนหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ฉบับวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้รายงานถึงถ้อยแถลงของจิตร ในกรณีจัดทำปกหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ไว้ใกล้เคียงกันว่า   "เป็นความคิดที่หลีกเลี่ยงความซ้ำ ๆ จำเจของปีก่อน ๆ ที่ทำกันมา จึงสร้างภาพลายเซ็นพระปรมาภิไธย สยามินทร์กับ พระเกี้ยว ซึ่งหมายถึง จุลจอมเกล้า ก็พอ แล้วเป็นเรื่องของอาร์ต-ศิลป ที่ปกไม่มีพระบรมรูป ซึ่งข้องใจเลขาฯ ก็เพราะหนังสือพิมพ์นี้ทำกันมา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว ซ้ำ ๆ กันมา ปีนี้จึงพยายามหามุมใหม่ โดยไปขอลายเซ็นพระปรมาภิไธยจากหอพระสมุดมาประกอบ พระเกี้ยว ซึ่งคิดว่าเป็นสัญลักษณ์สมเด็จพระปิยมหาราชโดยสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่ว่า เอียงซ้าย ถ้าจะเอียงก็เห็นจะสัก ๓๐ องศาเท่านั้น"

          เมื่อจิตรพูดมาถึงตอนนี้ ก็ปรากฏว่ามีเสียงปรบมือสนับสนุนดังมาจากเหล่านิสิตที่นั่งฟังอยู่ด้านล่าง ซึ่งดังกึกก้องสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งหอประชุม จนส่งผลให้นิสิตฝ่ายปฏิกิริยาเริ่มเสียขวัญในปรากฏการณ์ดังกล่าว หลังจากนั้น จิตรก็ได้แถลงถึงสาเหตุผลที่ตนพิจารณาเลือก บทความวิจารณ์เมืองไทยของนักเขียนอเมริกัน หนึ่งในงานเขียนที่มีปัญหา มาลงตีพิมพ์ในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่า "เรื่องบทความวิจารณ์ เมืองไทยของนักเขียนอเมริกัน ซึ่ง ม.ร.ว.สลับได้กล่าวไว้ว่า ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ฝรั่ง นำเอาสิ่งไม่ดีงามของประเทศไทยออกมาตีแผ่ เช่นเรื่องตลาดขโมย ซึ่งไม่เป็นการสมควร แต่ข้าฯ กล่าวว่า เราเป็นนักศึกษาไม่สมควรจะปิดหูปิดตา เมื่อใครเข้าใจผิดก็จะได้ชี้แจง แต่เรื่องสำคัญเราก็ควรจะรับฟัง เพื่อที่เราจะได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่เรายังบกพร่อง หรือถ้าเขาเข้าใจผิดก็จะได้ชี้แจง แต่เรื่องสำคัญเราจะต้องรับฟัง" (คำให้การฯ)

         บทความวิจารณ์การเมืองไทยของนักเขียนอเมริกัน นี้ น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับงานแปลของนางสาววรรณี นพวงศ์ซึ่งเป็นการเปิดโปงการค้าฝิ่นและการโกงกินภายในวงการเมืองของไทย อีกทั้งกล่าวว่า เมืองไทยมีตลาดโขมย (Thief Market)อยู่ที่เวิ้งเกษม ซึ่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศนำไปเขียนจนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ทั้งนี้ จิตรยังได้ทำการแก้ไขเนื้อหาของบทความให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าต้นฉบับเดิมที่ส่งมา

         ดร.เก็ดนีย์ได้เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยถึงเนื้อหาของบทความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ มหาวิทยาลัยฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่า "เท่าที่ผมจำได้ หลายเรื่องที่มีอุดมคติตรงกับสุนทรพจน์ของท่านนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) และกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่แสดงในวันสหประชาชาติ ต้องถูกตัดออกโดยคระกรรมการเซ็นเซ่อร์ในคณะนี้ และนอกจากนั้นยังมีหลายเรื่องที่พวกนิสิต วิพากษ์วิจาณ์ความประพฤติของเพื่อนนิสิตด้วยกัน ซึ่งอาจารย์น่าจะสนับสนุนการเขียนทำนองนี้ ก็ต้องถูกตัดออก โดยรังเกียจถ้อยคำบางคำ เช่น สันติสุข เสรีภาพ ภราดรภาพ  "ผมจำได้ว่ามีกาพย์กลอนชิ้นหนึ่ง กล่าวถึงธรรมชาติเรียกพระจันทร์ข้างแรมว่า เคียวเดือน ซึ่งเห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้ เรื่องนี้ก็ถูกตัดออกไป ยังมีกลอนอีกบทหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้กำลังมีคนต่างหาว่าเป็น กลอนคอมมิวนิสต์ ดูเหมือนเรื่องจะมีคำว่า  แม่ ผมก็จำชื่อไม่ได้ ข้อความก็ด่าผู้หญิงประเภทที่ไม่ยอมเลี้ยงลูกของตน ผมเห็นว่า ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดของคนดี ๆทั่ว ๆ ไป บางบทพูดถึงลักษณะชีวิตในชนบท เช่น กระท่อมหลังคาจาก คนเลี้ยงควายก็ถูกตัดออก คล้ายกับจะถือว่านิสิตไม่ควรพูดถึงภาพไทย ๆ เช่นนี้

         "แต่ก็น่าประหลาด บางคนที่อ้างว่าหนังสือฉบับนี้ แดง ก็มักจะหยิบยกเอาทางการตำรวจประท้วง และสาราณียกรตัดออกแล้วแต่ต้นมือมาอ้าง ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ประหลาดอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือมีข่าวจากปากบุคคลภายในบางคนว่าหนังสือนี้มันสีแดงแจ๋อย่างหนัก ! ถึงขนาดที่ผู้จัดทำน่าจะได้รับสินบนจากฝ่ายแดง แต่บุคคลเดียวกันนั้นบางทีก็พูดว่ามันแดงอย่างแนบเนียนจริง ๆ ขณะที่แปลออกเป็นภาษาฝรั่ง พวกอาจารย์ฝรั่งก็คงแลไม่เห็นความแดง อย่างนี้เราจะรับฟังได้อย่างไร" (ฉบับวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๖)

          นอกจากบทความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ยังมีงานเขียนที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยอีกหลายเรื่องด้วยกัน อันได้แก่

          ดวงดาวเป็นกาพย์กลอนของท้องฟ้า ของ เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน

          แปรวิถี ของนางสาวศรีวิภา ชเอม ซึ่งเป็นงานเขียนเกี่ยวกับความคิดของนักปฏิวัติในฝรั่งเศส อาทิ วอลแตร์ รุสโซซึ่งน่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับ การปฏิวัติในฝรั่งเศส ที่นายน้อย ฝากมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการโรงพิมพ์ไทยวัฒนา ได้ให้การไว้ต่อศาลทหารกรุงเทพฯ ในคดีของจิตร

         ใครหมั่นใครอยู่ได้ เกียจคร้านตายเสีย ? ของนายประวุฒิ ศรีมันตะ ซึ่งเขียนโต้กรมประชาสัมพันธ์ ที่กล่าวประณามหยามเหยียดประชาชนผู้ยากไร้ว่าเป็น ผู้เกียจคร้าน และยกย่องพวกคนรวยที่มั่งมีศรีสุขว่าเป็นเพราะ มีความขยัน

       ในนิมิต ซึ่งเป็นบทกวีของ อุชเชนี อันเป็นนามปากกาของอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา กวิณีชื่อดังแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

         นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนของนิสิตคณะรัฐศาศตร์ ซึ่งมีเนื้อความชักชวนให้เหล่านิสิตน้อมรำลึกถึง มหากรุณาธิคุณของคนงาน กรรมกร และประชาชนผู้เสียภาษี ที่ได้ร่วมกันสร้างตึกจุฬาลงกรณ์ขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

          ถ้อยแถลงการณ์ของจิตรยืดยาวต่อเนื่องเรื่อยมานานนับสิบนาที จนกระทั่งชี้แจงมาถึงเรื่อง บทความเกี่ยวกับระบบโยนน้ำ ซึ่งถือกันว่าเป็นประเพณีการลงโทษนิสิตผู้กระทำผิดของ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมาช้านานแล้ว โดยมีนิสิตผู้หนึ่งได้ส่งบทความดังกล่าวมาให้จิตรพิจารณาลงตีพิมพ์ในหนังสือ มหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ นี้ด้วย (นสพ. สารเสรี ฉบับวันที่ ๒๙ตุลาคม ๒๔๙๖)

         ในช่วงปี ๒๔๙๖ นั้น นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยยังคงยึดมั่นในระบบอาวุโส หรือที่รู้จักกันในนาม SOTUS อย่างเหนียวแน่นและเข้มข้น ซึ่งมีนิยามว่า SENIORITY ORDER TRADITION UNITY SPIRIT คือ อาวุโส ระเบียบ ประเพณี สามัคคี น้ำใจ อันเป็นระบบการปกครองในลักษณะ อำนาจนิยม ที่นิสิตรุ่นพี่มีสิทธิโดยชอบธรรม ในการนำมาบังคับใช้กับนิสิตรุ่นน้อง โดยอ้างว่า มีไว้สำหรับควบคุมความประพฤติของเหล่านิสิต และเพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีภายในหมู่นิสิต กรณีที่มีการฝ่าฝืนจารีตธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่เดิม นิสิตจะถูกลงโทษด้วยการโยนลงไปในสระน้ำ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทางคณะกรรมการ หรือนิสิตส่วนใหญ่เสียก่อน

           สุดท้าย จิตรได้ขอร้องให้ทางสภามหาวิทยาลัยนำเอาหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ที่พิมพ์เสร็จแล้วออกมาแจกจ่าย เพื่อจะได้พิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ถกเถียงกันในวันนี้ แทนที่จะกล่าวประณามตนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่เพื่อนนิสิตไม่มีโอกาสที่จะได้อ่านหนังสือเจ้าปัญหาฉบับดังกล่าวนี้เลยแม้แต่น้อยนิด

           มิตร ร่วมรบ ได้บันทึกถ้อยแถลงของจิตรในช่วงเวลาดังกล่าวว่า "ตามที่ท่านเลขาฯ ได้เลือกเอาข้อความเพียงบางตอนมากล่าวบิดเบือนให้ร้ายผมนั้น ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทางที่ดีควรเปิดโอกาสให้นิสิตได้เห็นเนื้อหาของหนังสือทั้งหมด และวินิจฉัยเนื้อหาทั้งหมดด้วยตนเอง จึงจะเป็นการยุติธรรม" (วารสารอักษรศาสตรพิจารณ์ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙)

            คำแถลงดังกล่าวของจิตรได้ช่วยโน้มน้าวนิสิตผู้มีใจเป็นธรรมให้มีความคิดเห็นโน้มเอียงมาทางตน ทำให้มีเสียงปรบมือสนับสนุนดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้ยืดเยื้อและยาวนานกว่าเดิม พร้อมกับมีเสียงตะโกนขึ้นว่า "ให้ตีแผ่หนังสือออกมา" ดังลั่นทั่วทั้งหอประชุม จึงก่อให้เกิดความเดือดดาลขึ้นในหมู่นิสิตปฏิกิริยาขวาจัด จนมีเสียงตะโกนแย้งขึ้นว่า"โยนน้ำเลย"

         ทันใดนั้นเอง เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น นายสีหเดชและนายศักดิ์ นิสิตเลือดร้อนกลุ่มขวาจัด ซึ่งเคยกดไหล่ให้จิตรนั่งลง เมื่อคราวที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำแถลงของ ม.ร.ว.สลับ ได้ปีนขึ้นมาบนเวทีที่จิตรกำลังยืนแถลงอยู่ท่ามกลางความตื่นตะหนกของเหล่านิสิตที่นั่งฟังคำแถลงอยู่ด้านล่าง ไม่ทันได้พูดพร่ำทำเพลง นายสีหเดชก็วิ่งกราดเข้าเตะจิตรจนล้มฟุบลงกับพื้น แล้วนิสิตปฏิกิริยาทั้งสองก็ตรงเข้ามาประกบล็อคตัวจิตรไว้ทั้งซ้ายขวาและดึงแขนไว้ไม่ให้พูดต่อ นายชวลิต พรหมานพ เลขานุการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้วิ่งตามขึ้นมารวบขาทั้งสองข้างของจิตรไว้ หนึ่งในนิสิตอันธพาลทั้งสามได้ตะโกนขึ้นว่า "อย่าโยนน้ำเลย โยนบกนี่แหละ"

         พอสิ้นคำพิพากษาจากศาลเตี้ย ร่างของจิตรก็ถูกโยนลงมาจากเวทีหอประชุม ลงมากองอยู่กับพื้นไม้อัดด้านล่าง ซึ่งเป็นการกระทำที่ทารุณ โหดร้าย และป่าเถื่อนอย่างที่นิสิตหลายคนมิอาจยอมรับได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า บางครั้งการศึกษาที่สูงก็ไม่สามารถพัฒนาจิตใจให้ทุกคนเป็นคนดีได้เสมอไป

        หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๖ ได้รายงานถึงช่วงเวลาอันระทึกใจในเหตุการณ์ โยนบก ว่า "ทันใดนั้นเอง เสียงวี๊ดว๊ายจากนิสิตหญิงก็ดังขึ้นสลับกับเสียงเฮของนักศึกษาคณะต่าง ๆ ซึ่งกราดเข้ามาล้อมนายจิตรไว้ ต่างคุมเชิงกันอยู่เช่นนั้นอึดใจหนึ่ง ด้วยท่าทางที่จะตรงเข้าตะลุมบอนกัน แต่เดชะบุญไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น นายจิตรซึ่งนอนฟุบลุกไม่ขึ้นอยู่กับพื้น ถูกเพื่อนร่วมคณะหามประคองออกมานำส่งโรงพยาบาลเลิศสิน และแจ้งกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลว่า หกล้ม หลังจากเอ็กซ์เรย์แล้วไม่มีบาดแผลรุนแรงอย่างไร นายจิตรจึงกลับไป"

        จิตรได้กล่าวถึงช่วงเวลาหลังจากที่ตนถูก โยนบก ลงมาจากเวทีหอประชุมไว้ในคำให้การฯ ว่า  "เมื่อข้าฯ ได้สติลืมตาขึ้นอีกครั้ง เห็นนิสิตจำนวนมากมายืนห้อมล้อมข้าฯ อยู่ เท่าที่ข้าฯ ได้ยินและจำได้มีเสียงบางกลุ่มเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำอันนี้ มีนิสิตจำนวนมากเข้าห้อมล้อมข้าฯ ไว้ แล้วประณามพวกที่โยนข้าฯ... มีคณะกรรมการอักษรศาสตร์บางคน จำชื่อไม่ได้ นำข้าฯ ขึ้นรถยนต์ไปโรงพยาบาลเลิศสิน บางรัก นายแพทย์บอกว่าไม่เป็นอะไรก็ให้ข้าฯ กลับมหาวิทยาลัย ข้าฯ บอกกับนายแพทย์ว่า ข้าฯ ตกจากที่สูง ไม่ได้บอกว่า ถูกจับโยนบก เพราะไม่ต้องการให้ใครทราบ เรื่องราวอันเป็นมลทินกับมหาวิทยาลัย และเรื่องนี้ข้าฯ ก็ไม่ได้แจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อให้ดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งกระทำกับข้าฯ"

           ขอย้อนกลับมาตอนที่จิตรยังคงนอนสลบไสลไม่ได้สติอยู่กับพื้นด้านล่างเวทีหอประชุม นิสิตหลายคนได้ร้องตะโกนขึ้นว่า "ป่าเถื่อน" "ไร้มนุษยธรรม" "เขาผิดหรือไม่ ทำไมจึงไม่พิสูจน์ก่อน" และ "มีสิทธิอะไรมาลงโทษเขาโดยพลการ"

           ม.ร.ว.ดวงใจ จิตรพงษ์ นายกชุมนุมปาฐกถาและโต้คารมแห่งคณะอักษรศาสตร์ เพื่อนนิสิตร่วมคณะเดียวกันกับจิตรได้วิ่งขึ้นไปบนเวทีหอประชุม แล้วแย่งไมโคโฟนกลับคืนมาจากนายธวัชชัย และเหล่านิสิตปฏิกิริยาแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์พร้อมกับตะโกนขึ้นด้วยน้ำเสียงอันห้าวหาญว่า "มันเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม ทำไมจึงไม่รอการพิสูจน์ก่อน เราขอประณามการกระทำที่ป่าเถื่อนครั้งนี้ จะต้องมีการลงโทษบุคคลทั้งสองในการกระทำที่อุกอาจครั้งนี้"

         ทันใดนั้น ก็มีเสียงปรบมือสนับสนุนดังสนั่นหวั่นไหวทั่วทั้งหอประชุม นิสิตปฏิกิริยากลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็น พวกวิศวฯ ได้บุกขึ้นมาบนเวที และแย่งเอาไมโคโฟนกลับคืนมาจาก ม.ร.ว.ดวงใจ พร้อมกับกล่าวประณามตอบโต้ เหล่านิสิตหัวก้าวหน้าและนิสิตผู้มีใจเป็นธรรมได้เดินเข้ามายืนคุมเชิงอยู่ที่หน้าเวที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิตจากคณะรัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ส่วนนิสิตที่เหลือวางตัวเป็นกลางและคอยสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ

          บรรยากาศภายในหอประชุมเริ่มตึงเครียด เปรียบประหนึ่งสมรภูมิรบทางอุดมการณ์ของ ฝ่ายปฏิกิริยาและฝ่ายก้าวหน้าแต่ด้วยความที่นิสิตหัวก้าวหน้ามีจำนวนมากกว่า จึงทำให้นิสิตปฏิกิริยาขวาจัด ลดความความฮึกเหิมลง จนในที่สุดฝ่ายปฏิกิริยาก็ตกเป็นจำเลยของที่ประชุมนิสิต โดยนิสิตชายผู้มีใจรักความเป็นธรรมส่วนหนึ่ง ซึ่งรวมถึง มิตร ร่วมรบ ได้วิ่งออกไปคว้าก้อนอิฐ

          ที่กองอยู่ข้างหอประชุมมาคนละ ๓-๔ ก้อน เพื่อเตรียมนำมาปาใส่หน้านิสิตกลุ่มขวาจัดที่บังอาจล้ำเส้นเข้ามา แต่การปะทะกันระหว่างนิสิตปฏิกิริยากับนิสิตหัวก้าวหน้าก็มิได้เกิดขึ้นอย่างที่หลายคนกลัว ในช่วงที่กำลังชุลมุนกันอยู่นั้น ได้มีเพื่อนนิสิตคณะอักษรศาสตร์ราว ๓-๔ คน นำตัวจิตรส่งโรงพยาบาลเลิศสิน (มิตร ร่วมรบ, วารสารอักษรศาสตรพิจารณ์ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙)

          นิสิตส่วนใหญ่ที่ไม่พอใจในการกระทำอันป่าเถื่อนในครั้งนี้ ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้นายธวัชไชย นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ออกมารับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งต้องจัดให้มีการแถลงถึง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้น นายธวัชไชยจึงได้ขอมติจากที่ประชุมนิสิตว่า เห็นด้วยหรือไม่กับ กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้น ? ผลปรากฏว่า มีเสียงสนับสนุนประเพณีอันโหดร้ายและล้าสมัยนี้แค่เพียง ๓๐๐ คน จากนิสิตทั้งหมดราว ๓,๐๐๐ คน

         หลังจากที่จิตรตรวจร่างกายแล้วไม่พบอาการบาดเจ็บรุนแรงใด ๆ นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลเลิศสินจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ในวันเดียวกันกับที่ถูกจับ โยนบก นั้นเอง       จิตรได้ตัดสินใจ กลับมายังจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยอีกครั้ง จนกระทั่งเดินมาพบกับ ดร.เก็ดนีย์ ที่กำลังยืนเถียงอยู่กับนางจินตนา ยศสุนทร หนึ่งในอาจารย์ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาบทความ ที่มีปัญหาในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯที่บริเวณด้านหน้าของตึกอักษรศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในนาม เทวาลัยร้าง อันศักดิ์สิทธิ์

         ครั้นนางจินตนาเห็นจิตรเดินผ่านมา ก็รีบเดินตรงเข้าไปหา พร้อมกับกล่าวว่า "ดอกเตอร์เก็ดนีย์ได้มาต่อว่าต่อขาน เรื่องที่มีการกล่าวหาว่า นายจิตรเป็นคอมมิวนิสต์ และนายจิตรได้รับเคราะห์กรรมถึงขนาดนี้ เป็นการที่ทางจุฬาฯ สมใจแล้วหรือ" (คำให้การฯ)

            ดร.เก็ดนีย์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ปะทะคารมระหว่างตนและนางจินตนากับหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยว่า "หลังจากที่เกิด การรบ กันขึ้นในหอประชุม ผมก็ได้ไปตามจิตรที่จุฬาฯ แต่ไม่พบตัว บ้างก็ว่า ตะโพกหัก บ้างก็ว่าหลังหัก ได้พบอาจารย์บางคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ผมระงับความแค้นใจไม่ได้ที่อาจารย์เหล่านั้น ไม่รู้ว่าจิตรเป็นอย่างไรและอยู่ที่ไหน ผมก็เลยบอกกับอาจารย์ผู้หญิงคนหนึ่งว่า ผมไม่เห็นด้วยกับที่ว่า หนังสือพิมพ์มันแดง ขณะนั้นอาจารย์ผู้ใหญ่คนหนึ่งก็กล่าวว่า หนังสือพิมพ์มันไม่แดง แต่เรื่องบางเรื่องไม่เหมาะสม โดยโทสะจริต ผมก็เลยชี้หน้าอาจารย์ผู้หญิงคนนั้นและกล่าวว่า ก็คุณไม่ใช่หรือที่ว่า หนังสือพิมพ์มันแดงตลอดเล่ม และจิตรเป็นอย่างนี้สมหรือยัง ผมไม่ได้ใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพแต่รู้ตัวทันทีว่าการยกมือชี้หน้าเป็นการผิดธรรมเนียมไทย ผมก็เลยยกมือไหว้ขอโทษ ๓-๔ ครั้ง (และยินดีที่จะถือโอกาสขออภัยอีกครั้งหนึ่งในที่นี้ด้วย) แต่เขาก็ไม่ยอม และยังกล่าวหาว่า น่าสงสัยว่า ตัวผมก็ท่าจะแดงเหมือนกัน อาการเช่นนี้ดู  จะเป็นโรคระบาด" (ฉบับวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๖)

           เมื่อถกเถียงกันจนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายแล้ว ดร.เก็ดนีย์กับจิตรก็เดินทางกลับมายังบ้านพักที่ซอยร่วมฤดี ถนนเพลินจิตต์ พอกลับมาถึงบ้าน ดร.เก็ดนีย์ก็ได้เล่าถึงสาเหตุของการปะทะคารมที่เกิดขึ้นให้จิตรฟังว่า เมื่อตนรู้ข่าวเรื่องที่จิตรถูกจับ โยนบก จากเดวิด วิลสัน (David Wilson) เพื่อนสนิทของตน ซึ่งเดินทางมาบอกถึงที่บ้าน โดยนายวิลสันบอกให้ตนไปรับจิตรกลับมาที่บ้านด้วย แต่เมื่อตนไปตามหาจิตรที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก็ไม่พบตัว ถามนิสิตหลายคน ก็ไม่มีใครรู้เรื่องจนกระทั่งเดินมาพบกับนางจินตนาเข้าโดยบังเอิญที่หน้าตึกอักษรศาสตร์ จึงได้เกิดมีปากเสียงกันดังที่เห็น

           บรรยากาศภายในรั้วจามจุรีถูกปกคลุมไปด้วยความตึงเครียด เหล่านิสิตต่างจับกลุ่มกันวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนิสิตคณะต่าง ๆ ได้ร่วมกันคว่ำบาตร ไม่ยอมเล่นกีฬา และเรียนร่วมห้องเดียวกันกับนิสิต เผ่าซูลู แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์(นสพ.ข่าวภาพ ฉบับวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๖)

           ในเย็นวันเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ โยนบก ได้มีนักข่าวหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งมาขอสัมภาษณ์ พระเวชยันตรังสฤษฎ์อธิการบดีจุฬาฯ แต่ก็ได้รับการตอบปฏิเสธว่า "ไม่มีเวลาพบ" (นสพ.กิตติศัพท์ ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๖)

           นายชวลิต สิงห์เจริญ ปฏิคมของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ถึงกรณีการลงโทษด้วยการ โยนบก ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ว่า "เหตุที่เกิดอย่างนั้น ไม่มีอะไรผิดแปลกเลยคุณ นั่นคือ เทรดิชั่น (Tradition) ของเรา ซึ่งปฏิบัติต่อ ๆ กันมา เมื่อใครทำผิด คณะกรรมการลงมติว่า ผิด ก็อาจจะจับโยนได้"

            ขณะเดียวกัน ช่างภาพหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยก็ได้เที่ยวตระเวนถ่ายภาพนิสิตที่นั่งจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่อง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้น ได้มีนิสิตอันธพาลกลุ่มหนึ่งขับรถเก๋งเข้าปราดหน้า แล้วลงมาเจรจาขอฟิล์มที่ถ่ายภาพไปแล้วกลับคืน แต่เหตุการณ์ก็จบลงด้วยดี ไม่มีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น (นสพ.พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๖)

           ในคืนวันเดียวกัน สภามหาวิทยาลัยได้เรียกประชุมคณะกรรมการของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ถึงเรื่อง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้นเป็นการภายในโดยด่วน ผลการประชุมสรุปว่า ให้ทางสภามหาวิทยาลัยเรียกประชุมนิสิตทั้งมหาวิทยาลัยในวันรุ่งขึ้น เพื่อให้ร่วมกันพิจารณาตัดสินว่า กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความผิดของใคร ? และควรลงโทษผู้กระทำความผิดสถานใด ?

             วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๖ สภามหาวิทยาลัยได้เรียกประชุมนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในเวลา ๑๗.๐๐ น. แต่นิสิตคณะวิศวฯ ก็ได้ชิงเปิดประชุมเป็นการภายในขึ้นเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยกันคิดหาข้อโต้แย้งในการกระทำอันป่าเถื่อนของพรรคพวกตน เมื่อประชุมปรึกษาหารือกันจนเป็นที่พอใจแล้ว เสียงร้อง "บุมมารากา ชิก ๆ ๆ" อันเป็นสัญลักษณ์ของคนป่า ก็ดังลั่นไปทั่วทั้งตึกวิศวกรรมศาสตร์ นิสิตคณะวิศวฯ ที่เดินออกมาจากที่ประชุม ต่างก็มีใบหน้าที่เปื้อนย้ิมกันถ้วนหน้า (นสพ.ข่าวภาพ ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

           เวลา ๑๔.๐๐ น. วันเดียวกัน ได้มีนิสิตคนหนึ่งนำเอา โปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ มาปิดไว้ตรง ป้ายโปรดขับช้า ๆที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย บนใบปิดมีภาพวาดคนสวมหน้ายักษ์ในมือถือคบเพลิง พร้อมกับมีคำอธิบายใต้ภาพว่า "คอมมิวนิสต์มา ศาสนาหมด" แต่ปรากฏว่าติดอยู่ไม่ถึง ๑๐ นาที ก็ถูกนิสิตอีกคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวฉีกทิ้งในทันทีที่ได้เห็น (นสพ.พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

          นอกจากนี้ยังมีโปสเตอร์อีกหลายแผ่นที่ เขียนโจมตีคอมมิวนิสต์ อาทิ "คอมมิวนิสต์ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" และ "คอมมิวนิสต์ไม่นับถือพ่อแม่" ต่อมาใบปิดโปสเตอร์ ปลุกผีคอมมิวนิสต์ เหล่านี้ก็ได้ถูก อาจารย์ฝรั่ง ของคณะอักษรศาสตร์ ๒-๓ ท่าน ช่วยกันเดินเก็บฉีกทิ้ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล (มิตร ร่วมรบ, วารสารอักษรศาสตรพิจารณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙)

           ในเวลา ๑๕.๐๐ น. วันเดียวกัน ได้มีคณะนักข่าวหนังสือพิมพ์จากสารเสรี ข่าวภาพ กิตติศัพท์ เดลิเมล์ สยามนิกรพิมพ์ไทย และตงง้วน มาคอยสังเกตการณ์การประชุมนิสิตเรื่อง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งดักรอสัมภาษณ์พระเวชยันตรังสฤษฎ์ที่จะมาเข้าร่วมในการประชุมครั้งน้ี แต่คณะนักข่าวก็ถูกนิสิตคณะวิศวฯ กลุ่มหนึ่งเข้ามายืนล้อมกรอบดักหน้าดักหลังวางอำนาจบาตรใหญ่คุกคามการทำงานของกลุ่มนักข่าวอย่างแข็งกร้าว

            พระเวชยันตรังสฤษฎ์ได้นั่งรถเก๋งเข้ามาในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อเวลาราว ๑๖.๐๐ น. เศษ สองข้างทางที่ผ่านเต็มไปด้วยป้ายประท้วงของเหล่านิสิตที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ โยนบก ที่เกิดขึ้น พอคณะนักข่าวเห็นรถเก๋งของท่านอธิการบดีขับเข้ามาจอดเทียบที่สโมสรฯ ก็รีบวิ่งเข้ามาขอสัมภาษณ์ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า "ยังไม่รู้เรื่องละเอียด !" แล้วรถเก๋งของท่านอธิการบดีก็แล่นออกไปในทันที โดยขับมุ่งหน้าไปทางสามแยกหน้าตึกวิศวกรรมศาสตร์ แล้วรถของท่านอธิการบดีก็จอดลงอีกครั้ง พวกนักข่าวก็รีบขับรถจี๊ปเข้าเทียบ เพื่อขอทำการสัมภาษณ์ นิสิตวิศวฯ กลุ่มใหญ่ที่อยู่ในบริเวณนั้น ได้วิ่งกรูเข้ามาทำการคุ้มกันรถของท่านอธิการบดี พวกนักข่าวก็ไม่ยอมลดละในการที่จะขอสัมภาษณ์ ส่วนช่างภาพก็พยายามเล็งหามุมกล้องดี ๆเพื่อถ่ายภาพท่านอธิการบดีและนิสิตปฏิกิริยากลุ่มนี้ แต่ยังไม่ทันได้กดชัตเตอร์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์ก็ได้ถูกนิสิตอันธพาลคนหนึ่งตะคอกใส่หน้าด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด "อย่าถ่าย อย่าถ่าย ที่นี่เป็นสถานที่ราชการ ไม่ใช่ที่สาธารณะ" ช่างภาพจึงตอบกลับไปว่า "ยังไม่ได้ถ่ายเลยสักภาพ"

        นิสิตปฏิกิริยาแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ตรงเข้ามาล็อคคอช่างภาพสารเสรี แล้วพยายามชิงเอากล้องไปจากมือ เมื่อช่างภาพเห็นท่าทีที่ไม่เป็นมิตรเช่นนี้ ก็ได้โยนกล้องของตนไปให้นักข่าวที่นั่งรออยู่บนรถจี๊ป นิสิตอันธพาลคนหนึ่งกล่าวกรรโชกด้วยอารมณ์โกรธว่า "คุณถ่ายทำไมที่นี้ พวกคุณไม่มีสิทธิจะเข้ามาได้" เมื่อเห็นท่าไม่ดี คณะนักข่าวก็ได้กล่าวกับนิสิตอันธพาลเหล่านั้นว่า "ตกลงพวกผมจะออกไปจากที่นี้" แล้วนักข่าวก็รีบวิ่งกลับไปยังรถของตน ขณะที่รถของคณะนักข่าวหนังสือพิมพ์กำลังจะเคลื่อนตัวออกไป นายสุมิตร์ สิทธิประเสริฐ ช่างภาพกิตติศัพท์ ได้ถูกนิสิตคนหนึ่งกระชากแขนเสื้อจนขาดติดมือ ส่วนนายอัมพรชัย โหลทอง ช่างภาพสารเสรี ซึ่งวิ่งขึ้นรถเป็นคนสุดท้าย ได้ถูกกระชากแขนจนหงายหลังตกลงมาจากรถ พร้อมกันกับนายทองหล่อ นพโยธิน คนขับรถ ต่อหน้าต่อตาท่านอธิการบดี ซึ่งก็มิได้ว่ากล่าวหรือห้ามปรามแต่ประการใด

           เมื่อคณะนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่นั่งอยู่บนรถเห็นท่าไม่ดี ก็รีบวิ่งกรูลงมาช่วยกันแย่งตัวนายอัมพรชัย และนายทองหล่อออกมาจากวงล้อมของการกลุ้มรุมทำร้าย จึงทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง ระหว่างนักข่าวกับเหล่านิสิตอันธพาล นายอัมพรจึงกล่าวขึ้นว่า "พวกคุณเป็นนิสิตมีการศึกษา ไม่น่าจะทำกับผมเช่นนี้" เมื่อเหล่านิสิตปฏิกิริยาได้ยินดังนั้น ก็ปล่อยมือทั้งสองข้างของนายอัมพรและนายทองหล่อที่ถูกจับล็อคให้เป็นอิสระ แล้วก็ผลักหลังทั้งสองเซหลุน ๆ ถลำไปข้างหน้า พวกนักข่าวที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ก็ได้เข้าไปพาตัวนายอัมพรและนายทองหล่อกลับไปยังรถ กลุ่มนิสิตปฏิกิริยาก็ได้ตะโกนสำทับตามหลังมาว่า "เฮ้อรีบออกไปเสียเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวพ่อต่อยให้ยับเสียเลย" เมื่อนักข่าวมาขึ้นรถกันหมดแล้ว ก็รีบขับออกไปในทันที แต่นิสิตอันธพาลก็ยังวิ่งตามมา พร้อมกับขว้างขอนไม้จามจุรีท่อนใหญ่เข้าใส่ ซึ่งลอยมาโดนศีรษะและกลางหว่างหลัง ของนายประเวทย์ บูรณกิจ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของหนังสือพิมพ์สารเสรี เข้าอย่างจังเป็นการปิดท้าย โดยที่มีท่านอธิการบดีนั่งดูเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในรถ แต่ท่านก็หาได้ห้ามปรามแต่ประการใดไม่

            เมื่อคณะนักข่าวหนังสือพิมพ์หนีพ้นจากการกลุ้มรุมทำร้ายของเหล่านิสิตอันธพาลแล้ว ก็ได้มาจอดรถดักรอสัมภาษณ์พระเวชยันตรังสฤษฎ์อยู่ที่หน้าประตูทางเข้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อรถของท่านอธิการบดีขับออกมา พวกนักข่าวก็รีบวิ่งเข้าไปขอสัมภาษณ์ ซึ่งก็ได้รับคำตอบแต่เพียงสั้น ๆ ว่า "จะเอาอะไรกันอีกวะ ?" แล้วรถของท่านก็รีบบึ่งออกไปในทันที (นสพ.กิตติศัพท์ เดลิเมล์ พิมพ์ไทย ข่าวภาพ และสารเสรี ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

            ครั้นถึงเวลาประชุมนิสิตเข้าจริง ๆ หมายกำหนดการกลับถูกยกเลิกและเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ภายใต้การสั่งการของพระเวชยันตรังสฤษฎ์ โดยอ้างว่า ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายภายในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในกรณีที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เข้าไปทำร้ายคณะนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่มาทำข่าวในช่วงเย็นที่ผ่านมา

            ในเวลา ๑๘.๐๐ น. วันเดียวกัน นักข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวภาพได้มาขอสัมภาษณ์จิตรถึง ที่บ้านพักซอยร่วมฤดีของดร.เก็ดนีย์ จิตรได้แต่ยิ้มแห้ง ๆ พร้อมกับส่ายหน้าอย่างท้อแท้เป็นการต้อนรับ แล้วจึงเล่าถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดกับตนว่า "ผมยังขัดยอกไปทั้งตัว ไม่ทราบว่า พวกวิศวฯ เขาจะมาเล่นงานผมส่วนตัวหรือเพื่อมหาวิทยาลัย พอผมถูกรวบขาก็หมดสติ ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าจะกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงเลย ทั้งบทความและเรื่องนี้เห็นกันว่าเป็นฝ่ายซ้าย ก็เป็นของอาจารย์และนิสิตในมหาวิทยาลัยนี้ทั้งนั้น"

          นอกจากนี้ จิตรยังได้กล่าวอีกว่า เมื่อเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. ของวันนี้ ตนได้รับจดหมายท้าทายจากนิสิตวิศวฯ ว่าถ้าเขาเป็นลูกผู้ชายจริงให้ไปพบกันที่สามแยกวิศวฯ ซึ่งระหว่างตึกอักษรศาสตร์และตึกวิศวกรรมศาสตร์ อันเป็นดินแดนต้องห้ามที่นิสิตต่างคณะมิอาจย่างกรายเข้าไปได้ ในเวลา ๒๒.๐๐ น. เพื่อเจรจาตกลงกันถึงเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในตอนแรกตนก็คิดว่าจะไปพบตามนัด แต่เพื่อน ๆ ได้ห้ามปรามไว้เสียก่อน อีกทั้งตนก็ยังไม่หายเจ็บดี ตนคิดว่าถึงอย่างไรก็จะไปพบตามที่ท้าท้ายไว้แน่นอน แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ?

            ส่วนสาเหตุที่ตนได้เปลี่ยนแนวการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ นั้น ก็เพราะได้รับคำร้องขอจากนิสิตส่วนใหญ่ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยว่า "...เรื่องที่ลงในหนังสือเล่มนี้ทุก ๆ ปี เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะแก่การศึกษา เพราะเป็น  เรื่องประโลมโลก เกี่ยวกับรัก ๆ ใคร่ ๆ และโน้มเอียงไปในเรื่องไร้สาระ นิสิตส่วนมากจึงได้ขอให้สาราณียกรเปลี่ยนเรื่องในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่มีสาระเสียบ้าง" (ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

           นอกจากนี้ จิตรยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สารเสรีถึงความรู้สึกในกรณีที่ตนถูก โยนบก ว่า "ไม่คิดข้องโกรธเคืองการกระทำแต่อย่างใด ถือว่าเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องส่วนตัวมากกว่า และจะไม่ยอมไป แจ้งความเพื่อดำเนินคดีแต่อย่างใดโดยกล่าวว่าเรื่องแล้วก็แล้วกันไป" (ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)


นายมารุต บุญนาค
อดีตประธานนักศึกษามหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์และการเมืองและ
อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร

          นายมารุต บุนนาค อดีตประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ข่าวภาพ ถึง กรณีโยนบก ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในบ่ายวันเดียวกัน ณ สำนักงานมณีรัตน์ทนายความ เชิงสะพานมอญ ว่า "วิธีการ โยนบก ซึ่งนิสิตจุฬาฯ บางคนอ้างว่าเป็น เทรดิชั่น นั้น ผมถือว่ามันเป็นข้ออ้าง ที่รับฟังไม่ได้ วิธีการเช่นนั้นเป็นวิธีการป่าเถื่อน ควรเลิกใช้ได้แล้วสำหรับ สถาบันอันสูงเกียรติเช่นจุฬาฯ เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ผู้กระทำย่อมต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา อย่างไม่ต้องสงสัย      เพราะ เทรดิชั่น เช่นนี้ไม่ได้เป็นอภิสิทธิพิเศษนอกเหนือกว่าสิทธิใด ๆ

           สำหรับผมโดยที่มีอาชีพเป็นทนายความรักความยุติธรรม ถ้าหากผู้เสียหายมิได้รับการเหลียวแล จากผู้ใดหรือสถาบันใด หรือว่าเขามีความประสงค์จะดำเนินคดี ผมก็ยินดีช่วยเหลือทันที โดยไม่รังเกียจหรือ ไม่หวังสินจ้างรางวัลอะไร ทั้ง ๆ ที่ผมกับเขาก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และไม่เคยรู้เรื่องการจัดทำหนังสือจุฬาฯ ๒๓ ตุลาฯ ด้วย แต่รู้สึกเห็นใจในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง" (ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

           ส่วน นายขจร สุขพานิช สาราณียกรหนังสือชุมนุมจุฬาฯ ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นนักประวัติศาสตร์ คนสำคัญของไทย ได้แสดงความคิดเห็นถึง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้น กับหนังสือพิมพ์กิตติศัพท์ ณ ตึกอำนวยการ ว่า "เป็นธรรมดาคุณ เรื่อง โยนน้ำ กันนี้นะ... เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เห็นน่าสนใจอะไร เพราะ โยนบกก็จะเท่ากับเป็นกันการเพิ่มโทษเท่านั้นเอง"(ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

          ขณะเดียวกัน นิสิตคณะต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ยกเว้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไดเลือกตั้งผู้แทนขึ้นมาคณะละ ๕ คน เพื่อประชุมพิจารณา กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะผู้แทนเหล่านี้ได้ลงความเห็นว่า นายสีหเดช บุนนาค และนายศักดิ์ สุทธิพิศาล แต่ไม่ได้กล่าวถึงนายชวลิต พรหมานพ ผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญใน กรณีโยนบก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่าอดสูใจไม่เหมาะสม อย่างยิ่งกับผู้ที่มีการศึกษาสูง อีกทั้งยังสร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติแห่งนี้ จึงมีมติให้ขับไล่หรือลบชื่อนิสิตผู้ก่อเหตุทั้งสองคนนี้ออกจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งให้นำมติดังกล่าวเสนอต่อท่านอธิการบดีเพื่อให้พิจารณาตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดในโอกาสต่อไป (นสพ.สารเสรี ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

          น้อย อินทนนท์ ซึ่งเป็นนามปากกาของอาจารย์มาลัย ชูพินิจ เจ้าของคอลัมน์ ระหว่างบรรทัด แห่งหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นที่มีต่อ กรณีโยนบก ซึ่งเกิดขึ้นที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ว่า "ขนบและประเพณี มิใช่กฎหมาย แม้ในบางกรณีมันจะเหนือกว่า เพราะขนบประเพณีเป็นข้อตกลงและพันธะทางใจซึ่งปราศจากลายลักษณ์อักษร อันได้รับการรับรองจากความเห็นชอบส่วนใหญ่ของหมู่คณะชุมชนขึ้นไปจนของชาติ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงคิดว่า ข้าพเจ้าเข้าใจ เมื่อเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์ชี้แจงคนข่าวพิมพ์ไทย เกี่ยวกับกรณีการแสดงภราดรภาพแก่สาราณียกร หรือผู้จัดทำหนังสือ ๒๓ ตุลาฯ จนถึงหมอบกระแตไป ว่าเป็น Tradition หรือประเพณีของมหา

          วิทยาลัยเช่นนั้นเอง เพราะเหตุที่ไม่ทราบรายการละเอียดของหนังสือเล่มนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถจะทราบได้ว่า การจัดทำหนังสือของสาราณียกรเป็นไปในรูปไหน ทั้งนี้ เลขาธิการและบรรดานิสิตจุฬาฯ ที่ได้อ่านได้พิจารณา คงจะตอบได้ดีกว่าใคร ๆในความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อันเป็นเหตุนำมาซึ่งการระงับ มิให้นำหนังสือเล่มนั้น ออกจำหน่ายจ่ายแจกในวันถวายบังคมพระปิยมหาราชของเรา  

          "อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าคิดว่า การกล่าวคำหรือข้อเขียนใด ๆ ที่จะเป็นไปในทางหย่อนความบูชาคารวะในกาละเช่นนั้นเป็นการไม่ฉลาด ขาดความรู้สึกอันปราณีตตามควรในทรรศนะของประเพณีอย่างไทย ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด แต่ถ้าการใช้ระบบ ประชาทัณฑ์ แม้จะแสดงกันโดยนิสิต จะด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ ภราดรภาพ หรือเจตนาปล่อยตามอารมณ์ก็ตาม จนถึงบอบช้ำสบักสบอมเช่นนั้น เป็น เทรดิชั่น หรือประเพณีของมหาวิทยาลัย บางทีก็จะมากเกินไปที่จะเป็นความสนุกสำหรับผู้รับ"

              "แต่อย่าง เทรดิชั่น หรือขนบประเพณีทั้งหลาย ตึงเปรี๊ยะหรือหย่อนยานเทิบทาบไปในทางหนึ่งทางใด มักจะเป็นผลร้ายมากกว่าจะเป็นผลดี การเตะตูด เตะก้น จับโยนบก โยนน้ำ ทรมา ทรกรรมใด ๆ ซึ่งเป็นประเพณีที่ปรากฏอยู่ตามมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาจจะเป็นเครื่องหมายแห่งการยั่วเย้าด้วยความรักในยามโกรธ แต่ความรักที่ถึงฟุบถึงคลาน ถึงส่งโรงพยาบาลกันนั้น เห็นจะร้อนแรงไปสักหน่อยสำหรับรสนิยมอย่างไทย ๆ" (นสพ.พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๖)

           ส่วนทางด้าน ดร.เก็ดนีย์ อาจารย์ฝรั่งผู้ยืนหยัดต่อสู้อยู่เคียงข้างจิตร ได้ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลสำคัญที่ตนรู้จักมักคุ้นกับตน   แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเลยสักคน ซึ่งทั้งนี้รวมไปถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมืองไทย ในตอนแรกท่านได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ โดยกล่าวว่า "เราจะยอมให้ ลัทธิแมคคาร์ธี เกิดขึ้นที่นี่ไม่ได้"แต่เมื่อ กรณีโยนบก อื้อฉาวลุกลามจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ท่านก็ได้ถอยไปตั้งหลักยังบ้านพักต่างจังหวัด เพื่อเฝ้ารอจนกว่าพายุร้ายลูกนี้จะสงบลง

           นางแสงเงิน     ฉายาวงศ์ แม่ผู้ยิ่งใหญ่ของจิตร ที่ย้ายไปอยู่เป็นเพื่อนลูกสาว คือ พี่ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ซึ่งไปรับราชการเป็นเภสัชกรอยู่ที่โรงพยาบาลหนองคาย ครั้นทราบข่าวว่า ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนถูกจับ โยนบก จากหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ประโคมข่าวกันอย่างครึกโครม ก็รีบดั้นด้นเดินทางลงมาเยี่ยมเยียนดูอาการลูกชายผู้เป็นสุดที่รักแห่งตนยังจังหวัดพระนคร หรือกรุงเทพฯ ในทันที แต่เมื่อแม่แสงเงินได้พบหน้าจิตรแล้ว ก็รู้สึกโล่งใจที่ลูกชายมิได้มีอาการบาดเจ็บสาหัสสากรรจ์ อย่างที่เป็นข่าวหลังจากเกิด กรณีโยนบก ขึ้นแล้ว จิตรก็ "ไม่ค่อยได้ไปมหาวิทยาลัย โดยพักผ่อนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน" (คำให้การฯ)

          หนังสือพิมพ์ข่าวภาพ ได้ลงคำให้สัมภาษณ์ของนายธวัชไชย ไทยง นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ถึง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้นว่า "ดีซิครับ ที่เราทำโทษจิตรครั้งนี้... แต่ว่ามันรุนแรงไป ผมทราบว่า พวกเรากำลังจะพิจารณาโทษนิสิตที่ก่อเหตุครั้งนี้อย่างหนักอยู่แล้ว.. จะมีการประชุมครั้งใหญ่ เพื่อพิจารณาโทษานุโทษผู้กระทำผิดตามเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น" (ฉบับวันที่ ๑ พฤศจิกายน๒๔๙๖)

             ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๖ คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ประชุมกันถึงเรื่อง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรีซึ่งได้มีมติให้ลงโทษนิสิตผู้ก่อเหตุ คือ นายสีหเดช บุนนาค และนายศักดิ์ สุทธิพิศาล ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงนายนายชวลิต พรหมานพนิสิตปฏิกิริยาขวาจัดแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะที่กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ คือ โยนบก จิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรของมหาวิทยาลัย โดยจะทำโทษด้วยการ โยนน้ำ ตามประเพณีของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในเวลา ๑๔.๓๐ น. ของวันที่ ๒พฤศจิกายนนี้

          แต่ด้วยนายสีหเดชและนายศักดิ์ได้ยืนยันที่จะมอบตัวให้ทางคณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ พิจารณาลงโทษ เนื่องจากได้สำนึกผิดในการกระทำโดยพละการของพวกตน มิได้รอฟังมติในที่ประชุมเสียก่อน โดยอ้างว่า ที่ทำลงไปก็ด้วยอารมณ์ที่เดือดดาลเพียงชั่ววูบ เพื่อจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยแล้วพวกตนยอมได้ทุกอย่าง เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องยอมรับผิด คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ บางคนจึงเห็นว่า ในเมื่อมีการแสดงน้ำใจเป็นลูกผู้ชายเช่นนี้ ก็ สมควรลดโทษให้เหลือแค่เพียงเดินลงไปในสระน้ำเอง อันเป็นการแสดงน้ำใจแก่ผู้ยอมรับผิด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ ส่วนใหญ่ก็ยังคงยืนยันมติเดิม คือให้ลงโทษนายสีหเดชและนายศักดิ์ด้วยการ โยนน้ำ

       แต่ครั้นถึงเวลาทำโทษนิสิตผู้ก่อเหตุ โยนบก ทั้งสองเข้าจริง ๆ ก็เป็นแต่เพียงให้เดินลงไปในสระน้ำแค่เพียงครึ่งตัวแล้วก็รีบให้ขึ้นมาจากสระน้ำ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการลงโทษใน กรณีโยนบก นี่นะหรือ คือบทลงโทษของผู้ที่หยิบยื่น ความเป็นความตาย ให้แก่เพื่อนนิสิตผู้มีใจรักความเป็นธรรมอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

          หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีการจัดทำหนังสือ มหาวิทยาลัยฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของจิตรไว้อย่างรุนแรงว่า "......สาราณียกรมีหน้าที่เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย และจัดการออกหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยตามกำหนด เรื่องต่าง ๆ ที่จะนำลงได้นั้นจะต้องไม่เป็นปรปักษ์ หรือขัดกฎนโยบายของมหาวิทยาลัย หรือของรัฐบาล... (หนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยฉบับนี้)  มีข้อความบางอันเป็นบทความซึ่งทำลายชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ได้ตำหนิติเตียนแนวทางในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นการทำให้แตกความสามัคคีกันในหมู่ประชาชน และว่าถึงพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของเราว่าเปรียบเหมือนศรีธนญชัย... ถึงแม้จะมีสิทธิและเสรีภาพ ก็ขอให้เราเข้าใจในสิทธิและเสรีภาพในขอบเขต ดังที่มีสิทธิและเสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขต ถ้าสิทธิและเสรีภาพไม่มีขอบเขต แม้ประเทศก็อยู่เป็นประเทศไม่ได้"

             ส่วนหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้รายงานข่าวว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ กรณีโยนบก ซึ่งเกิดขึ้นที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยแล้ว จึงได้มีคำสั่งให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการทำการสอบสวนเรื่องนี้โดยด่วน เพื่อพิจารณาลงโทษนิสิตตัวการ ซึ่งทางกรมตำรวจก็จะยื่นมือเข้ามาทำการสอบสวนอีกทางหนึ่งด้วย โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ที่พลตำรวจจัตวาพิชัย กุลละวณิชย์ เลขานุการอธิบดีกรมตำรวจ

           นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ฉบับดังกล่าว ยังได้ลงคำให้สัมภาษณ์ของร้อยโทสมพันธ์ ขันธชวนะ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึง กรณีโยนบก ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยว่า "เรื่องนี้มันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นภายในรั้วของเขาเหมือนอยู่ในบ้านเขา เขาจะทำอะไรก็ได้... เป็นการกระทำที่หยาบช้าสามานย์ ไม่ใช่เป็นคนชั้นนิสิตจะทำ... สมาคมจะไม่มีการกระทำตอบ เพราะประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยพิจารณาดีอยู่แล้ว"

           วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ พลตำรวจโทพระพินิจชนคดี รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้เชิญบรรดานักข่าวหนังสือพิมพ์มารับฟังการแถลงถึง กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้นในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ณ สโมสรกรมตำรวจ ปทุมวัน ในเวลา ๑๐.๓๐ น.

           หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้ลงคำแถลงของพลตำรวจโทพระพินิจชนคดี ถึงเนื้อหาของบทความเจ้าปัญหาในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่า  "รากฐานความงมงายของชาวบ้าน พวกเรามิได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ในการยังชีพของคนเจ้าเล่ห์พวกที่ว่านั้นเพียงพวกเดียว ความงมงายหลงใหลในศาสนาอย่างโงหัวไม่ขึ้นของเรายังเป็นประโยชน์แก่คนพวกอื่นอีก พวกใหญ่และใหญ่จริง ๆคนจำพวกที่ว่าอย่างหลังนี้มีจำนวนมากมายในสังคมเมืองไทย และมีอยู่ทั่วไปทั้งในกรุงและชนบท เขาเหล่านั้น เดิมทีก็ใช้ชีวิตเป็นสามัญชนอย่างเรา ๆ แต่ความเกียจคร้านพอกพูนมากขึ้นทุกที ในที่สุดก็หาทางออกให้แก่ตัวเองอย่างง่าย ๆ คือหนีโลกเข้าหาวัด เขาอ้างว่า ผจญโลกมามากแล้ว เกิดความเบื่อหน่าย สู้มาบวชหาความสงบร่มเย็นจากร่มกาสาวพัสตร์ไม่ได้ พวกเราก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม พากันโมทนาสาธุไปกับเขา เราเรียกเขาว่า พระ ตามลักษณะเครื่องแต่งกายของเขา แต่ความจริงแล้ว เขาน่าจะได้รับฉายาว่า ผีตองเหลือง หรือ โจรผ้าเหลือง และบทกวีซึ่งให้ชื่อเรื่องว่า เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน ตอนหนึ่งมีข้อความว่า ลูกนั้นหรือคือผลพลอยคนได้ จากความใคร่คราวหรรษ์เปลื้องตัณหา เฝ้าทำลายหลายครั้งระดังยา มันทนทายาทเถนไอ้เดนตาย

           "สาราณียกร ผู้จัดทำหนังสือของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยผู้นี้ ทางกรมตำรวจได้สืบทราบว่า นอกจากจะกำลังศึกษาอยู่แผนกอักษรศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์นี้แล้ว ยังได้รับการศึกษาจากชาวต่างชาติผู้หนึ่ง โดยกินอยู่หลับนอนที่บ้านซอยร่วมฤดีด้วยกันเป็นเวลานานปี อนึ่ง ในด้านทางมหาวิทยาลัยที่สาราณียกรผู้นี้กำลังศึกษาอยู่นั้น เป็นของแน่ว่าเกี่ยวกับวิชาการโดยเฉพาะเมื่อได้อ่านบทความย่อของท่านผู้นี้ ดังที่ได้ยกมาให้ได้อ่านกันแล้วข้างต้นนั้น ก็ขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายจงพิจารณาดูเถิดว่า บทความนั้นมีแนวทางส่อให้เห็น และรู้สึกว่าเป็นมาจากลัทธิการเมืองการเศรษฐกิจใด ? ในกรณีที่เหล่านิสิตส่วนมากไม่มีความเห็นพ้องด้วย และจับตัวสาราณียกร โยนบก นั้น ทางตำรวจเห็นว่าเป็นเรื่องภายในของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรับแจ้งตามระเบียบ แต่ในกรณีนี้ไม่มีผู้เป็นเจ้าทุกข์ไปแจ้ง"

            หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้รายงานถึงคำแถลงของ พลตำรวจโทพระพินิจชนคดีใน กรณีโยนบก จิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรของมหาวิทยาลัย ว่า "กรณีโยนบกบุคคล ซึ่งถูกสงสัยว่าจะเป็นความเสื่อมเสียให้แก่ส่วนรวมนั้น ความจริงเป็นเรื่องซึ่งมีกันมานานแล้ว โดยเฉพาะกรณีนายจิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรซึ่งถูกเหล่านิสิตโยนบกครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นการกระทำมิให้นายจิตรหลงไปในทางที่ผิดเป็นการดึงให้กลับมา ซึ่งความเห็นผิดเป็นชอบ ซึ่งยังไม่มีใครคาดว่าจะเป็นเจตนาของนายจิตรหรือไม่ ทั้งนี้   เพราะในข้อสงสัยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกไว้นั้น เป็นบทความในส่วนที่ดูหมิ่นพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรง อาทิว่า เช่นดูถูกผู้บวชว่าอาศัยผ้าเหลือง เพราะขี้เกียจทำงานบ้าง และเรียกว่า ผีตองเหลือง หรือ โจรผ้าเหลือง บ้าง ซึ่งถ้าบุคคลซึ่งอยู่ในบวรพุทธศาสนาแล้ว ย่อมไม่กระทำ

         "อีกบทหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการดูถูกผู้ให้กำเนิด เขียนเป็นคำกลอนกล่าวหาว่า แม่นั้นจำใจให้ลูกเกิดมา ก็เนื่องจากตัณหาเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่า เป็นการชักจูงให้บุคคลดูถูกในคุณมารดา ซึ่งในพุทธศาสนิกชนย่อมไม่กระทำ ส่วนการที่จะอ้างว่าได้รับความเห็นชอบจากชาวต่างประเทศ ซึ่งตามทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นผู้ฝึกสอนแก่นายจิตรนั้น ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะชาวต่างประเทศย่อมไม่นับถือพุทธศาสนา ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า นายจิตรได้พยายามจะพิมพ์บทความเหล่านั้นด้วยเจตนาหรือสินจ้าง รวมทั้งจะได้ทำการสอบสวนชาวต่างประเทศผู้นั้นด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ย่อมถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการแทรกซึมของ คอมมิวนิสต์ ได้ และ บุคคลที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ย่อมเอนเอียงได้ง่าย"

         หนังสือพิมพ์ชาวไทย ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้ลงคำแถลงของพลตำรวจโทพระพินิจชนคดี ถึงกรณีจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของจิตรว่า  "การกระทำของนิสิตต่อนายจิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรนั้น เป็นการกระทำภายในของนักศึกษาร่วมมหาวิทยาลัย เมื่อไม่เป็นความผิดเกินสมควร ทางการตำรวจจึงไม่ได้ยื่นมือเข้าจัดการ เพราะเห็นว่า นิสิตเป็นผู้ได้รับการศึกษาอย่างดีแล้วทุกคน เมื่อเห็นเพื่อนกระทำผิดก็สั่งสอนกันได้ ทางตำรวจพยายามที่จะให้ทางผู้ปกครองครูอาจารย์ จัดการแก้ไขอบรมกันเองให้ดีขึ้น

          "การออกหนังสือของมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องลงเรื่องที่ไม่เป็นปรปักษ์หรือขัดแย้งต่อนโยบาย ของรัฐบาลและของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการกระทำของสาราณียกรนี้ คณะอาจารย์และนิสิตส่วนมากเห็นว่า เป็นการก่อความเสียหายให้แก่สถาบันการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะ บทความที่เขียนโดยสาราณียกรผู้นี้ ได้กล่าวประณามพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็น ผีตองเหลืองหรือ โจรผ้าเหลือง ทั้งยังได้ประณามบิดามารดาอย่างรุนแรงอีกด้วย การประณามภิกษุสงฆ์เป็นการทำลายศาสนา อันเป็นแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์

          "ทางการตำรวจสืบทราบว่า นายจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้นี้ได้อาศัยอยู่กับชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง ที่บ้านซอยร่วมฤดีเป็นเวลานานปี จึงจะสืบสวนต่อไปว่า บทความที่สาราณียกรผู้นี้เขียนขึ้นนั้น เขียนขึ้นด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หรือโดยได้รับสินจ้างรางวัลจากผู้ใด

         "...สำหรับตัวสาราณียกรผู้นี้ ทางตำรวจจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงว่าได้เขียนบทความขึ้นด้วยเจตนาอะไร และมูลเหตุของคดีนี้จะพาดพิงไปถึงชาวต่างประเทศผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกันหรือไม่ เพื่อจะได้พิจารณาดำเนินคดีต่อไป เพราะ การกระทำใด ที่ลบหลู่ดูหมิ่นติเตียนพระพุทธศาสนาเช่นนั้น เท่ากับเป็นการกระทำที่ตั้งใจจะทำลายชาตินั่นเอง"

         ส่วน พันตำรวจโทอรรณพ พุกประยูร ผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง ๒ ได้แสดงความคิดเห็นต่อรูปแบบ ของปกหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ในการแถลงครั้งนี้ว่า "ปกนี้มีภาพโลกหมุนอยู่ในความมืดมน และหมุนมุ่งไปสู่ความสว่างในจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพมนุษย์เสมอภาคในทางวัตถุนิยม และมีอักษรตัวเล็ก ๆ ว่า สยามินทร์ อยู่ที่มุมปกเท่านั้น"(นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖)

          หนังสือพิมพ์ข่าวภาพ ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้ลงคำแถลงถึง "กรณีนิสิตถูก 'โยนบก' " ของพลตำรวจโทพระพินิจชนคดีว่า  "สาราณียกรจิตรได้ทำผิดระเบียบประเพณีของมหาวิทยาลัยอย่างแรง โดยได้ทำบทความที่โจมตีพุทธศาสนาและโน้มเอียงไปในลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่ลงในหนังสือเล่มนั้น และจะได้ทำการสอบสวนต่อไปว่า สาราณียกรจิตรผู้นี้มีเจตนาจะเขียนขึ้นเอง หรือรับสินจ้างจากชาวต่างประเทศคนหนึ่งคนใด เพราะนายจิตรผู้นี้ก็อาศัยอยู่กับชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง ซึ่งจะได้ทำการสอบสวนบุคคลที่เขียนและข้อเท็จจริงต่อไป"

           เวลาผ่านไปราวชั่วโมงเศษ การแถลงถึง กรณีโยนบก ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก็ได้สิ้นสุดลง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจกจ่ายรายงานการสอบสวนให้กับทางนักข่าวหนังสือพิมพ์ อันเป็นการชี้แจงที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียดอีกชั้นหน่ึง(นสพ.เทอดไทย ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖)

        เมื่อราววันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ จิตรได้รับหนังสือจากศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์แจ้งมาว่า ทางกรรมการสภามหาวิทยาลัย อันมีพระเวชยันตรังสฤษฎ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธาน ได้ประชุมกันถึงกรณีจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ซึ่งมีมติให้ลงโทษจิตรในฐานะจัดทำหนังสือที่มีเนื้อหา "เอียงไปในทางซ้าย" อันเป็นการส่อเจตนาให้เกิดความเสื่อมเสียแก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยมีคำสั่งให้พักการเรียนเป็นเวลา ๑๒ เดือน คือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีการศึกษา ๒๔๙๖ ถึงเดือนตุลาคม ปีการศึกษา ๒๔๙๗ ซึ่งจะสามารถกลับเข้าเรียนต่อได้ในปีการศึกษา ๒๔๙๘ จึงส่งผลให้จิตรหมดสิทธิสอบไล่ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๒ ปีเต็ม แต่ทั้งนี้ก็มิได้เป็นมติที่เด็ดขาด เพราะต้องรอฟังผลการสอบสวนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียก่อนว่า จิตรมีความผิดจริงดังที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ (นสพ.ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน๒๔๙๖ และ มิตร ร่วมรบ, วารสารอักษรศาสตรพิจารณ์ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙)

          หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ได้รายงานข่าวการพิจารณาโทษจิตร ของสภามหาวิทยาลัย ในกรณีจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ว่า  "คณบดีมหาวิทยาลัยได้เริ่มพิจารณาโทษ เป็นเรื่องภายในสำหรับนายจิตร ภูมิศักดิ์ นอกเหนือจากทางการเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้สอบสวนเบื้องหลัง เจตนาของสาราณียกรผู้จัดทำหนังสือ ๒๓ ตุลาฯ ในข้อหา กระเดียดเอียงซ้าย เป็นการพิเศษทราบว่า ในที่ประชุมคณบดีส่วนใหญ่ลงความเห็นปรับโทษนายจิตร ภูมิศักดิ์ พักการเล่าเรียนศึกษาเป็นเวลา ๑๒ เดือน ได้มีคณบดีบางคนลงความเห็นว่า เป็นการลงโทษรุนแรงเกินไป ควรฟังผลการพิจารณาของฝ่ายบ้านเมืองเสียก่อน ดังนั้น คณบดีจึงมิได้ลงมติเด็ดขาด แต่ให้รอฟังผลการพิจารณาของฝ่ายบ้านเมืองไปด้วย

          "การปรับโทษตามความเห็นส่วนมากที่สอดคล้องกันว่า ปรับโทษนายจิตร ภูมิศักดิ์ มิให้เล่าเรียนเป็นเวลา ๑๒ เดือนนั้นหนักมาก เพราะในปีการศึกษา พ.ศ. นี้ นายจิตรย่อมไม่มีโอกาสเข้าสอบตามกำหนดการปรับโทษ และในปี พ.ศ.๒๔๙๗โทษปรับจะทำให้เวลาการศึกษาไม่เพียงพอหมดสิทธิเข้าสอบอีก เท่ากับไล่นายจิตรออกจากมหาวิทยาลัยทางอ้อม

          "ดังนั้น เมื่อข่าวนี้ได้แพร่กระจายออกมาตามอาจารย์คณะต่าง ๆ ตลอดจนนักศึกษา จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันขึ้นอีก แม้แต่ทางคณบดีก็จะไม่ลงมติเด็ดขาดออกมา ก็ยังปรากฏว่า ได้มีนักศึกษาไปแสดงความเสียใจต่อสาราณีกร และนักศึกษาส่วนใหญ่บางกลุ่มได้ให้ความเห็นว่า หากยังไม่มีการพิจารณาถึงเจตนาว่า สาราณียกรมีเจตนาหรือการกระทำสนับสนุน คอมมิวนิสต์แต่อย่างใดแล้ว หากทางคณบดีลงมติเด็ดขาดปรับโทษไม่ให้ศึกษา ๑๒ เดือน ก็จะร่วมใจกันทำหนังสือขอร้องให้ทางการลดหย่อนผ่อนโทษนายจิตรให้บรรเทาลงอีก"

          ในคำให้การฯ ได้กล่าวถึงการปรับโทษด้วยการสั่งพักการเรียนไว้ว่า "ต่อมาในวันที่เท่าใดจำไม่ได้ แต่เท่าที่นึกได้เป็นเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๖ ต้น ๆ เดือน ข้าฯ ได้รับหนังสือจากนายรอง ศยามานนท์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ แจ้งว่า สภามหาวิทยาลัยสั่งพักการเรียนไม่มีกำหนด ข้าฯ เซ็นทราบคำสั่ง และในใบสั่งพักนั้นมีเงื่อนไขว่า ถ้าทางการตำรวจได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์แล้ว จึงจะรับเข้าศึกษาต่อเมื่อนั้น"

           ซึ่งการลงโทษด้วยการสั่งพักการเรียนเป็นเวลาถึง ๑๒ เดือนนี้ นับว่าเป็นการดับอนาคตทางการศึกษา ของจิตรเลยก็ว่าได้ เนื่องจาก "จิตรไม่ได้สอบไล่กลางปี (๒๔๙๖)" จึงนับเป็นปีแรกที่จิตรขาดสอบ ดังปรากฏในคำให้การฯ ว่า "ในปี ๒๔๙๖การสอบมิดเยียร์ซึ่งมีในราวกลางเดือนตุลาคม ข้าฯ ก็ไม่ได้เข้าสอบ เพราะหมกมุ่นอยู่กับการทำหนังสือเพื่อให้ทันตามกำหนด"ทั้งนี้ก็ "เพื่อไม่ให้นิสิตทั้งหมดผิดหวัง" อีกทั้งยังต้องรอผลการสอบสวนจากทางตำรวจสันติบาล ซึ่งค่อนข้างที่จะล่าช้า ทางสภามหาวิทยาลัยจึงยังมิได้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป

          ส่วนในปี ๒๔๙๗ นั้น ยังอยู่ในช่วงการปรับโทษ จิตรจึงมีเวลาเรียนไม่พอ ทำให้ต้องหมดสิทธิสอบเป็นปีที่ ๒ ไปโดยปริยาย ส่งผลให้จิตรหมดโอกาสสอบไล่ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๒ ปีเต็ม ซึ่งคำสั่งลงโทษจากทางสภามหาวิทยาลัยในครั้งนั้นเปรียบเสมือนเป็นการไล่จิตรออกจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เลยก็ว่าได้

          นอกจากนี้ ภายในรั้วจามจุรีได้มีเสียงร่ำลือกันหนาหูว่า การที่จิตรลงทุนหยุดสอบ ก็เพราะหวังในสินจ้างรางวัลจากฝ่ายแดงในการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ให้เป็นไปในทางเอียงซ้าย (นสพ.ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๓๑ตุลาคม ๒๔๙๖)

          จิตรได้กล่าวถึงข่าวลือนี้ไว้ในคำให้การฯ ว่า ตนถูกกล่าวหาว่า "ได้รับทุนจากองค์การคอมมิวนิสต์หลายล้านบาท"ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ข้อกล่าวหาที่ว่า "จิตรรับเงินคอมมิวนิสต์มาทำหนังสือ" นั้น หาได้เป็นความจริงไม่ ดังพิสูจน์ได้จากจดหมาย

           ที่จิตรเขียนไปถึงสปอนเซอร์รายต่าง ๆ เพื่อขอเงินสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ  ใน บันทึกการสอบสวน กรณีการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ของพันตำรวจตรีวิศิษฐ์ แสงชัย ได้้กล่าวถึงข้อจำกัดทางด้านเงินทุนในการจัดพิมพ์หนังสือฉบับนี้ อันที่มาของการกล่าวหาว่า "จิตรรับเงินคอมมิวนิสต์มาทำหนังสือ"  ดังความที่ว่า  "โดยเฉพาะข้าฯ สืบสวนได้ความว่า การที่ นายจิตร ภูมิศักดิ์ รับเป็นผู้ทำหนังสือนี้ ทางมหาวิทยาลัยให้เงินจัดทำเพียงเล็กน้อย แต่ นายจิตร ภูมิศักดิ์ ก็รับอาสาหาเงินและกระดาษมาเอง ทั้งนี้ เพื่อผลในการโฆษณาเผยแพร่แทรกซึมลัทธิคอมมิวนิสต์..."

          แต่คำให้การต่อศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อตอบโจทก์ของนายวิศิษฐ์ บุณยเกสานนท์ เหรัญญิกของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ในคดีของจิตร กรณีจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ได้มีส่วนช่วยยืนยันถึงความบริสุทธิ์ในกรณีที่จิตรถูกกล่าวหาว่า"รับเงินคอมมิวนิสต์มาทำหนังสือ" ดังถ้อยความที่ว่า

          "จำเลย (นายจิตร ภูมิศักดิ์) เคยมาปรึกษาหารือเรื่องการทำหนังสือดังกล่าวกับข้าฯ ก่อนปิดเทอมต้น ราวเดือนสิงหาคม ขณะหารือกัน มีคนอื่น ๆ ร่วมฟังอยู่ด้วยหลายคน เช่น เรือโทธรรมนูญ อังศุสิงห์ เป็นต้น จำเลยบอกว่า หนังสือ๒๓ ตุลาคมทุก ๆ ปี มีแต่เรื่องเบา ๆ เช่น วิทยาการ รูป ข่าวสังคม เล่มประจำปีนี้อยากจะเปลี่ยนใหม่ให้หนักขึ้น โดยให้มีบทความให้มาก ต้องการจะเร่งเร้าให้นิสิตมีความกระตือรือร้นขึ้น จำเลยบอกว่า การที่เปลี่ยนแปลงหนังสือดังกล่าว ทำให้หนังสือต้องมีหน้ามากขึ้น ในฐานะที่ข้าฯ เป็นเหรัญญิก จึงขอให้เพิ่มงบประมาณการพิมพ์หนังสือให้มากขึ้น ข้าฯ ว่า ต้องแล้วแต่คณะกรรมการ..."

          ถ้าหากจิตรได้รับเงินสนับสนุนการทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ จากทาง องค์การคอมมิวนิสต์ หลายล้านบาทจริงแล้ว ไฉนต้องด้านหน้าเที่ยววิ่งหาสปอนเซอร์ให้ลำบากกายด้วยเล่า ?

          จาก กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้น ได้ทำให้ ดร.เก็ดนีย์ ผู้ซึ่งให้การศึกษาและที่พักพิงแก่จิตร ต้องได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปด้วยอีกคนหนึ่ง โดย รัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์ ได้บีบบังคับให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือน บ้านหลังที่สองโดยด่วน เมื่อราวเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๖ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า "มีความโน้มเอียงไปในทางคอมมิวนิสต์" และ "มีการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา"

          ในคำให้การของจิตรได้กล่าวถึงผลกระทบที่ตนได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า "...ระยะหลังจากที่ข้าฯ ถูกสั่งพัก (ในกรณีจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ) แล้ว ข้าฯ ทราบจากปากคำของเก็ดนีย์ว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้กลับอเมริกา เมื่อนายเก็ดนีย์กลับอเมริกา ข้าฯ ก็ไปอาศัยอยู่บ้านนายสุธีร์ คุปตารักษ์ ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ ที่ซอยแสงจันทร์บางกะปิ ประมาณ ๑ เดือน หรือกว่านั้น จำไม่ได้แน่"

          ต่อมา จิตรได้ย้ายมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านนางทองคำ ดิษคุ้ม แม่ผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้อของหาญ ดิษคุ้ม เพื่อนสนิทสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ซึ่งอยู่บริเวณเชิงสะพานเสาวณีย์ ตรงข้ามกรมทางหลวงแผ่นดิน ท่านได้มีน้ำใจปรานียื่นมือเข้ามาโอบอุ้มแม่แสงเงินและจิตรในยามที่ตกทุกข์ได้ยากเช่นนี้

             หลังจากเกิดอุบัติการณ์ กรณีโยนบก ขึ้นแล้ว จิตรก็คร่ำเครียดกับการที่ต้องไป ให้ปากคำกับทางตำรวจสันติบาลอยู่เป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่เกิดเรื่องเรื่อยมาจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๖ แต่ก็ใช่ว่าเรื่องราวจะจบลงเพียงแค่นี้ แม้จิตรจะไม่มีความผิดทางกฎหมายบ้านเมืองในกรณีจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ แต่เขาก็ถูกควบคุมการเคลื่อนไหวจากทางตำรวจสันติบาลอยู่ตลอดเวลา โดยมีคำสั่งให้จิตรต้องไปรายงานตัวเป็นประจำทุกสัปดาห์เป็นเวลานานกว่า ๒ ปี

           ต่อมา กองบังคับการตำรวจสันติบาล โดยพันตำรวจโทอรรณพ พุกประยูร ได้ออกหนังสือที่ ๙๘๖/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑๖พฤษภาคม ๒๔๙๘ เพื่อรับรองความบริสุทธิ์ให้กับจิตร ในกรณีการทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๓ ตุลาฯ ประจำปี ๒๔๙๖ ซึ่งส่งผลให้จิตรได้กลับเข้าเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งในปี ๒๔๙๘ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตในปี ๒๔๙๙  ซึ่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ กรณีโยนบก เมื่อปี ๒๔๙๖ นั้น ถือได้ว่าเป็นยุคของ รัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์ ที่มีจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ ได้ดำเนินนโยบายเป็น สุนัขรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ ของจักรวรรดินิยมอเมริกา เพื่อที่จะดำรงอำนาจวาสนาและรักษาผลประโยชน์ของตนและพรรคพวกไว้ให้ยาวนานที่สุด โดยแสร้งแสดงบทบาทเป็น มหามิตร ให้ร่วมมือกับ ตำรวจโลกแห่งโลกเสรีประชาธิปไตย ในการสนับสนุนนโยบายต่อต้าน ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่กำลังแพร่ระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเฉียบขาดและรุนแรง

             ดังเห็นได้จากก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ กรณีโยนบก ได้ไม่นาน จอมเผด็จการฟาสซิสต์ ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันกับจักรพรรดินิยมอเมริกาอย่างมากมายมหาศาล ได้มีบัญชาให้สมุนผู้ภักดีออกทำการกวาดล้าง บุคคลหัวก้าวหน้า ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลตน อันเป็นที่มาของกรณี กบฏสันติภาพ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕

            หลังการจับกุมได้เพียง ๓ วัน รัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์ ก็ได้รื้อฟื้น พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งในยุคนั้น แม้แต่ใครก็ตามที่พูดถึงเรื่องชนชั้น ความยากจน และความอยุติธรรมในสังคมไทย ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็น คอมมิวนิสต์ ได้อย่างง่ายดาย

           ส่วนทางด้านจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย บุคคลผู้ซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งเป็น อธิการบดี นั้น จะต้องได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว จึงยังผลให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ดำเนินนโยบายรับใช้ ผู้เผด็จการฟาสซิสต์ ที่ต้องการครอบงำความคิดของเหล่านิสิตนักศึกษาปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งต่อไปจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญของ การสร้างชาติ ตามแนว ลัทธิอำนาจนิยมเผด็จการทหาร ของท่านผู้นำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

         ดังนั้น เหตุการณ์ กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้นในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นิสิตปฏิกิริยากลุ่มขวาจัดเหล่านี้จึงน่าจะได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบจากอาจารย์บางท่าน ซึ่งเป็น เผด็จการภายในมหาวิทยาลัย ดังที่ ทวีป วรดิลก ได้เคยกล่าวไว้ว่า เหล่าคณาจารย์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ล้วนแล้วแต่มีชีวิตสะดวกสบายภายใต้ท้อปบู๊ตเผด็จการ

         วิชัย นภารัศมี นักเขียนเจ้าของนามปากกา เมือง บ่อยาง ผู้ซึ่งทำการศึกษาประวัติชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้กล่าวถึง เผด็จการภายในมหาวิทยาลัย ไว้ว่า ในช่วงนั้น ทางจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งให้ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ณ อยุธยาอาจารย์ในแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภูมิศาสตร์ให้กับโรงเรียนสอบสวนสืบสวนของกรมตำรวจ ไปปฏิบัติราชการพิเศษนอกเวลาราชการ โดยให้ร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญของอเมริกาที่มาปฏิบัติราชการลับในไทย เพื่อเตรียมงานในกรมประมวลราชการแผ่นดินและงานในด้านสงครามจิตวิทยา พร้อมทั้งยังมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในกรณีที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ ในรั้วจามจุรี

          หลังจากที่จิตรได้ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับตน ทั้ง กรณีโยนบก และ ถูกคุมขังในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยไม่มีความผิดเป็นเวลาถึง ๖ ปีเศษ (๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ ถึง ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๗) แล้ว จิตรก็ได้หันกลับมาคิดทบทวนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมกับเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ความคิดใหม่ หรือ ทรรศนะใหม่ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ กรณีโยนบก ของตนไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า "ใน พ.ศ.๒๔๙๖ นั้นเอง ข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งเป็นสาราณียกรของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าตัดสินใจที่จะใช้หนังสือนี้เป็นเวที แสดงทรรศนะใหม่อย่างเต็มที่   การตัดสินใจนี้ได้รับการผลักดันและสนับสนุน จากนิสิตคณะอักษรศาสตร์ และรัฐศาสตร์บางคน ซึ่งเป็นกำลังใจแก่ข้าพเจ้าอย่างมาก นักศึกษาธรรมศาสตร์ผู้ปฏิบัติงานมวลชน บางคนก็ได้มีส่วนผลักดันด้วย โดยผ่านทางนิสิตรัฐศาสตร์จุฬาฯ ในหนังสือนี้ข้าพเจ้าได้ลงพิมพ์บทความ ที่มีทรรศนะก้าวหน้ามากมายหลายบท ที่นิสิตอักษรศาสตร์และรัฐศาสตร์ช่วยกันเขียน และมีบางบทความที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเอง บทที่ข้าพเจ้าเขียนบทหนึ่ง คือ พุทธปรัชญาไม่ใช่วัตถุนิยม ซึ่งเป็นการระเบิดเอาความรู้สึกเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่อัดอั้นอยู่ในจิตใจของข้าพเจ้ามานานแล้วนั้น ออกมาอย่างสุดฤทธิ์  "ผลคือหนังสือถูกยับยั้ง ตำรวจเรียกตัวข้าพเจ้าไปสอบสวน และได้เกิดกรณีโยนบกขึ้น โดยนิสิตคณะวิศวะกรรมศาสตร์ และ ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิกิริยา สมคบกันวางแผนจับข้าพเจ้าโยนลงมาจากเวทีหอประชุม ขณะข้าพเจ้ากำลังปราศัยชี้แจงเนื้อหาของหนังสือที่ถูกยับยั้งแก่นิสิตประมาณ ๓ พันคน ตัวข้าพเจ้านอนเจ็บอยู่ ๔ เดือน และถูกพักการเรียน ๒ ปี

            "กรณีโยนบก และหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับนี้เป็นผลที่เกิดจาก

            ๑. มองเห็นแต่ทฤษฎี (บางส่วน) แต่ไม่รู้จักมรรควิธีภาคปฏิบัติ

            ๒. ตื่นเต้นต่อสัจธรรมที่เพิ่งจบ และกระโดดออกมาโฆษณาสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้องที่สุดอย่างคนเมา เป็นลักษณะร่วมทั่วไปของผู้ที่ตื่นตัวใหม่ แต่กรณีของข้าพเจ้าออกจะรุนแรงมากไปกว่าปกติธรรมดา

          ๓. เป็นการระเบิดรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ขั้นแตกหัก ระหว่างความขัดแย้งภายใน ความคิดของข้าพเจ้า  ซึ่งความคิดใหม่ชนะความคิดเก่า และสะท้อนออกมาเป็นการเหวี่ยง จากปลายสุดขั้วทางขวามาสู่ปลายสุดขั้วทางซ้าย

          ๔. ผู้ผลักดันข้าพเจ้าทั้งหมด ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพที่เกิดขึ้นภายใน ความคิดของข้าพเจ้า  เข้าใจว่าข้าพเจ้าลงพิมพ์เรื่องก้าวหน้าด้วยจิตใจลัทธิวีรบุรุษ ทำให้การผลักดันกลายเป็นการช่วยกันผลักไสให้ข้าพเจ้าเอาหัวชนกำแพงให้แรงที่สุด โดยไม่มีการประคับประคองยับยั้งหรือให้สติ

         "แต่อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง กรณีโยนบก ก็เป็นผลสะเทือนที่ดีต่อจุฬาฯ คือได้เปิดศักราชของการต่อสู้ ระหว่างทรรศนะการเมืองสองแนวขึ้นในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์อย่างแจ่มชัดนับแต่นั้น และต่อส่วนตัวข้าพเจ้าก็เป็นเส้นชี้ขาดของการเปลี่ยนความคิดอย่างเด็ดขาดแท้จริงนับแต่นั้นเป็นต้นมา"

          ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้ว กรณีโยนบก ที่เกิดขึ้นกับจิตรนั้น เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของโศกนาฏกรรม ทางการเมืองในยุคสงครามเย็น อันเป็นผลสะท้อนที่เกิดมาจากการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทยอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดสภาวะขัดแย้งทางอุดมการณ์และความคิดของ กลุ่มคนหัวเก่า และ กลุ่มคนหัวใหม่ ในสังคมอย่างรุนแรง

          ดังนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ จึงเป็นเพียง เหยื่อทางการเมือง ของ รัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์ ที่พยายามดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจเดิมของพวกตนไว้ โดยยินยอมให้จักรวรรดินิยมอเมริกา เชิดใช้ในการต่อต้าน ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่กำลังระบาดไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย ปลุกผีคอมมิวนิสต์ อันบ้าคลั่งของ ลัทธิแมคคาร์ธี (McCarthism)

        แม้ จิตร ภูมิศักดิ์ วีรบุรุษใหม่แห่งประวัติศาสตร์ไทย จะจากเราไปกว่า ๓ ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่อุดมการณ์อันหาญกล้าของเขาก็จะยังคงตราตรึงอยู่ภายในจิตใจของมวลชนคนรุ่นใหม่ ผู้ใฝ่หาความเป็นธรรมในสังคมไทยตลอดไปตราบชั่วนิจนิรันดร์

O O O O O O O O O

 กลับสู่    หน้าหลัก

จัดทำโดย  NeoFreeEnergy Group

Last changed: ตุลาคม 18, 2545