การให้สารโพแทสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไย
เรื่อง.. ธนะชัย พันธุ์เกษมสุข

          
วิธีการให้สารโปแตสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไยที่ได้ผลดีในการกระตุ้นการออกดอกของลำไย แบ่งได้เป็น 4 วิธี คือ

1. วิธีการให้สารทางดิน
2. วิธีการให้สารทางใบ
3. วิธีการให้สารโดยฉีดเข้ากิ่ง
4. วิธีการให้สารแบบผสมผสาน

1.วิธีการให้สารให้สารโพแทสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไยทางดิน

การให้สารโปแตสเซียมคลอเรตทางดิน ทำได้ 2 วิธี ด้วยกัน คือ การหว่านสารลงดินโดยตรงและการละลายน้ำก่อนแล้วนำไปราดลงดิน การโรยสารลงดินโดยตรงนั้นสามารถกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้แม้ว่าหลังจากให้สารแก่ต้นลำไยแล้วมีฝนตกชุก แต่การให้สารโปแตสเซียมคลอเรตในรูปของสารละลาย (ละลายน้ำก่อนแล้วจึงนำไปรดที่ต้นลำไย) ถ้าทำการราดสารแล้วมีฝนตกชุกจะทำให้ต้นลำไยออกดอกน้อยกว่าการให้ในลักษณะเป็นผง เมื่อใช้ในปริมาณที่เท่ากัน
การเตรียมสารละลายโปแตสเซียมคลอเรตก่อนนำไปราดต้นลำไย สามารถทำได้โดยการใช้น้ำอุ่นหรือน้ำร้อนมาเป็นตัวทำละลาย ซึ่งจะทำให้สารโปแตสเซียมคลอเรตละลายได้ดีกว่าการใช้น้ำเย็นเป็นตัวทำละลาย การให้สารโปแตสเซียมคลอเรตในรูปของสารละลายแก่ต้นลำไยจะทำให้ต้นลำไยได้รับสารในปริมาณที่สูงกว่าการให้แบบหว่านสารลงดินโดยตรง หากว่าการให้น้ำแก่ต้นลำไยไม่ดีพอซึ่งจะทำให้โปแตสเซียมคลอเรตที่อยู่ในดินละลายได้ไม่หมด แต่จากการทดลองพบว่า การให้สารโปแตสเซียมคลอเรตแบบหว่านสารลงดินโดยตรง และละลายสารในน้ำก่อนแล้วนำไปราดดินให้ผลไม่แตกต่างกันในสภาพที่มีการให้น้ำแก่ต้นลำไยอย่างสม่ำเสมอ
ก่อนการให้สารประกอบคลอเรตแก่ต้นลำไยควรคำนึงถึงสภาพของต้นลำไยด้วย ตัวอย่าง เช่น ไม่ควรให้สารแก่ต้นลำไยในขณะที่ลำไยแตกใบอ่อน ต้นลำไยที่จะให้สารควรมีสภาพสมบูรณ์ และต้นลำไยควรมีการแตกใบแล้ว ตั้งแต่ 2 ชุด ขึ้นไป หลังการเก็บเกี่ยว
สำหรับอัตราการให้สารโปแตสเซียมคลอเรตทางดินแก่ต้นลำไย อาจใช้ตามขนาดของทรงพุ่มต้น พอจะสรุปได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ อัตราการให้สารโปแตสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไยตามขนาดของทรงพุ่ม

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่ม(เมตร)
ปริมาณสารโปแตสเซียมคลอเรตที่ใช้(กรัม/ต้น)
น้อยกว่า 4
50-100
4-5
100-200
5-7
200-500
มากกว่า 7
500-700

หมายเหตุ 100 กรัม = 1 ขีด

ก่อนการหว่านหรือราดสารลงดิน ควรงดให้น้ำแก่ต้นลำไยพอให้หน้าดินแห้งเพื่อทำให้ต้นลำไยได้พักตัวและสามารถดูดสารได้ดี เมื่อมีการให้สารทางดินพร้อมกับการให้น้ำแก่ต้นลำไยและควรมีการกำจัดวัชพืชในทรงพุ่มบริเวณที่จะทำการหว่านหรือราดสารนั้นด้วย
การหว่านหรือการราดสารลงดิน ควรทำเป็นวงแหวนกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร นับจากบริเวณชายพุ่มต้นเข้ามา การหว่านสาร หากใช้ในปริมาณน้อยอาจนำสารไปคลุกกับทรายจำนวน 500-1,000 กรัม ก่อนเพิ่มปริมาตร ทำให้การหว่านสารเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับการละลายสารในน้ำ หากสารจับตัวกันเป็นก้อนควรทำให้เป็นผงหรือก้อนเล็กๆ ก่อน การนำไปละลายน้ำอาจใช้น้ำอุ่นหรือน้ำร้อนในการทำละลายจะช่วยให้การละลายของสารในน้ำเป็นได้มากขึ้น โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้ เตรียมน้ำอุ่นปริมาตร 20 ลิตร ชั่งสารโปแตสเซียมคลอเรตตามปริมาณที่ต้องการใช้ใส่สารโปแตสเซียมคลอเรตลงในถังพลาสติก เติมน้ำอุ่นลงไปทำละลาย 10 ลิตร คนให้ทั่วจะเห็นว่าสารไม่ค่อยละลายเพิ่มแล้วจึงเทแต่ส่วนที่เป็นน้ำออกไปไว้อีกถังหนึ่ง เติมน้ำอุ่นที่เหลืออีก 10 ลิตร ลงไปทำละลายสารคลอเรตที่เหลือ คนให้ทั่วจนเห็นว่าสารละลายหมดแล้วจึงนำไปเทรวมกับสารละลายในครั้งแรก จากนั้นเติมน้ำลงไปจนได้ปริมาณที่ต้องการโดยทั่วไปแล้วสามารถเติมน้ำลงไปได้อีก 20-60 ลิตร แล้วจึงนำไปราดที่ชายพุ่มต้นลำไย
ภายหลังการหว่านหรือราดสารคลอเรตให้แก่ต้นลำไยแล้ว การให้น้ำแก่ต้นลำไยนับเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ถ้าลำไยเกิดสภาวะขาดน้ำในช่วงนี้ จะทำให้ลำไยใบเหลืองและใบร่วงได้ ดังนั้นในช่วง 10 วัน หลังจากการให้สารคลอเรต จึงจำเป็นต้องให้น้ำแก่ต้นลำไย โดยสังเกตจากหน้าดินควรชุ่มชื้นตลอด 10 วัน หลังจากการให้สาร ทั้งนี้เพื่อให้ต้นลำไยสามารถดูดซับสารคลอเรตได้ดี ในกรณีที่ใช้วิธีหว่านสารคลอเรตลงดินก็จะเป็นการช่วยให้สารคลอเรตละลายได้ดีขึ้น นอดจากนี้การให้น้ำยังเป็นการลดอาการการเป็นพิษของคลอเรตต่อต้นลำไย และลดการสะสมของสารคลอเรตในดินด้วย
หลังจากการให้สารแก่ต้นลำไยไปแล้ว 20-45 วัน ต้นลำไยจะเริ่มแทงช่อดอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ฤดูกาล และความเข้มข้นของสารคลอเรตที่ให้ ในระยะนี้ควรมีการให้น้ำแก่ต้นลำไยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การพัฒนาของช่อดอกเป็นไปอย่างสมบูรณ์

ในกรณีที่มีการใส่สารคลอเรตลงไปในดินในปริมาณที่มากเกินไปก็สามารถแก้พิษของคลอเรตในดินได้ดังนี้

1.เติมปุ๋ยไนเตรทในอัตรา 7.3 กิโลกรัมของไนเตรทต่อไร่
2.เติมปูนลงในดินอัตรา 109-127 กิโลกรัมต่อไร่
3.เติมปุ๋ยหมักหรืออินทรีย์วัตถุที่ย่อยสลายได้ง่าย
4.ให้น้ำแก่ดินในปริมาณมาก

2.วิธีการให้สารโปแตสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไยทางใบ


การฉีดพ่นสารโปแตสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไยทางใบ สามารถกระตุ้นการออกดอกของลำไยได้เช่นเดียวกับการให้สารทางดินเช่นเดียวกัน แต่มักจะพบว่าการออกดอกของลำไยจะมีปริมาณไม่มากเท่ากับการให้สารทางดิน ต้นลำไยที่ทำการฉีดพ่นสารให้ทางใบนั้นควรเป็นต้นที่สมบูรณ์และเป็นช่วงที่ลำไยมีใบแก่เท่านั้น ใบควรจะมีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป เพราะถ้าหากทำการฉีดพ่นในระยะที่ลำไยมีใบอ่อนปนจะทำให้ออกดอกปริมาณน้อยหรือทำให้ช่อดอกสั้น
อัตราการใช้สารอยู่ในระหว่างความเข้มข้น 1,000-3,000 ส่วนในล้านส่วน หรอคิดเป็นสารคลอเรตหนัก 2 - 6 ขีด ต่อน้ำ 200 ลิตร ซึ่งอัตราการใช้สารนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ลำไย ภูมิอากาศในขณะที่พ่นสารและฤดูกาล ถ้าทำการฉีดพ่นสารในวันที่มีแสงแดดจัด ควรใช้สารปริมาณน้อย แต่ถ้าฉีดพ่นสารในวันที่ไม่มีแสงแดดควรใช้ในปริมาณที่สูงขึ้น หากฉีดพ่นสารความเข้มข้นสูงในวันที่แสงแดดจัดก็สามารถทำให้ใบไหม้และร่วงได้เช่นกัน การผลิตลำไยนอกฤดูกาล การฉีดพ่นสารทางใบจำเป็นต้องใช้ในอัตราที่สูงกว่าการผลิตลำไยในฤดูกาล
วิธีการพ่นสารควรพ่นสารในเวลาเช้าหรือเย็น หากมีฝนตกในระยะ 1-2 วัน ภายหลังการฉีดพ่นสาร ควรทำการให้สารซ้ำอีครั้งหนึ่ง การฉีดพ่นสารควรฉีดพ่นให้เปียกทั่วใบโดยเฉพาะส่วนยอด เนื่องจากสารประกอบคลอเรตมีคุณสมบัติในการกัดกร่อนโลหะ ดังนั้นจึงควรล้างเครื่องมือที่เป็นโลหะให้สะอาดหลังการใช้หรือสัมผัสกับสารประกอบคลอเรต
หลังการฉีดพ่นสารทางใบแล้ว ต้นลำไยจะเริ่มแทงช่อดอก 20-45 วัน หลังการฉีดพ่นสารส่วนวิธีการดูแลรักษาต้นลำไยก็ทำเช่นเดียวกันกับการให้สารทางดิน การฉีดพ่นสารทางใบนี้สามารถลดอัตราการใช้สารคลอเรตลงได้มาก แต่การให้สารคลอเรตโดยวิธีการฉีดพ่นทางใบมักจะประสบปัญหาลำไยออกดอกในปริมาณน้อย โดยเฉพาะการผลิตลำไยนอกฤดู

3.วิธีการให้สารโปแตสเซียมคลอเรตโดยการฉีดเข้าลำต้น

การให้สารคลอเรตโดยการฉีดเข้าต้น ควรทำในกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ขึ้นไป โดยเลือกกิ่งที่มีใบแก่เต็มที่แล้ว ใช้สว่านเจาะกิ่งลึก 2.5 - 3.5 เซนติเมตร (ดอกสว่านเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร) จากนั้นนำปลอกพลาสติกที่สามารถเสียบเข้ากับกระบอกฉีดยาได้ และหักระบอกเสียบเข้าไปได้ในรูที่เจาะไว้ได้แน่น (ดังรูปที่ 1 )มาตอกลงไปในรูให้แน่นการเจาะควรเจาะเป็นมุม 135 องศา โดยให้รูอยู่ในแนวแทงขึ้นไปสู่ปลายยอด

4.วิธีการให้สารโปแตสเซียมคลอเรตแบบผสมผสาน
วิธีการให้สารแบบนี้มักจะให้ร่วมกันระหว่างการให้สารทางดินและการฉีดพ่นสารทางใบโดยทั่วไปมีวิธีการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการให้สารทางดินและการฉีดพ่นสารทางใบ โดยจะทำการให้สารคลอเรตแก่ต้นลำไยทางดินก่อน ในอัตราเช่นเดียวกันกับการให้สารทางดินเพียงอย่างเดียว จากนั้นหากลำไยไม่แทงช่อดอกภายใน 30 วัน ก็จะมีการฉีดพ่นสารทางใบโดยฉีดพ่นในอัตราสาร 200-400 กรัม (2-4 ขีด) ต่อน้ำ 200 ลิตร

ธนะชัย พันธุ์เกษมสุข. 2542. ลำไยกับสารประกอบคลอเรต. เชียงใหม่, ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 39-44.