หน้าแรก
ความเป็นมา
วัตถุประสงค์
กิจกรรม
กระทู้ ถาม-ตอบ
สิทธิสมาชิก
สมัครสมาชิก
แสดงความคิดเห็น
กระดานพูดคุย
ติดต่อเรา
  บันทึกการเดินทาง

ย่ำดินแดนมรดกโลก

เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว

          

          ผมอยากจะไปหลวงพระบางมานานแล้ว ไอ้ครั้นจะไปคนเดียวก็กลัวว่าเมื่อไปถึงแล้วเค้าจะไม่ยอมให้กลับเข้ามาในเมืองไทยอีก เพราะเหตุใด คงพอจะเดากันออก ก็หน้าตาผมมันเหมือนคนไทยที่ไหนเล้า ..ใครไม่รู้เค้าดูหน้าเค้าก็ต้องบอกว่าไอ้หมอนี่มัน ลาว..คักคัก

          รีบแทบตาย กลัวไม่ทันขึ้นรถไฟเที่ยว 1 ทุ่มตรง แต่ก็นั่นแหละ การรถไฟไทย กว่าล้อจะหมุนได้จริงๆก็ร่วม 3 ทุ่มครึ่งไปแล้ว ห้อปุเลงปุเลงไป หลับบ้างตื่นบ้าง ก็มาโผล่เอาที่หนองคายตอนเกือบ 6 โมงเช้า ลงจากเจ้าม้าเหล็กได้ก็หอบผ้าหอบผ่อนเอาท้องมาฝากไว้ที่ร้านหน้าสถานี เสร็จแล้วก็บอกเช่ารถ สกายแล็ป (สามล้อเครื่อง) ให้ไปส่งสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ฝึกท่องคำว่า “สบายดี” จนขึ้นใจเพราะรู้มาว่าที่ลาวเค้าจะทักทายกันด้วยคำว่าสบายดีแทนคำว่าสวัสดี นั่งนิ่งๆนึกถึงแม่ที่บ้าน ซักแป๊บ ก็พร้อมออกเดินทางไปต่างประเทศแล้ว

          ออกจากตม.ไทย คณะของเรา 10 ชีวิต ก็ขึ้นรถโดยสารข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปยังด่านท่าเดื่อ สะพานแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 โดยฝ่ายลาวมีฯพณฯ หนูฮัก พูนสะหวัน ประธานประเทศลาว และ ฯพณฯ พอล คีตติ้ง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย มาร่วมในพิธี สะพานนี้มีความยาวถึง 1.2 กม. กว้าง 15 ม. ที่ฝั่งไทยมีป้าย “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว” ส่วนฝั่งลาวก็มีป้าย “ขัวมิตตะพาบลาว-ไทย” งบประมาณการก่อสร้าง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้น ประเทศออสเตรเลียเป็นผู้ออกให้ทั้งหมด แต่ไหงน้องลาวกับพี่ไทย จึงได้ลืมเอาชื่อเค้าใส่ไปด้วย นัยว่าเรื่องนี้ ออสสะเตเลย (ลาวออกเสียงแบบนี้) ออกจะงอนๆอยู่เหมือนกัน ดังนั้นผมก็เลยถือเอาโอกาสที่มาเยือนครั้งนี้ อาสาเปลี่ยนชื่อให้ว่า สะพานไทย-เลีย-ลาว และ ขัวลาว-เลีย-ไทย ให้มันครอบคลุมทั้ง 3 ประเทศเลย

          หลังจากผ่านพิธีการเข้าเมืองที่ด่านท่าเดื่อ โดยไม่ลืมเสียค่าเหยียบแผ่นดินให้ลาวตามระเบียบ มาคราวนี้พิธีการออกจะสะดวกหน่อยเพราะเราพก “ปัตสะป่อ” (คำนี้ลาวออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า passport ครับ) กันมาทุกคนและเจ๊เปิ้ลคนเก่งเป็นคนไปขอ visa ที่สถานฑูตลาวที่กรุงเทพฯมาให้ทุกคนพร้อมแล้ว พอพ้นออกจากด่าน พวกเรา 10 ชีวิต ก็มาวุ่นวายหาเช่ารถตู้ จะไปก็มี ไม่ไปก็มาก ต่อรองราคากันไปมา ตามประสาคนที่พอจะพูดคุยกันรู้เรื่อง สุดท้ายก็มาลงเอยกันที่ 3,800 บาท เรา 10 คนๆละ 380 บาท จากที่นี่ไปถึงหลวงพระบางก็ถือว่าเหมาะสม.....

          ล้อเริ่มหมุนก็ประมาณ 10 โมงเช้า คนขับรถของเราเป็นหนุ่ม อายุอานามก็พึ่งจะ 27-28 ปี มีเมียแล้วและกำลังท้องเสียด้วย ก็ได้อาศัยไอ้เจ้ารถตู้คันที่เรานั่งๆกันเนี่ยแหละเป็นเครื่องหารายได้เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เจ้าหนุ่มขับรถดีใช้ได้เพราะดูแล้วไม่เห็นมีใครเมารถเลยทั้งๆที่ถนนหนทางก็ออกจะคดเคี้ยวกันน่าดู ออกจากเวียงจันทน์ได้ซักพัก 2ข้างทางก็แวดล้อมไปด้วยภูเขาและทุ่งนาสลับกันไป ดูแล้วก็คล้ายกับบ้านเมืองเราในอดีต แต่ที่เหมือนกันเอามากๆก็เห็นจะเป็นตอนเจ้าหนุ่มขับไปเจอป้อมตำรวจแล้วโดนเรียกให้หยุดตรวจ เจ้าหนุ่มต้องจ่ายค่าสินน้ำใจให้กับคุณตำรวจลาวไป 80,000 กีบ เป็นเงินไทยเท่าไหร่ก็ลองเอา 265 หารดู เนี่ยแหละที่ว่าเหมือนที่บ้านเมืองของเราเปี๊ยบบบ เลย เจ้าหนุ่มคนขับรถ มาแวะจอดให้พวกเรากินข้าวเที่ยงที่เมืองวังเวียงก็เมื่อตอนบ่าย2โมง นี่ขนาดหิวๆก็ยังรู้สึกว่าอาหารที่นี่ไหงมัน เค็มนักว่ะ .... เกือบ 10 ชั่วโมงในการเดินทาง ตื่นบ้างหลับบ้าง สุดท้ายเราก็มาถึงหลวงพระบางเอาเมื่อเวลาเกือบๆจะ 2 ทุ่มแล้ว ทีนี้เอาล่ะสิ ผมเริ่มมีเรื่องให้วิตกแล้ว ค่ำมืดป่านนี้ จะไปนอนที่ไหน ที่มาด้วยก็สาวๆทั้งนั้น แต่พ่อหนุ่มคนขับรถก็ตระเวนหาที่พักให้พวกเราจนได้ และได้ที่ถูกใจซ่ะด้วย เมื่อถึงเวลาที่ต้องร่ำลาจากพ่อหนุ่ม ผมก็เลยสมนาคุณให้อีก 200 บาท ให้เป็นสินน้ำใจว่าพี่ไทยก็ไม่ได้เขี้ยวนักหรอก

          ผมอยากจะไชโยให้กับตัวเองดังๆซัก 3 ครั้ง ค่าที่ความฝันลึกๆในใจนั้นได้ประสบผลสำเร็จ ไม่ได้ฝันไป ขณะนี้ผมมาเหยียบเอาพื้นแผ่นดินเมืองหลวงพระบางที่องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกโลก เข้าให้แล้วจริงๆ
เอ้า...ล้อมวงกันเข้ามา ตัวข้าผู้น้อยจะร่ายยาวประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงพระบางให้ได้ฟังกันดังนี้
กิระดังได้สดับมา..........

          หลวงพระบางเดิมชื่อเมืองปัว สร้างขึ้นโดยชาวเขาที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 ใช้เป็นเส้นทางค้าขายระหว่างจีนและอินเดีย ครั้นถึงศตวรรษที่ 14 เจ้าฟ้างุ้มได้สถาปนาเมือง ซึ่งบัดนี้ได้เปลี่ยนเป็นชื่อเมืองหลวง ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านช้าง อันมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลรวมถึงแคว้นสิบสองปันนา ล้านนา น่าน แพร่ เชียงราย เชียงแสน ตลอดถึงมณฑลยูนาน
เจ้าฟ้างุ้มทรงได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมการปกครองมาจากทางเขมร ทรงอภิเษกกับราชธิดาของกษัตริย์เขมร และทรงนำพระบางมาไว้ที่เมืองหลวง พระบางองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทองคำสร้างที่เกาะลังกาในศตวรรษที่ 1 ต่อมาอีก 200 ปี เมืองนี้จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “เมืองหลวง” เป็น “เมืองหลวงพระบาง” โอรสเจ้าฟ้างุ้มชื่อ อุนฮวน หรือ เจ้าสามแสนไท เป็นผู้สร้างวัดที่หลวงพระบางขึ้นหลายวัด ในรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หลวงพระบางเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศาสนาและเศรษฐกิจ

          .....เดี๋ยวจะง่วงกันซ่ะก่อน ผมมันโดนค่อนขอดอยู่ออกบ่อยว่าเป็นคนประหลาด หาแต่เรื่องเก่าๆมาเล่า ฟังแล้วไม่ลื่นหู งานนี้จึงขอพักไว้เสียก่อนขอไปเอา เบยลาว มาย้อมใจเสียก่อน พอได้ที่ ถึงใครไม่อยากฟังก็ยังจะเล่า

          เช้ารุ่งขึ้น หลังจากกินกาแฟประชานิยมอันลือลั่นก็เป็นเวลาตะลุยเมืองหลวงพระบางตามแบบฉบับคนหนุ่มๆ เราหาเช่ารถจักรยานปั่นกันไปเป็นขบวนจุดแรกที่แวะชมคือที่ วัดเชียงทอง วัดคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง

          วัดนี้ตั้งอยู่บนจะงอยที่น้ำคานและน้ำโขงมาบรรจบกัน เพียงก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้าไปในวัด ก็ตะลึงในความโอ่อ่าอลังการประกายสีทองวาววับจับใจเสียจริงๆ อุแม่เอ๋ย...งามสมคำร่ำลือ สมแล้วที่ชื่อวัดเชียงทอง.........ผนังโบสถ์ประดับกระจกสีต่างๆ เขียว แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ดำ เป็นภาพในนิทานชาดกสวยงามสุดพรรณนา หลังคาโบสถ์ซ้อนกันถึง 3 ชั้น หน้าจั่วโค้งงอนอ่อนช้อย ลาดต่ำจนเกือบจรดพื้นดิน บนหลังคานอกจากจะมีช่อฟ้าใบระกาตามปกติแล้ว ตรงกลางยังมีช่อฟ้าที่ทางนี้เรียกว่า “ โหง่ ”อีกอันหนึ่งเป็นรูปราวเทียน ซึ่งบ้านเราไม่มี

          เดินหน้าเดินหลังคุณลุงมัคทายกวัดคงรำคาญ ก็เลยชี้มือบอกให้ไปที่อาคารเก็บราชรถของเจ้ามหาชีวิต ผนังอาคารลงรักปิดทองเหลืองอร่ามสะดุดตา เป็นรูปม้ารีศแปลงกายเป็นกวางทองมาล่อนางสีดา ฝีมือประณีตมาก ภายในอาคารเห็นราชรถที่แกะสลักโดย ท้าวเพียตัน ศิลปินแห่งชาติของลาว ความสูงของรถ ถึง 12 เมตร คานรถเป็นรูปพญานาคราช ลงรักล่องชาดสีทองประดับกระจกสีงดงามมาก ตาลุงมัคทายกวัดบอกผมว่า ราชรถคันนี้ได้ใช้เป็นที่รองรับพระบรมโกศของพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายของลาว

          ความจริงมีอีกหลายอย่างที่อยากจะกล่าวถึงแต่กลัวว่าคนฟังจะเบื่อเสียก่อน งั้นเปลี่ยนเป็นนิทานซักเรื่องเห็นจะเข้าท่ากว่า เมื่อซักราวๆร้อยปีเศษมานี้ มีมหาโจรชาวจีนฮ่อชื่อ ดีโอวานไตร (อย่าไปเรียกเค้าว่า ดีไอ้เวรไตล ล่ะ) เป็นมหาโจรใจบาปหยาบช้าควบคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นหัวเมืองทางเหนือของลาว ฆ่าผู้คนล้มตายไปเป็นอันมาก ทำลายวัดวาอาราม รวมทั้งวัดที่หลวงพระบางเสียหายย่อยยับ แต่จะยกเว้นเสียก็แต่ที่วัดเชียงทองแห่งนี้เท่านั้นที่พวกโจรไม่เข้ามาแตะต้อง ทั้งนี้เพราะตัวหัวหน้าโจรสำนึกถึงบุญคุณครั้งเคยบวชเป็นสามเณรได้อาศัยวัดนี้คุ้มกะลาหัวอยู่

          เห็นไหม โจรใจทมิฬหินชาติขนาดไหน หากได้เข้ามาสัมผัสถึงความงามของวัดนี้แล้วล่ะก็เห็นทีจะทำลายไม่ลง แกงค์จักรยานของผมตะลุยไปอีกหลายที่แต่ที่สำคัญที่สุดคือ พิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง เดิมที่นี่เป็นพระราชวังของเจ้ามหาชีวิต ผมจอดรถจักยานของผมที่ปากประตูแล้วเดินเข้าไปชมความงามบริเวณรอบๆ

          ทางเดินเข้าสู่พระราชวังกว้างขวางมีอยู่สามช่องทางมีต้นตาลปลูกอยู่สองฟากล้วนแต่โตเต็มที่ต้นสูงละลิ่ว ทุกต้นมีกล้วยไม้พวกกะเรกะร่อนเกาะ ตอนไปไม่เห็นมีดอก ตัวพระราชวังหรือหอคำ สร้างในสมัยพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศษเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2447 (ปีนี้ที่พวกเราไปก็ครบ 100 ปี พอดี)ใช้เวลาสร้างอยู่ถึง 5 ปี โดยใช้ช่างฝีมือชาวลาวระดับสุดยอดปรมาจารย์ ทั้งหมดเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวกินเนื้อที่กว่า 30,000 ตารางเมตร ดูแล้วเป็นพระราชวังที่งามสง่าแบบเรียบง่ายอย่างยากที่จะหาใดเปรียบ สุดปีกขวาของพระราชวังเป็นห้องประดิษฐานของพระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองของเมืองหลวงพระบาง พระบางองค์นี้สร้างด้วยทองคำบริสุทธิ์หนักถึง 54 กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสวมชฎา ตามตำนานมีอยู่ว่า พระบางสร้างที่ลังกาเมื่อพ.ศ. 1417 ต่อมากษัตริย์เขมรแห่งเมืองอินทรปัฏ แต่งทูตไปขอพระบางจากกษัตริย์เมืองลังกา อัญเชิญมาถึงเวียงจันทน์เมื่อพ.ศ.1599

          ตามที่ผมดูแล้วพระบางสีทองไม่สุกอร่ามเท่าไหร่ แต่ไปสะดุดตาเอาตรงงาช้างสีน้ำตาลอ่อนยาวซัก 1 เมตร สลักโปร่งเป็นพระพุทธรูปจากโคนถึงปลาย สวยงามมาก ถึงกระนั้นก็ยังมิวายกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในห้องนั้นโดยความเคารพอย่างสูงมิได้เผลอไปขอหวยแต่อย่างใด สาบานได้จริงๆ

          จากนั้นก็เดินเข้าห้องโถงใหญ่ที่ปูพื้นด้วยไม้สักมีพระพุทธรูปต่างๆมากมาย และนอกจากนั้นยังมีตู้จัดแสดงพระแสงดาบที่ฝักทำจากเงินและทอง ห้องบรรทมของเจ้ามหาชีวิตมีแท่นบรรทมขนาดใหญ่แต่มีเชือกกั้นไว้ไม่ให้เข้าใกล้ ห้องแสดงเครื่องดนตรี ห้องแสดงเครื่องบรรณาการที่นานาประเทศถวายแด่เจ้ามหาชีวิต โอ๊ย..! มีอีกมากมายเวลาแค่นี้ดูไม่หมดหรอก

          ออกจากพระราชวัง แกงค์จักรยานปั่นกันต่อ คราวนี้ไปที่ วัดวิชุญ วัดนี้ไปดูพระธาตุหมากโม พระธาตุแห่งนี้เป็นเหมือนสถูปรูปชามคว่ำอันนับเนื่องในสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่9

          หลังจากเที่ยววัดเที่ยววังมาทั้งวันแล้ว ครานี้หล่ะ คณะของเราก็ปรารถนาที่จะไปหาซื้อของฝากมั่งล่ะ เป้าหมาย บ้านผานม มองเห็นป้าย ก็ปั่นจักรยานตามป้ายมาเรื่อย ไม่เจอป้ายก็ถามชาวบ้านเอาบ้าง นึกว่าจะไม่ไกลมาก ที่ไหนได้พระคุณเอ๋ย ทั้งปั่นขึ้นเขาลงเขา กว่าจะถึงก็เหนื่อยแทบสิ้นสติ แถมยังกลายเป็นฝรั่งหัวแดงเพราะฝุ่นถนนลูกรัง เมื่อแรกคิดไว้ว่าไปถึงคงจะเป็นหมู่บ้านที่ทุกบ้านต่างมีหูกทอผ้าตั้งไว้ใต้ถุนเรือน แต่พอไปถึงจึงรู้ว่าคิดผิดถนัด เพราะที่เห็นเป็นอาคารศูนย์แสดงสินค้าเลย มีแม่ค้าสาวมากบ้างน้อยบ้างเชิญชวนให้เลือกดูผ้าไหมแพรพรรณ ใครคนหนึ่งในคณะเราพอปั่นจักรยานมาถึงก็ประกาศด้วยเสียงอันดังว่า ซื้อนะ ใครไม่ซื้อเป็นเรื่องแน่ๆ คงจะแค้นเพราะถูกหรอกให้ปั่นจักรยานมาไกลเป็น 10 กิโล แล้วไม่ได้เจอกับสิ่งที่คาดหวังไว้ แต่ยังมีข้อดีที่ว่า ผ้าไหมสีต่างๆฝีมือปราณีตของที่นี่ ราคาถูกมากจริงๆ

          ตะลอนมาทั้งวันก็มาจบที่ร้านอาหารตลาดดารา สัมมนาเบยลาวไป 5-6 ขวด เป็นอันว่าคืนนี้ต่อให้ใครหน้าไหนเอาช้างเผือกมาขายให้ตัวละบาทเดียว ก็คงไม่มีเรี่ยวแรงลุกขึ้นมาซื้อเป็นแน่............

          อากาศยามเช้ามืด ช่วงเปลี่ยนศักราชเนี่ย มันช่างหนาวเย็นจับใจยิ่งนัก นี่ถ้าหากเป็นที่บ้านที่กรุงเทพฯมิวายที่ผมและคนอื่นๆคงจะยังนอนซุกอยู่ใต้ผ้าห่ม

          พวกเราพร้อมใจกันเดินจากบ้านพักด้วยตั้งใจไว้ว่า มาถึงเมืองหลวงพระบางแล้วต้องตื่นขึ้นมาใส่บาตรข้าวเหนียวให้ได้ ด้วยเพราะประเพณีที่นี่จะผิดแปลกไปจากที่อื่นๆ พระเณรท่านจะเดินเรียงกันมาเป็นแถวยาว ให้ญาติโยมผู้ชายยืน ผู้หญิงนั่ง ใส่บาตร ชาวบ้านเค้าจะใส่เฉพาะข้าวเท่านั้น ส่วนกับข้าวจะนำไปถวายที่วัดภายหลัง การใส่บาตรข้าวเหนียวนั้น คนไม่เคยอย่าไปนึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มาลองเองไม่รู้รสชาดหรอกว่าความร้อนบวกกับความเหนียวมันเข้ากันได้ดีขนาดไหน แม้อากาศยามเช้าจะหนาวเย็นสักปานใด ก็ไม่อาจต้านทานความร้อนของข้าวเหนียวที่นึ่งมาใหม่ๆได้หรอกคุณเอ๋ย คิดดูเอามือจกข้าวที่ร้อนๆใส่บาตรพระเป็นร้อยรูปซ้ำข้าวก็เหนียวติดมือสมชื่อจะใส่ลงในบาตรข้าวก็ไม่ยอมลง ต้องสลัดๆยังไม่ยอมลงอีก พระท่านเองก็เดินไวมากๆ เรามัวสลัดข้าวอยู่ก็ไม่ทัน ร้อนมือก็ร้อน อายพระท่านก็อาย พระท่านคงคิดว่าลำบากนักก็อย่าทำเลยโยม ....

          ในเช้าที่อากาศสดใสแต่แฝงไว้ด้วยความเย็นยะเยือก ขณะที่พวกเรากำลังเตรียมตัวเดินทางล่องลำโขงไปถ้ำติ่งอยู่นั้น ก็ปรากฏเอามานพน้อยผู้หนึ่ง ร่ำๆว่าเดินทางมาที่นี่เพียงคนเดียว อยากจะขอร่วมกองคาราวานกับพวกเราด้วย คงเพราะเจ้ามานพหนุ่มนั้นมีรูปลักษณ์เป็นคุณประโยชน์ สาวๆในคณะของผมก็ตกปากรับคำทันทีหาได้ฟังคำทักท้วงของผมไม่ ในที่สุด ตะลุยหลวงพระบาง ภาค ล่องนาวา ก็ปรากฏมานพหนุ่มรูปงามนามว่า “ เฟิร์ส” ผู้มียิ้มอันสดใส มาร่วมกองทะลวงฟันอีกหนึ่ง

          เรือรับจ้างขนาด15ที่นั่ง ล่องออกจากท่าหน้าร้านกาแฟประชานิยม แวะท่าน้ำวัดเชียงทองเพื่อเอาเสื้อชูชีพ นี่แหละหลักของความปลอดภัย ถึงแม้จะมองว่าน้ำแค่นี้เสื้อชูชีพเห็นจะไม่จำเป็น ความประมาทเช่นนี้ ทำเอาหลายๆคนที่ลืมความสำคัญของชูชีพ ต่างไม่มีชีพให้ชู มานักต่อนักแล้ว

          ฟ้าสางมานานแล้วแต่ม่านหมอกกับละอองน้ำที่เรือของเราวิ่งผ่านทำให้พวกเราหนาวเย็นยิ่งนัก หากแต่ความหนาวไม่อาจละความพยายามของพวกเราที่จะเดินทาง ด้วยว่าธรรมชาติสองฝั่งน้ำนั้น สวยงามเกินกว่าที่เราๆท่านๆจะจินตนาการไปถึงได้ ความงามยิ่งกว่าภาพเขียนของศิลปินฝีมือระดับโลกนี้ทำให้พวกเราลืมความหนาวไปจนสิ้น

          เรือล่องมาตามน้ำ กว่าครึ่งชั่วโมง ก็มาจอดเลียบชายหาดริมแม่น้ำโขงหน้า หมู่บ้านช่างไห แถมคนเรือออกปากเชิญชวนให้คณะของเราแวะพักดื่มเครื่องดื่มคลายหนาวที่นี่ซักหน่อย ชะรอยจะเป็นที่เลื่องชื่อลือนามมาแสนนานแล้วว่า พ่อบ้านแม่เรือนที่นี่ประกอบสัมมาชีพด้วยการต้มเหล้า แถมฝีมือก็บรรลุชั้นเซียนไปแล้ว จึงเป็นจุดพักแวะซื้อหาน้ำอัมฤต มาแต่บรรพการ ผมเองก็ลองชิมน้ำแก้หนาวของชาวบ้านไปมากโข ปล่อยให้สาวๆของเราไปเลือกซื้อของฝาก (มาทราบทีหลังว่าถูกกว่าที่ในเมืองหลวงพระบางเกินครึ่ง) ที่นี่ น้องเฟิร์ส ซื้อผ้าแพรได้ ผืนนึง บอกว่าจะเอาไปฝากคุณแม่ที่บ้าน ช่างกตัญญูเสียจริงพ่อคุณเอ๋ยข้อนี้เรียกคะแนนจากสาวๆของผมอีกหนึ่งกระบุงโกย กว่าสาวๆของผมจะช๊อปปิ้ง เสร็จ วอดก้าลาวก็ทำเอาผมตาลายไปบ้างแล้ว รีบกลับไปขึ้นเรือดีกว่า ม่ายง้าน คงฟุบอยู่แถวๆนี้แหละ เอิ๊ก..

          10 โมงเช้า เราเดินทางมาถึง ถ้ำติ่ง มีก้อนหินขนาดมหึมาย้อยมาจากหน้าผาลงเกือบจรดน้ำ เหตุนี้กระมังจึงได้ชื่อว่า ถ้ำติ่ง อีกชื่อเรียกว่าถ้ำปากอู เพราะมีลำน้ำอูไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง ถ้ำติ่งมี 2 ถ้ำ แบ่งเป็นถ้ำติ่งบน ถ้ำติ่งล่าง ผมเดินขึ้นไปถ้ำติ่งล่างก่อน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปขนาดต่างๆบ้างประทับยืน บ้างประทับนั่ง ทำด้วยไม้บ้าง โลหะบ้าง ล้วนแต่ชาวบ้านนำมาวางไว้ ทำนองแก้บนเหมือนบ้านเรานั่นแหละ ทราบจากชาวบ้านที่มาเก็บค่าบำรุงว่า เมื่อก่อนมีพระพุทธรูปมากกว่านี้ แต่โดนไฟไหม้เสียหายไปมาก สาเหตุคงจะมาจากธูปเทียนที่มาจุดบูชากระมัง แล้วก็ดั้นด้นปีนบันได อีก ร้อยกว่าขั้น ขึ้นถ้ำติ่งบน ภายในถ้ำเป็นเหมือนห้องโถงขนาดใหญ่ มีแท่นที่กระทำพิธีบวงสรวงและพระพุทธรูปปางต่างๆจำนวนมาก ในอดีตเจ้ามหาชีวิตลาวจะเสด็จมาทุกปีในตอนสงกรานต์และประทับอยู่หลายวัน นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นอันมากหากใครได้มีโอกาสมาเยือนหลวงพระบางก็ขอให้อย่าพลาดการมาเยือนถ้ำติ่ง ถ้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เลย

          ขากลับเรือต้องแล่นทวนน้ำ ถึงช้าหน่อยแต่ดีสำหรับผมเพราะถือโอกาสนอนพัก คงเพราะไปแก้หนาวเอาที่บ้านช่างไหเยอะไปหน่อย ออกจะมึนๆไปเหมือนกัน เรือถึงท่าบอกลาสองผัวเมียและลูกน้อย เจ้าของเรือ เราก็ขึ้นรถตู้ที่เช่าไว้แล้วเดินทางต่อทันที ภาคบ่ายวันนี้ เราจะไปเล่นน้ำตกกัน

          ถนนหนทางกว่าจะถึงน้ำตกค่อนข้างทุรกันดาร หรือว่าเค้าจะอนุรักษ์ให้เป็นแบบนี้ก็สุดที่จะรู้ได้ ที่สุดก็มาถึง น้ำตกตาดกวงชี เป็นน้ำตกจากผาสูงประมาณ 50 เมตร สวยงามตามที่ธรรมชาติแต่งมาให้ อาณาบริเวณเป็นป่าเขาลำเนาไพร ผู้คนชาวลาวและนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ได้มาอาศัยเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก ผมปล่อยให้สาวๆถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกและนั่งพักจนพอใจ แล้วเราก็กลับเข้าเมืองหลวงพระบางเพื่อขึ้น พูสี กัน

          ชาวลาวถือกันว่าใครที่มาแอ่วหลวงพระบางต้องมาไหว้พระธาตุจอมสีในวัดพูสีนี้ ตามตำนานเล่าว่า(ตำนานอีกแล้ว) เดิมมีฤาษีสองตนอาศัยอยู่บนเขาลูกนี้จึงได้ชื่อว่า พูสี หรือ ภูเขาของฤาษี นั่นเอง เราเลือกเอาเวลาที่พระอาทิตย์ใกล้จะลับฟ้าเป็นช่วงเวลาขึ้นชมพูสี ทางเดินขึ้นสองข้างทางมีต้นลั่นทมเรียงราย คงเหมือนๆกับที่เขาวัง จ.เพชรบุรี บ้านเรา ที่นี่เขาเรียกต้นลั่นทมว่า “จำปา” เป็นไม้ประจำชาติของลาว มีปลูกอยู่ทั่วไปตามบ้าน ริมทาง วัด พระราชวัง ดอกมีสีต่างๆ ขาว ขาวอมแดง แดง แดงอมแสด เราขึ้นถึงยอดเข้าไปนมัสการพระธาตุจอมสี แล้วก็เบียดเสียดผู้คนมารอดูพระอาทิตย์อัสดง นัยว่าดูจากยอดภูสี นี้สวยที่สุด คิดๆดูก็ตลก ไม่ว่าฝรั่งหัวแดงเอเชียหัวดำ ช่างวุ่นวายเที่ยวแห่แหนตามกันดูดาวฤกษ์ดวงนี้จัง ทั้งๆที่มันก็ขึ้นให้เห็นและตกให้ดูอยู่ทุกๆวัน

          พระอาทิตย์ตกไปคงจะพร้อมกับหัวใจของสาวๆในคณะผมที่กำลังแหลกสลาย เพราะน้องเฟิร์ส ได้เวลาบอกลา เสียแล้ว
          เทียนกี้แซณัฐ ฮ่อปิ๊ดแซเฟิร์ส      ฟ้าให้ณัฐมาเกิดแล้ว ไฉนให้เฟิร์สมาด้วยเล่า

          หลังจากอาหารเย็นแล้ว พวกเราบางคนออกไปเดินซื้อของฝากกลับบ้าน คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของเราในหลวงพระบางแล้ว ช่างน่าอาลัยอาวรณ์เสียจริงๆ หลวงพระบางเป็นเมืองน่าเที่ยว มีเสน่ห์อย่างประหลาด ถ้าจะพูดถึงแล้ว ปราสาทราชวังของเมืองหลวงพระบาง งามสู้ปราสาทราชวังของไทยเราไม่ได้ วัดเชียงทอง วัดคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางก็สู้วัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้ทั้งความสวยงามและความปราณีต ยังไม่ต้องพูดถึงที่อื่นๆอีก

          แต่ทว่า เราแพ้ลาวอย่างราบคาบที่ความเก๋ากึ๊ก เช่นวัดเชียงทอง สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2103 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งของเราเหลือแต่อิฐ ซากปูน แม้ปราสาทราชวังก็เหลือแต่กำแพงแสดงอาณาเขต วัดต่างๆแปรสภาพเป็นเศษอิฐ พระพุทธรูปคงตากแดดตากฝน

          ผมจึงได้แต่พร่ำภาวนาเมื่อใดมีวาสนาพาสาวๆในคณะกลับมาเยือนเมืองลาว แล้วจะต้องแวะเวียนไปเยี่ยมหลวงพระบางอีกให้หนำใจ แต่คราวนี้เห็นจะไม่มีทางให้หนุ่มเฟิร์สหน้ามน มาแข่งความหล่ออีกครั้งเป็นแน่

ณ. ศรีสันต์


<< ในตอนหน้าพบกับ คืนปีใหม่ที่วังเวียง และ มหัศจรรย์เมืองเชียงขวาง >>

                                                                                                                                                                       กลับไปด้านบน >>

 

Counters